PROBABLE CAUSE คำแปล : มีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควร ความหมาย :
มาตรฐานในการใช้เหตุผลพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยสั่งการ หรือตัดสินใจดำเนินการทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อไม่ให้บุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจวินิจฉัยสั่งการหรือตัดสินใจสั่งการตัดสินใจโดยพลการอันอาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินความจำเป็น กฎหมายได้กำหนดให้ใช้มาตรฐานอย่าง “มีเหตุผลเชื่อได้ตามสมควร”กับการตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยได้กำหนดให้เจ้าพนักงานสอบสวนและศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับพยานหลักฐานและ “มีเหตุผลเชื่อได้ตามสมควร”ในกรณีต่อไปนี้ • ในการจับกุมการที่เจ้าพนักงานจะใช้อำนาจจับโดยไม่มีหมายจับจะต้องมีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควรว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดขึ้นหรือจะก่อความผิดขึ้น • การค้นตัวบุคคลจะต้องมีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควรว่าบุคคลที่จะถูกค้นตัวมีทรัพย์ที่เป็นความผิด หรือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์ที่จะใช้ก่อความผิด • ในการค้นเคหสถานโดยไม่มีหมายค้น เจ้าพนักงานจะต้องมีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควร • การออกหมายจับและหมายค้นศาลจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่เสนอโดยเจ้าพนักงานสอบสวนและมีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกขอให้จับกุมได้กระทำความผิด • การออกหมายขัง ที่จะไม่ให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา ศาลจะต้องพิจารณาเหตุผลที่เจ้าพนักงานสอบสวนร้องขอและมีเหตุพอเชื่อได้ตามสมควรว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีไปข่มขู่พยาน ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเหตุอื่น (ดู RELEASE ON BAIL) อนึ่ง มาตรฐานการพิจารณาการตัดสินวินิจฉัยสั่งการข้างต้นต่างกับมาตรฐานการวินิจฉัยตัดสิน หรือพิพากษาลงความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดอาญา การจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดต้องเชื่อได้โดย “ปราศจากข้อสงสัย (Beyond Doubt)” ว่าจำเลยได้กระทำผิด |
PROBATION คำแปล : การภาคทัณฑ์ / การคุมประพฤติ ความหมาย :
1. การภาคทัณฑ์ คือ การลงโทษสถานเบา โดยการตำหนิหรือคาดโทษ ซึ่งอาจใช้กับบุคคลที่กระทำขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ วินัย หรือคำสั่งของราชการ หรือขององค์กรเอกชน เช่น ระเบียบโรงเรียน และคำสั่งของนายจ้าง เป็นต้น 2. การคุมประพฤติ ใช้ในบริบทของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกหมายถึง มาตรการกฎหมายที่ศาลอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงรอการลงโทษ หรือนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษ โดยต้องมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามที่ศาลกำหนด และมีกระบวนการสอดส่องดูแลเพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถาน การคุมประพฤติแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ 1. งานสืบเสาะและพินิจ เป็นกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ประวัติภูมิหลังทางสังคม และรายละเอียดต่าง ๆ ของจำเลยหรือผู้ต้องขังก่อนศาลพิจารณาพิพากษาคดีโดยพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้วนำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ประเมินและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อใช้ประกอบดุลยพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าจะใช้มาตรการใดให้เหมาะสมต่อจำเลย 2. งานควบคุมและสอดส่อง เป็นกระบวนการติดตาม ควบคุมดูแลและช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดสามารถปรับตัวอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติ ตลอดจนป้องกันไม่ให้หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ประเทศไทยนำระบบการคุมประพฤติมาใช้ครั้งแรกกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ใน พ.ศ. 2495 (ค.ศ 1952) และได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับการคุมประพฤติผู้กระทำผิดทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) แต่ไม่มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติจริง ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ขึ้น พร้อมกับมีการตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลางขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกรมคุมประพฤติ สังกัดกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) |
PRODUCTION WORKERS คำแปล : แรงงานชั้นกรรมาชีพ ความหมาย :
แรงงานชั้นกรรมาชีพ เป็นผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีความชำนาญหรือที่เรียกว่า แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labour) แรงงานเหล่านี้ทำงานหรือให้บริการในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน (Labour Intensive) มักได้รับค่าแรงต่ำ ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันและอาจสูญเสียตำแหน่งงานได้ทันทีเมื่อนายจ้างไม่ต้องการ นอกจากนั้นนายจ้างอาจตัดหรือลดค่าแรงได้ โดยผู้ใช้แรงงานไม่สามารถต่อรองได้ หากไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แรงงานชั้นกรรมาชีพ จึงมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำ ขาดความสามารถในทางเศรษฐกิจ ขาดโอกาสในการศึกษาและการพัฒนาผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองสูงกว่าสามารถเลือกใช้แรงงานหรือการบริการภายนอกได้เสมอ จัดเป็นปัญหาทางสังคมที่สืบเนื่องมาจากความยากจน และการไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านการเข้าถึงการศึกษาโดยตรง |
PROGRESSIVE REALISATION คำแปล : การทำให้เป็นจริงอย่างมีความคืบหน้า ความหมาย :
การทำให้เป็นจริงอย่างมีความคืบหน้า เป็นความคิดรวบยอดของพันธกรณีของรัฐภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม(ICESCR) ทั้งนี้ เนื่องจากความจริงที่ว่าสิทธิด้านนี้ไม่สามารถทำให้สัมฤทธิผลหรือทำให้เป็นจริงได้ในระยะเวลาอันสั้นจึงต้องทำให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ในแง่นี้ภาระหน้าที่ของรัฐภาคีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจึงต่างจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทางด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights) ได้ให้ความเห็นใน General CommentNo.3 ว่า “การทำให้สิทธิเป็นจริง” ซึ่งต้องใช้เวลานั้นไม่ควรตีความไปในทางที่ว่ารัฐไม่ต้องมีพันธะหน้าที่เท่าใดนัก ในทางตรงกันข้ามรัฐภาคีสามารถโอนอ่อนในการตอบสนองต่อพันธกรณีและสามารถปรับมาตรการ หรือกิจกรรมที่จะทำให้สิทธินั้นเกิดสัมฤทธิผลขึ้นตามสภาพความเป็นจริงของสังคมของตน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เน้นว่าเป็นความเข้าใจผิดที่ว่า ICESCR ไม่ได้ก่อพันธกรณีให้รัฐต้องปฏิบัติทันที เพราะหน้าที่ในการ “ดำเนินการ (Take Steps)” นั้นเกิดทันที เช่น การปกป้องคุ้มครองอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือการจัดทำแผนหรือโครงการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำให้สิทธินั้นเป็นจริงขึ้นมา และต้องแยกจาก “ผล” ของการที่ได้ดำเนินการ |
PROGRESSIVE REALISATION OF THE RULE OF LAW คำแปล : การทำให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นจริงอย่างคืบหน้า ความหมาย :
การทำให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นจริงอย่างก้าวหน้า เป็นแนวคิดที่ว่าการพัฒนาหลักนิติธรรมในรัฐต่างๆต้องกระทำไปอย่างต่อเนื่องให้มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ แม้รัฐทั้งหลายจะมีพื้นฐานทางสังคมแตกต่างกัน แต่รัฐสามารถริเริ่มและพัฒนารากฐานทางกฎหมายและนิติธรรมไปตามกระบวนการได้ อาทิ การมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิ การมีกลไกตรวจตราการละเมิดสิทธิ การบังคับตามสิทธิได้ในชั้นศาล อันจะมีส่วนส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆของรัฐต้องละเว้นการละเมิดสิทธิ และตระหนักถึงการพัฒนาสิทธิของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น |
PROSE –VERBAL (French) คำแปล : บันทึกการเจรจา ความหมาย :
บันทึกการเจรจาเดิมหมายถึงการสรุปขั้นตอนและผลการประชุมทางการทูต แต่ในปัจจุบันหมายถึงบันทึกสาระสำคัญ ข้อตกลงระหว่างภาคี การบันทึกการเจรจา นอกจากนี้ยังใช้บันทึกการแลกเปลี่ยน หรือการให้สัตยาบัน การทำข้อตกลงทางการบริหารที่ไม่สำคัญนัก หรือกรณีการเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาเล็กๆ น้อยๆ ทั่วๆไป ที่ไม่มีการให้สัตยาบัน |
PROSECUTOR / PUBLIC PROSECUTOR คำแปล : อัยการ ความหมาย :
เจ้าพนักงานของรัฐที่ทำหน้าที่ฟ้องจำเลยในคดีอาญาต่อศาล และเป็นผู้รับผิดชอบในคดีที่ฟ้องในฐานะที่เป็นโจทก์ ในกระบวนการพิจารณาความตลอดทั้งกระบวนการ เกือบทุกประเทศกำหนดให้การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเป็นหน้าที่ของรัฐโดยมีอัยการทำหน้าที่เสมือนเป็นทนายของประชาชนส่วนในประเทศอังกฤษเดิมการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาถือว่าเป็นการพิพาทระหว่างบุคคลที่เป็นคู่ความ การฟ้องคดีอาญาจะดำเนินโดยบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ต่อมาใน ค.ศ. 1985(พ.ศ. 2528) ได้ตั้งสำนักงานอัยการหลวง (Crown Prosecution Service) ขึ้นทำหน้าที่ฟ้องคดีอาญา อย่างไรก็ตามบุคคลที่ได้รับความเสียหายยังคงมีอำนาจฟ้องคดีได้เช่นกัน ดังนั้นคำว่า “Prosecutor” ในระบบกฎหมายอังกฤษจึงหมายถึงอัยการ หรือทนายความของผู้เสียหายที่ฟ้องบุคคลเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาล และเรียกการฟ้องคดีอาญาโดยราษฎรว่า “Private Prosecution” สำหรับประเทศไทย ระบบกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ ดังนั้นนอกจากอัยการแล้วผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีอาญาได้ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย (ดู Private Prosecution) |
PROSECUTOR- GENERAL คำแปล : อัยการสูงสุด ความหมาย :
บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานในฝ่ายบริหารมีหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐ และรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการดำเนินคดีแทนรัฐ(ดู SOLICITOR-GENERAL) คำนี้มักใช้ในประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ ส่วนในประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์จะใช้คำว่า Solicitor-General ส่วนประเทศไทยใช้คำว่า Attorney-General |
PROTECT, DUTY TO / OBLIGATION TO คำแปล : ภาระหน้าที่ / พันธกรณี ในการปกป้องคุ้มครอง ความหมาย :
คำว่า ภาระหน้าที่ (Duty)หรือพันธกรณี (Obligation) ในการปกป้องคุ้มครอง เป็นหน้าที่หนึ่งในภาระหน้าที่สามด้านตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีต่อปัจเจกชน หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิ คือ การเคารพ (Respect)การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้บรรลุผล (Fulfil) รัฐในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่ (Duty Bearer) มีภาระหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้บุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิ (Right Holder) ถูกละเมิดจากบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือจากนโยบายรัฐเอง ดังนั้นรัฐจึงต้องมีนโยบาย ออกกฎหมาย หรือสร้างค่านิยม หรือความรู้ความเข้าใจเพื่อไม่ให้กลไก หรือบุคคลที่อยู่ภายในอำนาจรัฐละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หน้าที่ในการคุ้มครองในแง่ของสิทธิทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างเช่นการมีกฎหมายอาญาบัญญัติให้การฆ่า หรือทำร้ายร่างกายเป็นความผิด และการมีเจ้าพนักงานตำรวจบังคับใช้กฎหมาย และมีศาลรับคำฟ้องในกรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิในชีวิต เพื่อการบังคับให้การคุ้มครองปกป้องบังเกิดผล ภาระหน้าที่ในการคุ้มครองในแง่ของสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เช่น สิทธิในอาหาร รัฐออกกฎหมาย กำหนดมาตรฐานอาหารเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพ เป็นต้น |
PROTECTED CLASS คำแปล : กลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครอง ความหมาย :
กลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครอง มีความหมายว่า เดิมทีนั้นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ มักจะพิจารณาเฉพาะการคุ้มครองบุคคลที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและม่เท่าเทียมกันว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย และสมาชิกที่จะได้รับการคุ้มครองจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มชนดังกล่าว กฎหมายคุ้มครองสิทธิบุคคลในยุคแรกจะคุ้มครองเฉพาะกรณีการถูกเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ หรือเพศ เมื่อได้มีวิวัฒนาการในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น จึงได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นหลายฉบับ ตลอดจนมีการเพิ่มกลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันการคุ้มครองกลุ่มชนได้ขยายขอบเขตการคุ้มครองกว้างขวางขึ้น ได้แก่ การห้ามการเหยียดผิว การเลือกเชื้อชาติต่อแหล่งกำเนิดสัญชาติของบุคคลที่มาจากบางประเทศ การต่อต้านศาสนา เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ อายุ สภาพร่างกายของบุคคล เป็นต้นการคุ้มครองดังกล่าวเป็นพัฒนาการของกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางขึ้น |
PROTOCOL คำแปล : พิธีสาร / พิธีการทางการทูต ความหมาย :
คำว่าพิธีสารมีความหมายสองนัยด้วยกันคือ นัยที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา และนัยที่เกี่ยวกับพิธีการทางการทูต 1. นัยที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา พิธีสารเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีการจัดทำที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญา หรืออนุสัญญา และมิใช่ความตกลงที่กระทำขึ้นโดยประมุขของรัฐ โดยทั่วไปหมายถึงเอกสารดังต่อไปนี้ ก. เอกสารเสริมอนุสัญญาซึ่งร่างโดยผู้ร่วมเจรจา บางครั้งเรียกว่าพิธีสารลงนาม (Protocol of Signature) มักเป็นเอกสารภาคผนวก เอกสารที่ตีความสนธิสัญญา ข้อบัญญัติของสนธิสัญญา บทบัญญัติแทรกเสริม ซึ่งมีความสำคัญไม่มาก บทบัญญัติทางการซึ่งมิได้ปรากฏในอนุสัญญา หรือข้อสงวนที่กระทำโดยภาคีที่ลงนาม พิธีสารแก้ไขสนธิสัญญาพหุภาคีต่างๆ เมื่อมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาจะมีผลเป็นการให้สัตยาบันพิธีสารไปด้วยในตัว ข. เอกสารเสริมอนุสัญญาเช่น พิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol)หรือพิธีสารเพิ่มเติม(Additional Protocol) ซึ่งมีผลผูกพันเช่นเดียวกับสนธิสัญญาแต่มีลักษณะเอกเทศ และมีผลผูกพันรัฐเมื่อมีการให้สัตยาบันพิธีสารนั้นๆเช่นพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights, Aiming at the Abolition of the Death Penalty) มีผลใช้บังคับ ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งเป็นพิธีสารที่กำหนดให้รัฐยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกรูปแบบ ค. สนธิสัญญาเอกเทศที่มีความผูกพันเช่นเดียวกับสนธิสัญญา เช่น พิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญารัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Additional Protocol to the American Convention on Human Rights in the Area of Economic, Social and Cultural Rights) ง. บันทึกความเข้าใจ ซึ่งบางครั้งก็ใช้คำว่า บันทึกการเจรจา (Prose – Verbal) 2. นัยที่เกี่ยวกับพิธีการทางการทูต หมายถึง ธรรมเนียมประเพณี แนวปฏิบัติ หรือมารยาททางการทูตที่บรรดาผู้แทนทางการทูตถือปฏิบัติต่อกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ |
PROTOCOL OF SAN SALVADOR คำแปล : พิธีสารซาน ซัลวาดอร์ ความหมาย :
“พิธีสารซานซัลวาดอร์” เป็นคำที่ใช้เรียกพิธีสารเพิ่มเติมฉบับแรกของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ซึ่งชื่อที่เป็นทางการคือ “พิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Additional Protocol to the American Convention on Human Rights in the area of Economic, Social and Cultural Rights)” ซึ่งได้รับรองโดยองค์การรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1988(พ.ศ. 2531)และ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1999 (พ.ศ. 2542) พิธีสารฉบับนี้นอกจากจะได้รับรองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม(ICESCR) แล้วยังขยายไปถึงสิทธิใหม่ๆ เช่นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการตั้งครอบครัวและได้รับการคุ้มครองในครอบครัว สิทธิในอาหาร เป็นต้น พิธีสารฯ กำหนดพันธกรณีของรัฐภาคีให้มีหน้าที่ในการ “ส่งเสริม” โดยกำหนดให้รัฐภาคีได้ “ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อทำให้สิทธิที่ได้รับรองนี้บรรลุถึงความก้าวหน้าอย่างเต็มเปี่ยม” ซึ่งต่างกับ อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนที่กำหนดให้รัฐคุ้มครองโดยกระบวนการทางกฎหมายที่สามารถฟ้องร้องการละเมิดสิทธิได้ พิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีประจำปี เสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณาทำความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะเสนอไปยังสมัชชาใหญ่ และคณะมนตรีถาวรขององค์การรัฐอเมริกา |
PUBLIC HEALTH คำแปล : การสาธารณสุข ความหมาย :
ความมั่นคงปลอดภัยทางสุขภาพ อนามัย และสภาพความอยู่ดีทางสังคมของประชาชนทั้งมวล ไม่ได้มุ่งหมายถึงสุขภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า “Health (อนามัย)” ไว้ว่า “สภาวะที่ประชาชนมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ในสังคมที่ดี ไม่ได้หมายความเฉพาะแต่การปลอดจากโรค หรือได้รับการรักษาพยาบาล” การสาธารณสุขเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของรัฐที่มีต่อประชาชน ดังนั้น รัฐจึงต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนการป้องกันภยันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ มลพิษ สินค้าที่ไม่ปลอดภัยรวมทั้งเสริมสร้างปัจจัยทางสังคมที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เช่นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับแม่และเด็ก คนพิการ หรือคนด้อยโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้บุคคลมีพฤติกรรมที่นำไปสู่สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานในการดำรงชีพและการกินอยู่ดีของครอบครัวหรือรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาพยาบาล” อนึ่ง รัฐอาจใช้การสาธารณสุขเป็นเหตุผลในการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพ หรือใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างชอบธรรมได้ (ดู LEGITIMATE INTERFERENCE และ LIMITATION / RESTRICTION) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ