Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

KYOTO PROTOCOL

คำแปล : พิธีสารเกียวโต

ความหมาย :

พิธีสารเกียวโต เป็นความตกลงที่เป็นผลจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 1 ในพ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ที่ประชุมเห็นสมควรเร่งรัดการอนุวัตตามพันธกรณีของประเทศในภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องอนุวัตรการตามพันธกรณีของพิธีสารในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นมูลเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญาฯ หลักการสำคัญของพิธีสารคือ “หลักการป้องกันไว้ก่อน”(Precautionary Measures) และ “หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน” (Common but Differentiated Responsibilities) ที่ได้ระบุอยู่ในข้อ3 ของความตกลงฯ ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อน กิจกรรมใดที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศควรจะมีการจำกัดหรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม เนื่องจากหากรอให้มีความรู้หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้แตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ในความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องมีการพิสูจน์เหตุและผลได้อย่างชัดเจนก่อน จะกำหนดบังคับให้มีการดำเนินการตามพันธกรณี สำหรับหลักการเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน เป็นหลักการที่ตระหนักถึงความสำคัญในภาระความรับผิดชอบในการจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยทุกประเทศควรมีส่วนร่วมดำเนินการแต่อาจทำในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศที่พัฒนาแล้วปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ และปัจจุบันก็ยังคงปล่อยอยู่ในอัตราที่สูง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่ต่ำมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ประเทศไทยปล่อยในสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของโลก ดังนั้น ในแง่ของ ผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาต้องรับผิดชอบแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีความรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลักการที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา