Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

DE FACTO (LATIN)

คำแปล : โดยพฤตินัย / ตามข้อเท็จจริง

ความหมาย :

คำนี้อ่านว่า “เด-ฟาค-โต” สิ่งที่เกิดขึ้น หรือเป็นอยู่ในความเป็นจริง แม้ว่าสิ่งนั้นไม่มีกฎหมายรับรอง หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมาย เช่น ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรับรองสถานะผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยได้ปฏิบัติต่อผู้หลบหนีการสู้รบเข้ามาในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรม บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ลี้ภัยโดยพฤตินัย / ตามข้อเท็จจริงเป็นต้น ในทางกลับกันหมายถึงสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีการปฏิบัติในสิ่งที่กฎหมายรับรอง เช่น บางประเทศกำหนดให้มีโทษประหารชีวิต แต่ไม่เคยมีผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตเป็นระยะเวลามากกว่ายี่สิบปี ถือว่าโทษประหารชีวิตถูกยกเลิกโดยพฤตินัย / ตามข้อเท็จจริง เป็นต้น คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำนี้คือ “โดยนิตินัย” หรือ “ตามกฎหมาย”(de jure) บางครั้งจะใช้คู่กันว่า “โดยนิตินัยและโดยพฤตินัย (de jure and de facto)”


DE JURE (LATIN)

คำแปล : โดยนิตินัย / ตามกฎหมาย

ความหมาย :

คำนี้อ่านว่า “เด-จู-เร” สิ่งที่กฎหมายกำหนด หรือรับรอง ซึ่งมักใช้อ้างเพื่อแสดงความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น โทษประหารชีวิตไม่เป็นวิธีการที่โหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมโดยนิตินัย / ตามกฎหมาย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 33 บางครั้งคำนี้ใช้เพื่อคัดค้านสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การปฏิบัติที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายโดยแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร เช่นการคัดค้านว่ากระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบ เนื่องจากผู้พิพากษาไม่ได้นั่งพิจารณาเต็มองค์คณะ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของศาลอันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 40 ที่กำหนดว่า “จำเลยจะได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ” คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำนี้คือ “โดยพฤตินัย” หรือ “ตามข้อเท็จจริง” (de facto) บางครั้งจะใช้คู่กันว่า “โดยนิตินัยและโดยพฤตินัย(de jure and de facto)”


DEATH PENALTY

คำแปล : โทษประหาร

ความหมาย :

โทษประหารคือโทษทางอาญาที่รุนแรงที่สุดโดยมุ่งทำให้บุคคลที่ถูกลงโทษตายไม่ว่าโดยวิธีการใดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยการประหารชีวิตต้องทำโดยการฉีดสารพิษให้ตาย เนื่องจากการลงโทษประหาร เป็นผลจากการพิจารณาคดีอาญา ดังนั้นการตัดสินลงโทษจะต้องผ่านการพิจารณาโดยกระบวนการตามกฎหมายซึ่งโดยปกติจะทำโดยศาลอาญาหรือศาลอาญาทหาร ดังนั้น “โทษประหาร” จึงต่างกับ “การสังหารตามอำเภอใจ (Arbitrary Execution)”หรือ “การสังหารโดยการพิจารณาอย่างรวบรัด (Summary Execution)”หรือ การสังหารนอกกฎหมาย (Extra-judicial Killing) ซึ่งเป็นการจงใจทำให้คนตายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไม่ได้ห้ามโทษประหารอย่างเด็ดขาดโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้กำหนดว่าในประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหาร โทษประหารจะมีได้แต่เฉพาะกับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด (Most Serious Crime) แต่ความเห็นของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่งเห็นว่าโทษประหารโดยตัวเองขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามแม้ว่าโทษประหารชีวิตจะไม่ขัดต่อ ICCPR แต่วิธีการประหารชีวิตอาจจะขัดต่อสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้ก้อนหินขว้างให้ตาย หรือโบยให้ตาย ถือได้ว่าเป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้ายและขัดต่อสิทธิมนุษยชน


DEATH ROW

คำแปล : แดนประหาร

ความหมาย :

สถานที่คุมขังนักโทษที่อยู่ระหว่างรอการประหาร ไม่ว่าจะเป็นนักโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตที่รออุทธรณ์หรือฎีกา หรือนักโทษเด็ดขาด (นักโทษที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต) ที่อยู่ระหว่างการยื่นฎีกาขอไว้ชีวิต หรือขอความเมตตา (Clemency) จากประมุขของรัฐหรือนักโทษที่รอการประหารจริงที่คำขอไว้ชีวิตได้รับการปฏิเสธแล้ว แดนประหารมักจะถูกจัดให้อยู่ในเรือนจำ และแยกออกจากแดนควบคุมนักโทษทั่วไป หลายประเทศแยกขังเดี่ยวนักโทษที่รอการประหาร ระยะเวลาที่อยู่ในแดนประหารของนักโทษแต่ละคนขึ้นอยู่กับคดีบางคดีอาจใช้เวลาถึงเจ็ดปี ระยะเวลาที่อยู่ในแดนประหารที่นานส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง นักโทษในแดนประหารหลายรายเมื่อได้รับการปล่อยตัวจะมีสภาพเป็นผู้ป่วยทางจิต ในประเทศไทยนักโทษเด็ดขาดทุกคนมีสิทธิถวายฎีกาขอไว้ชีวิตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้


DECENTRALISATION

คำแปล : การกระจายอำนาจ

ความหมาย :

การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในภารกิจของรัฐบาลกลาง หรือการปกครองส่วนกลาง ไปสู่หน่วยงานการปกครองระดับกลาง และระดับท้องถิ่น เช่น ระดับภูมิภาค หรือระดับจังหวัด รวมถึงการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลไปยังภาคเอกชน เป็นต้น การถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปยังองค์กรในภูมิภาคหรือท้องถิ่นจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ทั่วถึง และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่าการรวบอำนาจหน้าที่ไว้กับส่วนกลางอันสอดคล้องกับสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน


DECLARATION

คำแปล : ปฏิญญา

ความหมาย :

ปฏิญญาใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น 1. ความตกลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งมุ่งให้เกิดพันธะผูกพัน เช่นปฏิญญาปารีส (Declaration of Paris 1856) ซึ่งเป็นความตกลงที่มุ่งนิยามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยการปิดกั้น (Blockade) และของต้องห้าม (Contraband) 2. เอกสารไม่เป็นทางการ ซึ่งผนวกสนธิสัญญา หรืออนุสัญญา แสดงการตีความบทบัญญัติของสนธิสัญญา หรืออนุสัญญานั้น เช่น Declaration of Interpretation ที่รัฐตั้งข้อสงวน 3. ความตกลงไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่สำคัญนัก 4. มติจากการประชุมทางการทูต หรือมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งประกาศหลักการบางประการ หรือข้อกำหนดให้ทุกรัฐถือปฏิบัติ เช่น ปฏิญญาว่าด้วยการห้ามใช้กำลังทางทหาร ทางการเมือง หรือ ทางเศรษฐกิจบังคับเพื่อการทำสนธิสัญญาพ.ศ. 2512(Declaration on the Prohibition of Military, Political or Economic Coercion in the Conclusion of Treaties1969) ซึ่งที่ประชุมกรุงเวียนนารับรองพร้อมกับมติที่รับรองอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาหรือ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา พ.ศ. 2529 (Declaration on the Rights to Development1986)


DECLARATION ON HUMAN RIGHTS DEFENDERS

คำแปล : ปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

ปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นคำเรียกย่อของ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่มและองค์กรทางสังคมที่ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล และเสรีภาพพื้นฐาน (Declaration on the Right and Responsibility of Individuals, Groups and Organs of Society to Promote and Protect Universally Recognized Human Rights and Fundamental Freedoms)” ซึ่งได้รับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ปฏิญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครององค์กรและบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในการทำงานตามภาระหน้าที่ องค์กรหรือบุคคลเหล่านี้มักมีการข่มขู่ คุกคามจากรัฐ หรือรัฐละเลยที่จะเยียวยาแก้ไขเมื่อมีการละเมิดสิทธิบุคคลเหล่านี้เสียเอง ปฏิญญาฯ ได้เน้นให้รัฐต้องประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เช่นสิทธิในการรวมกลุ่มทางสังคม ในรูปแบบองค์กรเอกชน หรือสมาคมเพื่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิที่จะระดมทุนหรือการรับบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รัฐต้องประกันสิทธิในการร้องเรียนและเยียวยาแก้ไขเมื่อมีการละเมิดผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปฏิญญาฯ ถือว่ารัฐมีความรับผิดชอบในเบื้องต้นที่จะคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเมื่อปฏิบัติงานอย่างชอบธรรม โดยรัฐจักต้องใช้มาตรการทุกอย่างเพื่อให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนปลอดจากการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือ ป้องกันความรุนแรงใดๆ ที่เกิดจากการตอบโต้จากสังคม หรือบุคคลอื่นในสังคม


DECLARATION ON THE RIGHTS OF MAN AND OF THE CITIZEN 1789

คำแปล : คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษย์และสิทธิพลเมือง (ของฝรั่งเศส) พ.ศ. 2332

ความหมาย :

ภาษาฝรั่งเศสคือ Dclaration des droits de l’homme et du citoyen de 1789 เอกสารสำคัญทางกฎหมายที่ทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส คำประกาศฯ กำหนดให้สิทธิของบุคคลทุกคนและสิทธิของพลเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจละเมิดได้โดยองค์กรใด ๆ วัตถุประสงค์ในการจัดทำคำประกาศฯ คือ การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศฝรั่งเศสได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ หลังจากมีคำประกาศฯ ไม่นาน แนวคิดของการร่างคำประกาศฯ มาจากหลักปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองจากยุคเรืองปัญญา / ยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenmentหรือ Les lumires) ได้แก่ ความเป็นปัจเจกชนและสัญญาประชาคม บนพื้นฐานทางทฤษฎีของ จอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาชาวอังกฤษ และพัฒนาต่อมาโดยปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ฌอง ฌาค รุสโซ(Jean Jacques Rousseau) และหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองเป็นสามฝ่าย (อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ)ของมงเตสกิเออ (Montesquieu) คำประกาศฯ ฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีสิทธิธรรมชาติ โดยถือว่าสิทธิดังกล่าวมีอยู่ไม่ว่าจะเมื่อใดและในที่ใด เนื่องจากเป็นสิทธิที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ เนื้อหาในคำประกาศของข้อ 1 ได้วางพื้นฐานปรัชญาทางสังคม การเมืองและกฎหมายซึ่งภายหลังได้เป็นพื้นฐานของปรัชญาในการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนี้ “มนุษย์เกิดมาพร้อมกับอิสรภาพและความเสมอภาคกันในด้านสิทธิและจะดำรงสิ่งเหล่านี้ตลอดไป การทำให้เกิดความแตกต่างทางสังคมจะสามารถทำได้เพียงเพื่อประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม (Les hommes naissent etdemeurent libres et gaux en droits. Les distinctions sociales ne peuvent tre fondes que sur l’utilit commune)” สิทธิขั้นพื้นฐานตามคำประกาศฯ นี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส และบุคคลสามารถยกสิทธิขึ้นอ้างในศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองได้


DECREE / ROYAL DECREE

คำแปล : กฤษฎีกา /ประกาศ / พระราชกฤษฎีกา

ความหมาย :

ในความหมายทั่วไป หมายถึง กฎหมาย คำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกโดยอำนาจของประมุขของประเทศ เช่น พระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีซึ่งการออกกฎหมายนี้จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในความหมายเฉพาะตามระบอบการปกครองของไทย หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีมีได้สองกรณีคือ กรณีแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550(ค.ศ. 2007) มาตรา 187 บัญญัติไว้กว้าง ๆ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” ซึ่งกิจการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ กิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรหรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น กรณีที่สอง เป็นการออกพระราชกฤษฎีกา โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท เช่น พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และเวลาใช้กฎหมาย ในการตราพระราชกฤษฎีกา บุคคลซึ่งใช้อำนาจเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญ จะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้น ๆ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป


DEFAMATION

คำแปล : การทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติยศ

ความหมาย :

การกระทำที่มีลักษณะเป็นการใส่ร้าย การทำให้เสียชื่อเสียง เกียรติยศทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของบุคคลอื่นอันเป็นความผิดในทางอาญาและทางแพ่ง ลักษณะการกระทำที่เป็นการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศมีหลายวิธี เช่นการพูด การเขียน การโฆษณา การตีพิมพ์ด้วยเอกสาร หรือสิ่งใดให้ปรากฏความหมาย ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เป็นต้น ประการสำคัญ คือ เป็นการทำให้สังคมเสื่อมความเชื่อถือ หรือนับถือบุคคลที่ถูกใส่ความ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ได้บัญญัติความรับผิดของบุคคลในการทำให้บุคคลเสียชื่อเสียงเกียรติยศไว้แตกต่างกัน เช่น กฎหมายประเทศอังกฤษความรับผิดทางอาญา ในเรื่องการใส่ความจะต้องเป็นการแสดงข้อความที่เป็นเท็จ ส่วนกฎหมายของบางประเทศ การทำลายชื่อเสียงของบุคคลอื่นมีได้ทั้งการแสดงความที่เป็นเท็จ และการแสดงข้อความจริง เป็นต้น การกำหนดความรับผิดในการใส่ความทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียงถือว่าเป็นการประกันสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 12 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลไว้ใน มาตรา 35 ว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพ ไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิด หรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว กฎหมายได้กำหนดให้การทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงเกียรติยศเป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท และเป็นการละเมิดตามกฎหมายแพ่ง ในความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท กำหนดให้บุคคลที่ใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิด อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นว่าแม้การกระทำจะทำให้บุคคลที่สามเสียชื่อเสียง แต่ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพในการพูด การแสดงออก กับความรับผิดชอบในการทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง


DEFENDANT / DEFENDER

คำแปล : จำเลย

ความหมาย :

บุคคลที่ถูกฟ้องต่อศาล คำนี้ใช้ได้ทั้งในคดีอาญา และคดีแพ่ง ในคดีอาญา “จำเลย” หมายถึง บุคคลที่ถูกฟ้องต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เพื่อขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย โดยผู้ฟ้องอาจเป็นบุคคล หรืออัยการในบางประเทศใช้คำว่า “the Accused” แทน คำว่า “Defendant” กฎหมายสิทธิมนุษยชนได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ เพื่อให้จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม รวมถึงสิทธิที่จะมีทนาย สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการควบคุมกักขังจำเลยไว้ระหว่างการดำเนินคดีโดยไม่มีเหตุผล จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของจำเลย อย่างไรก็ตามการควบคุมตัวมีข้อยกเว้นได้บางกรณี เช่น จำเลยจะหลบหนีไป หรือจะไปคุกคามข่มขู่พยาน เป็นต้น (ดู สิทธิในการประกันตัว THE RIGHTS TO RELEASE ON BAIL) ในคดีแพ่ง “จำเลย” หมายถึง ผู้ที่ถูกฟ้องต่อศาล เพื่อให้ชำระหนี้ทางแพ่งหรือขอให้ศาลสั่งให้กระทำการ หรืองดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง มาตรฐานสิทธิมนุษยชนหลายอย่างไม่ครอบคลุมถึงจำเลยในคดีแพ่ง สิทธิขั้นพื้นฐานบางประการสามารถปรับใช้ได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลที่เป็นธรรม (UDHR ข้อ 10) สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง (ICCPR ข้อ 11) เป็นต้น อนึ่ง จำเลยในคดีอาญา และคดีแพ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ บุคคลที่ถูกฟ้องต่อศาล คำนี้ใช้ได้ทั้งในคดีอาญา และคดีแพ่ง ในคดีอาญา “จำเลย” หมายถึง บุคคลที่ถูกฟ้องต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เพื่อขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย โดยผู้ฟ้องอาจเป็นบุคคล หรืออัยการในบางประเทศใช้คำว่า “the Accused” แทน คำว่า “Defendant” กฎหมายสิทธิมนุษยชนได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ เพื่อให้จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม รวมถึงสิทธิที่จะมีทนาย สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการควบคุมกักขังจำเลยไว้ระหว่างการดำเนินคดีโดยไม่มีเหตุผล จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของจำเลย อย่างไรก็ตามการควบคุมตัวมีข้อยกเว้นได้บางกรณี เช่น จำเลยจะหลบหนีไป หรือจะไปคุกคามข่มขู่พยาน เป็นต้น (ดู สิทธิในการประกันตัว THE RIGHTS TO RELEASE ON BAIL) ในคดีแพ่ง “จำเลย” หมายถึง ผู้ที่ถูกฟ้องต่อศาล เพื่อให้ชำระหนี้ทางแพ่งหรือขอให้ศาลสั่งให้กระทำการ หรืองดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง มาตรฐานสิทธิมนุษยชนหลายอย่างไม่ครอบคลุมถึงจำเลยในคดีแพ่ง สิทธิขั้นพื้นฐานบางประการสามารถปรับใช้ได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลที่เป็นธรรม (UDHR ข้อ 10) สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง (ICCPR ข้อ 11) เป็นต้น อนึ่ง จำเลยในคดีอาญา และคดีแพ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้


DELAY IN RATIFICATION

คำแปล : การให้สัตยาบันล่าช้า

ความหมาย :

การให้สัตยาบันล่าช้าหมายถึงการให้สัตยาบันในเวลาที่ล่วงเลยไปกว่าที่ควรจะเป็น เว้นแต่ได้มีการกำหนดไว้ในสนธิสัญญาโดยชัดแจ้งว่ารัฐภาคีต้องให้สัตยาบัน หรือ ปฏิเสธการให้สัตยาบันภายในระยะเวลาที่กำหนด รัฐภาคีจึงต้องกระทำการดังกล่าวภายในระยะเวลาเช่นว่านั้น หากไม่ได้กำหนดเวลาไว้แน่นอนเช่นนั้น มักจะให้รัฐภาคีให้สัตยาบันในเวลาอันสมควร ในบางกรณี แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปีแล้วก็ตามแต่รัฐภาคียังคงให้สัตยาบันได้ เช่น ในกรณี สนธิสัญญามนุษยชนต้องการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อมนุษยชน ซึ่งเป็นการปฏิบัติร่วมกัน ดังนั้นจึงมักจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการให้สัตยาบัน ทั้งนี้เพื่อไม่ปิดโอกาสรัฐในการเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบัน ในบางกรณีเวลาอาจจะล่วงเลยไปหลายปีแต่รัฐที่ได้ลงนามรับรองไว้ ยังคงให้สัตยาบันได้ เช่น ในค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) แต่ได้ให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1994(พ.ศ. 2537)


DEMOCRACY, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในประชาธิปไตย

ความหมาย :

ประชาธิปไตย กับ สิทธิมนุษยชน มีจุดกำเนิดร่วมกันในเชิงปรัชญาความคิด กล่าวคือ เป็นหลักการที่ตั้งอยู่บนแนวความคิด “มนุษยนิยม” ที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองและสังคม หากได้รับเสรีภาพในการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบการเมืองการปกครองที่เปิดโอกาสให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยประกอบไปด้วยหลักที่สำคัญสามประการ คือ การกำหนดอนาคตตนเอง การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์ในสังคมอย่างสันติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติรัฐของระบอบประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายสำคัญสามประการเช่นกัน คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ความเป็นประชาธิปไตยในแง่มุมสิทธิมนุษยชนจึงหมายรวมถึงการปกครองที่มุ่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทั้งหลายของประชาชนอย่างเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และต้องออกแบบกลไกระงับข้อพิพาทอย่างสันติ เมื่อเกิดการโต้แย้งสิทธิขึ้นระหว่างประชาชน เช่น การมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างของสถานะทุกรูปแบบ และจัดตั้งองค์กรในการแก้ไขความขัดแย้งของประชาชน


DEMOCRATISATION

คำแปล : การทำให้เป็นประชาธิปไตย

ความหมาย :

การทำให้เป็นประชาธิปไตย คือ กระบวนการพัฒนาการเมือง และสิทธิทางการเมืองผ่านมาตรการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ และในทุกมิติ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปตัดสินใจทุกระดับ การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตลอดจนถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการ อีกทั้งการให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ตามหลักประชาธิปไตย


DENUNCIATION

คำแปล : การบอกเลิกสนธิสัญญา / การไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี

ความหมาย :

คำว่า Denunciation ใช้กับสองสถานการณ์ คือ 1. การบอกเลิกสนธิสัญญา – เป็นการที่รัฐได้ประกาศที่จะไม่ผูกพันสนธิสัญญาที่ตนเองเป็นภาคีอยู่อีกต่อไป การบอกเลิกสนธิสัญญาต้องทำเป็นเอกสาร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนั้น สนธิสัญญาบางประเภทไม่อาจบอกเลิกได้เช่น สนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตแดน แต่สำหรับสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่มีข้อกำหนดให้รัฐสามารถบอกเลิกได้ 2. การไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี – เป็นคำที่ใช้ในเรื่องร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาที่ทำโดยบุคคล กลุ่มบุคคลหรือรัฐอื่น กล่าวหาว่ารัฐไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คำร้อง หรือข้อกล่าวหานั้นซึ่งอาจกระทำโดยวาจา หรือโดยเอกสารเพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐได้ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ


DEPRIVATION OF RIGHTS

คำแปล : การถูกพรากสิทธิ / การถูกลิดรอนสิทธิ

ความหมาย :

สภาพที่ไม่สามารถมีสิทธิ หรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิ หรือไม่สามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ การขาดปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของบุคคลทั้งในทางวัตถุ ทางจิตใจ หรือสถานภาพทางกฎหมาย เช่นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือการไม่ได้รับการยอมรับสิทธิในฐานะพลเมืองของรัฐ การไม่มีที่ทำกิน เป็นต้น คำนี้ยังหมายถึง ความไม่เท่าเทียมกันของบุคคล และการกีดกันไม่ให้ใช้สิทธิตามกฎหมายด้วย ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนรัฐมีพันธะหน้าที่ในการเคารพ


DEROGABLE (HUMAN) RIGHTS

คำแปล : สิทธิ (มนุษยชน) ที่อาจถูกพักใช้ได้

ความหมาย :

สิทธิ (มนุษยชน) ที่อาจถูกพักใช้ได้ / สิทธิมนุษยชนที่อาจถูกพักใช้ คือ สิทธิต่าง ๆ ที่อาจถูกพักใช้ชั่วคราวโดยรัฐได้ในเวลาที่รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์พิเศษ ตามที่สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนแต่ละฉบับได้กำหนดไว้ ตัวอย่างสิทธิที่อาจพักใช้ชั่วคราว เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ สิทธิที่จะไม่ถูกค้นตัวโดยไม่มีเหตุตามสมควร สิทธิในการชุมนุมประท้วง สิทธิในการแสดงออก และสิทธิในการรวมกลุ่มสมาคม (ดู ICCPR ข้อ 4(1), European Convention on Human Rights ข้อ 15(1), Inter-American Convention on Human Rights ข้อ 27(1)) ส่วนสิทธิบางประเภทรัฐไม่อาจพักใช้ได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ สถานการณ์พิเศษเรียกสิทธิประเภทนี้ว่าสิทธิที่ไม่อาจลดทอน หรือ พักใช้ได้ (Non-Derogable Rights) หรือ สิทธิสัมบูรณ์ (Absolute Rights)เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในความเชื่อและนับถือศาสนา สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน ( ดู ICCPR ข้อ 4 (2), European Convention on Human Rights ข้อ 15(2), Inter-American Convention on Human Rights ข้อ 27(2)) การพักใช้ชั่วคราวต่างกับการจำกัดสิทธิ (Limitation หรือ Restriction) ซึ่งหมายถึงการจำกัด หรือการกำหนดขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่กระทำได้แม้ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือสถานการณ์พิเศษ (State of Exception) เช่นการกำหนดให้เด็กทุกคนเข้าเรียนในการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงเสรีภาพของบุคคล หรือการจำคุก กักขังผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการจำกัดอิสรภาพของบุคคล


DEROGATION

คำแปล : การระงับพันธะหน้าที่ชั่วคราว

ความหมาย :

การระงับพันธะหน้าที่ชั่วคราว หมายถึง การที่รัฐได้ประกาศระงับพันธะหน้าที่ในการเคารพหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะบางด้าน ที่ตนเองผูกพันภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือสถานการณ์พิเศษ (State of Exception) ที่เป็นภัยอันตรายต่อการดำรงอยู่ของรัฐ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 มีบทบัญญัติเรื่องการระงับพันธะหน้าที่ชั่วคราวได้ทั้งนี้เพื่อสะท้อนความเป็นจริงว่าในบางช่วงเวลารัฐอาจเผชิญภาวะยุ่งยากในการบริหารภายใน จึงยอมให้รัฐระงับพันธะหน้าที่ เคารพสิทธิมนุษยชนบางเรื่องได้เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินมาตรการที่เหมาะสมจำเป็น เพื่อปัดเป่าอันตรายที่จะเกิดกับรัฐได้ในช่วงที่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยไม่ต้องพะวงเรื่องพันธกรณีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่ารัฐจะใช้อำนาจตามอำเภอใจในช่วงการประกาศระงับพันธกรณีระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ดูแลสอดส่องการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาจะทำหน้าที่พิจารณาสถานการณ์ที่เป็นการฉุกเฉินและสอดส่องดูแลมาตรการที่รัฐใช้ระหว่างการระงับพันธะหน้าที่ชั่วคราว อันเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐใช้มาตรการที่เกินความจำเป็น


DETENTION

คำแปล : 1. การควบคุมตัว 2. การกักขัง

ความหมาย :

1. การควบคุมตัว มาตรการทางกฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลไว้ชั่วคราวที่กระทำโดยอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองโดยกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารควบคุมตัวบุคคล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการกิจการสาธารณะให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ชอบธรรมของรัฐได้ เช่น การคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณชน การป้องกันอาชญากรรม การป้องกันโรคติดต่อหรือการป้องกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น การควบคุมตัวจึงไม่ใช่โทษทางอาญา หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจของศาล เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดของผู้ที่ถูกควบคุมตัว แม้ว่าการควบคุมตัวบุคคลโดยฝ่ายบริหารสามารถทำได้ แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนได้วางเงื่อนไขว่า การควบคุมบุคคลนั้นจะต้องมีกฎหมายรับรองมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัว และจะต้องไม่ควบคุมตัวไว้นานเกินกว่าความจำเป็นที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมตัว นอกจากนั้นบุคคลที่ถูกควบคุมตัวต้องได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอีกด้วย วัตถุประสงค์ในการควบคุมตัวโดยฝ่ายบริหารมีได้หลายประการเช่น การควบคุมตัวไว้ระหว่างการสอบสวนความผิด การควบคุมตัวผู้ดื่มสุรามึนเมาอาละวาด การควบคุมตัวผู้หลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น 2. การกักขัง โทษอาญาประเภทหนึ่งที่ผู้ที่ถูกลงโทษจะถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่กักขัง ที่กำหนดไว้อันมิใช่ทัณฑสถาน สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน ในความหมายนี้การกักขังนั้นจะต้องทำโดยคำพิพากษา นอกจากนั้น คำว่า “Detention” เมื่อใช้ประกอบกับคำนามอาจแปลได้หลายความหมาย เช่น • Detention Centre สถานกักขังเป็นสถานที่สำหรับบุคคลที่ถูกพิพากษาตามโทษกักขัง • Child Detention House สถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นสถานที่สำหรับควบคุมตัวเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดอาญา ซึ่งตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนกำหนดให้แยกออกจากทัณฑสถานสำหรับนักโทษที่เป็นผู้ใหญ่ • Immigration Detention Centre ศูนย์ควบคุมตัวผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองตามกฎหมาย ซึ่งการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายไม่ถือว่าเป็นอาชญากร


DEVELOPMENT, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการพัฒนา

ความหมาย :

สิทธิในการพัฒนากำเนิดในยุคที่สามของพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน (นักวิชาการแบ่งพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนเป็นสามยุคคือ ยุคแรกเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยุคที่สองเกี่ยวกับสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และยุคที่สามเกี่ยวกับสิทธิในการพัฒนา)สิทธิในการพัฒนา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานกับการพัฒนา โดยเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนจะสมบูรณ์ได้ด้วยการพัฒนา สิทธิในการพัฒนามักถูกกล่าวอ้างโดยประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้มีการพัฒนาระเบียบโลกที่เกิดความเป็นธรรมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นหน้าที่ของประเทศที่พัฒนาแล้วต้องช่วยเหลือประเทศที่ด้อยพัฒนา/ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด เพื่อให้มีการพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริง สิทธิในการพัฒนาประกอบไปด้วย หลักการสำคัญห้าประการ คือ อำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรของตน สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา ความเสมอภาคในโอกาสแข่งขัน และพัฒนาตนเอง และการสร้างโอกาสและเงื่อนไขที่เอื้อต่อการดำรงสิทธิพลเมืองและการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม