Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

OMBUDSMAN

คำแปล : ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ความหมาย :

มาจากภาษาสวีเดน คือ “อุมบุดส์มาน” ตามความหมายเดิม คือ คนกลางหรือผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ รัฐสภา หรือฝ่ายบริหารให้มีหน้าที่ดูแลประโยชน์สุขของประชาชน รวมถึงรับฟังคำร้องเรียนและสอบสวนกรณีประชาชนร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐและรายงานต่อองค์กรที่แต่งตั้งปัจจุบันคำนี้มีความหมายกว้างขึ้น หมายถึง บุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐเพื่อให้ทำหน้าที่ดังกล่าว แนวคิดเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินมีมาช้านาน เช่น ในประเทศจีนโบราณหรือในประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่างพระเนตรพระกรรณ แต่รูปแบบที่ใช้ในความหมายปัจจุบันมีกำเนิดจากประเทศสวีเดนในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ที่ได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภา ต่อมารูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เช่น ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้ง “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา”ขึ้นใน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)ได้กำหนดให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีดังนี้ • รับคำร้องเรียนการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร • ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล • ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ • เสนอเรื่องพร้อมให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เช่น หากมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งทางปกครอง อนึ่ง คำนี้ได้นำไปใช้ในความหมายทั่วไป หมายถึง ผู้ตรวจการเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย เช่น Health Ombudsman (ผู้ตรวจการสุขภาพ) และ FinancialOmbudsman (ผู้ตรวจการการเงิน) ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น


ON LIBERTY

คำแปล : ว่าด้วยเสรีภาพ

ความหมาย :

ชื่อหนังสือที่เขียนโดย จอห์น สจ็วต มิลล์ (John Stewart Mill) นักปรัชญาชาวอังกฤษมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1806 – 1873 (พ.ศ. 2349 - 2416) พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. 1834 (พ.ศ. 2377) เพื่อสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมตามแบบของเบนธั่ม (ดู Bentham, Jeremy) โดยเขาเสริมความเห็นทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เกี่ยวกับการตัดสินใจของบุคคลว่า ความพอใจสูงสุด คือ เกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และเห็นว่าเสรีภาพ คือ การที่รัฐส่งเสริมเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีดังนั้นเสรีภาพจึงเป็นทั้งจุดมุ่งหมาย (Purpose) และเป้าหมาย (Goal)ที่สำคัญของสังคม รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ปัจเจกชนได้ทำตามความต้องการของตนเองเพื่อเขาจะได้บรรลุถึงการพัฒนาทางความคิด และเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม หนังสือ “ว่าด้วยเสรีภาพ” เสนอแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับปัจเจกชน จอห์น สจ็วต มิลล์ เห็นว่าศัตรูที่สำคัญของเสรีภาพไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นสังคมที่มีสภาพเป็นทรราชย์ หรือที่เขาเรียกว่า ทรราชย์โดยคนส่วนใหญ่ (Tyrant of the Majority) มิลล์เห็นว่ารัฐบาลสามารถแทรกแซงเสรีภาพปัจเจกชนได้ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นการเพิ่มพูนประโยชน์สุขของสังคม เช่น การแทรกแซงเสรีภาพเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค และเห็นว่าปัจเจกชนมีเสรีภาพทำสิ่งใดได้ตราบเท่าที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เสรีภาพของปัจเจกชนจึงแยกไม่ออกจากเสรีภาพของสังคม ดังนั้นหลักอรรถประโยชน์ (Principle of Utility) จึงต่างจากการกระทำที่เอาแต่ได้ของบุคคล


OPEN TRIAL / PUBLIC TRIAL

คำแปล : การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย รูปแบบ

ความหมาย :

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยรูปแบบ หรือวิธีการพิจารณาคดีในศาลที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนสืบพยานในศาล เพื่อเป็นสักขีพยานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งจำเลยมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับพยานโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด ในการพิสูจน์ความจริงในคดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม เว้นแต่มีความจำเป็นในการคุ้มครองพยาน เด็ก เยาวชนชื่อเสียง เกียรติยศของผู้เสียหายหรือเพื่อรักษาความลับหรือความมั่นคงของรัฐ (ดู TRIAL IN CAMERA) ในคดีอาญาถือเป็นหลักการว่ารัฐจะต้องให้การรับรองสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพื่อทำให้คดีนั้นดำเนินไปด้วยความเป็นธรรมและถูกต้อง และเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดการเบี่ยงเบนความชอบธรรมโดยอคติ ตลอดจนพฤติกรรมที่ไม่ชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี รวมทั้งลดปัญหาเรื่องคำวินิจฉัยที่อาจเกิดจากอคตินั้น ความสำคัญของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผยสามารถพิจารณาได้สองด้าน คือ ด้านแรก เป็นการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญาซึ่งการพิจารณาโดยเปิดเผยในคดีอาญามุ่งคุ้มครองจำเลยในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะไม่ถูกข่มขู่ กลั่นแกล้งหรือถูกพิจารณาคดีตามอำเภอใจ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันพยานเบิกความเท็จ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการคุ้มครองสาธารณชน เพื่อป้องกันไม่ให้ตุลาการใช้อำนาจโดยไม่มีความรับผิดชอบอันจะส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากการดำเนินคดีอาญาในศาลไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะสิทธิหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลของจำเลยคนเดียวแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดที่อยู่ร่วมกัน ในสังคมเป็นเสมือนสิทธิของสาธารณชนที่มีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสาธารณชนด้วยโดยประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม เป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่าบุคคลที่ถูกฟ้องคดีอาญาจะต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย หลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในข้อ 10ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น นานาอารยประเทศมักจะประกันสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ในมาตรา 6 ของ“บทบัญญัติสิทธิประชาชนอเมริกา” (ดู AMERICAN BILL OF RIGHTS) ที่บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงจำเลยพึงมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และจักมีสิทธิเผชิญหน้ากับพยานที่ให้การในทางยืนยันความผิดของตน” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)มาตรา 40 ได้รับรองสิทธิไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้...... (2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง” คำตรงกันข้ามกับคำนี้คือ การพิจารณาเป็นการลับ (ดู TRIAL IN CAMERA)


ORGANISED CRIME

คำแปล : อาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง

ความหมาย :

กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่มีลักษณะเป็นการจัดตั้งและมีการดำเนินการอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อกระทำความผิดอาญาร้ายแรง อาชญากรรมประเภทนี้มีการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีการประสานงานตลอดจนแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างบุคคลผู้ลงมือกระทำความผิดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปฏิบัติการระดับล่าง ดังนั้นการสืบสาวความผิดให้ถึงตัวผู้บงการที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจึงมีความยากลำบาก อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งจะไม่มีเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการดำเนินงาน มักใช้อิทธิพลทางการเงิน ทางการเมืองหรือใช้ความรุนแรงข่มขู่ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล รวมทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญา อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งเป็นภัยต่อสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้นใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) สหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการจัดตั้ง (United Nations Convention against Transnational Organised Crime หรือ CTOC) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ เช่น การกำหนดลักษณะความผิดในกฎหมายอาญา การให้ข้อมูลข่าวสาร การสอบสวนสืบสวน การยึดทรัพย์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงช่วยเหลือทางด้านเทคนิค อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาและรับรองข้อบทของสนธิสัญญา (ดู SIGNATURE SUBJECT TO RATIFICATION)แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ดังนั้นประเทศไทยจึงยังไม่ผูกพันอนุสัญญาฉบับนี้ (ข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม 2555)


OUTSOURCING

คำแปล : การรับบริการจากแหล่งภายนอกองค์กร

ความหมาย :

การรับบริการจากแหล่งภายนอกองค์กรเป็นการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ที่เน้นการลดต้นทุน และ ภาระเกี่ยวกับลูกจ้างในองค์กร ตลอดจนการลดภาระด้านสวัสดิการคนงานภายในองค์กร ลดความเสี่ยงต่อการนัดหยุดงาน การประท้วงเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง และปัญหาอื่นๆ ตลอดจนถึงความต้องการในการได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้ให้บริการโดยผู้ประกอบการวิชาชีพชั้นสูงเฉพาะทาง ด้วยเหตุผลหลายประการเหล่านี้ ทำให้มีการใช้บริการจากแหล่งภายนอกองค์กรมากขึ้น ส่วนองค์กรที่รับบริการก็มีเหตุผลหลากหลายดังกล่าวแล้ว แต่เหตุผลหลักคือการประหยัดและลดความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามองค์กรธุรกิจบางแห่งอาศัยรูปแบบของการรับบริการจากภายนอก แต่มีการให้คนงานผู้ให้บริการมาทำงานในสำนักงานของผู้รับบริการโดยตรง ในลักษณะเดียวกับการจ้างแรงงาน แต่เลี่ยงการทำสัญญาจ้างแรงงาน เพื่อหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ หรือการทำสัญญารับจ้างช่วง (Sub-contract) แต่มีการให้คนงานมาทำงานในสำนักงานของผู้ว่าจ้างเดิม แต่ไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเดิม ส่วนผู้รับจ้างช่วงก็ทำสัญญากับคนงานในลักษณะจ้างทำของ ทุกกระบวนการเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากนายจ้าง


OVERSHOOT

คำแปล : สภาวการณ์ที่ความต้องการของมนุษย์มีมากเกินกว่าที่ธรรมชาติมีอยู่

ความหมาย :

ในทางนิเวศวิทยา “Overshoot” หมายถึง สภาวการณ์ที่ความต้องการของมนุษย์มีมากกว่าสิ่งที่ธรรมชาติมีอยู่เพื่อให้มนุษย์นำไปใช้สอยได้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก และหากสภาวการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ในการบริโภค ใช้สอยอย่างยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยการบริโภคเกินส่วนที่จะมีการทดแทนตามธรรมชาติได้ มนุษย์ย่อมจะต้องประสบกับความทุกข์ยาก และเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความขาดแคลน และการขาดความพอเพียงย่อมนำมาสู่การเอารัดเอาเปรียบและการละเมิดสิทธิมนุษยชน