EARTH DAY คำแปล : วันคุ้มครองโลก ความหมาย :
วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ “UNEP”) กำหนดให้เป็นวันเพื่อการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโลก ผู้ที่ผลักดันให้เกิดวันคุ้มครองโลก คือเกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเครือข่ายการคุ้มครองโลก (Earth Day Network) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองวันคุ้มครองโลก เพื่อรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี วันคุ้มครองโลกในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990)หลังจากการตายของนายสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยอาจารย์และนักศึกษา 16 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ในประเทศไทย และได้จัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นมรดกของโลก เป้าหมายของวันคุ้มครองโลกที่สำคัญ ได้แก่ การลดภาวะโลกร้อนการรักษาสภาพป่า การให้มีกฎหมายห้ามค้าสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธ์ุการรักษาระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และการเสริมสร้างพลังองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องโลก |
ECOLOGICAL DEFICIT คำแปล : ภาวการณ์ขาดดุลในระบบนิเวศ ความหมาย :
การขาดดุลในระบบนิเวศ เป็นคำที่ใช้เรียกภาวการณ์ไม่สมดุลกับความสามารถของธรรมชาติในการสร้างทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนการบริโภคได้ทัน และศักยภาพในการดูดซับรวมทั้งความสามารถในการกำจัดของเสียที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ตลอดจนผลในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ |
ECOLOGICAL FOOTPRINT คำแปล : ร่องรอยความสมดุลของระบบนิเวศ ความหมาย :
ร่องรอยความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นการวัดค่าความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นมาตรวัดค่าสัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกับการทดแทนความสูญสิ้นไปของทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้ของมนุษย์ เป็นมาตรการในการวัดค่าให้ทราบว่าการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคสำหรับการใช้สอยจะสิ้นเปลืองทรัพยากรต่อมนุษย์โดยคิดคำนวณความเป็นมนุษย์แต่ละคนในแต่ละเมืองของแต่ละประเทศ หน่วยของการวัดค่าดังกล่าว เรียกว่า Global Acres หากผลของการตรวจวัดพบว่า สัดส่วนของการใช้ทรัพยากรไม่สมดุลกับความสามารถของธรรมชาติในการสร้างทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนการบริโภคได้ทัน เรียกว่าเกิดการขาดดุลในระบบนิเวศ (Ecological Deficit) |
ECOLOGICAL TAXATION คำแปล : ภาษีเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ความหมาย :
ภาษีเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ วิวัฒนาการมาจากแนวคิดที่ว่าผู้ประกอบการ หรือ ผู้นำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษ ควรจะต้องรับผิดชอบในระดับที่เพียงพอ และได้สัดส่วนกับการก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดสายของการผลิต ย้อนหลังขึ้นไปจนถึงผลกระทบจากการเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิต ผลกระทบจากกระบวนการผลิต ผลกระทบจากการบริโภค และวิธีการกำจัดซากสินค้า ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบตั้งแต่การออกแบบสินค้าที่จะลดทอน ผ่อนปรนการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดสายของการผลิตให้น้อยที่สุด และจำเป็นที่จะต้องยอมรับ ผูกพันตามกฎหมาย ในการเสียภาษีคุ้มครองระบบนิเวศแบบองค์รวม ในส่วนที่ไม่สามารถออกแบบเพื่อลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีคุ้มครองระบบนิเวศ มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการดำเนินการ หรือ กิจกรรมใดๆ ที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้รับสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ ภาษีสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนี้มีขึ้นในประเทศต่างๆในยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยจัดเก็บภาษีไฟฟ้า น้ำมัน และภาษีเชื้อเพลิง เป็นต้น ภาษีดังกล่าวนี้มุ่งที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม |
ECONOMIC AND SOCIAL COUNCIL คำแปล : คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ความหมาย :
องค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติ มีหน้าที่ในการประสานความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างรัฐสมาชิกสหประชาชาติ และความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับองค์การระหว่างประเทศที่เป็นทบวงชำนัญพิเศษ (Specialise Agencies) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกห้าสิบสี่ประเทศ ได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีวาระดำรงตำแหน่งวาระละสามปี สมาชิกของคณะมนตรีฯ ได้มีการกำหนดสัดส่วนเพื่อให้เป็นตัวแทนของภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีสัดส่วนดังนี้ • แอฟริกา สิบสี่ประเทศ • เอเชีย สิบเอ็ดประเทศ • ยุโรปตะวันออก หกประเทศ • ละตินอเมริกาและคาริบเบียน สิบประเทศ • ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและโอเชียเนีย สิบสามประเทศ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยมีองค์กรย่อยที่สำคัญ คือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ดู UNITED NATIONS COMMISSION ON HUMAN RIGHTS) เมื่อขอบเขตภารกิจด้านเศรษฐกิจและสังคมมีหลายด้าน ประกอบกับงานด้านสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมากขึ้นใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)สมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงได้มีมติให้ยกระดับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (ดู UNITED NATIONSHUMAN RIGHTS COUNCIL) ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีฐานะเป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ เทียบเท่ากับคณะมนตรีเศรษฐกิจ และให้โอนภาระงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมดไปอยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน |
ECONOMY OF SCALE คำแปล : การประหยัดจากขนาดการผลิต ความหมาย :
การประหยัดจากขนาดการผลิต หมายถึง การประหยัดที่เกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจากจำนวนสินค้าที่ผลิตมีจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ถูกแบ่งเฉลี่ยให้ต่ำลงโดยจำนวนสินค้าที่ผลิตมีจำนวนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า มีสองลักษณะ ลักษณะแรกคือ การผลิตที่มีประสิทธิภาพจากปัจจัยภายนอก (External Economies) ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของอุตสาหกรรม ไม่ใช่ขนาดของธุรกิจ และลักษณะที่สอง คือ การผลิตที่มีประสิทธิภาพจากปัจจัยภายใน (Internal Economies) ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงที่ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจแต่ละรายทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ ครอบคลุมภูมิศาสตร์ที่มีความกว้างขวางกว่า ในทางกลับกันการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงเพราะมีการร่วมใช้ทรัพยากร มีการผลิตที่สูงขึ้นโดยมีกำลังซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย สภาวะดังกล่าวนำมาสู่การระดมตลาดแรงงานขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าทำให้มีการจ้างแรงงานมากขึ้น มีการสร้างงานมากขึ้น ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองมากขึ้นโดยปริยาย เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา และการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เพราะมีรายได้สูงขึ้น มีโอกาสในการตัดสินใจเลือกรูปแบบในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตามการผลิตจำนวนมากจะทำให้มีส่วนเกินของสินค้าทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เกิดภาวะสูญเปล่า เกิดภาวะการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในแง่ธุรกิจผลตอบแทนหรือกำไรจะลดลง (Diminishing Return) ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ |
EDUCATION FOR ALL คำแปล : การศึกษาเพื่อปวงชน ความหมาย :
แผนการรณรงค์ เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือขององค์การยูเนสโก(UNESCO) ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านหนึ่งของยูเนสโกต่อมาได้มีการประชุมเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ที่จัดขึ้น ณ ตำบลจอมเทียน ใกล้เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี เมื่อ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ในการประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก 155 ประเทศได้รับรอง “ปฏิญญาว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน” หรือที่เรียกว่า “ปฏิญญาจอมเทียน” ปฏิญญาฯ ได้ย้ำว่า การศึกษาเป็นสิทธิอันพึงมีของประชากรโลกเนื่องจากการศึกษาจะช่วยให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในชุมชน และสังคมโลกได้อย่างมั่นคง ดังนั้น ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนของตนอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ และต้องถือเป็นพันธกิจที่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ต้องรีบดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่สำคัญหกประการ ภายในระยะเวลาสิบปี (ภายใน พ.ศ. 2553 หรือ ค.ศ. 2010) เป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วย 1. ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ 2. มุ่งเน้นความเสมอภาคของผู้ศึกษา 3. ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา 4. ขยายวิธีการและขอบข่ายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5. ส่งเสริมให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ 6. เสริมสร้างพันธมิตรทางการศึกษา องค์การยูเนสโกได้ประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนอีกสองครั้ง คือ ใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และใน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ที่จอมเทียนฯ เพื่อเป็นการทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนการศึกษาเพื่อปวงชน |
EDUCATION, THE RIGHT TO คำแปล : สิทธิในการศึกษา ความหมาย :
สิทธิในการศึกษารับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส เช่น ผู้ยากไร้ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับสิทธิในการศึกษา และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น รัฐต้องจัดนโยบายสาธารณะและบริการสาธารณะให้มีการจัดการศึกษาอบรมโดยองค์กรเอกชนหรือภาคเอกชนทั้งนี้ยังต้องจัดให้มีทางเลือกในการศึกษาของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมจากรัฐ สิทธิในการศึกษายังรวมถึงเสรีภาพของบุคคลที่จะเลือกเรียนตามหลักสูตรหรืออาชีพที่ตนเองต้องการ หรือเสรีภาพที่จะเรียนในโรงเรียนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมตลอดจนภาษาของตนเอง |
EGALITARIANISM คำแปล : แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันทุกด้าน ความหมาย :
แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันทุกด้าน หมายถึง แนวคิดทางการเมืองซึ่งเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกันในด้านต่างๆ เพราะมนุษย์เกิดมามีความเท่าเทียมกัน แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับคำสอนของ ศาสนาคริสต์ ที่ว่าพระเจ้ารักมนุษย์ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ คำว่า “Egalitarianism” นี้ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างอิงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันในหลายลักษณะ เช่น ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม การมีรายได้ การศึกษา ระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้กับการเคารพในสิทธิมนุษยชน |
ELFI คำแปล : เอลฟี /โครงการเอลฟี ความหมาย :
“เอลฟี” (ELFI) เป็นชื่อย่อของโครงการ “Enhancing Lives of FemaleInmates” ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศไทยผลักดันให้นานาประเทศรับรองข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ รวมทั้งมาตรการลงโทษ และวิธีการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ “Bangkok Rules” โครงการนี้เกิดจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงสนพระทัยในการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง และเด็กติดผู้ต้องขัง โดยพระองค์ทรงประทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ต้องขังสตรีที่ตั้งครรภ์ เด็กติดผู้ต้องขัง และเด็กผู้กระทำความผิดตามโครงการกำลังใจในพระดำริ จนกลายเป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย “เอลฟี” ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) เนื่องจากข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิง ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะของเพศหญิง เช่น การมีบุตรติดครรภ์ก่อนได้รับโทษ รวมถึงการดูแลบุตรของผู้ต้องขังหญิงที่เกิดมาในขณะต้องโทษ “เอลฟี” ได้เสนอให้มีการจัดทำข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (UnitedNations Rules for the Treatment of Women Prisoners andNon-Custodial Measures for Women Offenders) ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)เพื่อเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันของนานาประเทศ |
EMERGENCY DECREE คำแปล : พระราชกำหนด / รัฐกำหนด ความหมาย :
กฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารในสถานการณ์อันมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้วแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศพระราชกำหนดมีผลบังคับทางกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติแต่เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร เพื่อประโยชน์ของการบริหารราชการ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) พระราชกำหนดของไทยแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ 1. พระราชกำหนดทั่วไป ประกาศใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือเพื่อป้องปัดพิบัติภัยสาธารณะ 2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ประกาศใช้ได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ ภายในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภาเท่านั้น ในการตราพระราชกำหนดนั้น คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาร่าง และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ไม่ต้องนำเสนอร่างพระราชกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป เพื่อการพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว |
EMERGENCY POWER คำแปล : อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความหมาย :
อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นอำนาจบริหารที่รัฐบาลมีขึ้น ตามหลักการระงับใช้ชั่วคราว (Derogation)เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency / Exception) ซึ่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิในสถานการณ์ที่เป็น “ภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของรัฐ” และได้มีการ “ประกาศอย่างเป็นทางการ” โดยอยู่ในขอบเขตแห่ง “ความจำเป็นของสถานการณ์” ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับ “พันธกรณีอื่น” และ “ไม่เลือกปฏิบัติ” โดยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดอาจถูกจำกัดหรือระงับได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและถือว่าการจำกัดหรือการระงับให้การคุ้มครองชั่วคราวนั้นไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในกรณีเป็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิสัมบูรณ์ไม่อาจลดทอน หรือถูกพักใช้ได้ (ดู Derogation) แต่การใช้อำนาจฉุกเฉินต้องไม่เกินความจำเป็น |
ENGLISH BILL OF RIGHTS คำแปล : บทบัญญัติสิทธิ (ของประเทศอังกฤษ) ความหมาย :
กฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษ มีชื่อเต็มว่า“พระราชบัญญัติประกาศสิทธิและเสรีภาพของพสกนิกรและการกำหนดเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์” (An Act Declaring the Rights andLiberties of the Subject and Settling the Succession of the Crown) ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1689 (พ.ศ. 2232) ในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่สามซึ่งพระราชบัญญัตินี้จัดทำขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อต่อรองกับการที่รัฐสภาได้สถาปนาพระเจ้าวิลเลียมที่สามขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ หลังจากได้ทำการ “ปฏิวัติอันเรืองโรจน์” สำเร็จ (ดู GLORIOUS REVOLUTION) “บทบัญญัติสิทธิ” ถือกันว่า เป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่เป็นรากฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศอังกฤษและกฎหมายปกครองสำคัญหลายฉบับของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอีกด้วย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศสิทธิ พ.ศ. 2232 (Claim of Rights Act 1689) ของประเทศนิวซีแลนด์และประเทศแคนาดา เป็นต้น (ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยึดถือจารีตประเพณี และหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เป็นหลักในการปกครองประเทศ) สาระสำคัญของบทบัญญัติสิทธิ ได้แก่ • การจำกัดสิทธิต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับการบริหารแผ่นดิน เช่น การห้ามตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะห้ามแทรกแซงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และห้ามแทรกแซง หรือยับยั้งการออกกฎหมายของรัฐสภา เป็นต้น • จำกัดสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่จะกระทำการใด ๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภาก่อน เช่น ห้ามออกกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีโดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา และห้ามระดมพล หรือตั้งกองทัพ ในยามสงบโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา • ห้ามพระมหากษัตริย์แทรกแซงเสรีภาพของประชาชนในการมีอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าเจมส์ที่สอง ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้ออกประกาศห้ามชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์มีอาวุธ • การรับรองสิทธิ และเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในราชอาณาจักร สิทธิดังกล่าวยังถือปฏิบัติต่อมา และได้ขยายไปถึงประชาชนในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษด้วย • การรับรองสิทธิของราษฎรในการที่จะถวายฎีกาต่อพระมหา-กษัตริย์ • การบัญญัติลำดับสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชอาณาจักรอังกฤษ |
ENVIRONMENT, THE RIGHT TO คำแปล : สิทธิในสิ่งแวดล้อม ความหมาย :
สิทธิในสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการรักษาวิถีชีวิตที่ดีของประชาชนในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดระบบระเบียบของสังคมและเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือกลุ่มองค์กรอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม หลักการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับกันในระดับสากล ได้แก่ ปฏิญญารีโอพ.ศ.2535 (Rio Declaration 1992)ในหลักการข้อ 10 ของปฏิญญารีโอ (Principle 10 of Rio Declaration)มีหลักการสามประการ(Three Access Principles) ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้น ดังนี้ 1. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐ 2. สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รัฐจะต้องเอื้ออำนวยและสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณชน ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง 3. สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริหาร รวมทั้งการได้รับการชดเชยและการเยียวยาความเสียหาย |
EQUAL WORK EQUAL PAY คำแปล : งานเท่าเทียมกันค่าจ้างเท่ากัน ความหมาย :
หลักกฎหมายแรงงานถือว่า บุคคลที่ทำงาน หรือให้บริการที่เหมือนกันสมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการจ้างที่เท่ากัน หลักการนี้ได้รับการรับรองโดยตราสารสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ข้อ 7) และอนุสัญญา ILO (ILO Convention on Equal Remuneration)ฉบับที่ 100 ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) เป็นต้น คำนี้ใช้ในบริบทของการห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศในการจ่ายค่าจ้างระหว่างหญิงชาย กล่าวคือ หญิงชายจะต้องได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกันในการทำงานที่เหมือนกัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า คำว่า ค่าจ้างนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงเงินเดือน หรือค่าจ้างประจำสัปดาห์ที่ตกลงจ่ายกันตามวาระเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) เป็นต้น หลักการนี้ได้พัฒนาขึ้นในกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศเนื่องจากในอดีตนายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างให้กับผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายอย่างมากโดยไม่ได้พิจารณาถึงผลของงานที่ตนได้รับจากแรงงานของหญิง หลังจากได้มีการจัดทำอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้ประเทศต่าง ๆได้ปรับแก้กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างที่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายขึ้นในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ตามรายงานของ ILO ในทางปฏิบัติหญิงยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชายอยู่ทั่วไป แม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงจะมีการศึกษาและประสบการณ์สูงกว่าผู้ชายในการทำงานนั้น ๆ หลักงานเท่าเทียมกันค่าแรงเท่ากันถือเป็นพันธกรณีขั้นพื้นฐานของกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศประการหนึ่ง |
EQUALITY OF OPPORTUNITY คำแปล : ความเสมอภาคทางโอกาส ความหมาย :
แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเห็นว่าการพิจารณาความเสมอภาคของบุคคลนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องของความเสมอภาคในสองด้านด้วยกัน คือ ความเสมอภาคทางโอกาส และความเสมอภาคในผลลัพธ์ (ดู EQUALITY OF OUTCOME) ความเสมอภาคทางโอกาสถือแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการแข่งขัน หรือไขว่คว้าหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับตนเองได้เสมอ ดังนั้น รัฐจะต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุดในการแข่งขัน นั่นคือ โอกาสที่เท่าเทียมกัน แนวคิดนี้จึงต้องการให้มีการยกเลิกการปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยปราศจากเหตุผลอันชอบธรรมเช่น เชื้อชาติ สีผิว ความพิการทางร่างกาย ความมีอัตลักษณ์ของกลุ่มชนเช่น ภาษา ความเชื่อทางศาสนา หรือเชื้อชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเสมอภาคในทางโอกาส คือ การรับรองความเท่าเทียมของบุคคลทุกคนในทางกฎหมาย (Equality before the Law) นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การพิจารณาพันธกรณีของรัฐในการสร้างความเสมอภาคนั้น จะต้องพิจารณาทั้งในด้านของความเสมอภาคทางโอกาสและความเสมอภาคในผลลัพธ์ด้วยเสมอ ซึ่งหลักการนี้ได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั่วไป |
EQUALITY OF OUTCOME คำแปล : ความเสมอภาคในผลลัพธ์ ความหมาย :
แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งเห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลมีความเสมอภาคนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องของความเสมอภาคในสองด้านด้วยกัน คือ ความเสมอภาคทางโอกาส (ดู EQUALITY OF OPPORTUNITY) และความเสมอภาคในผลลัพธ์ ความเสมอภาคในผลลัพธ์ถือแนวคิดว่า โดยสภาพความเป็นจริงมนุษย์มิได้เท่าเทียมกันทุกคน แต่ละคนมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบทั้งทางด้านร่างกายสังคม ทรัพย์สิน ประสบการณ์ชีวิต และสติปัญญาในการเลือก คิดตัดสินใจ ดังนั้น ในการแข่งขันเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ถ้ารัฐปล่อยให้ดำเนินไปอย่างเสรี โดยให้ทุกคนแข่งขันกันเองภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เหมือนกัน กลุ่มที่เสียเปรียบดังกล่าวก็จะไม่มีโอกาสได้แข่งขันกับกลุ่มที่ได้เปรียบตามสภาพความเป็นจริงได้ ความเสมอภาคในผลลัพธ์จะต้องเสริมสร้างมาตรการ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันขึ้นในผลท้ายสุด เพื่อให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมที่แท้จริงโดยเฉพาะข้อเสียเปรียบที่บุคคลได้รับติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ความพิการ อัตลักษณ์ของความเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ภาษา สีผิว ความเชื่อทางศาสนา หรือเชื้อชาติ เป็นต้นดังนั้น ความเสมอภาคในผลลัพธ์ไม่เพียงแต่ต้องการกฎเกณฑ์กติกาที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐจะต้องมีมาตรการพิเศษหรือมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (ดู AFFIRMATIVE ACTION) ให้กับบุคคลที่เสียเปรียบตามความเป็นจริงด้วย ในการพิจารณาพันธะหน้าที่ของรัฐในการสร้างความเสมอภาคของบุคคลนั้น คณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนแต่ละฉบับจะให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคในด้านผลลัพธ์มากกว่าความเสมอภาคในด้านกฎหมาย |
ERROR คำแปล : การสำคัญผิด / ความผิดพลาด ความหมาย :
การสำคัญผิด / ความผิดพลาด ในกฎหมายสนธิสัญญา หมายถึง การสำคัญผิด หรือ ความผิดพลาดในการทำสนธิสัญญารัฐภาคีอาจจะยกเหตุเรื่องการสำคัญผิด หรือการผิดพลาดในการทำสนธิสัญญาขึ้นกล่าวอ้างว่าการแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐนั้นไม่สมบูรณ์ได้หากการผิดพลาดนั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ซึ่งรัฐภาคีดังกล่าวนั้นสำคัญว่ามีอยู่จริงในขณะที่มีการทำสนธิสัญญา และข้อเท็จจริงนั้นเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญพื้นฐานที่ทำให้รัฐภาคีนั้นแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาอย่างไรก็ตามการยกความสำคัญผิด หรือ ความผิดพลาดข้างต้นจะนำมาอ้างไม่ได้หากรัฐดังกล่าวมีส่วนในการทำให้เกิดความผิดพลาดนั้นทั้งนี้เกิดจากการปฏิบัติของรัฐนั้นๆเอง หรือภายใต้สถานการณ์แวดล้อมเช่นนั้นรัฐดังกล่าวน่าจะรู้ถึงความผิดพลาดนั้น และสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้แต่ไม่ได้กระทำ แต่ความผิดพลาดเฉพาะที่เกี่ยวกับถ้อยคำในข้อบทของสนธิสัญญานั้นไม่ถือว่ามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสนธิสัญญาและจะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญาไม่ได้ |
ETHNIC CLEANSING คำแปล : ชำระล้างชาติพันธุ์ / การกวาดล้างชาติพันธุ์ ความหมาย :
“การชำระล้างชาติพันธุ์” เป็นสถานการณ์ที่กลุ่มสังคมทางชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติต้องการดำรงรักษาความบริสุทธ์ทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติของตน โดยการใช้กำลังบังคับผลักไส หรือการสร้างความหวาดกลัวให้กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติอื่นแยกตัวออกไป ในบางกรณีอาจใช้กำลังทำลายล้างกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติอื่น “การชำระล้างชาติพันธุ์” จึงต่างกับ “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)”ในข้อที่ว่า การล้างเผ่าพันธุ์มุ่งทำลายล้างอีกกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มเชื้อชาติหนึ่งให้หมดเผ่าพันธุ์ไป แต่การชำระล้างชาติพันธุ์(Ethnic Cleansing) มุ่งที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติของตนเอง คำว่า“การชำระล้างชาติพันธุ์” ได้นำมาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในประเทศบอสเนียเมื่อต้นทศวรรษ1990 |
ETHNIC MINORITY คำแปล : ชนกลุ่มน้อยทางด้านชาติพันธ์ ความหมาย :
กลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธ์และมีสถานะเป็นพลเมืองของประเทศที่ตนอาศัยอยู่และมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่ากลุ่มชาติพันธ์ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ กรณีแอฟริกาใต้ในยุคที่มีการปกครองระบอบแบ่งแยกสีผิวที่คนผิวขาวมีจำนวนประชากรน้อยกว่าคนผิวดำ (ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง) แต่คนผิวขาวมีอำนาจปกครองประเทศ ดังนั้น คนผิวขาวได้เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในแอฟริกาใต้ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์มักจะมีอัตลักษณ์ทางกายภาพและทางสังคมเช่น ธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติในการดำรงชีพ หรือความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น แตกต่างจากประชากรกลุ่มใหญ่ ดังนั้นชนกลุ่มน้อยจะเรียกร้องสิทธิที่จะดำรงรักษาอัตลักษณ์เหล่านั้น (ดู THE RIGHTS OF MINORITY) การเลือกปฏิบัติ การกีดกันการใช้สิทธิ อันมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ทำให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์มีสิทธิด้อยกว่าประชากรกลุ่มใหญ่ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดีรัฐอาจมีมาตรการพิเศษที่มุ่งส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์ได้มีสิทธิ และใช้สิทธิเท่าเทียมกับประชากรส่วนใหญ่ เช่น การที่กฎหมายกำหนดให้วิทยาลัยแพทย์กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการรับคนอเมริกาเชื้อสายแอฟริกาเข้าศึกษา ถือว่าเป็นมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ เป็นต้น สิทธิของชนกลุ่มน้อยได้พัฒนาขึ้นจากกฎหมายภายในของประเทศในยุโรป ต่อมาได้รับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ และใน ค.ศ. 1992(พ.ศ. 2535) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงมติรับรอง “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางด้านเชื้อชาติ หรือชาติพันธ์ ศาสนา และภาษา (Declaration on the Rights of Persons Belonging toNational or Ethnic, Religious and Linguistic Minorities)” ประเด็นปัญหาทางกฎหมายของการให้คำนิยาม คำว่า “ชนกลุ่มน้อย” มีความยุ่งยากมากที่สุดปัญหาหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศ อนึ่ง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Indigenous People) รวมอยู่ในความหมายของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์ |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ