Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

JOHANNESBURG PRINCIPLES

คำแปล : หลักการโยฮันเนสเบิร์ก

ความหมาย :

คำเรียกอย่างย่อของ “หลักการโยฮันเนสเบิร์กว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก และการเข้าถึงข้อมูล (The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information)”ซึ่งหลักการนี้เกิดจากการรับรองโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการแสดงออก ที่ประชุมกันที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) หลักการดังกล่าวมุ่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางในการใช้อำนาจของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างดุลยภาพขึ้นระหว่างความมั่นคงปลอดภัยของรัฐกับอิสรภาพของบุคคลในการแสดงออกและเข้าถึงข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้เหตุผลด้านความมั่นคงโดยไม่มีขอบเขตหรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ หลักการดังกล่าวประกอบไปด้วยข้อบท 25 ข้อ แบ่งเป็นสี่ส่วน คือหลักการทั่วไป หลักการเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก หลักการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และหลักการเรื่องอื่น ๆ


JOSE AYALA LASSO

คำแปล : โฮเซ่ อายาลา ลาสโซ

ความหมาย :

นักการทูตชาวเอกวาดอร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนแรก เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอกวาดอร์สามสมัย และเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสองสมัย หลังจากประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนใน ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มีมติให้มีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติขึ้น โดยให้มีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามข้อมติในคราวการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม 1993 (พ.ศ. 2536) นายอายาลาลาสโซ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ฯ คนแรก ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997(พ.ศ. 2540) (ดูรายชื่อข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในภาคผนวกที่ 2) ภารกิจสำคัญของนายอายาลา ลาสโซ คือ การปฏิรูปศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Centre for Human Rights) เดิม ที่ได้เปลี่ยนเป็น “สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights) เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำงานเชิงรุก และเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทุกด้านภายหลังจากมีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ฯ ขึ้น นายอายาลา ลาสโซ ยังมีบทบาทในการจัดทำโครงสร้างของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งโครงการและแผนการต่าง ๆ ในระยะเริ่มแรกของสำนักงานฯ เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ สอดคล้องกับปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงเวียนนาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Vienna Declaration and Programme of Action) ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536)


JUDGMENT / JUDGEDMENT

คำแปล : 1. การตัดสิน 2. คำพิพากษา / คำวินิจฉัย

ความหมาย :

1. การตัดสิน ในความหมายทั่วไป หมายถึง ความสามารถในการใช้เหตุผลหาข้อสรุปหลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดในการกระทำการใดของบุคคลหรือของหน่วยงาน 2. คำพิพากษา / คำวินิจฉัย หมายถึง คำตัดสินอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการพิจารณาคดี ที่ทำอย่างเป็นทางการของศาลหรือองค์กรตุลาการ เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีคำพิพากษาจะต้องแสดงเหตุผลทางกฎหมายที่อธิบายการชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท และกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์และจำเลย ในคดีอาญาคำพิพากษาจะต้องชี้ว่าจำเลย “ผิดหรือไม่ผิด” และถ้าผิดจะลงโทษอย่างไร ในประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ซึ่งใช้ลูกขุนคณะลูกขุนจะมี “คำตัดสิน (Verdict)” ว่า “ผิดหรือไม่ผิด (Guilty or not Guilty)”ส่วนผู้พิพากษาจะมีหน้าที่ทำคำพิพากษาเพื่ออธิบายข้อกฎหมายประกอบ“คำตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด” โจทก์หรือจำเลยที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาอาจอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลที่สูงกว่าได้ (ดู APPEAL) อนึ่ง ในประเทศอังกฤษมีความแตกต่างในการเขียนระหว่างความหมายแรกและความหมายที่สอง โดยความหมายแรกจะใช้ว่า “Judgement” (มี e)ส่วนความหมายที่สองจะใช้ว่า “Judgment” (ไม่มี e) ส่วนประเทศอื่น มักใช้ “Judgment” ทั้งสองความหมาย


JUDICIAL REVIEW

คำแปล : การพิจารณาทบทวนโดยศาล

ความหมาย :

กระบวนการที่ศาลใช้อำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจวินิจฉัย สั่งการ หรือกระทำการใดขององค์กรของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยศาลมีอำนาจวินิจฉัย พิพากษาให้การใช้อำนาจหน้าที่ที่ทำโดยองค์กรของรัฐไม่มีผลทางกฎหมายได้ การพิจารณาทบทวนโดยศาลมีขึ้นตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ระบบการพิจารณาทบทวนโดยศาลแบ่งได้เป็นสองระบบคือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาทบทวนความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเรียกว่า “ระบบศาลเดี่ยว” เช่น ระบบที่ใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และระบบที่มีศาลเฉพาะ เช่น ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า“ระบบศาลคู่” ดังที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น อนึ่ง ในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


JUDICIARY

คำแปล : ตุลาการ / อำนาจตุลาการ

ความหมาย :

ตุลาการ หรือ อำนาจตุลาการเป็นองค์กรทางสังคม มีหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทโดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ในเรื่องสิทธิมนุษยชนกระบวนการการบังคับตามสิทธิในศาล ถือเป็นหลักประกันขั้นสุดท้ายในการยืนยันว่าประชาชนมีสิทธินั้นๆจริง กล่าวคือ กฎหมายในระดับต่างๆมักบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิต่างๆ แต่รัฐมักละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ และปฏิเสธสิทธิของประชาชน หากประชาชนต้องการใช้สิทธิก็จำเป็นต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่ออาศัยอำนาจของศาล ในการวินิจฉัยบังคับตามสิทธิให้แก่ประชาชน เช่น ยกเลิกคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิของประชาชน หรือสั่งให้ชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนมักมีความหมายที่ไม่ชัดเจนและมีลักษณะเป็นเกณฑ์ค่านิยมดังนั้นฝ่ายตุลาการจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการรับรองว่าสิทธิใดได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย


JUS COGENS (Latin)

คำแปล : กฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับเด็ดขาด

ความหมาย :

กฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับเด็ดขาด ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ (Public Policy) กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (Public Order) หรือศีลธรรมอันดี (Moral) หรือที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป (General Principle of Law) คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศได้ยกตัวอย่างของกฎหมายที่มีลักษณะเป็น jus cogensได้แก่ 1. หลักเกณฑ์ว่าด้วยการห้ามการใช้กำลังโดยมิชอบฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ 2. หลักเกณฑ์ซึ่งห้ามการกระทำของรัฐอันมีลักษณะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการสังหารเชลยสงคราม 3. หลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้รัฐให้ความร่วมมือในการปราบปรามการกระทำผิดบางประเภท เช่น การค้าทาส (Slave Trade) การกระทำอันเป็นโจรสลัด (Piracy) การล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) สนธิสัญญาที่กระทำขึ้นถ้าฝ่าฝืนกฎเกณฑ์เหล่านี้ย่อมตกเป็นโมฆะตั้งแต่แรก (void ab initio)


JUST CAUSE (LABOUR RIGHTS)

คำแปล : การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม

ความหมาย :

การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม หมายถึง การเลิกจ้างโดยมีเหตุเลิกจ้างอันควร เป็นการพิสูจน์เหตุเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุชอบธรรมตามกฎหมาย โดยมีข้อกำหนด เกี่ยวกับกระบวนการโดยชอบที่เจรจาตกลงร่วมกันเพื่อจัดทำบันทึกความตกลงเจรจาร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยกำหนดให้นายจ้างมีภาระในการนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของลูกจ้างก่อนที่จะดำเนินการระงับการจ้าง หรือการเลิกจ้าง ดังนั้นหากปราศจากกระบวนการปกป้องลูกจ้างดังกล่าว ภายใต้กฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามอำเภอใจ (At- Will) หรือโดยไม่ต้องมีเหตุ หากการจ้างงานนั้นกระทำขึ้นโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร การพิสูจน์ให้เห็นความผิดของลูกจ้างก่อนการระงับการจ้าง หรือการเลิกจ้างจึงเป็นมาตรการที่ปกป้องคุ้มครองลูกจ้าง และเป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านการจ้างแรงงาน


JUSTICE DAY / INTERNATIONAL JUSTICE DAY

คำแปล : วันความยุติธรรมสากล

ความหมาย :

วันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่รัฐภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญเพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเนื่องจากวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) เป็นวันที่ได้มีรัฐให้สัตยาบันธรรมนูญศาลฯ ครบจำนวนหกสิบรัฐ ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีผลเริ่มดำเนินการได้ การประกาศวันความยุติธรรมสากลอย่างเป็นทางการมีขึ้นในการประชุมสมัชชารัฐภาคี (Assembly of the State Parties) ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ณ กรุงคัมพาลาประเทศยูกันดาใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) หลักการสำคัญของธรรมนูญกรุงโรม คือ การสร้างความยุติธรรมระหว่างประเทศและการยับยั้งหรือยุติความเชื่อและวิถีแห่งการอยู่เหนือกฎหมาย(Impunity)


JUVENILE COURT

คำแปล : ศาลเยาวชน

ความหมาย :

ศาลที่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนและพิพากษาคดีที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดอาญา ประเทศต่าง ๆ มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดต่างจากผู้ใหญ่กระทำความผิด เนื่องจากเห็นว่าเด็กเป็นผู้ที่ยังพัฒนาสติปัญญา ความสามารถในการคิด ตัดสินใจได้ไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่และยังขาดประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นอาจกระทำความผิดไปด้วยการขาดสติยั้งคิด ดังนั้นเมื่อเด็กกระทำความผิดควรจะต้องค้นหาสาเหตุของการกระทำความผิดมากกว่าที่จะพิสูจน์ความผิดของการกระทำ กระบวนการพิจารณาในศาลเด็กและเยาวชนจึงมุ่งที่จะคุ้มครองเด็ก สวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขบำบัดและฟื้นฟู ยิ่งกว่าการลงโทษ ประเทศไทยได้มีประกาศจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว (Juvenile and Family Court) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เพื่อให้มีอำนาจรับคดีเกี่ยวกับครอบครัวไว้พิจารณาได้ ในการดำเนินคดีอาญาเด็กที่กระทำผิดมักใช้การพิจารณาเป็นการลับเพื่อป้องกันความรู้สึกว่าเด็กมีบาปติดตัว (ดู Trial, in camera) คำนี้ในบางครั้งใช้Young Offender’s Court ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน


JUVENILE DELINQUENCY

คำแปล : การกระทำผิดของเด็กและเยาวชน

ความหมาย :

การกระทำความผิดทางอาญาโดยบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คำนี้ใช้เพื่อแยกการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอาญาระหว่างเด็กและเยาวชนกับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พยายามให้ใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่มาตรการลงโทษอาญากับเด็ก ประเทศส่วนใหญ่จะให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กที่กระทำผิดแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นตราบาปของชีวิต ประเทศต่าง ๆ กำหนดเกณฑ์ความรับผิดทางอาญา (Criminal Responsibilities) กับเด็กแตกต่างกัน ประเทศไทยกำหนดยกเว้นการลงโทษทางอาญาแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบปี ส่วนบุคคลที่อายุเกินกว่าสิบปีขึ้นไปศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษแต่อาจใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยแทนได้เช่น การบำบัดความประพฤติในสถานพินิจ ให้ทำงานบริการสังคม หรือ ชุมชนบำบัดแทนการลงโทษทางอาญา เป็นต้น