INTERNATIONAL CONVENTION ON THE ELIMINATION OF ALL FORMS OF RACIAL DISCRIMINATION คำแปล : อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ความหมาย :
อนุสัญญาฯ เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จัดทำขึ้นเพื่อความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ อนุสัญญาฯ ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) อนุสัญญาฯ แบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ ในส่วนที่หนึ่งเป็นการนิยามศัพท์และขอบเขตการใช้อนุสัญญาซึ่งไม่ใช้กับการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลที่เป็นพลเมืองกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมือง คำว่า “การเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ (Racial Discrimination)หมายถึง “การจำแนกการกีดกัน การจำกัด หรือการเอื้ออำนวยพิเศษอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกันการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน” นอกจากนั้นกำหนดว่ารัฐภาคีจะต้องไม่ทำการใด ๆ อันจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและจะต้องกำจัดการเลือกปฏิบัติไม่ว่าทางด้านนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ อนุสัญญาฯ ได้รับรองว่าการที่รัฐใช้มาตรการเพื่อยืนยันสิทธิ์ หรือ Affirmative Action เพื่อประกันว่ากลุ่มคนบางกลุ่มคนบางกลุ่มจะได้บรรลุถึง การมีสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ในส่วนที่สองอนุสัญญาได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination)ขึ้น ในส่วนที่สามกล่าวถึงกระบวนการในการเข้าเป็นภาคีและการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญา ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2546 (ค.ศ. 2003) ทั้งนี้ โดยมีการไม่รับข้อผูกพันตามการตั้งข้อสงวนข้อ 4 และข้อ 22 อีกทั้งยังตั้งข้อสงวนโดยทำถ้อยแถลงในการตีความว่ารัฐบาลไทยจะไม่ตีความหรือใช้บทบัญญัติใด ๆ ที่ปรากฏใน CERD เพื่อให้เกิดพันธกรณีเกินกว่าที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ |
INTERNATIONAL CONVENTION ON THE SUPPRESSION AND PUNISHMENT OF THE CRIME OF APARTHEID คำแปล : อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามและการลงโทษอาชญากรรมที่เป็นการแบ่งแยกผิว ความหมาย :
อนุสัญญาฯ ฉบับนี้รับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติใน ค.ศ.1973 (พ.ศ. 2516)และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1976(พ.ศ. 2519) อนุสัญญาฯ เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การปกครองโดยใช้นโยบายการแบ่งแยกผิวในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งปกครองโดยการแบ่งแยกคนผิวขาวที่เป็นชนกลุ่มน้อยกับคนผิวดำซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ และใช้นโยบายเหยียดสีผิวทำให้คนผิวดำได้รับสิทธิต่างๆ ด้อยกว่าคนผิวขาว อนุสัญญาฯ ให้ถือว่าการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมที่เกิดจากการปกครองในการแบ่งแยกทางด้านสีผิว เผ่าพันธุ์ หรือ ชาติกำเนิด ไม่ว่าจะโดยนโยบาย หรือการปฏิบัติเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) และขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาฯ ได้กำหนดลักษณะการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมการแบ่งสีผิว ทั้งนี้ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหรือคงไว้ซึ่งการกดขี่ โดยกลุ่มเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์หนึ่งต่อกลุ่มเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ เช่นการปฏิเสธเสรีภาพด้านด่างๆ หรือการจำกัดอิสรภาพอันเนื่องมาจากบุคคล อนุสัญญาฯ ถือว่าทุกรัฐมีหน้าที่ต้องช่วยกันขจัดและร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมแบ่งแยกผิว |
INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE คำแปล : ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ความหมาย :
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นสถาบันตุลาการระดับโลก จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1945 ( พ.ศ.2488) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ถือว่าเป็นหนึ่งในห้าสถาบันหลักของสหประชาชาติ (ดู United Nations Charter) และเริ่มดำเนินงาน ใน ค.ศ. 1946 (พ.ศ.2489) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สืบทอดการดำเนินงานมาจาก “ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศหรือบางคนเรียกว่า ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ(Permanent Court of International Justice หรือ PCIJ) ที่ตั้งขึ้นในยุคสันนิบาตชาติ (League of Nations) และล้มเลิกไปพร้อมการสิ้นสุดสันนิบาตชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังคงใช้ธรรมนูญของศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีข้อพิพาทระหว่างรัฐ หรือ เฉพาะรัฐเท่านั้นที่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาล หรือเป็นจำเลยในศาลได้ ดังนั้นจึงมักเรียกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็น “ศาลโลก” ซึ่งต่างจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ดู International Criminal Court หรือ ICC) ที่มุ่งลงโทษปัจเจกชน หรือบุคคลธรรมดา ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะคดีที่รัฐที่เป็นคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ประกาศยอมรับอำนาจศาลเท่านั้น นอกจากอำนาจวินิจฉัยคดีข้อพิพาทศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจในการให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) แก่องค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจร้องขอได้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบด้วยผู้พิพากษาสิบห้าคนมาจากการเสนอชื่อโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) และรับรองโดยคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ผู้พิพากษาจะต้องไม่มีสัญชาติเดียวกันและต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ โดยจะอยู่ในตำแหน่งคราวละเก้าปี ศาลมีสำนักจ่าศาล (Registry) เป็นองค์กรภายในที่มีหน้าที่บริหารศาลศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีที่ทำการอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการทำงานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะดำเนินการตาม “ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice)” ที่ถือว่าเป็นระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาล คำพิพากษาของศาลจะผูกพันรัฐ |
INTERNATIONAL COVENANT ON ECONOMIC, SOCIAL AND CULTURAL RIGHTS คำแปล : กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความหมาย :
กติกาฯ เป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐรับรองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ICESCR เป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน “คู่แฝด” ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติกา ฯได้รับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) และมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เนื้อหาของกติกาแบ่งเป็นห้าส่วน ส่วนที่หนึ่งรับรองสิทธิในการกำหนดตนเอง ส่วนที่ สองกล่าวถึงพันธกรณีของรัฐโดยกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการเคารพคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านนี้ให้เป็นจริง ส่วนที่สามกล่าวถึงสาระของสิทธิในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิเกี่ยวกับการทำงาน สภาพการจ้างงาน สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการ การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว สิทธิทางสังคม การศึกษา การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม ส่วนที่สี่กำหนดพันธกรณีของรัฐในการจัดทำรายงานการปฏิบัติตาม ICESCR ต่อคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (กลไกการสอดส่องดูแลของ ICESCRนั้นต่างจาก ICCPR ที่ได้กำหนดให้ตั้ง HRC ขึ้นมาโดยเฉพาะ) ส่วนที่ห้ากล่าวถึงกระบวนการการเข้าเป็นภาคี การแก้ไขเพิ่มเติมของกติกาฯ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกาฯ โดยการภาคยานุวัติ ใน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และได้ตั้งข้อสงวนโดยการทำถ้อยแถลงการณ์ตีความ (Interpretative Declaration) เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดตนเองว่าในข้อ 1 ว่า จะตีความสอดคล้องกับปฏิญญากรุงเวียนนาและแผนปฏิบัติการที่ได้รับรองในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1993(พ.ศ. 2536) |
INTERNATIONAL CRIMINAL COURT คำแปล : ศาลอาญาระหว่างประเทศ ความหมาย :
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เป็นองค์การตุลาการระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเป็นเอกเทศไม่ได้เป็นองค์กรย่อยของสหประชาชาติ อย่างเช่นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ICC มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาร้ายแรงที่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของมนุษยชาติสี่ลักษณะความผิดคือ อาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of Genocide) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) อาชญากรรมสงคราม (War Crime) และอาชญากรรมการรุกราน (Crime of Aggression) แม้ว่าลักษณะของการกระทำจะเป็นความผิดร้ายแรงต่อความรู้สึกของบุคคลทั่วไป แต่ในอดีตอาชญากรรมเหล่านี้มักอาศัยความคุ้มกันจากรัฐที่ตนเองมีความสัมพันธ์หรืออ้างว่าตนกระทำการในนามของรัฐเพื่อยกเว้นความรับผิดทางอาญา (Impunity) ของตน เหตุการณ์เช่นนี้นำมาซึ่งการบั่นทอนความยุติธรรมระหว่างประเทศ และการแก้แค้นตอบแทนและกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court หรือที่รู้จักกันในนาม Rome Statute) ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาในที่ประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศและที่ประชุมได้มีมติรับรอง Rome Statute เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 (พ.ศ.2541) เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจพิจารณาความผิดอาญาของ “บุคคล” ทั้งนี้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือกระทำในนามของรัฐหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต่างจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)ที่มีอำนาจศาลเฉพาะกรณีที่ฟ้องร้องระหว่างรัฐกับรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐ ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลถาวร มีสำนักงานศาลตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลนี้ต่างกับศาลอาชญากรรมสงคราม หรือศาลเฉพาะกิจ เช่น ศาลนูเรมเบอร์ก (หรือเนิร์นแบก ในภาษาเยอรมัน) ศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia) และศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวสำหรับรวันดา(International Criminal Tribunal for Rwanda) ศาลฯ มีองค์กรภายในสี่องค์กรหลักคือ หนึ่ง สำนักประธานศาลมีหน้าที่ในการบริหารศาลทั้งปวง(ยกเว้นสำนักอัยการ) สอง สำนักคดี มีหน้าที่ในการไต่สวนพิจารณาคดีซึ่งแบ่งเป็นสามระดับคือ แผนกก่อนพิจารณาคดี (Pre-Trial Division) แผนกพิจารณาคดี (Trial Division) และแผนกอุทธรณ์ (Appeal Division) สาม สำนักอัยการ มี “อัยการ (Prosecutor)”เป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและขอตัวผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิดมาฟ้องร้องต่อศาลรวมถึงการเป็นโจทก์ในคดี สี่ สำนักจ่าศาล (Registry) ทำหน้าที่บริการงานธุรการศาลที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจพิจารณาคดีโดยมี จ่าศาล (Registrar) เป็นหัวหน้า ศาลได้เริ่มมีอำนาจดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ณ ปัจจุบัน (มกราคม พ.ศ.2554) มีภาคี 112 ประเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำและได้ลงนามรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงยังไม่มีผลบังคับต่อประเทศไทย |
INTERNATIONAL LAW คำแปล : กฎหมายระหว่างประเทศ ความหมาย :
กฎเกณฑ์ ระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติที่มีสภาพบังคับใช้กับรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นบุคคลระหว่างประเทศ ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางทีเรียกกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่า “Law among Nations หรือ กฎหมายนานาชาติ” กฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็นสามสาขาใหญ่ ๆ ได้แก่ • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law) เป็นเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐตลอดจนองค์การระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นบุคคลในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐ ความสัมพันธ์ทางการทูต สนธิสัญญา การทำสงคราม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นต้น • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นพลเมืองของรัฐที่ต่างกัน ทำให้กฎหมายที่ใช้กับบุคคลอาจมีความแตกต่างกันในทางแพ่ง เช่น การสมรส การหย่า การได้สัญชาติ การสูญเสียสัญชาติ เป็นต้น • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (International Criminal Law) เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเกี่ยวกับคดีอาญาและความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อพลเมืองของรัฐกระทำความผิดกฎหมายอาญา เช่น การกำหนดอำนาจที่จะบังคับและปฏิบัติต่อชาวต่างประเทศ เป็นต้น โดยที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เป็นสากลที่นานาประเทศรับรองขึ้นเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาขึ้นจึงมีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีพันธะหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้จริง (lex lata) ที่เกิดจากสนธิสัญญาที่รัฐเป็นภาคี จารีตประเพณีระหว่างประเทศ หรือตามหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น รัฐควรจะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นกฎหมายที่ควรมี (lex ferenda) ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ |
INTERNATIONAL WOMEN'S DAY คำแปล : วันสตรีสากล ความหมาย :
วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่นานาประเทศใช้เป็นวาระเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของสตรี และเพื่อรำลึกถึงกระบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก พร้อมทั้งใช้เป็นโอกาสเรียกร้องสิทธิสตรีหรือผลักดันข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิสตรีสู่รัฐบาลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การร่วมชุมนุมเดินขบวนการยื่นข้อเรียกร้อง และหลายประเทศได้มีการประกาศเกียรติคุณสตรีที่อุทิศตนให้กับสังคม ประวัติวันสิทธิสตรีสากลได้มาจากขบวนการเรียกร้องสิทธิคนงานสตรีโรงงานทอผ้าในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่จัดการชุมนุมประท้วงใน ค.ศ. 1857(พ.ศ. 2400) เพื่อให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงานที่กดขี่แรงงานสตรีเช่น การทำงานวันละสิบห้าชั่วโมงให้เหลือวันละแปดชั่วโมง และเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมจากนายจ้าง ต่อมาในประเทศเยอรมนี นางคลารา แซทคินผู้นำกรรมกรหญิงชาวเยอรมันได้นัดหยุดงานและชุมนุมประท้วงขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและสิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ที่ประชุมได้มีมติให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากลตามข้อเสนอของนางแซทคิน ในประเทศไทย หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลนี้ตลอดมา และได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่8 มีนาคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) |
INTERPRETATION OF TREATIES คำแปล : การตีความสนธิสัญญา ความหมาย :
การตีความสนธิสัญญา มีจุดมุ่งหมายในการให้ความหมายของข้อบทในสนธิสัญญา ให้มีความแน่นอนชัดเจน และให้เข้าใจตรงกันระหว่างภาคีทั้งปวง ซึ่งภาคีของสนธิสัญญาจะต้องยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างคู่ภาคีทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบทอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1969(พ.ศ. 2512) ได้บัญญัติหลักทั่วไปในการตีความไว้ว่า การตีความสนธิสัญญาให้ตีความโดยสุจริต (Good Faith) โดยคำนึงถึงความหมายปกติธรรมดาของถ้อยคำ (Terms) ที่ปรากฏในสนธิสัญญานั้นในบริบท (Context) ของถ้อยคำเหล่านั้น โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ (Object) และความมุ่งหมาย (Purpose) ของสนธิสัญญานั้นๆด้วย |
INTERROGATION / INQUISITION / INQUIRY คำแปล : การสอบสวน ความหมาย :
กระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีอาญา และเพื่อให้ได้ตัวบุคคลที่กระทำผิดมาดำเนินคดีหรือเพื่อพิสูจน์ความผิดของบุคคล คำว่า “พยาน” หมายถึง พยานบุคคลพยานเอกสาร และพยานวัตถุ การสอบสวนจะกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจตามกฎหมายซึ่งอาจจะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานอื่น เช่น เจ้าพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานสรรพสามิต สารวัตรทหาร หรือเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การสอบสวนเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานในการสืบสวน จับกุม ค้นยึดสิ่งของ ปล่อยชั่วคราว หรือขออนุญาตศาลให้ควบคุมตัวบุคคลไว้ชั่วคราวระหว่างสอบสวนได้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นเจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนและความเห็นไปยังเจ้าพนักงานอัยการต่อไป พนักงานอัยการอาจสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง หรือให้เจ้าพนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมได้ มาตรฐานสิทธิมนุษยชนได้กำหนดแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องหาไว้ว่าการสอบสวนจะต้องกระทำโดยไม่ชักช้า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาการประกันตัวต้องถือว่าผู้ที่ถูกสอบสวนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเช่นนักโทษมิได้ และจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลนั้นอย่างเคารพต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงนับตั้งแต่เวลามาถึงสถานที่สอบสวน กรณีที่จำเป็นต้องควบคุมตัวเกินกว่านั้นต้องขออนุญาตศาลเป็นครั้ง ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้วจะควบคุมตัวได้ไม่เกินแปดสิบสี่วัน |
INTER–AMERICAN COMMISSION ON HUMAN RIGHTS คำแปล : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาเป็นองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการปกป้องและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกาจัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรองค์การรัฐอเมริกา (Organisation of American States: OAS) ในค.ศ.1951 (พ.ศ. 2494)ก่อนที่อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมายของกฏบัตรองค์การ (Article 3L) และปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ (American Declaration on the Rights and Duties of Man) ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491)เมื่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ ทำให้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ ในการดำเนินงานสิทธิมนุษยชนมีความชัดเจนขึ้น คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยสมาชิก เจ็ดคนที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะมนตรีถาวร (Permanent Council) ขององค์การรัฐอเมริกา (OAS) ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนคณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ในการศึกษา และจัดทำรายงานประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจในการรับเรื่องราวร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไต่สวน รวบรวมข้อเท็จจริง รับฟังพยานหลักฐาน และเป็นผู้ฟ้องร้องรัฐต่อศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน |
INTER–AMERICAN CONVENTION ON HUMAN RIGHTS คำแปล : อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา หรือ เรียกอีกชื่อว่า อนุสัญญาซานโฮเซ (San José) เป็นอนุสัญญาหลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในภูมิภาคอเมริกา(คู่ไปกับพิธีสารซาน ซัลวาดอร์ ที่คุ้มครองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) อนุสัญญาฉบับนี้ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่องค์การรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1978 (พ.ศ.2521) แนวคิดและปรัชญาการร่างอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลมาจากปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่มนุษย์ค.ศ.1949 ( พ.ศ. 2492) และ ICCPR รวมทั้ง ECHR นอกจากนั้น อนุสัญญาฉบับนี้ได้เชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนเข้ากับปรัชญาการเมืองแบบประชาธิปไตย ความสำคัญของอนุสัญญาฯ นอกจากจะได้รับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ แล้วยังทำให้กรอบกฎหมายในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีความชัดเจนขึ้น ต่างจากเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของปฏิญญาซึ่งไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย อนุสัญญาฯ ได้จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาขึ้นเพื่อให้มีอำนาจรับคำฟ้องว่ารัฐภาคีละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีที่ได้รับรองในอนุสัญญาฯ |
INTER–AMERICAN COURT OF HUMAN RIGHTS คำแปล : ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาเป็นองค์กรตุลาการภายในองค์การรัฐอเมริกา (Organisation of American States: OAS) มีหน้าที่พิจารณาคดีที่มีการฟ้องว่ารัฐละเมิดพันธกรณีที่ได้รับรองไว้ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (IACHR) และมีอำนาจให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) ต่อข้อกฎหมาย ตามสนธิสัญญาใดๆ ที่รัฐสมาชิกองค์การรัฐอเมริกาเป็นภาคีได้ขอความเห็น ศาลฯ จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา มีอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐภาคี กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาบุคคลหรือนิติบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเจ็ดคน ที่ได้รับการเลือกจากสมัชชาใหญ่องค์การระหว่างรัฐอเมริกาโดยวิธีการลงคะแนนลับจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่เสนอโดยรัฐภาคี รัฐละหนึ่งคน ผู้พิพากษาทั้งเจ็ดคนจะต้องไม่มีสัญชาติเดียวกัน ในกรณีที่ผู้พิพากษาถือสัญชาติเดียวกับรัฐที่เป็นคู่ความผู้พิพากษาคนนั้นจะต้องถอนตัวจากองค์คณะองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลคือคณะมนตรีถาวร (Permanent Council) |
INVALIDITY OF TREATIES คำแปล : ความไม่มีผลของสนธิสัญญา ความหมาย :
ความไม่มีผลของสนธิสัญญามีความหมายสองนัย นัยแรก ความไม่สมบูรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องจากการทำสนธิสัญญาอันเกิดขึ้นจากการคุกคาม หรือการใช้กำลังฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งทำให้สนธิสัญญาตกเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มแรก (void ab initio) อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ข้อ 52 บัญญัติไว้ว่า “สนธิสัญญาย่อมเป็นโมฆะหากการทำสนธิสัญญานั้นได้กระทำขึ้นเพราะการถูกข่มขู่หรือการใช้กำลังอันฝ่าฝืนต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งได้ประมวลไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ” นัยที่สองเป็นการทำสนธิสัญญาที่ขัดต่อ jus cogens หรือ Peremptory norm แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ข้อ 52 ได้บัญญัติไว้ว่า “สนธิสัญญาเป็นโมฆะ หากในขณะที่ทำสนธิสัญญานั้น สนธิสัญญาดังกล่าวขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นกฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป” ผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างการที่สนธิสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่แรกนั้น กับการที่สนธิสัญญาไม่สมบูรณ์เพราะความบกพร่องในการให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา คือ ในกรณีที่สนธิสัญญาโมฆะแต่แรกนั้น ย่อมไม่ถือว่ามีสนธิสัญญาเกิดขึ้นระหว่างรัฐภาคีนั้นๆเลย รัฐภาคีจึงไม่มีพันธะความผูกพันใดๆตามสนธิสัญญาต่อกัน ส่วนการที่สนธิสัญญาไม่สมบูรณ์นั้น ไม่ทำให้สนธิสัญญาโมฆะเสียเปล่าแต่ประการใดเพียงแต่ทำให้รัฐซึ่งมีเหตุอ้างความไม่สมบูรณ์นั้นไม่ผูกพันตามสนธิสัญญา ในกรณีที่เป็นสนธิสัญญาพหุภาคีสนธิสัญญานั้นย่อมสมบูรณ์ผูกพันภาคีอื่นๆที่ไม่มีเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์นั้น แต่หากเป็นสนธิสัญญาทวิภาคี สนธิสัญญาย่อมไม่ผูกพันรัฐที่ได้กล่าวอ้างถึงความไม่สมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนายินยอมผูกพันสนธิสัญญานั้นๆ |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ