ILLITERACY คำแปล : การไม่รู้หนังสือ ความหมาย :
สภาพการอ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ของบุคคล หรือของประชากรของประเทศ การไม่รู้หนังสือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้เต็มศักยภาพของแต่ละคน อีกทั้งยังเป็นปัญหาสังคม การไม่รู้หนังสือแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ การไม่รู้หนังสือในเด็ก (Child Illiteracy)และการไม่รู้หนังสือในผู้ใหญ่ (Adult Illiteracy) สาเหตุสำคัญของการไม่รู้หนังสือ คือ การขาดโอกาสเข้าศึกษา แม้ว่าเกือบทุกประเทศจะจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับแบบให้เปล่า (ดู THE RIGHT TO EDUCATION) แต่ยังมีเด็กวัยเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในโอกาส นอกจากนั้น เด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กที่ไม่มีสัญชาติ เด็กที่เป็นคนไร้รัฐ เด็กที่อยู่ในภาคแรงงาน เด็กพลัดถิ่นเด็กยากจน เด็กเร่รอน และเด็กที่เป็นคนชายขอบ มักขาดโอกาสในการได้รับการศึกษา สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยถือเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งในแปดด้านของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่สหประชาชาติ และประเทศต่าง ๆ ต้องมุ่งมั่นและเร่งรีบให้บรรลุผลสำเร็จ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ให้ความสำคัญกับการขจัดการไม่รู้หนังสือมานับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การฯ และได้จัดให้มีการประชุมระดับโลกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ ขึ้นใน พ.ศ. 2508(World Conference of Ministers of Education on the Eradicationof Illiteracy 1965) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในการประชุมดังกล่าวได้มีมติรับรองให้วันที่ 8 กันยายน อันเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมเป็น “วันแห่งการรู้หนังสือโลก (World Literacy Day)” นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) UNESCO ได้จัดประชุมเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All : EFA) ขึ้นณ จอมเทียน พัทยา ประเทศไทยได้เน้นถึงการให้โอกาสแก่คนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาเพื่อเป็นการขจัดการไม่รู้หนังสือ |
ILO CORE CONVENTIONS คำแปล : อนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ความหมาย :
คำนี้ใช้เรียกอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานที่รับรองโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) สนธิสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แบ่งเป็นสี่กลุ่มคือ 1. สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน – อนุสัญญาลำดับที่ 29(Forced Labour Convention, 1930) และอนุสัญญาลำดับที่ 105(Abolition of Forced Labour Convention, 1957) 2. สิทธิในการรวมกลุ่มและการต่อรองร่วมเจรจา - อนุสัญญาลำดับที่ 87(Freedom of Association and Protection of the Right to Organise Convention, 1949) และตามอนุสัญญาลำดับที่ 98(Right to Organise and Collective Bargaining Convention, 1949) 3. สิทธิที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ - อนุสัญญาลำดับที่ 100 (Equal Remuneration Convention, 1951) และอนุสัญญาลำดับที่ 111(Discrimination (Employment and Occupation) Convention, 1958) 4. แรงงานเด็ก- อนุสัญญาลำดับที่ 138 (Minimum Age Convention, 1973) และ อนุสัญญาลำดับที่182(Worst Forms of Child Labour Convention, 1999) แม้ว่าสนธิสัญญาของ ILO ที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ใช้แรงงานมีหลายๆ ด้านโดย ILO พยายามยกระดับมาตรฐานแรงงงานระหว่างประเทศให้สูงขึ้นตามลำดับและสนธิสัญญาเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานหลายๆ ด้านยังไม่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่บังคับได้ทั่วไป แต่สิทธิที่รับรองโดยอนุสัญญาหลักฯ ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นแก่นของสิทธิเกี่ยวกับแรงงานและมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับได้ทั่วไป (erga omnes) |
IMPEACHMENT คำแปล : การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง ความหมาย :
มาตรการทางกฎหมายของฝ่ายนิติบัติญัติที่ดำเนินการไต่สวนเพื่อการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งอันเป็นกระบวนการที่ใช้เพื่อการควบคุมการบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งการบริหารระดับสูงหรือการฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือโดยสภาสูง (วุฒิสภา) การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองเป็นกลไกที่ใช้ในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยเปิดโอกาสให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะเหตุว่าหากปล่อยให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือภยันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ กำหนดรูปแบบและกระบวนการการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งไว้ต่างกันแต่มีลักษณะที่สำคัญคือ • เป็นระบบการควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายบริหารเป็นหลัก • เป็นการควบคุมในด้านตัวบุคคลเนื่องมาจากการกระทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่ง • เป็นกระบวนการการควบคุมทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำโดยฝ่ายตุลาการ • องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน • การถอดถอนบุคคลจะมีกฎหมายกำหนดวิธีการและกลไกไว้โดยชัดแจ้ง |
IMPRISONMENT คำแปล : การจำคุก ความหมาย :
โทษอาญาประเภทหนึ่งที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของบุคคล โดยผู้ที่ถูกลงโทษจะถูกควบคุมตัวไว้ในทัณฑสถาน การจำคุกเป็นมาตรการบังคับทางอาญาที่มีมานับแต่สมัยโบราณ ในทางทัณฑวิทยาถือว่าเป็นมาตรการควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมบุคคล ในขณะเดียวกันเป็นการป้องกันสังคมจากอาชญากรรม (ดู PENOLOGY) อัตราโทษจำคุกตามกฎหมายไทยจะกำหนดไว้ในฐานความผิดแต่ละฐาน ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาในการจำคุกจำเลยได้ ในการคำนวณระยะเวลาจำคุกนั้นจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วย และนับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนก็นับสามสิบวันเต็มเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทิน อัตราโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายไทย คือ จำคุกตลอดชีวิต (LifeImprisonment) แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าหลายประเทศยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้โทษจำคุกให้มีประสิทธิภาพแทนการจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกระยะยาว |
INALIENABLE RIGHTS คำแปล : สิทธิที่ไม่อาจพรากโอนได้ ความหมาย :
คำว่าสิทธิที่ไม่อาจพรากโอนได้ใช้กับสิทธิที่ในทางทฤษฎีถือว่าไม่อาจแยกจากบุคคลหรือถูกบังคับให้สละหรือโอนให้บุคคลอื่นได้ สิทธินี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นบุคคล ที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ประกาศหลักการสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์และไม่อาจแยกจากความเป็นมนุษย์ได้ คำว่า “ไม่อาจพรากหรือโอนได้” ไม่ได้หมายความว่าสิทธินั้นจะไม่ถูกจำกัด (Limit หรือ Restrict) เลย สิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานอาจถูกจำกัด ถูกลดทอนการใช้ หรืออาจถูกระงับได้ในบางสถานการณ์เนื่องจากมนุษย์จักต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกของสังคม (UDHR ข้อ 29) |
INCOMMUNICADO DETENTION คำแปล : การกักขังโดยการตัดขาดการติดต่อ ความหมาย :
การกักขังโดยการตัดขาดการติดต่อหมายถึงการคุมขังหรือควบคุมตัวโดยรัฐบาลหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือบุคคลใด ๆ ที่รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจและในการควบคุมหรือคุมขังนั้นเป็นการตัดขาดการติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับครอบครัว ทนายความ หรือระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง ในหลาย ๆ สถานการณ์การ ขังเดี่ยวจะถูกปกปิดสถานที่ควบคุมตัวของผู้ต้องขัง การขังเดี่ยวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่จะติดต่อทนายความ นอกจากนั้นบุคคลที่ถูกขังเดี่ยวมักจะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ เช่น การทรมาน สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีอาญาอย่างเป็นธรรม และการถูกคุมขังตามอำเภอใจ Incommunicado มาจากภาษาสเปนหมายถึง การติดต่อไม่ได้ |
INDEPENDENCE OF JUDICIARY คำแปล : ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ ความหมาย :
ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ ถือเป็นหลักการพื้นฐานในการแบ่งแยกองค์กรการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อมิให้องค์กรทางการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตุลาการ อันเป็นหลักประกันว่าศาลจะมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างเที่ยงธรรมไม่เอนเอียงไปตามอำนาจหรืออิทธิพลครอบงำของฝ่ายต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรอื่น |
INDIGENOUS PEOPLES คำแปล : คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ความหมาย :
คำว่าคนพื้นเมืองหรือ ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่เป็นที่ยอมกันว่าบุคคลที่เป็นคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม นั้นมีลักษณะดังนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ร่วมกัน และดำรงชีวิตในสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม (native) และแยกตัวออกจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคม เดิมคำนี้หมายถึงกลุ่มคนพื้นเมืองในประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามา “ค้นพบโลกใหม่” ซึ่งเป็นการพยายามนิยามความหมายของ “คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม” เพื่อใช้อธิบายคนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใต้และพวกอะบอริจิน (คนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย) เพื่อแยกระบอบการคุ้มครองคนกลุ่มนี้ออกจากคำว่า ชนกลุ่มน้อย (Minorities) โดยยอมรับว่าคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของชนกลุ่มน้อย ประเด็นที่ คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เรียกร้องคือ สิทธิในการกำหนดตนเองในการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความเชื่อของตน ซึ่งต้องพึ่งพิงสภาพแวดล้อมดั้งเดิม ดังนั้นระบอบสิทธิที่พัฒนาขึ้นจึงมุ่งคุ้มครองอัตลักษณ์ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งในการดำรงชีพและการปกครองตนเอง (ภายใต้ระบอบของรัฐชาติ ไม่ใช่การแยกตัวออกจากรัฐ) สำหรับประเทศไทยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่นกลุ่มชนชาวเล เผ่าต่างๆ ชนเผ่าซาไก ชนเผ่าบลาบี หรือ ชนเผ่าชาวเขาดั้งเดิม เช่น ปกากะญอ เป็นต้น |
INDISCRIMINATE ATTACK คำแปล : การโจมตีโดยไม่จำแนก ความหมาย :
การโจมตีโดยไม่จำแนกใช้ในกฎหมายว่าด้วยการพิพาทด้วยอาวุธหมายถึงการใช้กำลังทหารโจมตีหรือทำลายโดยไม่แยกแยะว่าเป็นเป้าหมายทางการทหาร หรือเป้าหมายทางพลเรือน การโจมตีโดยไม่จำแนกถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศในการพิพาทกันด้วยอาวุธ เนื่องจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติให้โจมตีได้เฉพาะเป้าหมายทางการทหาร ดังนั้นจึงต้องมีการแยกแยะเป้าหมายพลเรือนออกจากเป้าหมายทางทหารและต้องละเว้นการโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน การโจมตีที่ส่งผลกระทบอย่างกว้าง หรือโดยอาวุธที่ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างหรืออาวุธที่ไม่สามารถจำกัดผลกระทบได้เช่นระเบิดแบบแตกกระจาย จนกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนถือว่าขัดต่ออนุสัญญาเจนีวา และเป็นอาชญากรรมสงครามอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) |
INDIVIDUALISM คำแปล : ปัจเจกชนนิยม ความหมาย :
ปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ก่อผลในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองให้ความสำคัญกับประโยชน์ของปัจเจกชนหรือบุคคลแต่ละคน โดยเห็นว่าปัจเจกชนมีจุดมุ่งหมายในตัวเอง ในขณะที่สังคมไม่มีความเป็นจริงในตัวเองและไม่มีผลประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายใดที่เป็นอิสระจากปัจเจกชนหรืออีกนัยหนึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของส่วนรวมและของชาติก็คือผลประโยชน์ส่วนตัวของประชาชนทุกคนที่มารวมกัน ทัศนคตินี้เห็นว่าโครงสร้างและสถาบันทางสังคมการเมืองจะต้องเปิดโอกาสให้คนแต่ละคนหาผลประโยชน์ หรือสิ่งสนองความต้องการของตนเองได้อย่างมากที่สุดโดยไม่ไปกระทบกับการหาผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้อื่นเท่านั้น คติแบบปัจเจกชนนิยมส่งผลอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัจเจกชนนิยมมีความสัมพันธ์กับเสรีภาพ อิสรภาพ ความเสมอภาค และสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะไม่ถูกแทรกแซงโดยไม่ชอบธรรมจากรัฐ |
INFORMED, THE RIGHT TO BE คำแปล : 1. สิทธิที่จะได้รับการแจ้ง (กฎหมายอาญา) 2. สิทธิฟที่จะได้รับข้อมูล ความหมาย :
1. สิทธิที่จะได้รับการแจ้ง สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจจับกุม เพื่อนำตัวบุคคลนั้นดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้บุคคลที่ถูกจับกุมตัวได้ทราบข้อหาความผิดและการกระทำที่เป็นความผิด รวมถึงได้ทราบสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นตามกฎหมายภายหลังที่บุคคลนั้นถูกจับกุมตัว เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ สิทธิที่จะได้รับการแจ้งนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งในระบบกระบวนการยุติธรรมระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ กฎหมายของบางประเทศกำหนดรับรองสิทธิในการรับแจ้งข้อหาอย่างเดียว บางประเทศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ถ้าไม่แจ้งสิทธิถือว่าเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การได้รับแจ้งข้อกล่าวหาทำให้บุคคลที่ถูกจับกุมรู้ว่าสิ่งที่กระทำลงไปมีความผิดอย่างไร เพื่อสามารถอธิบายหรือโต้แย้งได้ นอกจากนั้นเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐจับกุม / ควบคุมตัวบุคคลตามอำเภอใจ กฎหมายไทยได้รับรองสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย” 2. สิทธิที่จะได้รับข้อมูล สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะได้ทราบข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของบุคคลนั้นในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของตัวเขาเอง สิทธินี้เกิดจากแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการตัดสินใจของบุคคล และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสาธารณะ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการบริหาร หรือการจัดการของรัฐได้รับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21 เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้น หรือข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวบุคคลนั้นเอง เช่น ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการ สิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเข้าทำสัญญากับภาครัฐหรือเอกชน โดยนัยนี้สิทธิที่จะได้รับข้อมูลนี้ทำให้ผู้ผลิตต้องมีหน้าที่ที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดปัญญาและได้รับข้อมูลสินค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภค ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้นจะต้องเป็นจริงทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการเงิน การโฆษณา ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ปัจจุบันสิทธิในข้อนี้ได้ถูกกำหนดเป็นสิทธิตามกฎหมายในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทั้งหลาย |
INITIAL คำแปล : การลงนามย่อ ความหมาย :
การลงนามย่อเป็นการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อแสดงว่าการเจรจาร่างสนธิสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วและผู้แทนรัฐที่เจรจาได้ตกลงกันตามถ้อยคำที่ปรากฏในร่างสุดท้ายของสนธิสัญญา การลงนามย่อจึงเท่ากับเป็นการรับรองความถูกต้องของเนื้อหา และถ้อยคำของสนธิสัญญา ที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปขอความยินยอมจากกระบวนการภายในรัฐของตนเพื่อลงนามเต็ม (Full Signature) ต่อไป การลงนามย่อจะยังไม่มีผลผูกพันรัฐ เว้นแต่กรณีที่รัฐที่เจรจาทำสนธิสัญญาได้กำหนดเอาไว้ว่าให้การ ลงนามย่อมีผลเท่ากับการลงนามเต็ม ในทางปฏิบัติของประเทศไทยเมื่อมีการลงนามย่อแล้วจะต้องนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อการลงนามเต็ม |
INJURED PERSON คำแปล : ผู้เสียหาย ความหมาย :
บุคคลที่ได้รับผลร้ายหรือสิทธิถูกละเมิดจากการกระทำความผิดทางอาญา ทางปกครอง หรือทางแพ่ง ผู้เสียหายอาจเป็นผู้ที่ถูกกระทำความผิดโดยตรงจากการละเมิดกฎหมาย เช่น เป็นผู้ถูกกระทำผิดในคดีอาญา เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกลักทรัพย์ หรือถูกละเมิด หรือเสียหายจากการผิดสัญญา ผู้เสียหายอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ เป็นหลักกฎหมายว่า ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิจะต้องได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย การใช้สิทธิเยียวยาความเสียหายขึ้นอยู่กับวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น การฟ้องเป็นคดีเอง หรือนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือยื่นคำร้องเพื่อขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง คำว่า “ผู้เสียหาย” ยังมีความหมายเฉพาะตามกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น ๆ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหาย ได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิดอาญาฐานใด ๆ หรือถูกละเมิดสิทธิตามที่กฎหมายที่ได้รับรองไว้จากการกระทำความผิดอาญา คำนี้ใช้สำหรับความหมายในกฎหมายอาญา รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายด้วย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ที่ต้องการชดเชยความเสียหายของบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งต่อมาปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด ให้ได้รับค่าชดเชยความเสียหาย โดยได้บัญญัติคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้หมายความถึง “บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น” |
INMATE คำแปล : INMATE ความหมาย :
บุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนที่โดยให้อยู่รวมกับบุคคลอื่นการจำกัดดังกล่าวอาจกระทำโดยรัฐ โดยให้อยู่ในสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ห้องขังของสถานีตำรวจ เรือนจำสถานพินิจ หรือในสถาบันที่ไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่นโรงพยาบาลจิตเวช ค่ายทหาร หรือศูนย์บำบัดยาเสพติด เป็นต้น คำนี้ยังมีความหมายถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวมกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การควบคุมตัวที่ทำโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายกลุ่มอาชญากร เช่น กลุ่มอาชญากรค้ามนุษย์ เป็นต้น |
INQUISITORIAL SYSTEM คำแปล : ระบบไต่สวน ความหมาย :
ระบบกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในศาลโดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศที่เป็นระบบประมวลกฎหมาย หรือซีวิลลอว์ (Civil Law) ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายศาสนาแคนอนลอว์ (Canon Law) ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ให้พระเป็นผู้ไต่สวนและซักถามผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้โดยตรง การพิจารณาคดีระบบนี้มีแนวความคิดว่าการตัดสินคดีถูกต้องเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการไต่สวนพยานหลักฐานที่ทำขึ้นอย่างรอบคอบ ดังนั้นศาลจึงมีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ การไต่สวนในชั้นศาลนี้เป็นการดำเนินของฝ่ายตุลาการซึ่งอาศัยสำนวนพยานหลักฐานที่จัดทำขึ้นเบื้องต้นโดยเจ้าพนักงานสอบสวน หรืออัยการซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ศาลจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเด็นการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานหรือสอบสวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมได้ ในระบบนี้อัยการจะมีบทบาทอย่างจำกัดในการซักถามพยาน และระเบียบวิธีพิจารณาคดีจะไม่เคร่งครัดอย่างเช่นระบบกล่าวหา (ดู “ระบบกล่าวหา” ACCUSATORIAL / ADVERSARY SYSTEM) ประเทศไทยได้นำระบบไต่สวนมาใช้ในการพิจารณาความผิดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาความในศาลปกครอง |
INSANITY คำแปล : วิกลจริต ความหมาย :
สภาพความบกพร่องทางจิตของบุคคล จนทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีในสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป กฎหมายอาญายกเว้นโทษให้บุคคลที่กระทำความผิดนั้น เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ลงโทษคนที่มีความประพฤติชั่วร้าย การกระทำของคนวิกลจริตถือว่ากระทำด้วยจิตใจชั่วร้ายไม่ได้ ทั้งนี้หลักกฎหมายอาญามีว่าบุคคลที่ “กระทำความผิดขณะวิกลจริต” ได้รับการยกเว้นโทษ ความวิกลจริตตามกฎหมายอาจมีความหมายต่างจากที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือทางจิตวิทยา โดยกฎหมายพิจารณาภาวะความรู้สำนึกในการกระทำต่อความรับผิดชอบทางอาญาของบุคคล ระมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 กำหนดว่า ผู้กระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าขณะกระทำผิดบุคคลนั้นยังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง จะต้องรับโทษ โดยศาลจะลดโทษลงเพียงใดก็ได้ ในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือในชั้นการสืบพยานหลักฐานในศาล ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้จะต้องงดกระบวนการดำเนินคดีอาญาและต้องส่งบุคคลนั้นไปรักษายังโรงพยาบาลจนกว่าบุคคลนั้นจะหายจึงดำเนินการต่อไป ในกรณีที่เป็นคนวิกลจริตระหว่างจำคุก ศาลอาจสั่งให้ทุเลาการจำคุกไปก่อนโดยให้อยู่ในสถานพยาบาล นอกจากนั้นจะต้องไม่ทำการลงโทษประหารชีวิตระหว่างที่เป็นคนวิกลจริต |
INSTRUMENT คำแปล : ตราสาร ความหมาย :
ตราสารเป็นคำที่ใช้เรียกเอกสารที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีผลใช้ในทางกฎหมายซึ่งอาจเป็น กฎหมายที่ใช้จริง (Hard Law/ lex lata) หรือ กฎหมายที่ควรมี (Soft Law/ lex ferenda) อันเป็นการแสดงเจตนาว่ารัฐจะให้การคุ้มครองหรือเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือจะปรับใช้ค่านิยม และแนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้น ตราสารบางประเภทเป็นเอกสารที่ก่อพันธกรณีทางกฎหมายกับรัฐเช่น ตราสารที่เป็นสนธิสัญญา ตัวอย่างเช่น อนุสัญญา (Convention) พิธีสาร (Protocol) ธรรมนูญ (Statute) ตราสารบางประเภทเป็นเอกสารที่รวบรวมหลักการ ค่านิยม หรือแนวปฏิบัติของรัฐ หรือเป็นเอกสารที่อธิบาย หรือเสริมหลักการตามตราสารประเภทแรก เช่น ปฏิญญา (Declaration) หลักการ (Principles) กฎ (Rules) ตราสารมีได้ทั้งในระดับโลกซึ่งเรียกว่า “ตราสารระหว่างประเทศ” (International Instrument) ระดับทวีปหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ตราสารระดับภูมิภาค” (Regional Instrument)เช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน และระดับประเทศ ซึ่งเรียกว่าตราสารภายใน (Domestic Instrument) หรือตราสารระดับประเทศ (National Instrument) เช่น รัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนพ.ศ.2541 (Human Rights Act 1998) ของสหราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ของประเทศไทย เป็นต้น ตราสารที่ถือว่าเป็น “ธรรมนูญแห่งสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” (International Bill of Human Rights) ประกอบด้วยตราสาระสำคัญสามฉบับ คือ UDHR, ICCPR, ICESCR (บางครั้งนับ Optional Protocol ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ของ ICCPR รวมอยู่ในคำนี้ด้วย) |
INTERNAL DISPLACEMENT คำแปล : การพลัดถิ่นในประเทศ ความหมาย :
การพลัดถิ่นในประเทศคือการที่ประชาชนในพื้นที่หนึ่งจำต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของตนเองโดยทันทีทันใดและโดยไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ อันเนื่องมาจากภาวะฉุกเฉินทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือของมนุษย์ ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่จากที่เดิมไปสู่ถิ่นใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ผู้พลัดถิ่นมักจะสูญเสียโอกาสและต้องแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ใหม่กับประชากรกลุ่มอื่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน ทำให้ต้องมีมาตรการรองรับความมั่นคงในชีวิตของคนเหล่านี้ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร สุขอนามัย และการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิต รวมถึงการได้ย้ายกลับถิ่นฐานเดิม |
INTERNALLY DISPLACED PERSON คำแปล : ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ความหมาย :
“ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” หมายถึงบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่จำต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของตนอย่างทันทีทันใดโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน และเป็นการย้ายประชาชนจำนวนมาก ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่บังคับให้คนเหล่านั้นต้องทิ้งถิ่นฐาน เช่นการพิพาทกันด้วยอาวุธ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หรือภัยพิบัติไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือ ภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น |
INTERNATIONAL COMMITTEE OF RED CROSS AND RED CRESCENT คำแปล : คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ความหมาย :
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือที่เรียกย่อว่า “Red Cross”หรือ “กาชาดสากล” เป็นองค์กรอิสระ ตั้งขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเหยื่อของสงครามและความรุนแรงทางอาวุธ และไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีคณะกรรมการฯ รับอาณัติถาวร(Permanent Mandate) ในการช่วยเหลือเชลย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจากความขัดแย้งของสงคราม โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าคนดังกล่าวจะอยู่ฝ่ายใด รวมถึงงานบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากธรรมชาติและอุบัติภัย ICRC เป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ตลอดจนการติดตามการปฏิบัติตามพันธะหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศICRC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานผู้แทนในประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศ หน้าที่หลักของ ICRC ได้แก่ • การคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยปกป้องสิทธิของบุคคลเหล่านี้ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ • การให้ความคุ้มครองเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง โดย ICRCได้รับมอบหมายจากบรรดาอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ให้สามารถเข้าเยี่ยมเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง เพื่อประกันว่าเชลยสงครามและผู้ถูกจับขังได้รับความเคารพในชีวิตและศักดิ์ศรี ไม่ถูกทรมาน ไม่มีการปฏิบัติอย่างเลวร้าย และไม่มีการละเมิดสิทธิของเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง ตามมาตรฐานสากล • การปกป้องพลเรือนในยามสงคราม ซึ่งตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กำหนดไว้ว่าพลเรือนที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการสู้รบต้องไม่ตกเป็นเป้าโจมตี และตามอนุสัญญาเจนีวาใน ค.ศ. 1949(พ.ศ. 2492) และพิธีสารใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) ซึ่งมีบทบัญญัติเฉพาะในการคุ้มครองพลเรือนมิให้ถูกละเมิด • หน้าที่อื่น ๆ เช่น การรวบรวมครอบครัวที่พลัดพรากกันเนื่องมาจากสงครามให้ได้กลับมาพบกัน การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม การรณรงค์ด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งสงคราม และการใช้การทูตเพื่อมนุษยธรรม เป็นต้น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรวมสามครั้งคือ ใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2450) ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487)และ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) นอกจากนั้น นายอองรี ดูนองต์ (Henry Dunant) ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล (ได้รับใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444)) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ