Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

FROM WOMB TO TOMB

คำแปล : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ความหมาย :

คำเรียกอย่างย่อของข้อเขียน “The Quality of Life of a South East Asian : A Chronicle of Hope from Womb to Tomb”ของ ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เสนอในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ต่อมาได้นำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ภายหลังได้มีการแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ปฏิทินแห่งชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ข้อเขียนนี้ได้สะท้อนให้เห็นความจำเป็นทั้งในเชิงวัตถุ สังคม กฎหมายและมโนธรรมในการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์ นับตั้งแต่บุคคลเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดมาเป็นบุคคลจนกระทั่งตาย ทั้งในมิติของปัจเจกชน สมาชิกของครอบครัวและสังคม เช่น ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต การศึกษา ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” สะท้อนถึง “สิทธิ”ที่นานาประเทศได้ประกาศรับรองเป็นมาตรฐานแห่งความเป็นมนุษย์ร่วมกันของสังคมโลกตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ดูข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในภาคผนวกที่ 1)


FRONT PAY

คำแปล : การจ่ายค่าทดแทนตั้งแต่ต้นสำหรับค่าจ้างงานในอนาคต

ความหมาย :

การจ่ายค่าทดแทนตั้งแต่ต้นสำหรับค่าจ้างงานในอนาคต หมายถึงการจ่ายค่าทดแทนซึ่งอาจจะเป็นค่าชดเชย หรือ ค่าทดแทนที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างแทนการจ้างงานในอนาคต ซึ่งศาลมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลือกปฏิบัติให้ต้องออกจากงาน ซึ่งไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยในลักษณะที่จะเยียวยาให้มีสภาพดีดังเดิม กล่าวคือ การรับกลับเข้าทำงานเนื่องจากลูกจ้างอาจจะหวาดกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือไม่สบายใจในการทำงาน หรือเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งจากนายจ้าง ศาลจะสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนแก่ลูกจ้างในจำนวนเงินที่จะคาดหมายได้โดยมีเหตุผลอันสมควรว่าลูกจ้างพึงจะได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวในอนาคตจากการจ้างงานเป็นจำนวนเท่าใด


FULFIL, DUTY TO / OBLIGATION

คำแปล : ภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุ / พันธกรณีในการทำให้บรรลุผล

ความหมาย :

ภาระหน้าที่ (DUTY) หรือพันธกรณี (OBLIGATION) ในการทำให้บรรลุผลเป็นหน้าที่หนึ่งในภาระหน้าที่สามด้านตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีต่อปัจเจกชน หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิ คือ การเคารพ (Respect)การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้บรรลุ (Fulfil) ภาระหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่ในเชิงบวกที่ผู้มีหน้าที่ หรือรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ (Duty Bearer) ที่จักต้องจัดหาหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้ทรงสิทธิ (Right Holder) ได้บรรลุถึงสิทธิที่เขามี ดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการต่างๆ ไม่ว่าทางด้านนโยบาย กฎหมาย หรือการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลได้รับสิทธิอย่างเต็มเปี่ยม ตัวอย่างภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุในแง่สิทธิทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่น การจัดหาทนายความให้แก่จำเลยในกรณีที่เขาไม่สามารถจ้างทนายความได้ ถือได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมที่รัฐได้รับรอง ในแง่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม การที่รัฐมีนโยบายให้การศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กทุกคน หรือการจัดโครงการให้ทุนยืมเรียนในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิในการศึกษา