Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

EUROPEAN COURT OF HUMAN RIGHTS

คำแปล : ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

ความหมาย :

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรตุลาการขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน(ECHR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502)ศาลนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส(อนึ่งมักมีผู้เข้าใจสับสนคำว่า “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับคำว่า “European Council ที่เป็นองค์กรของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร) ศาลฯ มีหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมายและพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา ECHR โดยอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐภาคีสมาชิก ECHR เดิม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Human Rights Commission) มีหน้าที่ในการ ไต่สวนมูลฟ้องและยื่นคำฟ้องต่อศาลแทนบุคคลต่อมาพิธีสารฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1998(พ.ศ. 2541)ได้ยุบคณะกรรมาธิการฯ ลง และให้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฯ ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเท่ากับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญา ECHR ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (Parliamentary Assembly) ประเทศละหนึ่งคน ผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ หรือสัญชาติ ในการดำเนินคดีจำนวนผู้พิพากษาขององค์คณะจะขึ้นอยู่กับประเภทของคดี เช่น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีผู้พิพากษาหนึ่งคน ในชั้นพิจารณาคดีจะมีจำนวน ผู้พิพากษาในองค์คณะต่างกัน เช่น จำนวนสามคน เจ็ดคน หรือ สิบเจ็ดคน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความสำคัญของคดีคำพิพากษาของศาลฯ ผูกพันรัฐภาคีให้ต้องปฏิบัติตามโดยรัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพิพากษาจะไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายในรัฐภาคี และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐภาคี คณะกรรมการรัฐมนตรี(Committee of Ministers) มีหน้าที่สอดส่องและบังคับให้รัฐปฏิบัติตาม คำพิพากษา คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ชัดเจนขึ้น


EUROPEAN SOCIAL CHARTER

คำแปล : กฎบัตรสังคมยุโรป

ความหมาย :

กฎบัตรสังคมยุโรปเป็นสนธิสัญญาระดับภูมิภาคขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) เกี่ยวกับสิทธิด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1961(พ.ศ.2504) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) ถือว่าเป็นอนุสัญญาที่คู่ขนานไปกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (ECHR) ซึ่งมุ่งคุ้มครองสิทธิทางด้านพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กฎบัตรสังคมยุโรปได้จำแนกประเภทการคุ้มครองสิทธิเป็นสามประเภทด้วยกัน คือ การคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน การคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคม และการคุ้มครองแก่กลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาส แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการในการประกันสิทธิทางสังคมของกฎบัตรฯ สอดคล้องกับ ICESCR ซึ่งเห็นว่าสิทธิประเภทนี้ไม่สามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อเยียวยาการละเมิดสิทธิได้ ดังนั้น กลไกการคุ้มครองจึงใช้วิธีการตรวจสอบมาตรการในการปฏิบัติ และการรายงานความก้าวหน้ามาตรฐานทางสังคมเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามลำดับ กฎบัตรได้จัดตั้งองค์กรในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญสององค์กรคือ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางสังคมแห่งยุโรป (European Committee of Social Rights) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระจากสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยคำแนะนำจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีคณะกรรมการรัฐมนตรี (Committee of Ministers) ที่มีหน้าที่พิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีที่รัฐภาคีเสนอทุกๆ สองปี


EUTHANESIA

คำแปล : การุณยฆาต

ความหมาย :

การทำให้บุคคลอื่นที่อยู่ในวาระสุดท้ายแห่งการมีชีวิตตายอย่างไม่ทุกข์ทรมาน คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ “eu” (ดี) และ “thanatos” (ตาย) รวมกัน หมายถึง ตายดี หรือตายอย่างสงบ การุณยฆาตมีข้อโต้แย้งในด้านความชอบธรรม โดยบางคนเห็นว่าเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่รักษาไม่หายเพื่อจบชีวิตลงอย่างสงบ ปราศจากความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดอันเป็นการจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะที่มีข้อโต้แย้งว่า การุณยฆาตอาจถูกนำมาเป็นช่องทางในการทำลายชีวิตมนุษย์ หรือลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ ในด้านสิทธิมนุษยชน การุณยฆาต เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากประเด็นหนึ่งเพราะเกี่ยวพันกันหลายด้าน เช่น ประเด็นปัญหาว่าเจ้าของชีวิตมีสิทธิที่จะระงับการมีชีวิตของตนเองหรือไม่ ประเด็นเรื่องศีลธรรมของบุคคลที่ตัดสินใจทำการการุณยฆาต (เช่น ญาติผู้ป่วยที่หมดหนทางรักษา เป็นต้น) และหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องคุ้มครองชีวิตของบุคคล นอกจากนั้นยังมีปัญหาในด้านเทคนิคว่า จะใช้สิ่งใดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า กรณีใดที่จะยอมให้มีการทำการุณยฆาตได้ เนื่องจากไม่สามารถบอกเจตจำนงของผู้ป่วยได้ กฎหมายอาญาบางประเทศไม่รับรองการการุณยฆาต เช่น กฎหมายอาญาของประเทศเยอรมนีกำหนดให้ผู้กระทำต้องถูกลงโทษตามกฎหมายแม้ว่าผู้ป่วยจะเป็นฝ่ายร้องขอให้หยุดชีวิตของตนก็ตาม แต่กฎหมายอาญาของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับรองการการุณยฆาตว่าถ้าเป็นคำสั่งของผู้ป่วยที่มีสติบริบูรณ์ หรือผู้ป่วยได้เขียนคำสั่งหรือพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า และญาติได้นำคำสั่ง หรือพินัยกรรมดังกล่าวไปแสดงต่อแพทย์เพื่อดำเนินการในลักษณะของการระงับการรักษาหรือเร่งให้เสียชีวิตการกระทำของแพทย์ไม่ผิดกฎหมาย สำหรับประเทศไทย การุณยฆาต ได้รับการรับรองโดย มาตรา 12แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) กำหนดว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบอาชีพสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดแล้วพ้นจากความผิดทั้งปวง”


EX OFFICIO (Latin)

คำแปล : โดยตำแหน่ง

ความหมาย :

ในความหมายทั่วไป โดยตำแหน่ง จะหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้า หรือผู้บริหารในองค์กร หน่วยงาน คณะกรรมการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร หัวหน้ารัฐบาล หรือ ประมุข บุคคลที่กระทำหน้าที่ใดๆในฐานะที่เป็นตัวแทน ด้วยเหตุผลของการดำรงตำแหน่งนั้นๆ เป็นคำที่ใช้ประกอบตำแหน่งบุคคลที่เป็นตัวแทนไปทำหน้าที่ใดๆโดยตำแหน่ง หน้าที่ของบุคคลนั้นๆไม่ใช่ด้วยการถูกแต่งตั้ง เลือกตั้ง หรือ การคัดเลือก ex officio ในกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา หมายถึง บุคคลซึ่งโดยตำแหน่งถือว่าเป็นตัวแทนรัฐโดยอำนาจหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจในการเข้าเจรจา ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ 1. ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการใดๆ หรือการกระทำทุกกรณีที่เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา 2. หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต มีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการยอมรับ หรือการรับเอาข้อบทของสนธิสัญญาที่กระทำระหว่างรัฐผู้รับกับรัฐผู้ส่งทูต ผู้เป็นตัวแทนรัฐ เข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศหรืองค์กรใดขององค์การระหว่างประเทศโดยมีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการยอมรับข้อบทของสนธิสัญญาในการประชุมระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรขององค์การระหว่างประเทศโดยผู้แทนเหล่านั้นได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ


EXCHANGE OF LETTERS

คำแปล : การแลกเปลี่ยนหนังสือ

ความหมาย :

มีความหมายเหมือนกับ EXCHANGE OF NOTE (การแลกเปลี่ยนบันทึก)


EXCHANGE OF NOTE

คำแปล : การแลกเปลี่ยนบันทึก

ความหมาย :

การแลกเปลี่ยนบันทึกหรือบางครั้งใช้คำว่า “การแลกเปลี่ยนหนังสือหรือ Exchange of Letters” ซึ่งมีความหมายเดียวกันเป็นวิธีทำความตกลงที่ไม่เป็นทางการ โดยรัฐแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการผูกพันกับความ ตกลงบันทึกความเข้าใจบางอย่าง หรือยอมรับพันธกรณีบางประการ อาจกระทำโดยผ่านผู้แทนทางการทูตหรือผู้แทนทหาร โดยปกติความตกลงดังกล่าวไม่มีการให้สัตยาบัน บางครั้งอาจมีบันทึกแลกเปลี่ยนในลักษณะพหุภาคีก็ได้


EXECUTIVE AGREEMENT

คำแปล : ข้อตกลงฝ่ายบริหาร

ความหมาย :

ข้อตกลงฝ่ายบริหารเดิมเป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้มีการพัฒนาและนำไปใช้ในประเทศอื่นๆด้วย ในกรอบวิธีการของแต่ละประเทศ ตามที่แต่ละประเทศจะกำหนด ในสหรัฐอเมริกา หมายถึงข้อตกลงฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องให้วุฒิสภา (Senate)รับรอง ซึ่งแตกต่างไปจากสนธิสัญญาอื่นซึ่งต้องให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสาม ก่อนที่จะให้สัตยาบัน ข้อตกลงฝ่ายบริหารก่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งกระทำโดยฝ่ายบริหารโดยได้รับอนุมัติล่วงหน้าและกระทำภายในกรอบที่รัฐสภา (Congress)กำหนดให้ หรือบางกรณีไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบล่วงหน้า หากเป็นเรื่องซึ่งโดยทั่วไปถือว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีหลังจาก ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ต้องนำข้อตกลงฝ่ายบริหารเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรับทราบภายในหกสิบวันหลังจากได้ทำข้อตกลง


EXGRATIA COMPENSATION

คำแปล : ค่าชดเชยโดยไม่มีข้อผูกพัน

ความหมาย :

ค่าชดเชยโดยไม่มีข้อผูกพัน หมายถึง เงินที่รัฐสมัครใจจ่ายให้แก่ผู้ร้องเรียน หรือผู้ร้องทุกข์ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากมีการเจรจากัน โดยที่รัฐยังไม่ยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือโดยที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยโดยองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนว่ารัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น เงินสงเคราะห์ ค่าทำขวัญ เงินช่วยเหลือเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหาย


EXILE

คำแปล : เนรเทศผู้พลัดถิ่น / ผู้ลี้ภัย

ความหมาย :

คำว่า Exile มีความหมายสองด้านคือ 1) “เนรเทศ” หมายถึงการขับ หรือบังคับบุคคลให้ออกไปนอกประเทศที่ตนเองมีสัญชาติมีความหมายใกล้เคียงกับExpel, Expulsion 2) “ผู้พลัดถิ่น” หรือ “ผู้ลี้ภัย” หมายถึงบุคคลที่หลบหนีออกจากประเทศตนเองไปอยู่ในประเทศอื่น เพื่อหลบหนีภัยด้วยเหตุต่างๆ เช่น ภัยการเมือง ความขัดแย้งจากการสู้รบ หรือ ความขัดแย้งทางศาสนา ตามกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น / ผู้ลี้ภัย อาจขอสถานะผู้ลี้ภัย (Refugee) ได้ถ้ามีมูลเหตุแห่งความกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร


EXPORT PROCESSING ZONE

คำแปล : เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ความหมาย :

เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นเขตหรือพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกโดยดึงดูดนักลงทุนและการลงทุนต่างชาติในการผลิต และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิ่งจูงใจพิเศษทางด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี รวมทั้งมีการสนับสนุนคนงานและอุตสาหกรรมจำนวนมากเพื่อให้พร้อมแก่การผลิตสินค้า โดยมีค่าแรงต่ำ เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวในบางประเทศจะห้ามการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีการยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยกเลิกอุปสรรคการนำเข้า ส่งออก ตัวอย่างเช่น ชายแดนสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกได้มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว มีโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและยกเลิกภาษีอากร ตลอดจนมีการจัดหาคนงานรองรับในเขตดังกล่าวจำนวนมาก ปัญหาในเขตอุตสาหกรรมพิเศษเพื่อการส่งออกดังกล่าว มักจะมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันสืบเนื่องมาจากการยกเลิก หรือผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และไม่คุ้มครองแรงงานในด้านการกำหนดค่าแรงในราคาต่ำ อีกทั้งอาจจะไม่มีมาตรฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอีกด้วย


EXPRESSION, FREEDOM OF

คำแปล : เสรีภาพในการแสดงออก

ความหมาย :

เสรีภาพในการแสดงออกเป็นการประกันว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูดการเขียน การพิมพ์การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นใด เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต การจำกัดเสรีภาพในยามปกติจะกระทำมิได้การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนการให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงออก เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน รัฐต้องมีมาตรการในการป้องกันการให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น อันจะเป็นการนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนจะได้รับ


EXPROPRIATION / NATIONALISATION

คำแปล : การเวนคืน/การยึดกิจการเป็นของรัฐ

ความหมาย :

การเวนคืน หรือการยึดกิจการเป็นของรัฐ เป็นการที่รัฐออกกฎหมาย หรือใช้อำนาจรัฐยึดสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน หรือบรรษัทมาเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพย์สิน หรือทรัพยากรที่อยู่ ในอำนาจรัฐ (Jurisdiction) อย่างไรก็ตาม การเวนคืนกับการยึดกิจการมาเป็นของรัฐจะกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ดังนั้นการเวนคืนกับการยึดกิจการเป็นของรัฐต้องทำโดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะต้องชดเชยค่าเสียหายที่เหมาะสมแก่บุคคล หรือบรรษัทที่ถูกเวนคืน คำว่า “Nationalisation” มีความหมายที่มีนัยทางการเมืองเกี่ยวกับการใช้อธิปไตยของรัฐทางเศรษฐกิจ ที่มักนำมาอ้างเพื่อยึดคืนกิจการจากชาวต่างด้าวมาเป็นกิจการของชาติ


EXTRA-JUDICIAL EXECUTION

คำแปล : การประหารนอกกฎหมาย

ความหมาย :

การประหารนอกกฎหมายเป็นการฆ่าบุคคลอื่นโดยจงใจซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำสั่งของรัฐบาลหรือโดยองค์กรที่อยู่ในความรับผิดชอบและการรู้เห็นเป็นใจของรัฐบาล โดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาดำเนินคดีเพื่อลงโทษบุคคลนั้น การสังหารบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายถ้าทำไปเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากอันตรายที่กำลังจะเกิดและไม่เกินควรแก่เหตุ ถือว่ากระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ถือว่าเป็นการประหารนอกกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีกระบวนการตรวจสอบ หรือมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ หรือเพิกเฉยการใช้อำนาจที่ป้องกันเกินส่วนแห่งความจำเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่อาจถือว่ารัฐบกพร่องต่อพันธะหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดการประหารนอกกฎหมายได้ อนึ่งคำว่าการประหารนอกกฎหมาย นี้มีความหมายต่างจากคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 และ พ.ร.บ.ชันสูตรพลิกศพ พ.ศ.2457ที่หมายถึงคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายได้ถูกเจ้าพนักงานฆ่า โดยอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายของผู้ตายที่อยู่ในความควบคุมของพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พระราชบัญญัตินี้ยกเลิกแล้ว และคำนี้ไม่ได้มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน


EXTRADITION

คำแปล : การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ความหมาย :

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในกระบวนการทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้พิจารณาส่งตัวบุคคลที่ “ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด” ให้กลับไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีโดยศาลของประเทศที่ร้องขอ หรือ ส่งตัวบุคลที่ถูกตัดสินโดยศาลของประเทศที่ร้องขอว่าได้กระทำผิดให้ไปรับโทษทัณฑ์ทางอาญาในประเทศที่ร้องขอ การขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจศาล (Jurisdiction) ของรัฐที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น กับอำนาจศาลของรัฐที่บุคคลที่ได้กระทำผิดปรากฏตัว ดังนั้นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องเป็นการร้องขอโดยผ่านพิธีการทางการทูต เท่านั้น คำว่า “ส่งตัวผู้ร้าย” ทำให้เกิดความสับสนในความหมายได้เพราะเป็นหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบุคคลจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิพากษาโดยศาล ความผิดที่จะขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น ต้องเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทางกฎหมายที่มีอัตราโทษขั้นต่ำตามกฎหมายทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและประเทศผู้รับคำร้องขอ ที่เป็นโทษจำกัดอิสรภาพ (เช่นโทษการจำคุก หรือกักขัง)ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และความผิดนั้นจะต้องไม่ขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ ประการสำคัญคือความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง(Political Offense)หรือความผิดที่เกี่ยวกับศาสนา การส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีหลักว่า ถ้าบุคคลที่ขอให้ถูกส่งตัวถือสัญชาติของประเทศผู้ร้องขอจะยอมให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้เสมอ กรณีบุคคลที่ขอให้ถูกส่งตัวถือสัญชาติของประเทศผู้รับคำขอ มักจะไม่ยอมให้มีการส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นกลับไปให้ประเทศอื่นพิจารณาพิพากษาคดี เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาต่อกัน ในกรณีบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวถือสัญชาติของประเทศที่สาม ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ประเทศผู้รับคำร้องขอจะต้องแจ้งให้ประเทศที่สามที่เป็นเจ้าของสัญชาติผู้กระทำผิดทราบเสียก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป การส่งผู้ร้ายข้ามแดนถือว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมในการป้องปรามอาชญากรรมโดยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการที่จะไม่ให้อาชญากรใช้ดินแดนของรัฐนั้นเป็นที่หลบซ่อนตัวหรือ หลบหนีเงื้อมมือของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคมประชาชาติโดยรวม