DIKA COURT คำแปล : ศาลฎีกา ความหมาย :
ศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศไทย มีเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักรมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นตั้น (Court of First Instance) ที่คู่ความสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้โดยตรงตามกฎหมายเฉพาะ นอกจากนั้น ศาลฎีกา ยังเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) (ดู THE CRIMINAL DIVISION FORTHE PERSON HOLDING POLITICAL POSITIONS) คำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตามในคดีอาญา กรณีที่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่อาจมีผลต่อการวินิจฉัย โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ คำว่า “ศาลฎีกา” อาจแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Supreme Court of Thailand” หรือ “The Supreme Court” |
DIRECT EFFECT คำแปล : ผลของสนธิสัญญาที่มีต่อปัจเจกชนโดยตรง ความหมาย :
การมีผลของสนธิสัญญาต่อปัจเจกชนโดยตรง หมายถึงการที่ปัจเจกชนสามารถบังคับใช้สิทธิภายใต้สนธิสัญญาได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐที่ตนสังกัดอยู่ โดยปกติสนธิสัญญาจะมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างรัฐภาคีของสนธิสัญญาเท่านั้น มิได้มีผลผูกพันปัจเจกชน แต่รัฐภาคีที่ทำสนธิสัญญาอาจจะตกลงกันให้สิทธิตามสนธิสัญญาแก่ปัจเจกชนในการฟ้องร้องเพื่อให้มีการบังคับตามสนธิสัญญาได้โดยตรง ถือว่าสนธิสัญญานั้นมีผลบังคับโดยตรงต่อปัจเจกชน (Direct Effect) เช่น ในอนุสัญญากรุงโรมพ.ศ. 2493 (Rome Convention 1950) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปมีข้อกำหนดให้ปัจเจกชนสามารถฟ้องคดีต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) ได้โดยตรง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสนธิสัญญาที่มีผลบังคับโดยตรงต่อปัจเจกชนนี้ ปัจเจกชนเพียงแต่ได้รับสิทธิบางประการตามสนธิสัญญาเท่านั้นตามที่รัฐภาคีกำหนดไว้ในสนธิสัญญา และสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐการมีสิทธิโดยตรงของปัจเจกชนในการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นแบ่งเป็นผลโดยตรงของสิทธิตามแนวตั้ง (Vertical Direct Effect) และผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอน(Horizontal Direct Effect) |
DISADVANTAGED GROUP คำแปล : กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ความหมาย :
กลุ่มผู้ด้อยโอกาส คือกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากมีความด้อยโดยธรรมชาติ เช่น ผู้พิการ เด็ก สตรี คนชรา ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย ดังนั้นมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงต้องมุ่งปกป้องกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มิให้ถูกละเมิดสิทธิจากการเพิกเฉยละเลยของรัฐ ทั้งนี้รัฐจำเป็นต้องจัดมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures) ที่อาจแตกต่างจากการปฏิบัติต่อบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ อันจะสนองต่อความจำเป็นที่พิเศษ หรือความจำเพาะของแต่ละกลุ่ม เช่น การจัดบริการสาธารณะที่ช่วยเหลือผู้พิการให้ใช้บริการได้ง่ายขึ้น การกำหนดจำนวนในการรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนในพื้นที่ที่ขาดการพัฒนา หรือคนพื้นเมือง การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำระหว่างหญิง ชายในองค์กรต่างๆ เป็นต้น |
DISASTER RELIEF คำแปล : การบรรเทาภัยพิบัติ ความหมาย :
ในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ย่อมก่อผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ประสบภัยพิบัติ รัฐมีพันธะหน้าที่ในการปกป้องและบรรเทาปัญหาให้แก่ประชาชนทั้งหลายเพื่อให้ผู้ประสบภัยพิบัติสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี หน้าที่ของรัฐในการระดมและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติและฟื้นฟูผู้ประสบภัยไม่จำกัดอยู่แต่เพียงทรัพยากรของรัฐ แต่รัฐต้องร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อให้ได้ทรัพยากร และจะต้องไม่ปฏิเสธหรือปิดกั้นความช่วยเหลือจากรัฐอื่น หรือองค์การบรรเทาภัยพิบัติระหว่างประเทศในกรณีที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้เองตามลำพัง การเยียวยาความเสียหายนั้นทำได้ทั้งในระยะสั้น คือ การส่งสิ่งของไปช่วยเหลือโดยตรงในระยะกลาง เช่น การบูรณะบ้านเรือน และในระยะยาว เช่น การปฏิรูประบบการสำรองอาหาร หรือสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อบรรเทาความเสียหาย |
DISSOLUTION POWER คำแปล : อำนาจในการยุบสภา ความหมาย :
อำนาจตามกฎหมายที่ให้บุคคลหรือองค์กรใดมีอำนาจยุบสภานิติบัญญัติที่มีผลให้สถานะของสมาชิกสภานิติบัญญัติสิ้นสุดลงทั้งสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้อำนาจยุบสภาเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยการเสนอของฝ่ายบริหาร การยุบสภาจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ ดังนั้นโดยข้อเท็จจริงการยุบสภาจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้อำนาจฝ่ายบริหารในการยุบสภาเพื่อตอบโต้อำนาจการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ และบางครั้งมีขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภา เมื่อพรรครัฐบาลอยู่ในสถานะทางการเมืองที่ได้เปรียบพรรคฝ่ายค้าน |
DISTRIBUTIVE JUSTICE คำแปล : ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร ความหมาย :
วิธีมองปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรม โดยถือว่าความเป็นธรรมที่แท้จริงในสังคมจะมีได้เพราะการจัดสรรให้เกิดขึ้น ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรรเน้นความสำคัญของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าเงื่อนไขที่เท่าเทียมกัน ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรรเชื่อว่า ในสังคมหนึ่งจะมีกลุ่มผู้เสียเปรียบทางด้านโอกาสเสมอ ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่เป็นผลลัพธ์ จึงเป็นหลักการทางจริยธรรมของสังคม ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร เป็นหลักการที่นำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์และการกำหนดภาระ หน้าที่ ราคา และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กับภาคส่วนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการแบ่งปันทรัพยากร สินค้าการบริการ และสาธารณูปโภคให้กับสมาชิกในสังคม ดังนั้นแนวความคิดนี้จึงสนับสนุนการใช้มาตรการพิเศษ หรือมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures) เพื่อให้คนที่อยู่ในภาวะด้อยสิทธิ หรือด้อยโอกาส ได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ปัญหาสำคัญของความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร คือ การเลือกระหว่างความเป็นธรรมกับความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด |
DIVERSITY คำแปล : ความหลากหลาย ความหมาย :
ความหลากหลายเป็นลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์และพืช ที่ทำให้โลกสามารถสร้างความสมดุลได้ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงสังคม หลักสิทธิมนุษยชนถือว่าความหลากหลายของสังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษาและความคิดเห็นของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมโลก ดังนั้นระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงเน้นไปสู่การสร้างหลักห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสถานภาพต่างๆ ทั้งด้านกายภาพ สังคม วัฒนธรรมและความคิดโดยถือว่าตามธรรมชาติมนุษย์มีความแตกต่างกันแต่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นรัฐต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ในด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายเป็นพื้นฐานของแนวคิดในเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรโดยมุ่งให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้านสังคม วัฒนธรรม และความเห็นแตกต่างกันจะช่วยเสริมส่งให้มนุษย์ปรับตัวโดยทั่วไปความเห็นที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีอันสอดคล้องกับแนวทางของประชาธิปไตย |
DOMESTIC LAW คำแปล : กฎหมายภายในประเทศ ความหมาย :
กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับภายในรัฐ ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ที่มีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป ใครฝ่าฝืนก็จะได้รับผลร้าย เช่น การถูกลงโทษทางอาญา หรือทำให้เสียสิทธิที่พึงได้รับ หรือกฎหมายภายในประเทศอาจเป็นกฎเกณฑ์ที่มีขึ้น เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารปกครองขององค์กรของรัฐ เป็นต้น ในด้านสิทธิมนุษยชน คำนี้ใช้เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างกฎเกณฑ์ที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายระหว่างประเทศ” (ดู INTERNATIONAL LAW)กับกฎเกณฑ์ที่ใช้ภายในของรัฐ หรือ “กฎหมายภายในประเทศ” เป็นหลักกฎหมายว่ารัฐมีพันธะหน้าที่ระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐต้องใช้มาตรการต่าง ๆรวมทั้งการทำให้กฎหมายภายในประเทศสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีที่รัฐเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รัฐต้องอนุวัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา โดยรัฐไม่อาจอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามสนธิสัญญา เนื่องจากไม่มีกฎหมายภายในหรือขัดต่อกฎหมายภายในได้ |
DOUBLE JEOPARDY คำแปล : การฟ้องซ้ำในคดีอาญา ความหมาย :
หลักกฎหมายอเมริกาที่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกฟ้องให้รับโทษซ้ำในความผิดเดียวกัน ซึ่งได้บัญญัติไว้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบทที่เจ็ด มีใจความว่า จะไม่มีบุคคลใดถูกทำให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายซ้ำเนื่องมาจากกระทำความผิดที่เหมือนกัน (“No person shall … be subject for the same offence […] to be twice put in jeopardy of life or limb.”) คำนี้มีความหมายอย่างเดียวกับภาษิตกฎหมาย “ne bis in idem” หรือ “หลักไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกัน” อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีมานับแต่ยุคกรีก โรมัน และได้รับการรับรองไว้เป็นหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักกฎหมาย “Double Jeopardy” นั้นคือ การรับรองภาษิตกฎหมายละตินที่มีมาแต่โบราณไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ตามรูปแบบของการบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา |
DUEPROCESS OF LAW คำแปล : กระบวนการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ความหมาย :
กระบวนการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเป็นหลักกฎหมายที่ถือกำเนิดในยุคสถาปนารัฐสมัยใหม่ที่ต้องการเสริมสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือกระบวนการทางกฎหมายต้องสันนิษฐานว่าบุคคลทั้งหลายเป็นผู้สุจริตต้องมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ หรือกระทำเสมือนเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าบุคคลนั้นเป็นคนผิด พัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของรัฐสมัยใหม่วางกรอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมักจะอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง หรือประโยชน์ส่วนรวมเพื่อเลี่ยงกระบวนการตามกฎหมายอันเป็นการไม่เคารพหลักนิติธรรม รัฐต้องส่งเสริมสิทธิให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานด้านการปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการปฏิบัติราชการด้านการปกครอง เช่น มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในฝ่ายปกครอง และสามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครองของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการชดใช้เยียวยาความเสียหาย |
DUTY BEARER คำแปล : ผู้มีหน้าที่เคารพสิทธิ ความหมาย :
ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน “ผู้มีหน้าที่” ในลำดับแรกคือ รัฐ เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นระบบการคุ้มครองสิทธิที่ประชาชนเรียกร้องจากรัฐซึ่งมีสัญญาประชาคมต่อพลเมืองทั้งหลายในรัฐว่าเมื่อได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนแล้วก็จะใช้อำนาจไปในการส่งเสริมและสร้างหลักประกันสิทธิทั้งหลายให้แก่ประชาชน ดังที่ได้มีสัญญาประชาคมร่วมกันอยู่ ดังนั้นรัฐมีหน้าที่ในการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคล แต่ปัจจุบันผู้มีหน้าที่อาจหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่ต้องเว้นจากการละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่สามที่ละเมิดสิทธิของประชาชนมากขึ้น เช่น บรรษัทที่ก่อมลพิษในชุมชน กลุ่มอาชญากรข้ามชาติ หรือ กลุ่มติดอาวุธ (ดู Rights Holder) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ