Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

CRIMINAL DIVISION OF THE SUPREME COURT FOR THE PERSON HOLDING POLITICAL POSITIONS, THE

คำแปล : แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

ความหมาย :

แผนกงานคดีแผนกหนึ่งของศาลฎีกา จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติอันเกิดจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต รวมถึงบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวด้วย องค์คณะผู้พิพากษาในแผนกนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ที่คัดเลือกสำหรับแต่ละคดีโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาการพิจารณาคดีจะเป็นแบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาคดีอาญาทั่วไป ศาลจะยึดถือสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหลัก ในการพิจารณา ผู้พิพากษาที่พิจารณาในคดีทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาในการประชุมก่อนการลงมติ แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลสูง คำสั่งและคำพิพากษาของศาลฯ เป็นที่สุด เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา อนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น


CRIMINAL LAW, PENAL LAW

คำแปล : กฎหมายอาญา

ความหมาย :

กฎหรือเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับเพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคลในการอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษอาญา กฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมซึ่งต่างจากกฎหมายแพ่งที่เป็นเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนสภาพบังคับของกฎหมายอาญาคือ “โทษ” ส่วนสภาพบังคับของกฎหมายแพ่งเน้นที่การชำระหนี้ ทางทฤษฎีความผิดอาญาแบ่งเป็นสองประเภท คือความผิดที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวเอง (mala in se) และความผิดที่เกิดจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด (mala prohibita) ตามแนวคิดของนักกฎหมายมหาชน อาชญากรรมเป็นการกระทำความผิดต่อรัฏฐาธิปัตย์อันเป็นการละเมิดต่อรัฐ เพราะกฎหมายอาญากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน เป็นเสมือนพันธสัญญาระหว่างรัฐกับปัจเจกชน โดยรัฐบัญญัติให้ปัจเจกชนมีหน้าที่กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด เมื่อปัจเจกชนกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายอาญาจึงเป็นการละเมิดต่อรัฐ แม้ว่าในความผิดบางอย่างมีผู้เสียหายอื่น เช่น ความผิดฐานฆ่าคน ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ และหมิ่นประมาท เป็นต้น ก็ยังถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น เมื่อมีการกระทำความผิดอาญา นอกจากบุคคลที่เป็นผู้เสียหายจริงมีอำนาจฟ้องแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้อัยการมีอำนาจฟ้องซึ่งเป็นการฟ้องแทนสาธารณชนในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ตามแนวคิดของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาเป็นมาตรการทางกฎหมายในการประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดโดยบุคคลที่สาม เช่น • ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เป็นการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของบุคคล • ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคล • ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง เป็นการคุ้มครองสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยในร่างกายของบุคคล


CRIMINAL PROCEDURE LAW

คำแปล : กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ความหมาย :

กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ กฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญานับตั้งแต่เมื่อความผิดเกิดขึ้น หรือมีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจนถึงการพิพากษาลงโทษ และการปล่อยตัวนักโทษ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายในการดำเนินคดีอาญา และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกกล่าวหา หรือถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญาเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นกลั่นแกล้ง หรือถูกปฏิบัติมิชอบโดยเจ้าพนักงาน/เจ้าหน้าที่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีขอบเขตครอบคลุมการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไปนี้ • การสอบสวน ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน นับตั้งแต่ความผิดเกิดขึ้น การรวบรวมพยานหลักฐานการจับกุม การตั้งข้อกล่าวหา การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องโดยอัยการและการปล่อยตัวชั่วคราว • การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งจะเริ่มจากการไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การนำพยานเข้าสืบ และการสั่งหรือการพิพากษาของศาล • การอุทธรณ์และฎีกา เป็นกระบวนการพิจารณาโดยศาลสูง เมื่อโจทก์หรือจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็สามารถคัดค้านต่อศาลสูงกว่า คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ (ดู Appeal, Court of Appeal, Dika Court) • การบังคับตามคำพิพากษา การอภัยโทษ การลดโทษ และการปล่อยตัวจำเลย หรือนักโทษ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีความสำคัญอย่างมากต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หลักการต่างๆ ในกฎหมายนี้อยู่บนพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น หลักเกณฑ์ เรื่องการจับ การแจ้งข้อหา การกระทำผิด ระยะเวลาในการควบคุมตัวสิทธิที่จะมีทนายความ สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เป็นต้น


CULTURAL RELATIVISM (OF HUMAN RIGHTS)

คำแปล : สัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

สัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีสิทธิมนุษยชนที่ปฏิเสธความเป็นสากล / สากลภาพของสิทธิมนุษยชนมาจากความเห็นที่ว่าในแต่ละสังคมมีความแตกต่างทางด้านค่านิยม ความคิด วัฒนธรรม ธรรมเนียม และวิธีคิด ดังนั้นการปรับใช้หรืออธิบาย ตีความเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องพิจารณาความแตกต่างของแต่ละสังคม แนวคิดแบบสัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนได้ยกขึ้นอ้างโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศในโลกที่สาม หรือประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการเพื่อใช้ตอบโต้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ดู Relativity of Human Rights) แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับสัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน คือ แนวคิดแบบความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน (Universality of Human Rights)


CULTURALIDENTITY, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ความหมาย :

สิทธิในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นสิทธิที่ใช้เรียกร้องเพื่อดำรงรักษาวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เพื่อไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติจากชนกลุ่มใหญ่อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ นอกจากนั้น สิทธิใน อัตลักษณ์ยังเป็นการยับยั้งไม่ให้รัฐใช้นโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อกลืนวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย สิทธิมนุษยชนถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมเป็นสิ่งที่มีความดีอยู่ในตัว และสมาชิกของสังคมควรต้องมีใจกว้างยอมรับวัฒนธรรมที่ต่างกันเพราะความแตกต่างนั้นยังประโยชน์แก่ทุกคน


CURFEW

คำแปล : เคอร์ฟิว / การห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด

ความหมาย :

คำสั่งของรัฐบาลให้ประชาชนกลับเคหสถานก่อนเวลาที่ได้กำหนดหรือห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมักเป็นเวลากลางคืนและมักใช้ภายหลังมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน (ดู STATE OF EMERGENCY) คำว่า “CURFEW” หรือ “เคอร์ฟิว” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า COUVREFEU แปลว่า “ดับไฟ” (COUVRE = ดับ, FEU = ไฟ) โดยทั่วไป การใช้ เคอร์ฟิว / การห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด มักทำพร้อมกับการจำกัดหรือการห้ามการชุมนุม จะทำในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดขึ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย อันเนื่องมาจากสถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งรัฐหรืออันอาจทำให้รัฐตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวะการรบหรือการสงคราม ซึ่งฝ่ายบริหารของรัฐมีอำนาจประกาศว่าพื้นที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ ซึ่งให้ อำนาจพิเศษในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้เคอร์ฟิว / ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนดจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหลายด้าน เช่น ในด้านการเดินทาง การประกอบอาชีพ การศึกษา การบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ และการใช้ชีวิตร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นในประกาศดังกล่าวถ้าไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม หรือความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน