Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

CONTRACTUAL RIGHTS

คำแปล : สิทธิตามสัญญา

ความหมาย :

ประโยชน์ อำนาจกระทำการ ความคุ้มกัน ของบุคคลที่เกิดจากความยินยอมตกลงกันระหว่างบุคคล ในทางทฤษฎีสังคมการเมือง มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการคิด ตัดสินใจที่จะทำสัญญาผูกพันระหว่างกันในการที่จะแลกเปลี่ยนประโยชน์ หรือสิทธิของบุคคลรวมทั้งสิทธิในทรัพย์ ที่ตนเองมีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองมากที่สุด เสรีภาพในการทำสัญญาจึงเป็นช่องทางในการทำให้บุคคลได้บรรลุความต้องการของตนเอง ตัวอย่างเช่น บางคนมีเงินทุนแต่ขาดแรงงาน ในขณะที่บุคคลอีกคนหนึ่งมีแรงงานแต่ขาดเงินทุน ดังนั้นบุคคลทั้งสองคนจึงตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างค่าจ้างกับแรงงานกัน เจ้าของเงินทุนก็จะได้แรงงานบุคคลที่เป็นเจ้าของแรงงานก็ได้ค่าจ้างจากการทำงานเมื่อบุคคลตัดสินใจตกลงทำสัญญาแล้วก็จะเกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน สิทธินี้จึงเกิดจากสัญญาอันต่างจากสิทธิตามกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐรับรองสิทธินั้น โดยการออกกฎหมายเป็นการกำหนดสิทธิและหน้าที่โดยรัฐ มิใช่โดยความสมัครใจของบุคคลสิทธิตามสัญญา และเสรีภาพในการทำสัญญาได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายทุกระบบ แม้แต่ในระบบสังคมนิยม โดยที่บุคคลอาจมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน กฎหมาย จึงอาจเข้ามาแทรกแซงเสรีภาพในการทำสัญญาของบุคคล เพื่อรักษาคุณค่าบางประการของสังคม เช่น ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น การแทรกแซงของรัฐโดยกฎหมายก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมายขึ้น สิทธินี้เรียกว่า “สิทธิตามกฎหมายบัญญัติ” (ดู STATUTORY RIGHTS) ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับสิทธิตามสัญญา


CONVENTION

คำแปล : อนุสัญญา

ความหมาย :

อนุสัญญาใช้เรียกเอกสารความตกลงทางการที่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี หรือเอกสารความตกลงที่ร่างขึ้นโดยองค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศ ความตกลงเช่นนี้มุ่งให้มีลักษณะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายขึ้น หรือเป็นการประมวลกฎหมาย แต่มีบางกรณีที่ใช้คำว่าอนุสัญญาสำหรับความตกลงทวิภาคี โดยทั่วไปสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะอยู่ในรูปแบบของอนุสัญญาเนื่องจากเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีเกิดจากการริเริ่มศึกษาขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ องค์การอนามัยโลก แล้วนำไปสู่การยกร่างข้อบทและการเจรจาแบบพหุภาคี เมื่อสิ้นสุดการเจรจาและได้ข้อบทสุดท้ายแล้วก็จะมีการรับรอง (Adoption) โดยองค์กรนั้นๆ เพื่อนำไปสู่การให้สัตยาบัน (Ratify) ในขั้นตอนต่อไป


CONVENTION ON BIOLOGICAL DIVERSITY

คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหมาย :

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุประสงค์หลัก สามประการ คือ การอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมในผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ทรัพยากรชีวภาพอนุสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ณ นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) สมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาได้จัดทำความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญหลายฉบับด้วยกันรวมถึงอนุสัญญาสามฉบับที่เรียกรวมว่า “อนุสัญญารีโอเดจาเนโร” ประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนับว่าเป็นความตกลงระดับโลกฉบับแรกที่ครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุมดังกล่าวประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อมาได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) อนุสัญญาฯ มีภาคีทั้งหมด 193 ประเทศ กลุ่มความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่สำคัญได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศพรรณพืชพรรณสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พรรณพืช พรรณสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อนุสัญญากรุงบอนน์ว่าด้วยการข้ามแดนของสายพันธุ์พืชและสัตว์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนพิธีสารคาร์ทาเญนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเพื่ออนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยป่าไม้ เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้


CONVENTION ON THE ELIMINATION OF ALL FORMS OF DISCRIMINATION AGAINST WOMEN (CEDAW)

คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ความหมาย :

อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นานาประเทศยุติการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอย่างไม่เป็นธรรม และให้หลักประกันว่าสตรีจะได้รับสิทธิประโยชน์และการมีโอกาสที่เท่าเทียมกับบุรุษ อนุสัญญานี้ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่ใน ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) และมีผลใช้บังคับ ใน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) คำว่า การเลือกปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หมายถึง "การแบ่งแยก (Distinction) การกีดกัน (Exclusion) หรือการจำกัด (Restriction) ใด ๆ ที่ได้ก่อตั้งบนพื้นฐานของเพศ"ในด้านต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย และเนื่องจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวทำให้การมีหรือการใช้สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรีไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เสื่อมเสีย อนุสัญญาฯ กำหนดให้ รัฐเลิกการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เนื่องจากสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงโดยใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผน พฤติกรรมทางสังคม และวัฒนธรรมของชายหญิง เพื่อนำไปสู่การขจัดอคติและธรรมเนียมปฏิบัติอื่น ๆที่อยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทเดิมที่ไม่เท่ากันของชายหญิง อนุสัญญาฯได้จัดตั้ง คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีขึ้นประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนยี่สิบห้าคน เพื่อเป็นกลไกในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายนพ.ศ.2528 (ค.ศ. 1985)


CONVENTION ON THE RIGHTS OF PERSONS WITH DISABILITIES

คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

ความหมาย :

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการพร้อมด้วยพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ได้รับการรับรอง (Adopted)โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) อนุสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่ได้รับรองสิทธิคนพิการอย่างรอบด้านทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม CRPD มุ่งที่จะส่งเสริมคุ้มครองและประกันให้คนพิการ ทั้งปวง ได้ใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน โดยกำหนดให้รัฐภาคีห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ และประกันให้คนพิการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิผล อนุสัญญาฯ ได้สนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Actions) โดยประกันว่าจะจัดให้มีการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลเพื่อให้บรรลุถึงความเท่าเทียมกันในทางปฏิบัติ นอกจากนั้นอนุสัญญาได้กำหนดให้รัฐให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงบริการและทรัพยากรของชาติได้อย่างเต็มที่ อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดให้จัดตั้ง คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of Persons with Disabilities) ขึ้นประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนสิบสองคน (และอาจเพิ่มจำนวนถึงสิบแปดคนได้) เพื่อสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาและได้เข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 30มีนาคม พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) และได้ตั้งข้อสงวนโดยการทำถ้อยแถลงการณ์ตีความ (Interpretative Declaration) ข้อ 18 ว่าการตีความของอนุสัญญานั้นจะอยู่ภายใต้กฎหมายไทย และภายใต้กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติของไทย


CONVENTION ON THE RIGHTS OF THE CHILD

คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ความหมาย :

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิเด็กด้านต่างๆไว้อย่างกว้างขวาง CRC ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1989 ( พ.ศ. 2532)และมีผลใช้บังคับใน ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) อนุสัญญาฯ ได้ยอมรับว่าเด็กสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิได้ด้วยตนเอง เป็นการเปลี่ยนความคิดดั้งเดิมที่เคยถือกันว่าเด็กเป็นเพียงเป้าหมายที่สิทธิมุ่งให้การคุ้มครองโดยเด็กจะมีหรือใช้สิทธิต่างๆ จะต้องผ่านทางบิดามารดา หรือผู้ปกครองเนื่องจากเด็กจำต้องพึ่งพิงบุคคลเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นบางสังคมถือว่าเด็กเป็นเสมือนทรัพย์สมบัติของครอบครัวหาได้เป็นผู้ทรงสิทธิ์ดังเช่นผู้ใหญ่ไม่ อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้แจกแจงสิทธิด้านต่างๆ ของเด็กอย่างรอบด้าน โดยนิยามว่าเด็กคือบุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี หลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ สี่ประการคือ หนึ่ง “หลักการห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็ก” โดยให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือสีผิว นอกจากนั้นการห้ามเลือกปฏิบัติยังหมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ สอง “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ในการดำเนินการใดๆ ไม่ว่ากระทำโดยรัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าโดยกฎหมาย นโยบาย หรือ การปฏิบัติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก สาม“หลักเด็กเป็นศูนย์กลางแห่งสิทธิ” ซึ่งหมายถึงเด็กมีสิทธิในการมีชีวิต มีสิทธิในการอยู่รอด และมีสิทธิในการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม และอารมณ์ ดังนั้นรัฐจึงมีพันธกรณีที่จักต้องทำให้เด็กได้บรรลุถึงการมีสิทธิ CRC ถือเป็นตัวอย่างของการบูรณาการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยการพิจารณาจากตัวบุคคลเป็นหลัก สี่ “หลักการมีส่วนร่วมของเด็ก” ซึ่งหมายถึงในการดำเนินการใดๆที่อาจกระทบต่อเด็ก จักต้องให้เด็กมีส่วนร่วมและจักเคารพต่อการตัดสินใจของเด็ก รัฐมีพันธกรณีต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติตาม CRC ภายในสองปีนับจากเข้าเป็นภาคี และต้องเสนอรายงานฉบับต่อๆ ไปทุกสี่ปี ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติใน ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) และขณะที่เข้าเป็นภาคีได้ตั้งข้อสงวนสามข้อ คือ ข้อ 7 เรื่องการจดทะเบียนการเกิดและการให้สัญชาติเด็กที่เกิดจากผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพในประเทศไทย ข้อ 22 เรื่องสถานะของผู้ลี้ภัยเด็ก ข้อ 29 (C) เรื่องสิทธิในการศึกษาของชนกลุ่มต่างๆ ที่สามารถดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และ ค่านิยมของเด็กได้ (ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)


CONVENTIONAL CRIMES

คำแปล : อาชญากรรมแบบฉบับ

ความหมาย :

การกระทำความผิดอาญา ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นความผิดทั่วไปในสังคมที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาชญากรรมเหล่านี้มีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมักกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออย่างรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การฆ่า ข่มขืนทำร้ายร่างกาย ลักขโมย ฉ้อโกง บางทีภาษาพูดจะเรียกความผิดประเภทนี้ว่า “ความผิดประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น” เป็นต้น คำที่ตรงกันข้ามกับอาชญากรรมแบบฉบับ คือ อาชญากรรมนอกรูปแบบ (Non-Conventional Crimes) ได้แก่ อาชญากรรมอันเกิดจากการกระทำความผิดโดยตำแหน่งหน้าที่ทั้งภาคเอกชนและรัฐ เช่น อาชญากรรมทางธุรกิจ อาชญากรรมองค์กร ซึ่งบางทีเรียกว่า อาชญากรรมคอปกขาว (White Collar Crimes) ซึ่งมักเป็นการกระทำความผิดในทางหน้าที่ของบุคลากรระดับสูงขององค์กร หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ นอกจากนั้น ยังมีความผิดในทางการเมือง (Political Crimes)ความผิดที่มีลักษณะเป็นองค์กร เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


CORE CRIMES

คำแปล : อาชญากรรมหลัก

ความหมาย :

อาชญากรรมหลักในความหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึงอาชญากรรมสำคัญที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติอย่างรุนแรงที่ถือว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) มีอำนาจศาลเหนืออาชญากรรมเหล่านั้นโดยอัตโนมัติอาชญากรรมหลักภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) มี 4 ประเภท คือ 1. อาชญากรรมสงคราม (War Crime) 2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) 3. อาชญากรรมที่เป็นการล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of Genocide) 4. อาชญากรรมการรุกราน (Crime of Aggression) ปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดของ “อาชญากรรมการรุกราน” ดังนั้น ศาลจึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรรมนี้ อาชญากรรมหลักจึงแตกต่างจากอาชญากรรมระหว่างประเทศอื่น เช่น การค้ายาเสพติดข้ามแดน หรือการก่อการร้าย


CORPORAL PUNISHMENT

คำแปล : การลงโทษทางกาย

ความหมาย :

การลงโทษทางกาย คือการลงโทษที่กระทำต่อร่างกายของบุคคล เช่น การเฆี่ยน การโบย การตัดมือ ซึ่งต่างกับการลงโทษโดยวิธีการจำกัดเสรีภาพ (เช่น จำคุก หรือกักขัง) หรือการลงโทษทางด้านทรัพย์สิน (เช่น ค่าปรับหรือการริบทรัพย์สิน การชดใช้ค่าเสียหาย) การลงโทษทางกายถือว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเพราะเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้แก่บุคคลถือว่าเป็นการลงโทษที่ลดทอนหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสะท้อนแนวคิดการลงโทษแบบเก่า ในขณะที่แนวคิดยุคปัจจุบันเน้นไปที่การแก้ไขเยียวยา เพราะถือว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ ในทางทฤษฎีการลงโทษประหารชีวิตถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษทางกาย แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามโทษประหารเด็ดขาดจึงทำให้เกิดปัญหาว่า โทษประหารละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อันแตกต่างไปจากการลงโทษทางกายประเภทอื่นที่ถือว่าขัดต่อสิทธิมนุษยชน การลงโทษโดยให้ทำงานหนักแม้ว่าจะขัดต่อมาตรฐานระหว่างประเทศก็ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษทางกาย


CORPORAL PUNISHMENT

คำแปล : การลงโทษทางกาย

ความหมาย :

การใช้มาตรการที่เป็นโทษทางอาญาที่กระทำต่อร่างกายของบุคคล เช่น การเฆี่ยนหรือโบย การตัดอวัยวะ เป็นต้น มักกระทำเพื่อให้เกิดความเจ็บปวด เพื่อประจาน เพื่อให้หลาบจำ หรือเพื่อทำให้เหยื่อของอาชญากรรมรู้สึกพึงพอใจ การลงโทษทางกายสะท้อนแนวคิดการลงโทษแบบแก้แค้นทดแทน ปัจจุบันแนวคิดของการลงโทษเน้นที่การแก้ไข ความประพฤติของผู้กระทำผิด เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ การลงโทษทางกายถือว่าเป็นการลงโทษที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน


CORPORATE CRIME

คำแปล : อาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ

ความหมาย :

การกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การพาณิชย์ หรือการเงิน หรือการกระทำที่อาศัยช่องทางที่สัมพันธ์กับอาชีพของตนแสวงหาประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ ไม่ว่าจะทำโดยคนเดียว หรือสมคบกับบุคคลอื่น และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น องค์กร หรือต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ลักษณะสำคัญของอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ คือ เป็นการกระทำของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีตำแหน่ง หน้าที่การงาน มีความรู้ความสามารถ หรือ มีสถานภาพในสังคม คำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ เช่น Business Crime, Economic Crime อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ White-collar Crime


CORPORATE RESPONSIBILITIES

คำแปล : ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

ความรับผิดชอบของบรรษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลในทางพาณิชย์ต่อสิทธิมนุษยชน บางทีใช้คำว่า ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Corporate responsibility for human rights violation)นับเป็นประเด็นใหม่ของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการเน้นไปที่การควบคุมบรรษัทซึ่งถือว่าเป็น ผู้กระทำ (Actor) ไม่ให้ละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐจะต้องปกป้องประชาชนจากการดำเนินธุรกิจของบรรษัทที่มีพฤติการณ์ซี่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการควบคุมบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ ในปัจจุบันจึงมีการพยายามสร้างประมวลความรับผิดชอบของบรรษัทขึ้น โดยเน้นการควบคุมพฤติกรรมการละเมิดดังกล่าว รัฐย่อมมีหน้าที่ในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ


CORRUPTION

คำแปล : การทุจริต

ความหมาย :

ความหมายทั่วไปหมายถึง การใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจหรืออิทธิพลที่ตนมีอยู่โดยมิชอบเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือประโยชน์อื่น เช่น การรับสินบน ฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมถึงการใช้ตำแหน่งหน้าที่อำนวยประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรมโดยการเลือกที่รักมักที่ชัง เช่นการเห็นแก่ญาติพี่น้อง การใช้ระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ การทุจริต เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อธรรมาภิบาล บั่นทอนความเป็นธรรมของสังคมและขัดต่อหลักนิติธรรม นอกจากนั้นยังเกิดผลร้ายต่อสิทธิมนุษยชนทั้งในด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากการทุจริตนำไปสู่การลิดรอนความเป็นธรรมและความถูกต้องของสังคม ทรัพยากรของรัฐหรือผลประโยชน์ของสังคมอาจถูกนำไปจัดสรรให้คนบางคน หรือบางกลุ่มอันเนื่องมาจากนโยบายที่เกิดจากการทุจริต สหประชาชาติได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาการทุจริตโดยได้จัดทำกรอบกฎหมายและการดำเนินงานเพื่อการต่อต้านการทุจริต เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนขององค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 (United Nations Declaration against Corruption andBribery in International Commercial Transactions1996) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (Convention against Corruption2003) อย่างไรก็ตามกรอบกฎหมายดังกล่าวยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการทุรจิตกับสิทธิมนุษยชน ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาการทุจริต หมายถึงการทุจริตของผู้แทนของรัฐในการทำสนธิสัญญาการทุจริต ของตัวแทนรัฐดังกล่าวหมายถึงการประพฤติมิชอบของตัวแทนรัฐที่เกิดจากการกระทำของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น รัฐอีกฝ่ายนั้นได้ให้สินบน (Bribery) หรือผลประโยชน์อื่นใดที่มิชอบ หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ใดๆแก่ตัวแทนรัฐนั้น จนทำให้ตัวแทนรัฐนั้นตกลงแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาทำให้ผูกพันรัฐเพราะเห็นแก่สินบน หรือผลประโยชน์ที่ได้รับการเสนอให้ จึงถือได้ว่ารัฐมิได้แสดงเจตนายินยอมผูกพันรัฐโดยสมัครใจ ซึ่งมิได้เป็นไปตามหลักการในการทำสนธิสัญญานี้รัฐจึงอ้างเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ในข้อนี้ไม่ได้ และรัฐภาคีดังกล่าวต้องผูกพันตามสนธิสัญญา


COUNCIL OF EUROPE

คำแปล : สภาแห่งยุโรป

ความหมาย :

สภาแห่งยุโรปเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาคของรัฐในทวีปยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสงคราม และการขัดแย้งในยุโรป และเพื่อสร้างเอกภาพและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นมูลฐาน สภาแห่งยุโรปก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยเพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น สภาแห่งยุโรปถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นภารกิจหลักของสภาแห่งยุโรปซึ่งได้มีการจัดตั้งและพัฒนากลไกทั้งทางด้านกฎหมายและกลไกทางด้านสถาบันต่างๆ เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแบบประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สภาแห่งยุโรปมีองค์กรหลักสามองค์กรคือ 1. คณะกรรมการรัฐมนตรี (Committee of Ministers) ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐสมาชิกทุกรัฐมีหน้าที่ในการตัดสินใจที่มีผลผูกพันองค์กร 2. ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป(Parliamentary Assembly) ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเสนอแต่งตั้งจากรัฐสภาของแต่ละประเทศโดยมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนของจำนวนของประชากรของแต่ละประเทศ มีหน้าที่ในการศึกษาและทำคำเสนอแนะด้านต่างๆ ไปยังคณะกรรมการรัฐมนตรีและสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุโรป 3. สำนักเลขาธิการ (Secretariat) มีหน้าที่ในการบริหารงานทั้งปวงของสภาแห่งยุโรปรวมทั้งการจัดทำแผนงานและโครงการต่างๆทางด้านสิทธิมนุษยชน กลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสภาแห่งยุโรปที่สำคัญคืออนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (European Convention on Human Rights and Fundamental Freedoms) และกฎบัตรสังคมยุโรป (European Social Charter) อนึ่ง มักมีผู้เข้าใจสับสนระหว่าง “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับ “European Council หรือ คณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นองค์กรย่อยของ สหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร


COUP D’ ETAT (French)

คำแปล : รัฐประหาร

ความหมาย :

รัฐประหารคือการใช้กำลังหรือใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายล้มล้างรัฐบาลหรือคณะผู้ใช้อำนาจบริหารแผ่นดิน รัฐประหารแตกต่างกับการปฏิวัติ (Revolution) ในข้อที่ว่าการปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือโครงสร้างทางการเมืองและทางสังคมของประเทศแต่รัฐประหารเป็นเพียงการล้มล้างอำนาจปกครองเดิม


COURT OF FIRST INSTANCE

คำแปล : ศาลชั้นต้น

ความหมาย :

ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นศาลแรกเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดเป็นอย่างอื่น โดยทั่วไปศาลชั้นต้นจะมีหน้าที่สืบพยานหลักฐาน ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะไม่มีการสืบพยานหลักฐานบางทีเรียกศาลชั้นต้นนี้ว่า “ศาลที่ไต่สวนพยานหลักฐาน (Trial Court)” ในประเทศไทย ศาลชั้นต้นมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญาศาลจังหวัด และศาลแขวง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีศาลพิเศษที่มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะประเภท เช่น ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากรกลาง และศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น


COURT OF JUSTICE

คำแปล : ศาลยุติธรรม

ความหมาย :

สถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคมในระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง ส่วนคดีปกครองและคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา 1. ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลที่รับพิจารณาคดีในชั้นแรก เช่น ศาลแพ่งและศาลอาญา ศาลแขวง หรือศาลจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งศาลที่มีอำนาจพิเศษเฉพาะคดี เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงานศาลภาษีอากรกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย เป็นต้น 2. ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลชั้นกลางมีอำนาจหน้าที่ทบทวนคำวินิจฉัยคดีแพ่ง หรือคดีอาญาที่ผ่านการพิจารณาจากศาลชั้นต้นมาแล้วศาลอุทธรณ์จะไม่มีการสืบพยานหลักฐานใหม่ แต่จะพิจารณาจากสำนวนพยานหลักฐานที่ได้จากศาลชั้นต้น และคำคู่ความที่ยื่นขึ้นมา ศาลอุทธรณ์มีสองประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ มีที่ตั้งอยู่ณ กรุงเทพมหานคร และศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ อีกแปดศาล 3. ศาลฎีกา เป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของคดีที่ผ่านการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์มาแล้ว แต่มีกรณียกเว้น คือ ในคดีความผิดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาจะมีหน้าที่ในการไต่สวนพยานหลักฐานเสมือนศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีเพียงแห่งเดียวตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ศาลยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์คุณค่าของสังคมที่มักขาดความชัดเจนและมีการทับซ้อนกันระหว่างสิทธิและหน้าที่ หรือระหว่างผู้ที่กล่าวอ้างสิทธิต่างประเภทกัน ในระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่น ประเทศไทย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรอง การตีความกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงมีความสัมพันธ์กับความเข้าใจของผู้พิพากษาที่ตีความเนื้อหาสาระและขอบเขตของสิทธิมนุษยชนอย่างมากเป็นต้น อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำว่าศาลยุติธรรมหมายความรวมถึง ศาลปกครอง และศาลทหารด้วย


CRIME AGAINST HUMANITY

คำแปล : อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ความหมาย :

อาญากรรมต่อมนุษยชาติเป็นการกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่งที่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ความผิดนี้แรกเริ่มได้กำหนดขึ้นในธรรมนูญศาลทหารพิเศษ (Charter of the International Military Tribunal)หรือที่รู้จักกันในนาม ธรรมนูญของศาลอาชญากรรมสงครามแห่งนูเรมเบอร์ก ที่จัดตั้งศาลทหารขึ้นเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมของผู้นำนาซีเยอรมันในค.ศ. 1945(พ.ศ. 2488)แม้ภายหลังได้พัฒนามาเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแต่อย่างไรก็ตามลักษณะและองค์ประกอบลักษณะรายละเอียดของความผิดฐานนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีการรับรองธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute)ในค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541)ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจึงชัดเจนขึ้น โดยธรรมนูญกรุงโรมได้จำแนกองค์ประกอบความผิดที่ยอมรับกันอยู่เดิมเป็นสามประการด้วยกัน คือ 1. ต้องเป็น "การกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีเข่นฆ่าสังหารทั่วไปและอย่างเป็นระบบ" 2. ต้องรู้ว่าเป็นการกระทำต่อเป้าหมายที่เป็นประชากรพลเรือน 3. ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุถึงการดำเนินการตาม "นโยบายของรัฐหรือขององค์กร" นอกจากองค์ประกอบด้านจิตใจ (หรือเจตนา) ธรรมนูญได้กำหนดองค์ประกอบภายนอก (ลักษณะการกระทำ) ที่ถือว่าเป็นความผิด ไว้ 11 ประเภทด้วยกัน อาชญากรรมต่อมนุษยชาติอาจจะเป็นการกระทำตามนโยบายขององค์กร เช่น กลุ่มกบฏ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับฝ่ายรัฐบาลก็ได้ นอกจากนั้น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติอาจกระทำในยามสงบหรือในยามสงครามก็ได้


CRIME OF AGGRESSION

คำแปล : อาชญากรรมการรุกราน

ความหมาย :

ความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงประเภทหนึ่งที่นับเป็นความผิดสำคัญอยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ดู Core Crimes) เนื่องจากในการร่างธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า อาชญากรรมการรุกรานได้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาได้ ต่อมาใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ มีขึ้น ณ กรุงคัมพาลา ประเทศยูกันดา ได้รับรองคำนิยามคำว่า อาชญากรรมการรุกราน ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 8 ทวิ ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ คำว่า “อาชญากรรมการรุกราน” หมายถึง การวางแผน การตระเตรียมการ การริเริ่มหรือการดำเนินการกระทำโดยบุคคลซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใช้อำนาจอย่างแท้จริงในการควบคุมทางการเมืองหรือทางทหารของรัฐ ในการรุกรานอันเป็นการกระทำที่มีลักษณะการกระทำและความรุนแรงขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดแจ้ง ส่วนคำว่า “การกระทำที่เป็นการรุกราน” หมายถึง การใช้กองกำลังรบซึ่งกระทำโดยรัฐกระทำต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นเอกราชทางการเมืองของอีกรัฐหนึ่ง หรือการกระทำอื่นใดที่ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ อนึ่ง ความผิดฐานอาชญากรรมการรุกรานนี้ยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากรัฐภาคีธรรมนูญศาลยังไม่ได้ให้สัตยาบันครบจำนวนสามสิบประเทศ(ดู RATIFY)


CRIME VICTIM / VICTIM OF CRIME

คำแปล : เหยื่ออาชญากรรม

ความหมาย :

บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ในทางนิติศาสตร์และอาชญาวิทยา บุคคลที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรมคือ บุคคลที่ถูกกระทำโดยตรง ส่วนสังคมมิใช่เหยื่ออาชญากรรม แต่สังคมได้รับผลกระทบโดยอ้อมจากอาชญากรรม การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมีเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมทางอาญาอันประกอบด้วย ตำรวจ ศาล และราชทัณฑ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและอาชญากรรม ตลอดจนโอกาสของการก่ออาชญากรรม เป็นต้น ในด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น ถูกฆ่า ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกลักทรัพย์ หรือถูกเหยียดสีผิว ถือว่ารัฐบกพร่องต่อหน้าที่ในการประกันสิทธิเสรีภาพดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อได้รับการเยียวยาจากการกระทำความผิดอาญา หลายประเทศได้มีมาตรการเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อที่ถูกกระทำความผิดทางอาญา การชดเชยความเสียหายให้เหยื่ออาชญากรรมโดยรัฐ เริ่มมาจากแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน (Compensation) ต่อผู้เสียหาย ต่อมาได้ขยายไปถึงการช่วยเหลือเหยื่อ (Victim Assistance) รูปแบบอื่น ประเทศไทย ได้มีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้อย่างแคบ หมายถึง“บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น โดยที่ตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดนั้น” ตามความหมายนี้ เหยื่ออาชญากรรมที่ได้รับความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน เช่น การฉ้อโกง ลักทรัพย์ หรือความเสียหายต่อเสรีภาพ เช่นการข่มขู่ หรือลักตัวไปเรียกค่าไถ่ หรือถูกเหยียดหยามเรื่องสีผิว จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับค่าตอบแทน