CAMPAIGN คำแปล : การรณรงค์ ความหมาย :
กิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่สื่อสารไปสู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการขับเคลื่อนทางสังคม กิจรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือแผนที่กำหนดไว้ วัตถุประสงค์ของการรณรงค์อาจมีหลายอย่าง เช่น การให้ความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาทางสังคม การสร้างความตระหนักร่วมกันการโน้มน้าวสาธารณะให้การสนับสนุนกิจกรรม หรือเป้าหมายของกลุ่มการรณรงค์จึงมีความสัมพันธ์กับเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อการรวมกลุ่มสมาคม และสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น การรณรงค์มีความสำคัญต่อกิจกรรมทางสังคมการเมืองโดยเฉพาะเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การรณรงค์มีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะการรณรงค์ไม่เพียงแต่ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้ตระหนักรู้สิทธิของตนเองแต่ยังจะช่วยให้สังคมช่วยกันป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนหลายอย่างสำเร็จได้ด้วยการให้ความรู้สร้างความตระหนักและดึงผู้คนให้ร่วมสนับสนุนโดยการรณรงค์ผ่านเครือข่ายภาคประชาสังคมที่กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การรณรงค์ทศวรรษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษา เป็นต้น |
CAPITAL INTENSIVE INDUSTRY คำแปล : อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินทุน ความหมาย :
อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินทุนเป็นหลัก เป็นกระบวนการผลิตสินค้า หรือ การให้บริการที่เน้นการใช้เงินทุนเป็นหลัก มาตรการในการวัดระดับของการเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินทุนเป็นหลัก คือ การวัดสัดส่วนของจำนวนเงินทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือ บริการ ต่อสัดส่วนของค่าแรงที่จ่ายให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ หากเงินทุนที่ใช้ในการผลิต หรือ บริการมีสูงกว่าค่าแรงมากก็จัดเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินทุนเป็นหลัก เช่นอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน และการกลั่นน้ำมัน การให้บริการโทรคมนาคม การขนส่ง ทั้งทางอากาศ ทางรถไฟ ทางทะเล เป็นต้น ซึ่งใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินการทางธุรกิจมากกว่าค่าแรงงาน อุตสาหกรรมที่เน้นเงินทุนก็จะมีลักษณะของการใช้แรงงานต่ำ ทำให้เกิดภาวะคนว่างงานมากขึ้น เนื่องจากความจำเป็นในการใช้แรงงานน้อยลง ประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่เน้นเงินทุน จึงมักจะเกิดปรากฏการณ์ของคนว่างงานมากขึ้น ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาที่รับการลงทุนที่ใช้เงินทุนเป็นหลัก อาจจะต้องพิจารณาความสมดุลระหว่างการเกิดภาวะคนว่างงานกับการรับการลงทุน และต้องพิจารณาต่อไปถึงการส่งออกเงินทุนเพื่อการซื้อสินค้าทุนเข้ามา เช่นเครื่องจักร เป็นต้น เงินทุนจึงอาจจะไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในประเทศแต่กลับเป็นการส่งออกเงินทุนเพื่อการชำระราคาสินค้า และมีภาระการชำระเงินตราต่างประเทศด้วย |
CAPITAL PUNISHMENT คำแปล : โทษประหารชีวิต ความหมาย :
โทษอาญาโดยมุ่งทำให้บุคคลที่ถูกลงโทษตาย ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คำนี้มีความหมายเหมือนกับ DEATH PENALTY (ดูความหมายใน DEATH PENALTY) ใน พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ประมวลกฎหมายอาญาของไทยกำหนดการประหารชีวิตต้องทำโดยการฉีดสารพิษให้ตาย ก่อนหน้านั้นประเทศไทยประหารชีวิตโดยวิธีการยิงและตัดคอ |
CASE LAW คำแปล : กฎหมายที่มาจากคำพิพากษา ความหมาย :
คำวินิจฉัยของศาลที่เป็นการอธิบายเหตุผลของหลักกฎหมายที่นำมาปรับใช้ในการวินิจฉัยคดี โดยศาลจะอ้างแนวคำพิพากษาจากคดีที่เคยตัดสินไว้แล้วมาประกอบการให้เหตุผล ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ถือว่าคำวินิจฉัยของศาลสูงจะผูกพันศาลล่าง คำพิพากษาของศาลสูงจะวางหลักการเห่งกฎหมาย และอธิบายเหตุผลของกฎหมาย ดังนั้นศาลล่างจะต้องอธิบายกฎหมายให้สอดคล้องกับศาลสูง ในการวินิจฉัยคดีในระบบนี้ถือว่า คำพิพากษาของศาลเป็นที่มาของกฎหมายประเภทหนึ่ง ที่มาอีกประเภทหนึ่งของกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ คือ กฎหมายบัญญัติ (Statutory Law) หรือกฎหมายที่บัญญัติขึ้น ระบบซีวิลลอว์ไม่ถือว่าคำพิพากษาเป็นที่มาของกฎหมาย เนื่องจากว่าในระบบนี้ถืออย่างเคร่งครัดว่า ศาลมีหน้าที่ปรับใช้กฎหมายในคดีนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า ศาลมีหน้าที่ในการอธิบายกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดแนวคำวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทางทฤษฎีถือว่าคำวินิจฉัยของศาลผูกพันเฉพาะคดีนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลในระบบซีวิลลอว์ มีบทบาทในการชี้แนะเป็นแนวทางให้แก่ศาลในคดีหลังได้ ดังนั้น ในระบบซีวิลลอว์จึงมีการอ้างคำพิพากษาคดีก่อน ประกอบคำอธิบายกฎหมายเช่นเดียวกัน |
CENSORSHIP คำแปล : การตรวจกรอง ความหมาย :
การตรวจกรอง หมายถึง การสั่งให้หนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนอื่น เสนอเรื่องหรือข้อความที่จะเผยแพร่ โฆษณาต่อสาธารณชนให้แก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจข่าวสารก่อนไม่ว่ากระทำโดยอำนาจกฎหมาย หรือโดยทางปฏิบัติ การตรวจกรองที่กระทำในยามปกติถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพของสื่อมวลชน (ICCPR Article 19) อย่างไรก็ตามในกรณีสงครามหรือในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภยันตรายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐสามารถสั่งให้มีการตรวจกรองข่าวได้ ตามข้อยกเว้นในเรื่องการลดทอน หรือการระงับใช้พันธกรณีระหว่างประเทศชั่วคราว (Derogation) ในการประกันสิทธิในเสรีภาพประชาชน |
CHARGE (CRIMINAL LAW) คำแปล : ข้อหา ความหมาย :
ข้อกล่าวหาที่เป็นทางการของเจ้าพนักงานว่าบุคคลกระทำความผิดอาญา ข้อหาประกอบด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำและกฎหมายที่บุคคลนั้นฝ่าฝืน การตั้งข้อหาบุคคลจะกระทำหลังจากได้มีการสืบสวนหาพยานหลักฐานพอเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นกระทำผิด เว้นแต่กรณีที่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า การจับกุมบุคคลโดยไม่แจ้งข้อหาถือว่าเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของบุคคลนั้นไม่อาจรับฟังในศาลได้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะรับทราบข้อหาไว้ในข้อ 9 (2) ว่า “ในขณะจับกุมบุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน” |
CHARTER OF THE UNITED NATIONS คำแปล : กฎบัตรสหประชาชาติ ความหมาย :
กฎบัตรสหประชาชาติ (กฎบัตรฯ)ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสหประชาชาติใน ค.ศ. 1945 (พ.ศ.2488) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ถือเป็นกรอบในการดำเนินงานของสหประชาชาติ ในข้อ 56 ของกฎบัตรฯ กำหนดให้รัฐจะต้องดำเนินการโดยร่วมกันหรือตามลำพังเพื่อให้บรรลุผลในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทั่วโลก กฎบัตรฯ จึงมีความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นฐานทางกฎหมายสร้างพันธกรณีระดับระหว่างประเทศต่อรัฐสมาชิก ในขณะเดียวกันก็เป็นกรอบในการดำเนินงาน หรือ ภาระหน้าที่ของสหประชาชาติในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน กฎบัตรฯ ได้จัดตั้งกลไกต่างๆ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเคารพสิทธิมนุษยชน เช่น กฎบัตรฯ ได้ให้อำนาจสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) ริเริ่มทำการศึกษาและทำข้อเสนอแนะ (Recommendation / Suggestion) ในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Commission on Human Rights) ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) เพื่อดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง ซึ่งต่อมาคณะกรรมาธิการคณะนี้ได้ยกระดับเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน(Human Rights Council) มีฐานะเทียบเท่าคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้นในกรณีที่มีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง กฎบัตรฯได้ให้อำนาจคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) มีข้อมติใดๆ รวมถึงการจัดตั้งกองกำลังสันติภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1946(พ.ศ. 2489) |
CHARTER-BASEDMECHANISMS คำแปล : กลไกตามกฎบัตร ความหมาย :
คำว่า กลไกตามกฎบัตร เป็นคำรวม หมายถึง องค์กรและกระบวนการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรสหประชาชาติหรือตามข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ คำว่า “กลไกตามกฎบัตร” บางครั้งใช้คำว่าองค์กรตามกฎบัตร (Charter-Based Bodies) องค์กรภายใต้กลไกตามกฎบัตรที่สำคัญเช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Council (เดิมคือคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนหรือ Human Rights Commission) และคณะทำงานและอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ / คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์กรเหล่านี้อาจมีหน้าที่ต่างกัน เช่น เป็นองค์กรสอดส่อง ดูแล และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การรับเรื่องราวร้องเรียนตามกระบวนการ 1235และกระบวนการ 1503 |
CHILD LABOUR คำแปล : แรงงานเด็ก ความหมาย :
คำนี้มีความหมายหลายนัย ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง การใช้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานที่มีลักษณะขัดต่อมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและการใช้เด็กทำงานนั้น เพื่อวัตถุประสงค์ในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่รวมการใช้เด็กทำงานในครอบครัว หรือการให้เด็กทำงานในการศึกษาฝึกฝนอาชีพ ตามความหมายนี้ ยึดอายุของบุคคล และสภาพการจ้างงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเป็นสำคัญ อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศได้กำหนดมาตรฐานอายุขั้นต่ำของลูกจ้างไว้ เพื่อให้รัฐห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเข้าทำงาน ดังนั้นการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีจึงเป็นการใช้แรงงานเด็ก นอกจากนั้นยังกำหนดให้รัฐห้ามนายจ้างรับเด็กเข้าทำงานบางอย่าง เช่นงานที่มีลักษณะอันตรายต่อสวัสดิภาพเด็ก หรืองานที่กระทบต่อศีลธรรมของเด็ก เป็นต้น บางความหมาย “แรงงานเด็ก” หมายถึง การจ้างเด็กทำงานอันไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามนัยนี้เด็กที่จ้างโดยถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าเป็นแรงงานเด็ก สำหรับประเทศไทยคำว่า “แรงงานเด็ก” ตามกฎหมายแรงงานมีความหมายเฉพาะ หมายถึง การจ้างงานของบุคคลที่อายุเกินสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี โดยนัยนี้ บุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบห้าปีจึงไม่ถือว่าแรงงานเด็กตามความหมายของกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่อายุต่ำกว่าสิบห้าปี ถือว่าเป็นแรงงานเด็กตามข้อเท็จจริง การที่กฎหมายกำหนดช่วงอายุไว้เพราะต้องการคุ้มครองแรงงานของลูกจ้างที่เป็นเด็ก ส่วนบุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย การที่กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างสามารถจ้างเด็กทำงานได้ก็เพื่อให้โอกาสเด็ก มีรายได้เพื่อช่วยเหลือตนเองหรือครอบครัวได้ตามสมควร นอกจากนั้นการทำงานอาจช่วยฝึกให้เด็กเป็นผู้รับผิดชอบภาระหน้าที่ของตน แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างต้องคำนึงถึงสภาพงานที่ให้เด็กทำ และสวัสดิภาพของเด็กเป็นสำคัญ กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงช่วงวัยของเด็ก สภาพร่างกาย และจิตใจ และต้องเป็นงานที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม นอกจากนั้น สภาพการทำงานจะต้องไม่กระทบต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กที่พึงได้รับด้วย |
CHILD PORNOGRAPHY คำแปล : สื่อลามกอนาจารเด็ก ความหมาย :
สื่อลามกอนาจารเด็ก หมายถึง ภาพถ่าย วีดีโอ ภาพยนตร์ ภาพวาดภาพกราฟฟิค ที่ให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเพศ หรือสื่อสารว่าเด็กมีส่วนร่วมอยู่ด้วย หรือภาพโป๊เปลือยของเด็กในเชิงกามารมณ์ และอาจหมายรวมถึงงานเขียนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศกับเด็กอย่างชัดเจนด้วยอนึ่ง คำว่าเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หมายถึง บุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี ประเทศส่วนใหญ่มีกฎหมายบัญญัติให้การครอบครอง การเผยแพร่และการผลิตสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาเพราะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ปัจจุบันการผลิตและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วโดยเฉพาะสื่อทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสื่อลามกอนาจารเด็ก เช่น องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยการค้าเด็ก การใช้เด็กเป็นโสเภณีและสื่อลามกอนาจารเด็ก (Special Rapporteur on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) เป็นต้น |
CHILD SOLDIERS คำแปล : ทหารเด็ก ความหมาย :
บุคคลอายุต่ำกว่าสิบแปดปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ หรือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทั้งที่เป็นแบบประจำการหรือไม่ประจำการ ไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม เช่น จัดหาเสบียง แบกหาม หรือสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมถึงบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวของสมาชิกในกองทัพ หรือกองกำลังที่ติดตามหรือถูกเกณฑ์ให้ติดตามกลุ่มเหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ เด็กเข้ามาเกี่ยวข้องในการสู้รบหรือความขัดแย้งด้วยอาวุธอาจจะเนื่องมาจากโฆษณาชวนเชื่อทางทหารหรือทางการเมืองเพื่อให้เห็นว่าการเข้าร่วมในการสู้รบเป็นสิ่งท้าทาย และจะได้รับการยกย่องสรรเสริญเยี่ยงวีรบุรุษ วีรสตรี บางครั้งรัฐบาลหรือกลุ่มกบฏเสนอสิ่งจูงใจให้เด็กหรือครอบครัว เพื่อให้เด็กเข้าร่วมกับตน บางกรณีเด็กตกอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบและอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบจึงหันมาเข้าร่วมกับกองทัพ หรือกองกำลังเด็กที่เป็นทหารเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและความบอบช้ำทางจิตใจทั้งในระหว่างการฝึกฝนและในการสู้รบ เด็กมักถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ และอาจถูกลงโทษอย่างหนักถ้าทำผิดหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และถ้าเด็กถูกจับเป็นเชลยก็มีโอกาสที่จะถูกทรมานอย่างไร้มนุษยธรรม นอกจากนั้นทหารเด็กไม่ว่าเด็กหญิงหรือเด็กชายยังเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งจากฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงกันข้าม การใช้ทหารเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนกฎหมายบังคับเด็ดขาด (jus cogen) ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับกำหนดห้ามการใช้ทหารเด็ก เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 38 พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่าด้วยความเกี่ยวพันของเด็กในการขัดแย้งกันโดยใช้อาวุธ(Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict) เป็นต้น นอกจากนั้นการใช้ทหารเด็กในการสู้รบยังขัดต่ออนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) และถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดฐานอาชญากรรมสงครามตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ การที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนกำหนดห้ามมีทหารเด็ก เนื่องจากเด็กสมควรที่ต้องได้รับการคุ้มครอง โดยการกันเด็กออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ |
CHILDREN IN NEED คำแปล : เด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน ความหมาย :
เด็กที่ได้รับการจำแนกว่า เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือในการแก้ไขหรือบรรเทาความทุกข์ยากอย่างร้ายแรงที่ต้องประสบอย่างเร่งด่วนทันที ความทุกข์ยากขัดสนนั้นอาจเกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น การขาดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต หรือเงื่อนไขทางสังคม เช่น เด็กที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงาน หรือทางเพศ เป็นต้น มีการพยายามจำแนกเหตุหรือลักษณะอันเป็นที่มาของการเป็นเด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน เช่น เด็กที่ต้องประสบความเสี่ยงภัยหนักเกินศักยภาพตามวัยและพัฒนาการ เด็กที่มีความพิการทางกาย เด็กที่มีอาการป่วยทางจิตและการรับรู้ทางประสาท เด็กที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมและเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ ต้องถูกละเมิดสิทธิ ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะกดดันอย่างรุนแรง ถูกละเมิดทางเพศและทางจิตใจ และความยากจนสาหัส เป็นต้น กฎหมาย และนโยบายของประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับเด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน แต่อย่างไรก็ตามหลายประเทศมีกรอบความคิดยังไม่ชัดเจนในเรื่องเด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน กฎหมายของสหราชอาณาจักรนับเป็นแบบอย่างของการจำแนกและจัดการบริการสำหรับเด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน โดยกำหนดขอบเขตของบริการรัฐที่จะให้กับเด็กที่อยู่ในภาวะขัดสนมีโครงสร้างที่ชัดเจนในระบบกฎหมายของไทย คำนี้ยังขาดความชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากเดิมคำว่า “เด็กที่อยู่ในภาวะขัดสน” หมายถึง เด็กในครอบครัวยากจนอย่างแสนสาหัส และเป็นเพียงการรับสวัสดิการสงเคราะห์ โดยที่ยังไม่พัฒนาเป็นสิทธิทางกฎหมาย โดยถือว่าเด็กเป็นเจ้าของสิทธิ |
CITIZENSHIP คำแปล : สถานภาพพลเมือง / การเป็นพลเมือง ความหมาย :
สถานะของการเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคม การเมือง หรือเชื้อชาติของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งทำให้มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต่อประเทศนั้น เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม เป็นต้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ สถานภาพพลเมือง / การเป็นพลเมือง (Citizenship) และสัญชาติ (Nationality) มีความหมายอย่างเดียวกัน (ดูNATIONALITY) ถึงแม้ว่าในบางประเทศจะให้สถานภาพไม่เหมือนกัน เช่นบางประเทศให้สถานะสัญชาติกับคนที่มีเชื้อชาติตน แต่ไม่ได้ให้สถานภาพพลเมือง เป็นต้น การเป็นพลเมืองทำให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้นไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ที่ใด |
CIVIL AND POLITICAL RIGHTS คำแปล : สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ความหมาย :
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นสาระแห่งสิทธิที่รัฐประชาธิปไตยต้องรับรองแก่พลเมืองแห่งรัฐตนได้รับประกัน และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของรัฐโดยใช้ช่องทางการเมืองได้มากขึ้น สิทธินี้แบ่งเป็นสองประเภทคือสิทธิที่เป็นของพลเมือง (Civil Rights) ทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติสัญชาติใด เช่นสิทธิที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นบุคคล สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนสิทธิทางการเมือง (Political Rights) เป็นสิทธิที่มีขึ้นเนื่องจากบุคคลนั้นเป็นสมาชิกของสังคมรัฐ (เป็นคนที่ถือสัญชาติรัฐนั้น) สิทธิทางการเมืองจึงมักจำกัดให้แต่เพียงคนสัญชาติ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการชุมนุมทางการเมือง |
CIVIL SOCIETY คำแปล : ประชาสังคม ความหมาย :
เครือข่ายความสัมพันธ์ของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมที่ไม่ใช่ภาครัฐภาคส่วนเหล่านี้ประกอบด้วยปัจเจกชน กลุ่มบุคคล องค์กร หรือสถาบันทางสังคมที่ประกอบกันขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม และต้องการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายประชาสังคมไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่บริหารแผ่นดินผ่านหน่วยงานหรือสถาบันของรัฐ แต่เกิดจากมีมูลเหตุจูงใจร่วมกัน ลักษณะสำคัญของประชาสังคม คือ ความสัมพันธ์ในเครือข่ายที่ไม่ได้เป็นแบบเชิงอำนาจ แต่เป็นไปในรูปแบบการร่วมกัน หรือความสัมพันธ์เชิงพหุภาคีที่เท่าเทียมกัน ประชาสังคมอาจเกิดจากการร่วมกันลงมือทำงานเพื่อสังคมจากจุดเล็ก ๆ แล้วมีเครือข่ายขยายกว้างขึ้น หลักการสำคัญของประชาสังคมคือ การสร้างจิตสำนึกและคุณธรรมของพลเมือง โดยให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหา หรือวิกฤติต่าง ๆ แล้วมาร่วมกันหาแนวทางป้องกันหรือแก้ไข ประชาสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตยในการร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะ การตรวจสอบติดตามการดำเนินงานภาครัฐ รวมทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคม |
CIVIL WAR คำแปล : สงครามกลางเมือง ความหมาย :
สงครามกลางเมือง หมายถึง การพิพาทกันด้วยอาวุธของกองกำลังสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ก็ได้ และการพิพาทนั้นเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐเพียงรัฐเดียว ปัจจุบันในเอกสารทางกฎหมายมักใช้คำว่าการพิพาทกันโดยอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (Non-International Armed Conflict)หรือ การพิพาทโดยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed Conflict)แทนคำว่า “Civil War” เพราะคำว่า “สงคราม” มักทำให้สับสนกับความหมายดั้งเดิมที่หมายถึงการพิพาทด้วยอาวุธระหว่างรัฐและเป็นการพิพาทโดยกองกำลังของรัฐซึ่งมีระบอบกฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะ |
CIVILIAN คำแปล : พลเรือน ความหมาย :
พลเรือนในกฎหมายว่าด้วยการพิพาทกันด้วยอาวุธ หมายถึง ประชาชนที่อยู่ในรัฐหรือในดินแดนโดยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิพาทด้วยอาวุธ พลเรือ มีความหมายเดียวกับคำว่าผู้ที่มิใช่เป็นพลรบ (Non-Combatant) พลเรือน หรือ ผู้ที่มิใช่พลรบ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการพิพาทกันทางอาวุธในการเข้าร่วมโดยตรงในการพิพาท ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่าพลรบ(Combatant)คำว่าพลเรือนมีความสำคัญในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการพิพาทด้วยอาวุธเพราะกฎหมายที่ใช้คุ้มครองพลเรือนจะใช้แยกจากกฎหมายที่คุ้มครองพลรบในระหว่างการพิพาทด้วยอาวุธ ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการพิพาทกันด้วยอาวุธ “พลเรือน” และ “วัตถุทางพลเรือน (Civilian Object)”จะได้รับการคุ้มกันไม่ให้ถูกโจมตีหรือทำลายในการปฏิบัติการทางทหาร หรือการสู้รบ |
CLASSICAL HUMAN RIGHTS คำแปล : สิทธิมนุษยชนแบบดั้งเดิม ความหมาย :
สิทธิมนุษยชนแบบดั้งเดิมหรือบางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า สิทธิแบบดั้งเดิม (Classical Rights) ใช้เรียกสิทธิที่จัดอยู่ในสิทธิมนุษยชนแบบลำดับแรก คือสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่ส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ซึ่งการจัดลำดับหรือประเภทตามประวัติศาสตร์การเรียนร้องสิทธิมนุษยชน ส่วนสิทธิมนุษยชนลำดับที่สองหมายถึงสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, Social and Cultural Rights)ที่มักเรียกสั้นๆ ว่า “สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Rights)” แต่ก็หมายถึงสิทธิต่างๆที่รับรองอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) |
CLEAR AND PRESENT DANGER คำแปล : ภยันตรายที่แจ้งชัดและมีอยู่ ความหมาย :
หลักกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การแสดงออก และการชุมนุมของบุคคล เนื่องจากการใช้เสรีภาพเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดภัยอันตรายขึ้น หลักกฎหมายนี้พัฒนาขึ้นโดยผู้พิพากษาศาลสูงสุดสืบเนื่องกันมาหลายคดี เพื่อใช้เป็นเหตุผลอธิบายสภาวการณ์ หรือพฤติการณ์ที่ทำให้เสรีภาพเหล่านั้นถูกจำกัดได้อย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อันเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ในขณะเดียวกันก็เป็นการคุ้มครองป้องกันภยันตรายของสังคม หรือของบุคคลอื่นที่อาจเกิดจากการใช้เสรีภาพดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาใช้กฎหมายคอมมอนลอว์ (กฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร) ในขณะที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับรองเสรีภาพไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตามแนวคิดดังกล่าวแม้ว่าเสรีภาพเหล่านั้นจะได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่ง (ดูThe First Amendment) แต่มิได้เป็นเสรีภาพที่สมบูรณ์ เสรีภาพเหล่านั้นมีข้อจำกัดในตัวเอง (Inherent Limitation) เงื่อนไขสำคัญของหลักการนั้นคือ เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้ง (Clear) ว่าการใช้เสรีภาพเหล่านั้นก่อ หรือนำมาซึ่งภยันตราย (Danger) ความเสื่อมเสีย หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมประชาธิปไตย และภยันตรายนั้นล่อแหลม หรือกำลังจะเกิดขึ้น (Imminent) หรือยังมีอยู่ยังไม่หมดสิ้นไป ในประเทศที่ใช้ระบอบซีวิลลอว์ หรือระบบประมวลกฎหมาย การจำกัดเสรีภาพมักจะกระทำโดยรัฐธรรมนูญเอง เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 29 ซึ่งบัญญัติว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้” เป็นต้น |
CODE OF CONDUCT FOR LAW ENFORCEMENT OFFICIALS 1979 คำแปล : ประมวลวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ความหมาย :
เอกสารทางกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาชาติอันเป็นการรวบรวมหลักการเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง เป็นต้น เพื่อให้การปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ประมวลฯ นี้ได้รับการรับรองโดยมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) มีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้ • ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย และหลักการในวิชาชีพอย่างมั่นคง • ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึง เคารพ และคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ในความควบคุม ตลอดจนสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่เกี่ยวข้อง • เจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายจะใช้กำลังเฉพาะในกรณีที่จำเป็นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น • จะต้องรักษาความลับอย่างเต็มที่ เว้นแต่กรณีที่จะกำหนดเป็นการเฉพาะอย่างอื่น • จะต้องไม่ทรมานผู้อยู่ในการควบคุม หรือยอมให้มีการกระทำเช่นนั้น • ให้ความคุ้มครองสุขภาพแก่บุคคลที่อยู่ในการควบคุม และต้องดำเนินการทันท่วงทีในกรณีเร่งด่วน • เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่ประพฤติมิชอบทั้งปวง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องเคารพหลักการของกฎหมายและประมวลวิธีปฏิบัตินี้ รวมทั้งป้องกันการฝ่าฝืนอย่างเต็มความสามารถ |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ