Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

ARBITARY DETENTION

คำแปล : การคุมขังตามอำเภอใจ

ความหมาย :

การคุมขังตามอำเภอใจ หมายถึงการควบคุมตัวบุคคลไว้ในที่จำกัด การทำให้บุคคลนั้นเสียเสรีภาพ (Liberty)โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำ การคุมขังตามอำเภอใจจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำมีอำนาจโดยชอบธรรมในการกระทำหรือไม่การคุมขังมีความหมายกว้างกว่าการจำคุก (Imprisonment) ที่ใช้กับการคุมขังตามกฎหมายในคดีอาญาตามคำพิพากษา และกระทำโดยรัฐ โดยทั่วไปการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาผู้ต้องหาในคดีอาญา (Pre-trial) ถ้ากระทำโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าเลยระยะเวลาตามสมควร ก็ถือว่าเป็นการคุมขังตามอำเภอใจได้ การคุมขังตามอำเภอใจมักจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์พิเศษ เช่นการคุมขังบุคคลที่หลบหนีเข้าเมือง การคุมขังทหารตามวินัยทหาร การกักขังเด็กหรือเยาวชนกรณีที่มีความประพฤติไม่ดีแต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญา หรือ การคุมขังบุคคลในสถานพยาบาลจิตเวช มีปัญหาว่าการคุมขังเหล่านี้ถือว่าเป็นการคุมขังตามอำเภอใจหรือไม่ ตราสารที่เกี่ยวข้อง UDHR ข้อ 9 ,ICCPR ข้อ 9 ข้อ 10และBody of Principles for the Protection of All Persons under Any Forms of Detention or Imprisonment


ARBITRARY

คำแปล : ตามอำเภอใจ / โดยพลการ

ความหมาย :

การกระทำ การวินิจฉัยสั่งการ การตัดสินคดีที่ไม่ได้อยู่บนหลักกฎหมาย ไม่มีเหตุผลที่สนับสนุนอย่างพอเพียง ปราศจากกฎเกณฑ์ที่แน่นอน หรือปราศจากความชอบธรรม คำว่าตามอำเภอใจ / โดยพลการไม่ได้หมายความแต่เพียงการกระทำที่ปราศจากกฎหมาย หรือปราศจากความชอบธรรมเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้กฎหมายที่ปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมด้วย นอกจากนั้น ในทางเกี่ยวกับการพิจารณาคดี คำนี้หมายถึงกระบวนการพิจารณา วินิจฉัย ตัดสินหรือสั่ง โดยไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอันเป็นเหตุให้ศาลสูงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคำพิพากษาและคำสั่งของศาลล่างได้ ส่วนในทางบริหาร หมายถึง การใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร การออกคำสั่ง คำวินิจฉัยของฝ่ายบริหาร การออกข้อกำหนด กฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย หรือไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองใช้อำนาจทบทวนคำสั่ง คำวินิจฉัยและสั่งให้คำสั่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีผลบังคับได้ (ดู JUDICIAL REVIEW) คำนี้ใช้เป็นคำคุณศัพท์ประกอบกับคำนามเพื่อแสดงว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำตามอำเภอใจ / โดยพลการ เช่น “Arbitrary detention is unacceptable in a democratic society” (การคุมขังตามอำเภอใจ / การคุมขังโดยพลการเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยไม่ยอมรับ) หรือจะใช้เป็นกริยาวิเศษก็ได้ เช่น “He was arrested arbitrarily” (เขาถูกจับกุมโดยอำเภอใจ / โดยพลการ)


ARBITRATION

คำแปล : การอนุญาโตตุลาการ

ความหมาย :

การระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือระหว่างรัฐกับรัฐโดยคู่พิพาทตกลงกันมอบปัญหาข้อพิพาทให้กับคนกลาง ซึ่งเรียกว่า อนุญาโตตุลาการ (Arbitrator) พิจารณาวินิจฉัย อนุญาโตตุลาการอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ กรณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐ เมื่อคู่พิพาทตกลงใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแล้ว ก็จะทำความตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นปัญหาที่จะให้วินิจฉัยรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาด (Award)ของอนุญาโตตุลาการจะผูกพันรัฐคู่พิพาท กรณีที่เป็นการอนุญาโตตุลาการที่เป็นข้อพิพาทระหว่างบุคคล คู่พิพาทจะตกลงกันทำสัญญาที่เรียกว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการ” (Arbitration Agreement) โดยคู่พิพาทสามารถตกลงที่จะใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคดีแพ่งที่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้า และถ้าคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งสามารถนำสัญญาอนุญาโตตุลาการไปยื่นต่อศาลภายใน ศาลต่างประเทศ หรือศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแล้วแต่กรณี การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายกันทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการลงทุนและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศตลอดจนการขนส่งระหว่างประเทศ เป็นต้น


ARMED CONFLICT

คำแปล : การพิพาทกันโดยใช้อาวุธ

ความหมาย :

การพิพาทกันโดยใช้อาวุธ คือสภาพการที่มีการสู้รบระหว่างกองกำลังตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ไม่ว่าการสู้รบนั้นจะมีลักษณะเป็นการสู้รบกันระหว่างรัฐ (International Armed Conflict) หรือเป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed Conflict หรือ Non-international Armed Conflict) เช่นกลุ่มกบฏ กับทหารฝ่ายรัฐบาล หรือ ระหว่างกลุ่มติดอาวุธด้วยกันเอง


ARMED FORCES

คำแปล : กองกำลังรบ

ความหมาย :

กองกำลังรบใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพิพาทกันโดยใช้อาวุธที่มีความหมายแตกต่างกันแล้วแต่สถานการณ์ แต่ความหมายที่ยอมรับกันมากที่สุดคือความหมายที่ได้ให้ไว้ใน อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492)ทั้งสี่ฉบับและพิธีสารเพิ่มเติม ซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าหมายถึงบุคลากรทางทหารของรัฐที่ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ในการสู้รบในนามของรัฐ และจะได้รับการปฏิบัติในฐานะเชลยศึกในกรณีที่ถูกจับโดยฝ่ายตรงกันข้าม กองกำลังรบจึงเป็นตัวแทนของรัฐในการเข้าทำสงครามและต้องยึดถือ หรือ ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทำสงคราม


ARREST

คำแปล : จับกุม / ควบคุมตัว

ความหมาย :

การจำกัดเสรีภาพของบุคคลที่กระทำโดยเจ้าพนักงาน หรือบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจในการจับกุม โดยมีเหตุเชื่อว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดอาญา มาตรฐานสิทธิมนุษยชนกำหนดว่าการจับกุมบุคคลจะทำโดยพลการมิได้การจับกุมจะต้องมีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควร (Probable Cause) ว่าบุคคลนั้นกระทำผิด และจะต้องมีกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย การจับกุมโดยพลการเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย หรือ The Right to Liberty and Security of Person (ดู UDHR ข้อ 3 และ ICCPR ข้อ 9) ตามกฎหมายไทย การจับกุมบุคคลจะต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลเว้นแต่กรณีที่บุคคลนั้นกำลังกระทำความผิดอยู่หรือกำลังจะกระทำความผิดในการจับกุมไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามจะต้องไม่ใช้กำลังเกินความจำเป็นหรือจงใจให้ผู้ถูกจับกุมได้รับอันตราย กฎหมายกำหนดว่าผู้จับกุมสามารถใช้กำลังป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากอันตราย ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ถูกจับกุมได้ถ้าการใช้กำลังนั้นไม่เกินความจำเป็น (ดูหลักการป้องกันตนเอง (Principle of Self-defence)) เจ้าพนักงานจะควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไว้ได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงแต่อาจขออนุญาตศาลขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวไว้เพื่อการสอบสวนได้เป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน เจ้าพนักงานที่จับกุมหรือควบคุมตัวผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องรับผิดในทางอาญา และผู้ที่ถูกจับกุมตัวสามารถขัดขืนป้องกันการจับกุมได้ไม่ถือว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน


ARREST WARRANT

คำแปล : หมายจับ

ความหมาย :

หมายจับ เป็นหนังสือคำสั่งศาลที่ออกโดยอำนาจกฎหมายสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองจับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญา เพื่อนำบุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีอาญา โดยหลักการแล้ว การออกหมายจับจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะให้ศาลเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดที่เกิดขึ้น การจับกุมบุคคลโดยไม่มีหมายจับถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล ( ICCPR ข้อ9) เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นจะกระทำความผิดซึ่งหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคสามบัญญัติว่า "การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ" และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้วางข้อกำหนดในการออกหมายจับไว้ว่า การออกหมายจับจะกระทำได้ต่อ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดกว่าสามปี หรือเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น


ASEAN CHARTER

คำแปล : กฎบัตรอาเซียน

ความหมาย :

กฎบัตรอาเซียนเป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน (ASEAN)หรือ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Association of South East Asian Nations)จัดทำขึ้นใน พ.ศ.2551 (ค.ศ. 2008) อันเป็นกรอบความตกลงที่กำหนดเป้าหมาย หลักการ โครงสร้างองค์กร และกลไกที่สำคัญต่างๆ ของอาเซียน ทำให้อาเซียนมีสถานะเป็น “นิติบุคคลระหว่างประเทศ” เดิมทีอาเซียนเป็นเพียงสมาคมทางการเมืองที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ภายใต้ปฏิญญาอาเซียนพ.ศ.2510 (ASEAN Declaration1967(พ.ศ. 2510) หรือที่เรียกว่า “ปฏิญญาบางกอก”) และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2519 (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia 1976) ในค.ศ. 2004 (พ.ศ.2547) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ประกาศวิสัยทัศน์ “อาเซียน2020” เพื่อพัฒนาอาเซียนให้เป็น “ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)” ภายใน พ.ศ. 2563 ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีกรอบกฎหมายและโครงสร้างสถาบันขององค์กรที่ชัดเจน ดังนั้นจึงได้จัดทำ ”กฎบัตรอาเซียน” ขึ้น ปัจจุบันได้มีการปรับเป้าหมายให้เป็น ประชาคมอาเซียน ภายใน พ.ศ. 2558 กฎบัตรอาเซียน ได้กำหนดหลักการสำคัญขององค์กร ได้แก่ การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน การลดความยากจนและช่องว่างในการพัฒนา กฎบัตรอาเซียน หมวด 4 ได้กำหนดให้จัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในภูมิภาคอาเซียนขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคในอาเซียนกลไกแรก หลังจากที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องมาเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี


ASEAN INTER - GOVERNMENTAL COMMISSION ON HUMAN RIGHTS

คำแปล : คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคของกลุ่มประเทศอาเซียนจัดตั้งขึ้นตาม กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)เพื่อให้เป็นกลไกในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ส่วนโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ (Mandate)ของคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดทำขึ้นตามเอกสาร “ Term of Referenceof ASEAN Inter-governmental Commission on Human Rights” AICHR เริ่มดำเนินงานใน ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)อำนาจหน้าที่หลักคือให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมาธิการอาจรวบรวมข้อมูลสิทธิมนุษยชนและศึกษาและจัดทำรายงานประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ข้อวิจารณ์ต่ออำนาจหน้าที่ของ AICHR คือ การที่มีอำนาจหน้าที่ที่จำกัด และขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน AICHR ประกอบด้วยตัวแทนที่รัฐบาลของแต่ละประเทศแต่งตั้ง ประเทศละหนึ่งคนมีวาระสามปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งได้อีกหนึ่งวาระ


ASSAULT

คำแปล : การประทุษร้าย

ความหมาย :

การกระทำโดยเจตนาที่เป็นการทำร้าย หรือข่มขู่ว่าจะทำร้ายบุคคลให้ได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ ชื่อเสียง อิสรภาพ หรือทำให้ทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกระทำได้รับความเสียหาย คำนี้ใช้ประกอบกับการกระทำลักษณะอื่น เพื่อกำหนดฐานความผิดเช่น การประทุษร้ายต่อร่างกาย ทำให้ได้รับอันตราย (Assault Causing Bodily Harm หรือ Bodily Assault) การประทุษร้ายโดยใช้อาวุธ (Assault with a Weapon) ประทุษร้ายต่อเสรีภาพ ประทุษร้ายต่อชื่อเสียง ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน เป็นต้น ในกฎหมายคอมมอนลอว์ การประทุษร้ายเป็นความผิดอาญาฐานหนึ่งในกฎหมายอาญาของไทย “การประทุษร้าย” เป็นคำที่ใช้ประกอบการแสดงเจตนาว่าจำเลยกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และมีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายโดยการใช้กำลัง ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยได้นิยามคำว่า ใช้กำลังประทุษร้าย ไว้ว่า “ทำการประทุษร้ายแก่กาย หรือจิตใจ ของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยการใช้แรง กายภาพ หรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยา ทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใด อันคล้ายคลึงกัน” อนึ่ง มีผู้แปลคำว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญาว่า “To Commit an Act of Violence” ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน การบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายบุคคลในด้านต่าง ๆ เป็นมาตรการทางกฎหมายของรัฐ เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอันเป็นหน้าที่ (Duty) ในการปฏิบัติตามพันธะหน้าที่ในการเคารพ (Obligation to Respect) ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน


AT - WILL (LABOUR RIGHTS)

คำแปล : ตามอำเภอใจ (การบอกเลิกสัญญาจ้าง)

ความหมาย :

การบอกเลิกจ้างตามอำเภอใจ ภายใต้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ที่ไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ หนังสือสัญญาใดๆ ที่ประกันการจ้างงาน ลูกจ้างในลักษณะดังกล่าว อาจจะถูกเลิกจ้างในเวลาใดๆ ตามอำเภอใจของนายจ้างโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล หรือ สาเหตุการเลิกจ้างงานอย่างเป็นธรรม (Just Cause) สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมสำหรับลูกจ้าง ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่านายจ้าง เมื่อเข้าทำสัญญาจ้างกับนายจ้างในลักษณะดังกล่าว เพื่อที่จะได้มีงานทำลักษณะการทำสัญญาดังกล่าวจึงฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน


ATTEMPT

คำแปล : การพยายามกระทำความผิด (กฎหมายอาญา)

ความหมาย :

ในกฎหมายอาญา หมายถึง การกระทำโดยเจตนาของบุคคลที่ประสงค์ต่อผลอันเป็นการขัดต่อกฎหมายอาญา โดยได้ลงมือกระทำไปแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล กฎหมายถือว่าบุคคลนั้นพยายามกระทำความผิด กฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลไม่ให้กระทำการที่เป็นภยันตรายต่อสังคม จึงกำหนดให้บุคคลมีความผิดทางอาญาแม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้น ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน การที่รัฐลงโทษผู้พยายามกระทำความผิดที่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถือว่าสอดคล้องกับพันธะหน้าที่ของรัฐในการเคารพ (Duty to Respect) และหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง (Duty to Protect) สิทธิของปัจเจกชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 กำหนดให้ผู้พยายามกระทำความผิดรับโทษสองในสามส่วนของความผิดที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่อาจบรรลุผลได้เลย เช่น การใช้ปืนไม่มีกระสุนยิง กฎหมายกำหนดให้รับโทษไม่เกินครึ่งหนึ่งของความผิด การใช้คำนี้ในความหมาย “พยายามกระทำความผิด” จะวางไว้หน้าฐานความผิดนั้น เช่น Attempted Murder (พยายามฆ่า) Attempted Robbery (พยายามปล้นทรัพย์) Attempted Rape (พยายามข่มขืนกระทำชำเรา) อนึ่ง ความรับผิดทางอาญาเริ่มต้นเมื่อมีการลงมือกระทำความผิดโดยประกอบกับมีเจตนาในการกระทำ โดยทั่วไปเพียงแต่คิด หรือตระเตรียมการกระทำความผิดยังไม่มีความผิดทางอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้มีความผิดในขั้นตระเตรียมการ ซึ่งเกี่ยวกับความผิดที่ร้ายแรงเช่น ความผิดฐานวางเพลิง ฐานกบฏ หรือฐานก่อการร้าย


ATTORNEY- GENERAL

คำแปล : 1. อัยการสูงสุด 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ความหมาย :

1. อัยการสูงสุด ตำแหน่งในฝ่ายบริหาร เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานอัยการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีฟ้องร้องผู้กระทำความผิดอาญา เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล รวมถึงการเป็นทนายให้กับรัฐบาลในกรณีที่ประเทศไทยเป็นโจทก์หรือจำเลยในการดำเนินคดีระหว่างประเทศ บางทีจึงเรียกว่า “ทนายแผ่นดิน” คำนี้มักใช้กับประเทศที่ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ในบางครั้งจะใช้คำว่า Solicitor-General ส่วนในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ฟ้องบุคคลและดำเนินคดีในศาลมักใช้คำว่า Prosecutor แต่เดิมในประเทศไทยสำนักงานอัยการสูงสุด (Office of the Attorney-General) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า กรมอัยการ (Department of Attorney) โดยมี “อธิบดีกรมอัยการ” เป็นผู้บริหารสูงสุด ต่อมาได้แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นหน่วยงานราชการอิสระอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และได้ตั้งตำแหน่ง “อัยการสูงสุด” ขึ้น สำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่สำคัญในทางบริหารของสำนักงาน เช่น การบริหารงานบุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุด การบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงาน นอกจากนี้อัยการสูงสุดยังทำหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการบริหารราชการ การปฏิบัติราชการของพนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน หรือนักกฎหมายให้กับรัฐ และมีอำนาจในการรับพิจารณาเพื่อสั่งฟ้องคดี นอกจากนั้นอัยการสูงสุดยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางฝ่ายบริหารโดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในคณะบริหาร นอกจากนั้นแต่ละมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีอัยการสูงสุดประจำมลรัฐเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายสูงสุดของมลรัฐ หลายมลรัฐใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกอัยการสูงสุด


AUTHENTICATION

คำแปล : การยืนยันความถูกต้องแท้จริงของสนธิสัญญา

ความหมาย :

คำนี้ในกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาหมายถึง การยืนยันความถูกต้องแท้จริงของข้อบทสนธิสัญญา ข้อบทของสนธิสัญญาที่ได้รับการรับรองแล้ว ย่อมต้องมาสู่การยอมรับ หรือยืนยันในความถูกต้องแท้จริงของตัวข้อบทของสนธิสัญญานั้นๆ ว่าถ้อยคำมีความถูกต้อง (Authentic) แน่นอนชัดเจน (Definitive) เป็นข้อบทที่แสดงเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาฉบับนั้น และรัฐภาคีทั้งปวงที่เข้าร่วมเจรจาเมื่อได้รับรอง และยืนยันความถูกต้องแท้จริงของข้อบทสนธิสัญญาแล้วย่อมผูกพันตนปฏิบัติตามสนธิสัญญาฉบับที่ถูกต้องแท้จริงนั้นๆ ก่อนที่จะแสดงเจตนารมณ์ผูกพันตามสนธิสัญญาในลำดับต่อไป โดยทั่วไปสนธิสัญญาทวิภาคีที่ไม่มีความสลับซับซ้อน การยอมรับความถูกต้องของข้อความจะถือเป็นกระบวนการเดียวกับขั้นตอนการรับรองข้อบทของสนธิสัญญาไปด้วย และในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อได้มีการลงนามในสนธิสัญญา ก็มีผลเป็นทั้งการยอมรับความถูกต้องของตัวข้อความ และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐโดยสมัครใจ ในการที่จะผูกพันตนตามสนธิสัญญาด้วย ส่วนสนธิสัญญาพหุภาคีนั้นการยอมรับความถูกต้องของข้อบทในสนธิสัญญานี้แยกเป็นขั้นตอนต่างหาก โดยการนำข้อบทของสนธิสัญญาที่ยังไม่ได้มีการลงนามนั้น ประมวลเข้าไว้เป็นกรรมสารสุดท้าย (Final Act)หรือข้อตกลงสุดท้ายของการประชุมระหว่างประเทศที่เจรจายกร่างสนธิสัญญาฉบับนั้นๆ ให้รัฐภาคีทั้งหลายพิจารณาอนุมัติ รับรอง และยอมรับความถูกต้องแท้จริงของข้อบทของสนธิสัญญานั้นๆ ก่อนที่จะเปิดให้มีการให้สัตยาบันต่อไป


AVAILABILITY

คำแปล : การทำให้มีขึ้น

ความหมาย :

“การทำให้มีขึ้น” ในสิทธิมนุษยชน หมายถึง รัฐต้องจัดให้มีสิ่งต่างๆ เพื่อสนองสิทธิของบุคคลอย่างเพียงพอ ซึ่งมักเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม โดยรัฐอาจจัดหาทรัพยากรให้บุคคลมีหนทางในการได้รับสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากทรัพยากร ดังนั้นรัฐต้องจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอแก่บุคคลทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของวัฒนธรรมนั้นๆ เพื่อสนองความจำเป็นของบุคคล โดยผ่านระบบการแจกจ่าย การแปรรูป และการตลาดที่มีความเหมาะสม ส่วนในด้านสิทธิทางด้านพลเมืองสิทธิทางการเมือง การทำให้มีขึ้นหมายถึงรัฐต้องจัดตั้งสถาบัน กลไก หรือเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้บุคคลได้บรรลุถึงสิทธิ เช่นการจัดให้มีและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเพียงพอ รวมทั้งทำให้เครื่องมือที่จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และร่างกายของบุคคลได้อย่างมีผล


AWARD

คำแปล : ค่าชดเชย / คำชี้ขาด/คำวินิจฉัย

ความหมาย :

คำว่า Award มีความหมายสองอย่าง คือ 1) ค่าชดเชยหรือค่าเสียหายตามคำวินิจฉัยที่ฝ่ายที่ชนะคดีในข้อพิพาทหรือข้อร้องเรียนได้รับจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐ ซึ่งปกติกำหนดเป็นจำนวนเงิน 2) คำชี้ขาดหรือคำวินิจฉัยขององค์กรระงับข้อพิพาท เช่น อนุญาโตตุลาการ หรือขององค์กรทางด้านบริหาร โดยการพิจารณาเรื่องที่ได้มีผู้ยื่นคำร้องเรียนขึ้นมาเพื่อให้พิจารณาชี้ขาด


AWARENESS AND EMPOWERMENT

คำแปล : การตระหนักถึงสิทธิและการเสริมสร้างความเข้มแข็ง

ความหมาย :

การตระหนักถึงสิทธิและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีสิทธิ มีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเนื่องจากบุคคลจำเป็นต้องรู้และเข้าใจสิทธิที่เป็นฐานแห่งการเรียกร้องว่าเรื่องดังกล่าวที่ตนเรียกร้องนั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองหรือไม่ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นความเสียหายที่บุคคลได้รับนำไปสู่การพิจารณาโดยองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามสิทธิที่บุคคลนั้นมี หากบุคคลไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตนมีตั้งแต่ต้นก็คงเป็นการยากที่บุคคลนั้นจะแสวงหาโอกาสที่จะใช้สิทธิตลอดจนได้รับการเยียวยาเมื่อมีการละเมิด การตระหนักถึงสิทธิและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีสิทธิทำได้หลายวิธี อาทิ การให้ความรู้ด้วยระบบการศึกษาทุกระดับ หรือผ่านสื่อมวลชน หรือการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน นอกจากนี้การสร้างความสามารถในการเข้าถึงกลไกเยียวยาสิทธิให้แก่ประชาชนก็ยังเป็นการสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่บุคคลว่า หากมีการละเมิดสิทธิขึ้นบุคคลผู้ถูกละเมิดจะสามารถปกป้องสิทธิตัวเอง และสามารถเรียกร้องการเยียวยาได้ถูกช่องทางและได้ผล