Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

AGENDA 21

คำแปล : วาระ 21 / “อะเจนดายี่สิบเอ็ด”

ความหมาย :

ข้อมติระหว่างประเทศได้รับการรับรองจากรัฐที่เข้าร่วมประชุมในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่รู้จักกันว่า“เอิร์ธซัมมิต (Earth Summit)” ซึ่งจัดขึ้นที่นครรีโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 179 ประเทศ เข้าร่วมประชุม “วาระ 21” เป็นคำย่อที่ใช้แทนคำว่า “วาระสำหรับศตวรรษที่ 21(Agenda for the 21st Century)” อันเป็นแผนแม่บทปฏิบัติการระหว่างประเทศ สำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม วาระ 21 เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเพิ่มของประชากร การบริโภคและเทคโนโลยี ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมนุษย์จึงต้องร่วมมือกันลดการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยและไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นในทุกส่วนของโลก นอกจากนั้นวาระ 21 ได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และแนวทางอนุรักษ์ความหลากหลายชนิดและสายพันธ์ุของสิ่งมีชีวิต การอนุรักษ์ป่าการต่อสู้กับความยากจนรวมถึงปัญหาการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย การวางแผนการจัดการ ด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย การแก้ปัญหาของเมืองใหญ่ และปัญหาของเกษตรกร โดยย้ำว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกกลุ่ม และทุกอาชีพ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันเป็นหนทางเอาชนะความยากจนและการทำลายสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนปฏิบัติการตามวาระ 21 คือ การขจัดความยากจนโดยให้ประชาชนที่ยากไร้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น


AGREEMENT

คำแปล : ความตกลง

ความหมาย :

ความตกลงเป็นเอกสารซึ่งมีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญา หรืออนุสัญญา โดยทั่วไปมิได้กระทำโดยประมุขของรัฐ ตามปกติใช้สำหรับความตกลงที่มีขอบเขตจำกัด หรือมิได้มีลักษณะถาวรนัก มีภาคีน้อยกว่าอนุสัญญา มักใช้สำหรับความตกลงที่มีลักษณะทางเทคนิค หรือการบริหาร ซึ่งลงนามโดยตัวแทนของหน่วยงานของรัฐ และไม่จำต้องมีการให้สัตยาบัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศด้วย


ALIBI (Latin)

คำแปล : การอ้างฐานที่อยู่เป็นข้อแก้ตัว

ความหมาย :

ออกเสียงว่า อาล-ลี-ไบ (al-eh-bi) เป็นคำละติน แปลว่า “อ้างว่าอยู่ที่อื่น” คำกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดว่าขณะที่ความผิดอาญาเกิดขึ้นตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ดังนั้นตนจึงไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด ตามหลักกฎหมายบุคคลผู้อ้างฐานที่อยู่เป็นข้อแก้ตัวจะต้องแสดงหรืออ้างฐานที่อยู่อื่นประกอบข้ออ้าง


ALIEN

คำแปล : คนต่างด้าว

ความหมาย :

คำนี้ความหมายทั่วไป หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ ส่วนความหมายเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) หมายถึง ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยนัยนี้คนต่างด้าวจึงหมายถึง 1. คนที่เป็นพลเมืองของประเทศอื่น หรือเป็นคนที่ถือสัญชาติของรัฐหนึ่งแต่ได้เข้ามาอาศัยในดินแดนของอีกรัฐหนึ่งไม่ว่าจะโดยชั่วคราวหรือถาวรรวมถึงผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น หรือแรงงานข้ามชาติ 2. คนไร้สัญชาติ หรือคนไร้รัฐ (Stateless Person) ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลย และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยในรัฐ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงอาจจะเกิดและอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศหนึ่งแต่กฎหมายของประเทศนั้นไม่ยอมรับสถานะว่ามีสัญชาติ ระบบสิทธิตามกฎหมายมหาชนของทุกประเทศจะแยกคนต่างด้าวจากคนที่เป็นพลเมือง (ดู CITIZENSHIP) สิทธิหลายอย่างคนต่างด้าวจะไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนที่เป็นพลเมือง และคนต่างด้าวอาจถูกจำกัดสิทธิบางประการได้เช่น สิทธิในการถือครองที่ดิน สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการตั้งถิ่นฐาน เสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐจักต้องปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่างแก่คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐในฐานะที่บุคคลเหล่านั้นเป็นมนุษย์ และจะทำให้เกิดความแตกต่างหรือเลือกปฏิบัติระหว่างคนต่างด้าวกับพลเมืองไม่ได้ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น ในกรณีคนต่างด้าวไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐที่ตนอาศัยอยู่ รัฐเจ้าของสัญชาติอาจใช้วิธีการคุ้มกันทางการทูต (Diplomatic Protection) ต่อรัฐที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ได้


ALTERNATIVE REPORT

คำแปล : รายงานทางเลือก / รายงานคู่ขนาน

ความหมาย :

รายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีหน้าที่พิจารณารายงานใช้ประกอบในการพิจารณา ทำความเห็น หรือคำแนะนำต่อรัฐบาล


AMENDMENT

คำแปล : การแก้ไขเพิ่มเติม

ความหมาย :

การแก้ไขเพิ่มเติม หมายถึงการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีผลต่อรัฐภาคีแห่งสนธิสัญญานั้นทุกรัฐ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในสนธิสัญญาพหุภาคีที่มีภาคีสมาชิกจำนวนมาก การจะได้รับมติเอกฉันท์จากทุกภาคีในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สนธิสัญญาอาจแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการตกลงด้วยวาจา หรือโดยการทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดแจ้ง สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญานั้นแตกต่างจากการแก้ไขข้อบทของสนธิสัญญาที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง Correction of errors) การแก้ไขเพิ่มเติมมีผลเฉพาะรัฐที่เห็นด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐอื่น ๆ คงผูกพันตามสัญญาฉบับเดิม


AMENDMENT (LAW)

คำแปล : การแก้ไขเพิ่มเติม /บทแก้ไขเพิ่มเติม (กฎหมาย)

ความหมาย :

ในความหมายทั่วไป หมายถึง การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ในความหมายของกฎหมาย หมายถึง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือบทแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งเป็นผลให้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมถือเป็นส่วนหนึ่งและมีฐานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับบทบัญญัติเดิม และถ้าส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมแตกต่างหรือขัดกับกฎหมายเดิม ก็จะต้องใช้กฎหมายที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามหลักกฎหมายใหม่ยกเว้นกฎหมายเก่า กรณีกฎหมายอาญา มีหลักว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใหม่จะไม่มีผลย้อนหลังเพื่อให้เป็นโทษกับผู้กระทำผิด (ดู Retroactive Law และ No Crime, No Punishment without Law)


AMENDMENTS (AMERICAN CONSTITUTION)

คำแปล : บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา)

ความหมาย :

“Amendments” ใช้ในความหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา หมายถึง การแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมถือเป็นส่วนหนึ่งและมีฐานะทางกฎหมายเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม คำนี้จะใช้เป็นพหูพจน์ “Amendments” ซึ่งหมายถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาโดยรวม แต่ถ้าหมายถึงบทบัญญัติแก้ไขครั้งหนึ่งครั้งใด จะใช้อักษรตัวแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่และมี “The” เสมอ เช่น The Fifth Amendment (บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า) เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระบบสหพันธรัฐ (Federation) รัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างพลเมืองของมลรัฐต่าง ๆ ที่เกิดจากการตกลงยินยอมผูกพันต่อข้อตกลงร่วมกันผ่านผู้แทนของมลรัฐ ดังนั้นเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องได้รับการให้สัตยาบันของผู้แทนมลรัฐทุกรัฐก่อนที่จะมีผลสมบูรณ์ นับตั้งแต่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) จนถึงปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามากกว่าร้อยครั้ง แต่ที่มีการให้สัตยาบันมีเพียงสิบเจ็ดครั้งและมีบทบัญญัติแก้ไขรวมยี่สิบเจ็ดบท โดยบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่งถึงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สิบได้รับรองในครั้งเดียวกัน และบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้นจึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมรวมกับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่งถึงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สิบนี้ว่า “ตราสารสิทธิแห่งอเมริกา หรือ American Bill of Rights” ซึ่งผู้แทนมลรัฐต่าง ๆ ได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลที่สำคัญ เช่น • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่ง (The First Amendment) รับรองเสรีภาพทางศาสนา • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สี่ (The Fourth Amendment) รับรองสิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหสถานและทรัพย์สินของตน บรรดาสิทธิดังกล่าวจะถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีเหตุอันควรมิได้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า (The Fifth Amendment) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการฟ้องศาล การสอบสวน และการลงโทษ (สิทธิทางกฎหมาย) เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หก (The Sixth Amendment) กำหนดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดี ในการดำเนินคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและเปิดเผย • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่เก้า (The Ninth Amendment) กล่าวถึงสิทธิที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญจะตีความให้เป็นการปฏิเสธหรือลิดรอนสิทธิผู้อื่นไม่ได้


AMERICAN BILL OF RIGHTS

คำแปล : บทบัญญัติสิทธิของอเมริกา

ความหมาย :

คำใช้เรียกรวมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาส่วนที่เป็นบทแก้ไขเพิ่มเติม(ดู THE AMENDMENTS) จำนวนสิบมาตรา ตั้งแต่บทแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่งถึงบทแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สิบที่รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองอเมริกัน บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิบบทได้เสนอโดย นายเจมส์ เมดิสันในการประชุมคองเกรสแห่งอเมริกาครั้งแรก (Congress of the United States) ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา โดยสภาผู้แทนราษฎรอเมริกาได้ลงมติรับรองในเดือนสิงหาคมค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) และได้มีผลเป็นกฎหมายในเดือนธันวาคม ค.ศ 1791 (พ.ศ. 2334) เมื่อผู้แทนมลรัฐได้ให้สัตยาบันครบจำนวนสามในสี่ของจำนวนรัฐในขณะนั้น แนวคิดของสิทธิเสรีภาพในบทบัญญัติเพิ่มเติมได้รับอิทธิพลจากเอกสารสำคัญทางกฎหมายและทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัติสิทธิของอังกฤษ(ดู English Bill of Rights) ปฏิญญาเวอร์จิเนียร์ และข้อเขียนของโทมัส เพน ที่ชื่อว่า “คำเรียกร้องสิทธิ” (Petition of Rights) บทบัญญัติสิทธิของประชาชนอเมริกันมีดังนี้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่ง รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การพิมพ์ การโฆษณา และการชุมนุมร่วมกันโดยสงบของประชาชน • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สอง รับรองสิทธิของประชาชนในการมีและที่จะมีอาวุธและการถืออาวุธของบุคคลจะถูกขัดขวางมิได้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สาม รับรองสิทธิในเคหสถาน ความเป็นส่วนตัวของครอบครัว โดยกำหนดว่าทหารจะเข้าไปอาศัยในบ้านใดโดยเจ้าของบ้านไม่ยินยอมไม่ได้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สี่ รับรองสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยและบูรณภาพเหนือร่างกาย เคหสถาน และทรัพย์สินของตนการตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีเหตุอันควรกระทำมิได้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า รับรองสิทธิเกี่ยวกับคดีอาญา ระเบียบเกี่ยวกับการฟ้องคดี การสอบสวน และการลงโทษเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หก รับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและเปิดเผย • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่เจ็ด รับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยคณะลูกขุน • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่แปด รับรองสิทธิในการประกันตัวห้ามศาลกำหนดเงินประกันสูงเกินสมควร และห้ามการลงโทษที่โหดร้ายและผิดปกติวิสัย • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่เก้า กำหนดให้สิทธิที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ ผูกพันองค์กรทางการเมือง จะตีความให้เป็นการปฏิเสธหรือลิดรอนสิทธิผู้อื่นไม่ได้ • บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สิบ รับรองสิทธิในการกำหนดตนเองของประชาชนในระดับมลรัฐ โดยกำหนดให้อำนาจกระทำการใดที่มิได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง เป็นอำนาจของมลรัฐหรือของประชาชนในมลรัฐ เดิมเป็นที่เข้าใจว่าบทบัญญัติสิทธิของอเมริกานั้น หมายถึง สิทธิของพลเมืองอเมริกาที่เป็นคนผิวขาว แม้ว่าในรัฐธรรมนูญมิได้เขียนไว้ก็ตาม พลเมืองที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม (อินเดียน) และชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาหรือขณะนั้นเรียกว่า “คนผิวสี” ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเท่ากับคนผิวขาว นอกจากนั้นสตรีก็ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามบทบัญญัติสิทธิของอเมริกาเท่ากับบุรุษ บทบัญญัติสิทธิของอเมริกาเป็นหลักในการพัฒนากฎหมายคอมมอนลอว์ของอเมริกา รวมถึงการตรารัฐบัญญัติต่าง ๆ ที่ประกาศใช้ในภายหลัง


AMERICAN DECLARATION ON THE RIGHTS AND DUTIES OF MAN

คำแปล : ปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์

ความหมาย :

ปฏิญญาอเมริกาฯ เป็นตราสารสิทธิมนุษยชนสำหรับภูมิภาคอเมริกาซึ่งได้รับรองโดยองค์การรัฐอเมริกา (OAS) ในค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ก่อนที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) จะได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติในปีเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหลักการทางการเมืองในการส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกา โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เนื่องจากปฏิญญาอเมริกาฯ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตรองค์การรัฐอเมริกา แนวคิด และปรัชญา ในการจัดทำปฏิญญาอเมริกาฯ มีความคล้ายคลึงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอยู่มาก เนื่องจากจัดทำในยุคเดียวกัน แต่ปฏิญญาอเมริกาฯ ได้แจกแจงหน้าที่ของบุคคลไว้ละเอียดถึง สืบข้อ เช่น หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อเด็กและครอบครัว หน้าที่ที่จะต้องเข้ารับการศึกษาและหน้าที่ในการบริการสังคมเป็นต้น ในขณะที่ปฏิญญาสากลฯได้กำหนดหน้าที่บุคคลไว้เพียงข้อเดียว แม้ว่าปฏิญญาอเมริกาฯ ไม่ได้มีผลผูกพันอย่างสนธิสัญญา (Treaty) แต่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนรัฐอเมริกาได้ใช้เป็นพื้นฐานทางด้านกฎหมายในการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตลอดมาโดยถือว่ารัฐสมาชิกมีพันธกรณีตามกฎบัตรองค์การรัฐอเมริกาในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และคำว่า “สิทธิมนุษยชน”ในกฎบัตรคือสิทธิต่างๆ ที่ได้รับรองอยู่ในปฏิญญาอเมริกาฯ


AMICUS CURIAE (Latin)

คำแปล : ที่ปรึกษาศาล

ความหมาย :

ที่ปรึกษาศาล (amicus curiaeแปลตามตัวอักษร คือ “เพื่อนศาล -friend of the court”)หมายถึงบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรใดที่ไม่มีสิทธิจะปรากฏตัวในการพิจารณาในฐานะคู่ความ หรือพยานในศาล แต่ศาลอาจอนุญาตให้เสนอความเห็นโดยทำเป็นบันทึกเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดี เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยคดีของศาลได้ในบางกรณีโดยเฉพาะในศาลระหว่างประเทศ ศาลอาจอนุญาตให้ที่ปรึกษาศาลเข้าร่วมในกระบวนการในชั้นพิจารณาไต่สวนหรือในชั้นอุทธรณ์ได้


AMNESTY

คำแปล : นิรโทษกรรม

ความหมาย :

นิรโทษกรรม คือการที่รัฐประกาศยกโทษให้แก่บุคคลที่กระทำความผิด หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาหนึ่งเป็นการทั่วไปที่มิใช่การยกโทษให้โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล เช่นในการกระทำผิดกฎหมายในช่วงมีความขัดแย้งทางการเมือง การกบฏ หรือการก่อการกำเริบ การนิรโทษกรรมอาจกระทำโดยฝ่ายบริหารหรือรัฐสภาก็ได้โดยการออกเป็นกฎหมาย ผลของการนิรโทษกรรมถือว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดนั้นเลย นิรโทษกรรมต่างกับการอภัยโทษ (Pardon)ในข้อที่ว่าการอภัยโทษถือว่าบุคคลนั้นมีการกระทำผิดและต้องรับโทษตามคำพิพากษาตามกฎหมาย แต่บุคคลนั้นมีเหตุที่เป็นคุณบางประการที่สมควรได้รับการยกโทษให้ หรือ ให้ยุติการลงโทษที่ได้รับมาแล้ว การอภัยโทษจึงอาศัยคุณความดีรายบุคคลในการพิจารณาให้อภัยโทษ


AMNESTY INTERNATIONAL

คำแปล : องค์กรนิรโทษกรรมสากล/แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

ความหมาย :

องค์กรนิรโทษกรรมสากล เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก่อตั้งใน ค.ศ.1961 (พ.ศ. 2504) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครจำนวนกว่าสองล้านแปดแสนคนอยู่ใน 150 กว่าประเทศAI มีอุดมการณ์ในการทำงานที่เป็นกลางไม่ต่อต้านหรือสนับสนุนรัฐบาลใดๆ หรือการปกครองระบอบใดๆ AI ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนดังที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) การดำเนินงานของ AI ในยุคแรกมุ่งไปที่การเรียกร้องสิทธิของนักโทษทางความคิด ต่อมาอำนาจหน้าที่และภารกิจได้ขยายขอบเขตครอบคลุมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมากขึ้นAI ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นใน ค.ศ.1977 (พ.ศ. 2520) และ ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติใน ค.ศ.1978 (พ.ศ. 2521)


ANARCHY

คำแปล : อนาธิปไตย / ภาวะไร้ผู้นำ / ภาวะไร้กฎระเบียบ

ความหมาย :

คำนี้มาจากภาษากรีก “Anarkhos” (an - “ไม่มี” และ arkhos–“ผู้ปกครอง” หรือ “หัวหน้า”) สภาวะที่สังคม การเมือง การปกครองที่เกิดความวุ่นวาย ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ขาดการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นผล อันเนื่องมาจากการไม่มีรัฐบาล หรือมีรัฐบาลที่บริหารประเทศล้มเหลว หรือมีรัฐบาลที่ไม่เคารพหลักนิติธรรม (Rule of Law) ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องไม่เคารพกฎหมาย และไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาล อนาธิปไตย / ภาวะไร้ผู้นำ / ภาวะไร้กฎระเบียบ มักทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงและมักจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง


ANONYMOUS COMPLAINT

คำแปล : คำร้องเรียนที่ไม่ลงชื่อผู้ร้อง / จดหมายสนเท่ห์

ความหมาย :

ความหมายทั่วไป หมายถึง เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อกล่าวโทษ ร้องเรียนร้องทุกข์ว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย ประพฤติมิชอบ หรือผิดศีลธรรมจรรยา โดยไม่ได้แสดงชื่อผู้ทำเอกสารนั้นขึ้น ในความหมายเฉพาะ หมายถึง คำร้องทุกข์ หรือคำร้องเรียนว่าถูกกระทำหรือพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำขึ้นเพื่อเสนอต่อองค์กรที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียน ไม่ว่าเป็นองค์กรภายในประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือต่อศาลสิทธิมนุษยชน เช่น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปโดยมีเจตนาให้เยียวยาการละเมิดสิทธินั้น โดยไม่แสดงชื่อผู้ร้องเรียน แนวปฏิบัติทั่วไปขององค์กรที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะกำหนดให้แสดงชื่อผู้ร้องเรียนไว้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณารับคำร้องเรียน ดังนั้น จดหมายสนเท่ห์/ คำร้องเรียนที่ไม่ลงชื่อผู้ร้องจะไม่ได้รับการพิจารณาให้รับไว้ดำเนินการ


ANTEGONE

คำแปล : อานตีโกเน (ชื่อคน) / บทละครเรื่อง “อานตีโกเน”

ความหมาย :

บทละครโศกนาฏกรรม เขียนโดยโซโฟคลีส (Sophocles) นักปรัชญาชาวเอเธนส์ ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 497 - 406 ปีก่อนคริสตกาล (หรือประมาณพ.ศ. 86 - พ.ศ. 137) เป็นเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวชื่ออานตีโกเนที่ยอมสละชีวิตตนเอง เพื่อคัดค้านคำสั่งของกษัตริย์ครีออนผู้เป็นลุงที่ห้ามไม่ให้ทำพิธีฝังศพของพี่ชายของเธอที่ตายเนื่องจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงราชสมบัติอานตีโกเนได้ยกกฎธรรมชาติขึ้นคัดค้านคำสั่งของกษัตริย์โดยอ้างว่าสิ่งที่เธอทำนั้นสอดคล้องกับกฎของพระเจ้าซึ่งเป็นกฎนิรันดร์ และสูงกว่ากฎหมายของกษัตริย์ และเธอยอมตาย เพื่อรักษาสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นความชอบธรรมทั้ง ๆ ที่เธอมีโอกาสแต่งงานกับลูกชายของกษัตริย์ครีออน บทละครเรื่อง อานตีโกเน ได้สะท้อนปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมานานกว่าสองพันปีและต่อมาได้พัฒนาเป็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน นอกจากนั้นบทละครนี้ยังได้เชื่อมโยงจริยศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องการเสียสละตนเอง เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่ตนเห็นว่าชอบธรรมกับการต่อสู้เรียกร้องของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในยุคต่าง ๆ นักปรัชญาได้ชี้ให้เห็นว่ามโนธรรมเกี่ยวกับความถูกต้อง “ความชอบธรรม”หรือ “ความยุติธรรม” นั้นมีอยู่ในมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย เช่น ดร. มาร์ติน ลูเธอร์คิงจูเนียร์ นายเนลสัน แมนเดลา มหาตมะ คานธี และ นางออง ซาน ซูจี สำหรับประเทศไทยมีตัวอย่างเช่น นายทองใบ ทองเปาด์ เป็นต้น


ANTI-SEMITISM

คำแปล : คติเกลียดชังยิว

ความหมาย :

คำว่า Anti-Semitism หมายถึง ความเชื่อที่มีอคติ รังเกียจเดียดฉันท์ชนชาติ เผ่าพันธ์ุ วัฒนธรรม หรือศาสนาของชาวมุสลิมและชาวยิวโดยแสดงอคติออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การต่อต้านหรือชิงชังโดยไร้เหตุผลการเลือกปฏิบัติ จนถึงการใช้ความรุนแรง เช่น การทำร้าย เป็นต้น สำหรับ “Anti-Semite” หมายถึง คนหรือพวกที่เกลียดชังยิว การต่อต้านชาวยิวในยุโรปมีมาช้านานแล้ว อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ชาวคริสต์เห็นว่าชาวยิวเป็นผู้ที่ฆ่าพระเยซู ต่อมาสงครามครูเสดที่มีขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1096 - 1291 (พ.ศ. 1639 – 1834) ได้ส่งผลให้ชาวยิวซึ่งเดิมมีถิ่นฐานอยู่แถบริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต้องอพยพไปอยู่ตามดินแดนต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและแอฟริกาเหนือ ชาวยิวมีอิทธิพลทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศแต่ถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเห็นแก่พวกพ้องเชื้อชาติตนเอง เอารัดเอาเปรียบสังคมโดยไม่เห็นแก่ส่วนรวม ดังนั้นจึงทำให้ประชาชนในประเทศที่ชาวยิวอาศัยอยู่เกิดอคติและเกลียดชังชาวยิว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 มีหลายประเทศในยุโรปออกกฎหมายขับไล่ชาวยิวออกนอกประเทศเช่น อังกฤษ ใน ค.ศ. 1290 (พ.ศ. 1833) ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1392 (พ.ศ. 1935) สเปน ใน ค.ศ. 1492( พ.ศ. 2035) และโปรตุเกส ใน ค.ศ. 1497 (พ.ศ. 2040) ชาวยิวที่ไม่ยอมหนีจะถูกควบคุมให้อยู่รวมกันในค่ายกักกันและนิคมชาวยิว ในตอนต้นศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชาวยิว ทำให้ชาวยิวเริ่มมีอิสรภาพ มีเสรีภาพในการศึกษาและเริ่มเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ ประเทศที่เคยขับไล่ยิวก็ยินยอมให้ชาวยิวกลับคืนประเทศได้และชาวยิวได้กลับมามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ลัทธิชาตินิยมและลัทธิต่อต้านยิวที่ก่อตัวมานานทำให้เกิดนโยบายทำลายล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวโดยพรรคนาซีเยอรมันได้ฆ่าชาวยิวในยุโรปประมาณหกล้านคน


ANTI-SLAVERY SOCIETY

คำแปล : สมาคมต่อต้านการมีทาส

ความหมาย :

คำเรียกย่อของ สมาคมสิทธิมนุษยชนของประเทศสหราชอาณาจักรสององค์กรที่ดำเนินงานรณรงค์ต่อเนื่องกันเพื่อให้ยุติการมีทาส สมาคมต่อต้านการมีทาสจัดตั้งขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1823 (พ.ศ. 2366) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการยกเลิกทาสในเครือจักรภพอังกฤษทั้งหมดเนื่องจากพระราชบัญญัติห้ามค้าทาส พ.ศ. 2350 (Slave Trade Act 1807) ของประเทศอังกฤษ บัญญัติให้การค้าทาสในเครือจักรภพอังกฤษเป็นความผิดอาญา แต่ไม่ได้ห้ามการมีทาสหรือการใช้ทาส ชื่อทางการของสมาคมฯ คือ “สมาคมเพื่อการลดการมีทาสและการยกเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั่วเครือจักรภพอังกฤษ (Society for the Mitigation and Gradual Abolition of Slavery Throughout the British Dominions)” การรณรงค์ของสมาคมส่งผลให้อังกฤษประกาศใช้ “พระราชบัญญัติเลิกทาส พ.ศ. 2376 (Slavery Abolition Act 1833)” สมาคมจึงได้ยุติการดำเนินงานไป ต่อมา ใน ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) ได้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายใต้ ชื่อ “สมาคมชาวอังกฤษและชาวต่างชาติเพื่อการต่อต้านการมีทาส" (British and Foreign Anti-Slavery Society) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการเลิกทาสทั่วโลก ปัจจุบันสมาคมนี้ยังคงดำเนินงานอยู่ และใน ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ได้มีการเปลี่ยนชื่อของสมาคมเป็น “องค์กรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการมีทาส (Anti-Slavery International)” โดยสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับรูปแบบใหม่ของสภาพทาส (Contemporary Forms of Slavery)เช่น การบังคับแรงงาน แรงงานเด็ก การค้าหญิงและเด็ก และการขายบุคคลเพื่อบำเรอทางเพศ (Concubinage) เป็นต้น สมาคมต่อต้านการมีทาสถือว่าเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนองค์กรแรกของโลก


APARTHEID

คำแปล : ระบอบแบ่งแยกสีผิว / การเหยียดสีผิว

ความหมาย :

การแบ่งแยกสีผิว คือ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและการกำเนิด นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง การแบ่งแยกผิวอาจกระทำโดยนโยบายของรัฐ หรือโดยการออกกฎหมายให้สิทธิแก่คนสีผิวหนึ่งเหนือกว่าคนสีผิวอื่น หรือออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนสีผิวหนึ่งให้ด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไม่เป็นธรรมในอดีตการแบ่งแยกสีผิวปรากฏชัดในหลายประเทศที่เป็นอาณานิคมหรือถูกครอบครองโดยคนผิวขาว เช่นในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามคนผิวดำนั่งรถโดยสารสาธารณะหรือเข้ารับบริการจากร้านค้า หรือในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ก็มีการจับกุมผู้นำของกลุ่มคนผิวดำ และดำเนินคดีกับคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรม(ดู Racism)


APPEAL

คำแปล : 1.การเรียกร้อง 2.อุทธรณ์

ความหมาย :

1. การเรียกร้อง ในความหมายทั่วไป หมายถึง การกระทำเพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจ ความช่วยเหลือ หรือความร่วมมือจากบุคคลอื่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การเรียกร้องต่อสาธารณชนเพื่อขอรับบริจาคเงิน หรือการเรียกร้องของเกษตรกรเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือประกันราคาพืชผลทางการเกษตร 2. อุทธรณ์ ในความหมายเกี่ยวกับกฎหมาย หมายถึง การยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการต่อองค์กรใดเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย คำนี้เมื่อใช้เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความ หมายถึง การคัดค้านคำตัดสินหรือคำวินิจฉัย ที่เป็นประเด็นในคดีอย่างเป็นทางการต่อศาลที่มีอำนาจรับอุทธรณ์ การคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเรียกว่า “อุทธรณ์” ส่วนการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรียกว่า “ฎีกา” การอุทธรณ์ หรือการฎีกาจะต้องยื่นที่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น การอุทธรณ์จะต้องทำภายในกำหนดเวลา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย คือ หนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โจทก์หรือจำเลยจะต้องอุทธรณ์ภายในกำหนดถ้าเลยระยะเวลาดังกล่าวถือว่าคดีสิ้นสุด แต่อาจขอให้ศาลอนุญาตขยายเวลาได้ ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิคัดค้านคำสั่งได้ภายในสิบห้าวันนับแต่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเช่นใดแล้วถือว่าคำสั่งนั้นเป็นที่สุด กรณีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จำเลยอาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อพัสดีเพื่อให้พัสดีส่งไปยังศาลก็ได้ สำหรับคดีปกครอง การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองต้องยื่นที่ศาลปกครองชั้นต้น คำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุดจะอุทธรณ์มิได้