Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

DIKA COURT

คำแปล : ศาลฎีกา

ความหมาย :

ศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศไทย มีเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักรมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นตั้น (Court of First Instance) ที่คู่ความสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้โดยตรงตามกฎหมายเฉพาะ นอกจากนั้น ศาลฎีกา ยังเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) (ดู THE CRIMINAL DIVISION FORTHE PERSON HOLDING POLITICAL POSITIONS) คำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตามในคดีอาญา กรณีที่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่อาจมีผลต่อการวินิจฉัย โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ คำว่า “ศาลฎีกา” อาจแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Supreme Court of Thailand” หรือ “The Supreme Court”


DIRECT EFFECT

คำแปล : ผลของสนธิสัญญาที่มีต่อปัจเจกชนโดยตรง

ความหมาย :

การมีผลของสนธิสัญญาต่อปัจเจกชนโดยตรง หมายถึงการที่ปัจเจกชนสามารถบังคับใช้สิทธิภายใต้สนธิสัญญาได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐที่ตนสังกัดอยู่ โดยปกติสนธิสัญญาจะมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างรัฐภาคีของสนธิสัญญาเท่านั้น มิได้มีผลผูกพันปัจเจกชน แต่รัฐภาคีที่ทำสนธิสัญญาอาจจะตกลงกันให้สิทธิตามสนธิสัญญาแก่ปัจเจกชนในการฟ้องร้องเพื่อให้มีการบังคับตามสนธิสัญญาได้โดยตรง ถือว่าสนธิสัญญานั้นมีผลบังคับโดยตรงต่อปัจเจกชน (Direct Effect) เช่น ในอนุสัญญากรุงโรมพ.ศ. 2493 (Rome Convention 1950) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปมีข้อกำหนดให้ปัจเจกชนสามารถฟ้องคดีต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) ได้โดยตรง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสนธิสัญญาที่มีผลบังคับโดยตรงต่อปัจเจกชนนี้ ปัจเจกชนเพียงแต่ได้รับสิทธิบางประการตามสนธิสัญญาเท่านั้นตามที่รัฐภาคีกำหนดไว้ในสนธิสัญญา และสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐการมีสิทธิโดยตรงของปัจเจกชนในการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นแบ่งเป็นผลโดยตรงของสิทธิตามแนวตั้ง (Vertical Direct Effect) และผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอน(Horizontal Direct Effect)


DISADVANTAGED GROUP

คำแปล : กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ความหมาย :

กลุ่มผู้ด้อยโอกาส คือกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากมีความด้อยโดยธรรมชาติ เช่น ผู้พิการ เด็ก สตรี คนชรา ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย ดังนั้นมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงต้องมุ่งปกป้องกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มิให้ถูกละเมิดสิทธิจากการเพิกเฉยละเลยของรัฐ ทั้งนี้รัฐจำเป็นต้องจัดมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures) ที่อาจแตกต่างจากการปฏิบัติต่อบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ อันจะสนองต่อความจำเป็นที่พิเศษ หรือความจำเพาะของแต่ละกลุ่ม เช่น การจัดบริการสาธารณะที่ช่วยเหลือผู้พิการให้ใช้บริการได้ง่ายขึ้น การกำหนดจำนวนในการรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนในพื้นที่ที่ขาดการพัฒนา หรือคนพื้นเมือง การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำระหว่างหญิง ชายในองค์กรต่างๆ เป็นต้น


DISASTER RELIEF

คำแปล : การบรรเทาภัยพิบัติ

ความหมาย :

ในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ย่อมก่อผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ประสบภัยพิบัติ รัฐมีพันธะหน้าที่ในการปกป้องและบรรเทาปัญหาให้แก่ประชาชนทั้งหลายเพื่อให้ผู้ประสบภัยพิบัติสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี หน้าที่ของรัฐในการระดมและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติและฟื้นฟูผู้ประสบภัยไม่จำกัดอยู่แต่เพียงทรัพยากรของรัฐ แต่รัฐต้องร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อให้ได้ทรัพยากร และจะต้องไม่ปฏิเสธหรือปิดกั้นความช่วยเหลือจากรัฐอื่น หรือองค์การบรรเทาภัยพิบัติระหว่างประเทศในกรณีที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้เองตามลำพัง การเยียวยาความเสียหายนั้นทำได้ทั้งในระยะสั้น คือ การส่งสิ่งของไปช่วยเหลือโดยตรงในระยะกลาง เช่น การบูรณะบ้านเรือน และในระยะยาว เช่น การปฏิรูประบบการสำรองอาหาร หรือสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อบรรเทาความเสียหาย


DISSOLUTION POWER

คำแปล : อำนาจในการยุบสภา

ความหมาย :

อำนาจตามกฎหมายที่ให้บุคคลหรือองค์กรใดมีอำนาจยุบสภานิติบัญญัติที่มีผลให้สถานะของสมาชิกสภานิติบัญญัติสิ้นสุดลงทั้งสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้อำนาจยุบสภาเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยการเสนอของฝ่ายบริหาร การยุบสภาจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ ดังนั้นโดยข้อเท็จจริงการยุบสภาจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้อำนาจฝ่ายบริหารในการยุบสภาเพื่อตอบโต้อำนาจการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ และบางครั้งมีขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภา เมื่อพรรครัฐบาลอยู่ในสถานะทางการเมืองที่ได้เปรียบพรรคฝ่ายค้าน


DISTRIBUTIVE JUSTICE

คำแปล : ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร

ความหมาย :

วิธีมองปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรม โดยถือว่าความเป็นธรรมที่แท้จริงในสังคมจะมีได้เพราะการจัดสรรให้เกิดขึ้น ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรรเน้นความสำคัญของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าเงื่อนไขที่เท่าเทียมกัน ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรรเชื่อว่า ในสังคมหนึ่งจะมีกลุ่มผู้เสียเปรียบทางด้านโอกาสเสมอ ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่เป็นผลลัพธ์ จึงเป็นหลักการทางจริยธรรมของสังคม ความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร เป็นหลักการที่นำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์และการกำหนดภาระ หน้าที่ ราคา และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กับภาคส่วนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการแบ่งปันทรัพยากร สินค้าการบริการ และสาธารณูปโภคให้กับสมาชิกในสังคม ดังนั้นแนวความคิดนี้จึงสนับสนุนการใช้มาตรการพิเศษ หรือมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures) เพื่อให้คนที่อยู่ในภาวะด้อยสิทธิ หรือด้อยโอกาส ได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ปัญหาสำคัญของความเป็นธรรมที่เกิดจากการจัดสรร คือ การเลือกระหว่างความเป็นธรรมกับความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด


DIVERSITY

คำแปล : ความหลากหลาย

ความหมาย :

ความหลากหลายเป็นลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์และพืช ที่ทำให้โลกสามารถสร้างความสมดุลได้ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงสังคม หลักสิทธิมนุษยชนถือว่าความหลากหลายของสังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษาและความคิดเห็นของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมโลก ดังนั้นระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงเน้นไปสู่การสร้างหลักห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสถานภาพต่างๆ ทั้งด้านกายภาพ สังคม วัฒนธรรมและความคิดโดยถือว่าตามธรรมชาติมนุษย์มีความแตกต่างกันแต่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นรัฐต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ในด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายเป็นพื้นฐานของแนวคิดในเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรโดยมุ่งให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้านสังคม วัฒนธรรม และความเห็นแตกต่างกันจะช่วยเสริมส่งให้มนุษย์ปรับตัวโดยทั่วไปความเห็นที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีอันสอดคล้องกับแนวทางของประชาธิปไตย


DOMESTIC LAW

คำแปล : กฎหมายภายในประเทศ

ความหมาย :

กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับภายในรัฐ ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ที่มีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป ใครฝ่าฝืนก็จะได้รับผลร้าย เช่น การถูกลงโทษทางอาญา หรือทำให้เสียสิทธิที่พึงได้รับ หรือกฎหมายภายในประเทศอาจเป็นกฎเกณฑ์ที่มีขึ้น เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารปกครองขององค์กรของรัฐ เป็นต้น ในด้านสิทธิมนุษยชน คำนี้ใช้เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างกฎเกณฑ์ที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายระหว่างประเทศ” (ดู INTERNATIONAL LAW)กับกฎเกณฑ์ที่ใช้ภายในของรัฐ หรือ “กฎหมายภายในประเทศ” เป็นหลักกฎหมายว่ารัฐมีพันธะหน้าที่ระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐต้องใช้มาตรการต่าง ๆรวมทั้งการทำให้กฎหมายภายในประเทศสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีที่รัฐเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รัฐต้องอนุวัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา โดยรัฐไม่อาจอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามสนธิสัญญา เนื่องจากไม่มีกฎหมายภายในหรือขัดต่อกฎหมายภายในได้


DOUBLE JEOPARDY

คำแปล : การฟ้องซ้ำในคดีอาญา

ความหมาย :

หลักกฎหมายอเมริกาที่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกฟ้องให้รับโทษซ้ำในความผิดเดียวกัน ซึ่งได้บัญญัติไว้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบทที่เจ็ด มีใจความว่า จะไม่มีบุคคลใดถูกทำให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายซ้ำเนื่องมาจากกระทำความผิดที่เหมือนกัน (“No person shall … be subject for the same offence […] to be twice put in jeopardy of life or limb.”) คำนี้มีความหมายอย่างเดียวกับภาษิตกฎหมาย “ne bis in idem” หรือ “หลักไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกัน” อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีมานับแต่ยุคกรีก โรมัน และได้รับการรับรองไว้เป็นหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักกฎหมาย “Double Jeopardy” นั้นคือ การรับรองภาษิตกฎหมายละตินที่มีมาแต่โบราณไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ตามรูปแบบของการบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา


DUEPROCESS OF LAW

คำแปล : กระบวนการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ความหมาย :

กระบวนการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเป็นหลักกฎหมายที่ถือกำเนิดในยุคสถาปนารัฐสมัยใหม่ที่ต้องการเสริมสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือกระบวนการทางกฎหมายต้องสันนิษฐานว่าบุคคลทั้งหลายเป็นผู้สุจริตต้องมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ หรือกระทำเสมือนเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าบุคคลนั้นเป็นคนผิด พัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของรัฐสมัยใหม่วางกรอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมักจะอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง หรือประโยชน์ส่วนรวมเพื่อเลี่ยงกระบวนการตามกฎหมายอันเป็นการไม่เคารพหลักนิติธรรม รัฐต้องส่งเสริมสิทธิให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานด้านการปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการปฏิบัติราชการด้านการปกครอง เช่น มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในฝ่ายปกครอง และสามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครองของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการชดใช้เยียวยาความเสียหาย


DUTY BEARER

คำแปล : ผู้มีหน้าที่เคารพสิทธิ

ความหมาย :

ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน “ผู้มีหน้าที่” ในลำดับแรกคือ รัฐ เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นระบบการคุ้มครองสิทธิที่ประชาชนเรียกร้องจากรัฐซึ่งมีสัญญาประชาคมต่อพลเมืองทั้งหลายในรัฐว่าเมื่อได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนแล้วก็จะใช้อำนาจไปในการส่งเสริมและสร้างหลักประกันสิทธิทั้งหลายให้แก่ประชาชน ดังที่ได้มีสัญญาประชาคมร่วมกันอยู่ ดังนั้นรัฐมีหน้าที่ในการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคล แต่ปัจจุบันผู้มีหน้าที่อาจหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่ต้องเว้นจากการละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่สามที่ละเมิดสิทธิของประชาชนมากขึ้น เช่น บรรษัทที่ก่อมลพิษในชุมชน กลุ่มอาชญากรข้ามชาติ หรือ กลุ่มติดอาวุธ (ดู Rights Holder)


EARTH DAY

คำแปล : วันคุ้มครองโลก

ความหมาย :

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ “UNEP”) กำหนดให้เป็นวันเพื่อการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโลก ผู้ที่ผลักดันให้เกิดวันคุ้มครองโลก คือเกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเครือข่ายการคุ้มครองโลก (Earth Day Network) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองวันคุ้มครองโลก เพื่อรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี วันคุ้มครองโลกในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990)หลังจากการตายของนายสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยอาจารย์และนักศึกษา 16 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ในประเทศไทย และได้จัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นมรดกของโลก เป้าหมายของวันคุ้มครองโลกที่สำคัญ ได้แก่ การลดภาวะโลกร้อนการรักษาสภาพป่า การให้มีกฎหมายห้ามค้าสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธ์ุการรักษาระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และการเสริมสร้างพลังองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องโลก


ECOLOGICAL DEFICIT

คำแปล : ภาวการณ์ขาดดุลในระบบนิเวศ

ความหมาย :

การขาดดุลในระบบนิเวศ เป็นคำที่ใช้เรียกภาวการณ์ไม่สมดุลกับความสามารถของธรรมชาติในการสร้างทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนการบริโภคได้ทัน และศักยภาพในการดูดซับรวมทั้งความสามารถในการกำจัดของเสียที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ตลอดจนผลในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ


ECOLOGICAL FOOTPRINT

คำแปล : ร่องรอยความสมดุลของระบบนิเวศ

ความหมาย :

ร่องรอยความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นการวัดค่าความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นมาตรวัดค่าสัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกับการทดแทนความสูญสิ้นไปของทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้ของมนุษย์ เป็นมาตรการในการวัดค่าให้ทราบว่าการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคสำหรับการใช้สอยจะสิ้นเปลืองทรัพยากรต่อมนุษย์โดยคิดคำนวณความเป็นมนุษย์แต่ละคนในแต่ละเมืองของแต่ละประเทศ หน่วยของการวัดค่าดังกล่าว เรียกว่า Global Acres หากผลของการตรวจวัดพบว่า สัดส่วนของการใช้ทรัพยากรไม่สมดุลกับความสามารถของธรรมชาติในการสร้างทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนการบริโภคได้ทัน เรียกว่าเกิดการขาดดุลในระบบนิเวศ (Ecological Deficit)


ECOLOGICAL TAXATION

คำแปล : ภาษีเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

ความหมาย :

ภาษีเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ วิวัฒนาการมาจากแนวคิดที่ว่าผู้ประกอบการ หรือ ผู้นำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษ ควรจะต้องรับผิดชอบในระดับที่เพียงพอ และได้สัดส่วนกับการก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดสายของการผลิต ย้อนหลังขึ้นไปจนถึงผลกระทบจากการเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิต ผลกระทบจากกระบวนการผลิต ผลกระทบจากการบริโภค และวิธีการกำจัดซากสินค้า ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบตั้งแต่การออกแบบสินค้าที่จะลดทอน ผ่อนปรนการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดสายของการผลิตให้น้อยที่สุด และจำเป็นที่จะต้องยอมรับ ผูกพันตามกฎหมาย ในการเสียภาษีคุ้มครองระบบนิเวศแบบองค์รวม ในส่วนที่ไม่สามารถออกแบบเพื่อลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีคุ้มครองระบบนิเวศ มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการดำเนินการ หรือ กิจกรรมใดๆ ที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้รับสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ ภาษีสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนี้มีขึ้นในประเทศต่างๆในยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยจัดเก็บภาษีไฟฟ้า น้ำมัน และภาษีเชื้อเพลิง เป็นต้น ภาษีดังกล่าวนี้มุ่งที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม


ECONOMIC AND SOCIAL COUNCIL

คำแปล : คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ

ความหมาย :

องค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติ มีหน้าที่ในการประสานความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างรัฐสมาชิกสหประชาชาติ และความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับองค์การระหว่างประเทศที่เป็นทบวงชำนัญพิเศษ (Specialise Agencies) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกห้าสิบสี่ประเทศ ได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีวาระดำรงตำแหน่งวาระละสามปี สมาชิกของคณะมนตรีฯ ได้มีการกำหนดสัดส่วนเพื่อให้เป็นตัวแทนของภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีสัดส่วนดังนี้ • แอฟริกา สิบสี่ประเทศ • เอเชีย สิบเอ็ดประเทศ • ยุโรปตะวันออก หกประเทศ • ละตินอเมริกาและคาริบเบียน สิบประเทศ • ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและโอเชียเนีย สิบสามประเทศ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยมีองค์กรย่อยที่สำคัญ คือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ดู UNITED NATIONS COMMISSION ON HUMAN RIGHTS) เมื่อขอบเขตภารกิจด้านเศรษฐกิจและสังคมมีหลายด้าน ประกอบกับงานด้านสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมากขึ้นใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)สมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงได้มีมติให้ยกระดับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (ดู UNITED NATIONSHUMAN RIGHTS COUNCIL) ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีฐานะเป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ เทียบเท่ากับคณะมนตรีเศรษฐกิจ และให้โอนภาระงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมดไปอยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน


ECONOMY OF SCALE

คำแปล : การประหยัดจากขนาดการผลิต

ความหมาย :

การประหยัดจากขนาดการผลิต หมายถึง การประหยัดที่เกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจากจำนวนสินค้าที่ผลิตมีจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ถูกแบ่งเฉลี่ยให้ต่ำลงโดยจำนวนสินค้าที่ผลิตมีจำนวนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า มีสองลักษณะ ลักษณะแรกคือ การผลิตที่มีประสิทธิภาพจากปัจจัยภายนอก (External Economies) ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของอุตสาหกรรม ไม่ใช่ขนาดของธุรกิจ และลักษณะที่สอง คือ การผลิตที่มีประสิทธิภาพจากปัจจัยภายใน (Internal Economies) ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงที่ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจแต่ละรายทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ ครอบคลุมภูมิศาสตร์ที่มีความกว้างขวางกว่า ในทางกลับกันการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงเพราะมีการร่วมใช้ทรัพยากร มีการผลิตที่สูงขึ้นโดยมีกำลังซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย สภาวะดังกล่าวนำมาสู่การระดมตลาดแรงงานขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าทำให้มีการจ้างแรงงานมากขึ้น มีการสร้างงานมากขึ้น ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองมากขึ้นโดยปริยาย เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา และการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เพราะมีรายได้สูงขึ้น มีโอกาสในการตัดสินใจเลือกรูปแบบในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตามการผลิตจำนวนมากจะทำให้มีส่วนเกินของสินค้าทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เกิดภาวะสูญเปล่า เกิดภาวะการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในแง่ธุรกิจผลตอบแทนหรือกำไรจะลดลง (Diminishing Return) ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์


EDUCATION FOR ALL

คำแปล : การศึกษาเพื่อปวงชน

ความหมาย :

แผนการรณรงค์ เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือขององค์การยูเนสโก(UNESCO) ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านหนึ่งของยูเนสโกต่อมาได้มีการประชุมเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ที่จัดขึ้น ณ ตำบลจอมเทียน ใกล้เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี เมื่อ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ในการประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก 155 ประเทศได้รับรอง “ปฏิญญาว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน” หรือที่เรียกว่า “ปฏิญญาจอมเทียน” ปฏิญญาฯ ได้ย้ำว่า การศึกษาเป็นสิทธิอันพึงมีของประชากรโลกเนื่องจากการศึกษาจะช่วยให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในชุมชน และสังคมโลกได้อย่างมั่นคง ดังนั้น ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนของตนอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ และต้องถือเป็นพันธกิจที่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ต้องรีบดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่สำคัญหกประการ ภายในระยะเวลาสิบปี (ภายใน พ.ศ. 2553 หรือ ค.ศ. 2010) เป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วย 1. ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ 2. มุ่งเน้นความเสมอภาคของผู้ศึกษา 3. ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา 4. ขยายวิธีการและขอบข่ายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5. ส่งเสริมให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ 6. เสริมสร้างพันธมิตรทางการศึกษา องค์การยูเนสโกได้ประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนอีกสองครั้ง คือ ใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และใน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ที่จอมเทียนฯ เพื่อเป็นการทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนการศึกษาเพื่อปวงชน


EDUCATION, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการศึกษา

ความหมาย :

สิทธิในการศึกษารับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส เช่น ผู้ยากไร้ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับสิทธิในการศึกษา และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น รัฐต้องจัดนโยบายสาธารณะและบริการสาธารณะให้มีการจัดการศึกษาอบรมโดยองค์กรเอกชนหรือภาคเอกชนทั้งนี้ยังต้องจัดให้มีทางเลือกในการศึกษาของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมจากรัฐ สิทธิในการศึกษายังรวมถึงเสรีภาพของบุคคลที่จะเลือกเรียนตามหลักสูตรหรืออาชีพที่ตนเองต้องการ หรือเสรีภาพที่จะเรียนในโรงเรียนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมตลอดจนภาษาของตนเอง


EGALITARIANISM

คำแปล : แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันทุกด้าน

ความหมาย :

แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันทุกด้าน หมายถึง แนวคิดทางการเมืองซึ่งเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกันในด้านต่างๆ เพราะมนุษย์เกิดมามีความเท่าเทียมกัน แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับคำสอนของ ศาสนาคริสต์ ที่ว่าพระเจ้ารักมนุษย์ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ คำว่า “Egalitarianism” นี้ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างอิงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันในหลายลักษณะ เช่น ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม การมีรายได้ การศึกษา ระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้กับการเคารพในสิทธิมนุษยชน