CONVENTIONAL CRIMES คำแปล : อาชญากรรมแบบฉบับ ความหมาย :
การกระทำความผิดอาญา ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นความผิดทั่วไปในสังคมที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาชญากรรมเหล่านี้มีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมักกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออย่างรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การฆ่า ข่มขืนทำร้ายร่างกาย ลักขโมย ฉ้อโกง บางทีภาษาพูดจะเรียกความผิดประเภทนี้ว่า “ความผิดประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น” เป็นต้น คำที่ตรงกันข้ามกับอาชญากรรมแบบฉบับ คือ อาชญากรรมนอกรูปแบบ (Non-Conventional Crimes) ได้แก่ อาชญากรรมอันเกิดจากการกระทำความผิดโดยตำแหน่งหน้าที่ทั้งภาคเอกชนและรัฐ เช่น อาชญากรรมทางธุรกิจ อาชญากรรมองค์กร ซึ่งบางทีเรียกว่า อาชญากรรมคอปกขาว (White Collar Crimes) ซึ่งมักเป็นการกระทำความผิดในทางหน้าที่ของบุคลากรระดับสูงขององค์กร หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ นอกจากนั้น ยังมีความผิดในทางการเมือง (Political Crimes)ความผิดที่มีลักษณะเป็นองค์กร เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น |
CORE CRIMES คำแปล : อาชญากรรมหลัก ความหมาย :
อาชญากรรมหลักในความหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึงอาชญากรรมสำคัญที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติอย่างรุนแรงที่ถือว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) มีอำนาจศาลเหนืออาชญากรรมเหล่านั้นโดยอัตโนมัติอาชญากรรมหลักภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) มี 4 ประเภท คือ 1. อาชญากรรมสงคราม (War Crime) 2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) 3. อาชญากรรมที่เป็นการล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of Genocide) 4. อาชญากรรมการรุกราน (Crime of Aggression) ปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดของ “อาชญากรรมการรุกราน” ดังนั้น ศาลจึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรรมนี้ อาชญากรรมหลักจึงแตกต่างจากอาชญากรรมระหว่างประเทศอื่น เช่น การค้ายาเสพติดข้ามแดน หรือการก่อการร้าย |
CORPORAL PUNISHMENT คำแปล : การลงโทษทางกาย ความหมาย :
การลงโทษทางกาย คือการลงโทษที่กระทำต่อร่างกายของบุคคล เช่น การเฆี่ยน การโบย การตัดมือ ซึ่งต่างกับการลงโทษโดยวิธีการจำกัดเสรีภาพ (เช่น จำคุก หรือกักขัง) หรือการลงโทษทางด้านทรัพย์สิน (เช่น ค่าปรับหรือการริบทรัพย์สิน การชดใช้ค่าเสียหาย) การลงโทษทางกายถือว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเพราะเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้แก่บุคคลถือว่าเป็นการลงโทษที่ลดทอนหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสะท้อนแนวคิดการลงโทษแบบเก่า ในขณะที่แนวคิดยุคปัจจุบันเน้นไปที่การแก้ไขเยียวยา เพราะถือว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ ในทางทฤษฎีการลงโทษประหารชีวิตถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษทางกาย แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามโทษประหารเด็ดขาดจึงทำให้เกิดปัญหาว่า โทษประหารละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อันแตกต่างไปจากการลงโทษทางกายประเภทอื่นที่ถือว่าขัดต่อสิทธิมนุษยชน การลงโทษโดยให้ทำงานหนักแม้ว่าจะขัดต่อมาตรฐานระหว่างประเทศก็ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษทางกาย |
CORPORAL PUNISHMENT คำแปล : การลงโทษทางกาย ความหมาย :
การใช้มาตรการที่เป็นโทษทางอาญาที่กระทำต่อร่างกายของบุคคล เช่น การเฆี่ยนหรือโบย การตัดอวัยวะ เป็นต้น มักกระทำเพื่อให้เกิดความเจ็บปวด เพื่อประจาน เพื่อให้หลาบจำ หรือเพื่อทำให้เหยื่อของอาชญากรรมรู้สึกพึงพอใจ การลงโทษทางกายสะท้อนแนวคิดการลงโทษแบบแก้แค้นทดแทน ปัจจุบันแนวคิดของการลงโทษเน้นที่การแก้ไข ความประพฤติของผู้กระทำผิด เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ การลงโทษทางกายถือว่าเป็นการลงโทษที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน |
CORPORATE CRIME คำแปล : อาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ ความหมาย :
การกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การพาณิชย์ หรือการเงิน หรือการกระทำที่อาศัยช่องทางที่สัมพันธ์กับอาชีพของตนแสวงหาประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ ไม่ว่าจะทำโดยคนเดียว หรือสมคบกับบุคคลอื่น และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น องค์กร หรือต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ลักษณะสำคัญของอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ คือ เป็นการกระทำของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีตำแหน่ง หน้าที่การงาน มีความรู้ความสามารถ หรือ มีสถานภาพในสังคม คำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ เช่น Business Crime, Economic Crime อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ White-collar Crime |
CORPORATE RESPONSIBILITIES คำแปล : ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความหมาย :
ความรับผิดชอบของบรรษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลในทางพาณิชย์ต่อสิทธิมนุษยชน บางทีใช้คำว่า ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Corporate responsibility for human rights violation)นับเป็นประเด็นใหม่ของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการเน้นไปที่การควบคุมบรรษัทซึ่งถือว่าเป็น ผู้กระทำ (Actor) ไม่ให้ละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐจะต้องปกป้องประชาชนจากการดำเนินธุรกิจของบรรษัทที่มีพฤติการณ์ซี่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการควบคุมบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ ในปัจจุบันจึงมีการพยายามสร้างประมวลความรับผิดชอบของบรรษัทขึ้น โดยเน้นการควบคุมพฤติกรรมการละเมิดดังกล่าว รัฐย่อมมีหน้าที่ในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ |
CORRUPTION คำแปล : การทุจริต ความหมาย :
ความหมายทั่วไปหมายถึง การใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจหรืออิทธิพลที่ตนมีอยู่โดยมิชอบเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือประโยชน์อื่น เช่น การรับสินบน ฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมถึงการใช้ตำแหน่งหน้าที่อำนวยประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรมโดยการเลือกที่รักมักที่ชัง เช่นการเห็นแก่ญาติพี่น้อง การใช้ระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ การทุจริต เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อธรรมาภิบาล บั่นทอนความเป็นธรรมของสังคมและขัดต่อหลักนิติธรรม นอกจากนั้นยังเกิดผลร้ายต่อสิทธิมนุษยชนทั้งในด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากการทุจริตนำไปสู่การลิดรอนความเป็นธรรมและความถูกต้องของสังคม ทรัพยากรของรัฐหรือผลประโยชน์ของสังคมอาจถูกนำไปจัดสรรให้คนบางคน หรือบางกลุ่มอันเนื่องมาจากนโยบายที่เกิดจากการทุจริต สหประชาชาติได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาการทุจริตโดยได้จัดทำกรอบกฎหมายและการดำเนินงานเพื่อการต่อต้านการทุจริต เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนขององค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 (United Nations Declaration against Corruption andBribery in International Commercial Transactions1996) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (Convention against Corruption2003) อย่างไรก็ตามกรอบกฎหมายดังกล่าวยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการทุรจิตกับสิทธิมนุษยชน ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาการทุจริต หมายถึงการทุจริตของผู้แทนของรัฐในการทำสนธิสัญญาการทุจริต ของตัวแทนรัฐดังกล่าวหมายถึงการประพฤติมิชอบของตัวแทนรัฐที่เกิดจากการกระทำของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น รัฐอีกฝ่ายนั้นได้ให้สินบน (Bribery) หรือผลประโยชน์อื่นใดที่มิชอบ หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ใดๆแก่ตัวแทนรัฐนั้น จนทำให้ตัวแทนรัฐนั้นตกลงแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาทำให้ผูกพันรัฐเพราะเห็นแก่สินบน หรือผลประโยชน์ที่ได้รับการเสนอให้ จึงถือได้ว่ารัฐมิได้แสดงเจตนายินยอมผูกพันรัฐโดยสมัครใจ ซึ่งมิได้เป็นไปตามหลักการในการทำสนธิสัญญานี้รัฐจึงอ้างเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ในข้อนี้ไม่ได้ และรัฐภาคีดังกล่าวต้องผูกพันตามสนธิสัญญา |
COUNCIL OF EUROPE คำแปล : สภาแห่งยุโรป ความหมาย :
สภาแห่งยุโรปเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาคของรัฐในทวีปยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสงคราม และการขัดแย้งในยุโรป และเพื่อสร้างเอกภาพและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นมูลฐาน สภาแห่งยุโรปก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยเพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น สภาแห่งยุโรปถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นภารกิจหลักของสภาแห่งยุโรปซึ่งได้มีการจัดตั้งและพัฒนากลไกทั้งทางด้านกฎหมายและกลไกทางด้านสถาบันต่างๆ เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแบบประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สภาแห่งยุโรปมีองค์กรหลักสามองค์กรคือ 1. คณะกรรมการรัฐมนตรี (Committee of Ministers) ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐสมาชิกทุกรัฐมีหน้าที่ในการตัดสินใจที่มีผลผูกพันองค์กร 2. ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป(Parliamentary Assembly) ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเสนอแต่งตั้งจากรัฐสภาของแต่ละประเทศโดยมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนของจำนวนของประชากรของแต่ละประเทศ มีหน้าที่ในการศึกษาและทำคำเสนอแนะด้านต่างๆ ไปยังคณะกรรมการรัฐมนตรีและสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุโรป 3. สำนักเลขาธิการ (Secretariat) มีหน้าที่ในการบริหารงานทั้งปวงของสภาแห่งยุโรปรวมทั้งการจัดทำแผนงานและโครงการต่างๆทางด้านสิทธิมนุษยชน กลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสภาแห่งยุโรปที่สำคัญคืออนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (European Convention on Human Rights and Fundamental Freedoms) และกฎบัตรสังคมยุโรป (European Social Charter) อนึ่ง มักมีผู้เข้าใจสับสนระหว่าง “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับ “European Council หรือ คณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นองค์กรย่อยของ สหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร |
COUP D’ ETAT (French) คำแปล : รัฐประหาร ความหมาย :
รัฐประหารคือการใช้กำลังหรือใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายล้มล้างรัฐบาลหรือคณะผู้ใช้อำนาจบริหารแผ่นดิน รัฐประหารแตกต่างกับการปฏิวัติ (Revolution) ในข้อที่ว่าการปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือโครงสร้างทางการเมืองและทางสังคมของประเทศแต่รัฐประหารเป็นเพียงการล้มล้างอำนาจปกครองเดิม |
COURT OF FIRST INSTANCE คำแปล : ศาลชั้นต้น ความหมาย :
ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นศาลแรกเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดเป็นอย่างอื่น โดยทั่วไปศาลชั้นต้นจะมีหน้าที่สืบพยานหลักฐาน ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะไม่มีการสืบพยานหลักฐานบางทีเรียกศาลชั้นต้นนี้ว่า “ศาลที่ไต่สวนพยานหลักฐาน (Trial Court)” ในประเทศไทย ศาลชั้นต้นมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญาศาลจังหวัด และศาลแขวง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีศาลพิเศษที่มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะประเภท เช่น ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากรกลาง และศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น |
COURT OF JUSTICE คำแปล : ศาลยุติธรรม ความหมาย :
สถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคมในระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง ส่วนคดีปกครองและคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา 1. ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลที่รับพิจารณาคดีในชั้นแรก เช่น ศาลแพ่งและศาลอาญา ศาลแขวง หรือศาลจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งศาลที่มีอำนาจพิเศษเฉพาะคดี เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงานศาลภาษีอากรกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย เป็นต้น 2. ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลชั้นกลางมีอำนาจหน้าที่ทบทวนคำวินิจฉัยคดีแพ่ง หรือคดีอาญาที่ผ่านการพิจารณาจากศาลชั้นต้นมาแล้วศาลอุทธรณ์จะไม่มีการสืบพยานหลักฐานใหม่ แต่จะพิจารณาจากสำนวนพยานหลักฐานที่ได้จากศาลชั้นต้น และคำคู่ความที่ยื่นขึ้นมา ศาลอุทธรณ์มีสองประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ มีที่ตั้งอยู่ณ กรุงเทพมหานคร และศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ อีกแปดศาล 3. ศาลฎีกา เป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของคดีที่ผ่านการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์มาแล้ว แต่มีกรณียกเว้น คือ ในคดีความผิดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาจะมีหน้าที่ในการไต่สวนพยานหลักฐานเสมือนศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีเพียงแห่งเดียวตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ศาลยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์คุณค่าของสังคมที่มักขาดความชัดเจนและมีการทับซ้อนกันระหว่างสิทธิและหน้าที่ หรือระหว่างผู้ที่กล่าวอ้างสิทธิต่างประเภทกัน ในระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่น ประเทศไทย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรอง การตีความกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงมีความสัมพันธ์กับความเข้าใจของผู้พิพากษาที่ตีความเนื้อหาสาระและขอบเขตของสิทธิมนุษยชนอย่างมากเป็นต้น อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำว่าศาลยุติธรรมหมายความรวมถึง ศาลปกครอง และศาลทหารด้วย |
CRIME AGAINST HUMANITY คำแปล : อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ความหมาย :
อาญากรรมต่อมนุษยชาติเป็นการกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่งที่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ความผิดนี้แรกเริ่มได้กำหนดขึ้นในธรรมนูญศาลทหารพิเศษ (Charter of the International Military Tribunal)หรือที่รู้จักกันในนาม ธรรมนูญของศาลอาชญากรรมสงครามแห่งนูเรมเบอร์ก ที่จัดตั้งศาลทหารขึ้นเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมของผู้นำนาซีเยอรมันในค.ศ. 1945(พ.ศ. 2488)แม้ภายหลังได้พัฒนามาเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแต่อย่างไรก็ตามลักษณะและองค์ประกอบลักษณะรายละเอียดของความผิดฐานนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีการรับรองธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute)ในค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541)ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจึงชัดเจนขึ้น โดยธรรมนูญกรุงโรมได้จำแนกองค์ประกอบความผิดที่ยอมรับกันอยู่เดิมเป็นสามประการด้วยกัน คือ 1. ต้องเป็น "การกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีเข่นฆ่าสังหารทั่วไปและอย่างเป็นระบบ" 2. ต้องรู้ว่าเป็นการกระทำต่อเป้าหมายที่เป็นประชากรพลเรือน 3. ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุถึงการดำเนินการตาม "นโยบายของรัฐหรือขององค์กร" นอกจากองค์ประกอบด้านจิตใจ (หรือเจตนา) ธรรมนูญได้กำหนดองค์ประกอบภายนอก (ลักษณะการกระทำ) ที่ถือว่าเป็นความผิด ไว้ 11 ประเภทด้วยกัน อาชญากรรมต่อมนุษยชาติอาจจะเป็นการกระทำตามนโยบายขององค์กร เช่น กลุ่มกบฏ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับฝ่ายรัฐบาลก็ได้ นอกจากนั้น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติอาจกระทำในยามสงบหรือในยามสงครามก็ได้ |
CRIME OF AGGRESSION คำแปล : อาชญากรรมการรุกราน ความหมาย :
ความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงประเภทหนึ่งที่นับเป็นความผิดสำคัญอยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ดู Core Crimes) เนื่องจากในการร่างธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า อาชญากรรมการรุกรานได้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาได้ ต่อมาใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ มีขึ้น ณ กรุงคัมพาลา ประเทศยูกันดา ได้รับรองคำนิยามคำว่า อาชญากรรมการรุกราน ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 8 ทวิ ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ คำว่า “อาชญากรรมการรุกราน” หมายถึง การวางแผน การตระเตรียมการ การริเริ่มหรือการดำเนินการกระทำโดยบุคคลซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใช้อำนาจอย่างแท้จริงในการควบคุมทางการเมืองหรือทางทหารของรัฐ ในการรุกรานอันเป็นการกระทำที่มีลักษณะการกระทำและความรุนแรงขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดแจ้ง ส่วนคำว่า “การกระทำที่เป็นการรุกราน” หมายถึง การใช้กองกำลังรบซึ่งกระทำโดยรัฐกระทำต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นเอกราชทางการเมืองของอีกรัฐหนึ่ง หรือการกระทำอื่นใดที่ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ อนึ่ง ความผิดฐานอาชญากรรมการรุกรานนี้ยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากรัฐภาคีธรรมนูญศาลยังไม่ได้ให้สัตยาบันครบจำนวนสามสิบประเทศ(ดู RATIFY) |
CRIME VICTIM / VICTIM OF CRIME คำแปล : เหยื่ออาชญากรรม ความหมาย :
บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ในทางนิติศาสตร์และอาชญาวิทยา บุคคลที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรมคือ บุคคลที่ถูกกระทำโดยตรง ส่วนสังคมมิใช่เหยื่ออาชญากรรม แต่สังคมได้รับผลกระทบโดยอ้อมจากอาชญากรรม การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมีเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมทางอาญาอันประกอบด้วย ตำรวจ ศาล และราชทัณฑ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและอาชญากรรม ตลอดจนโอกาสของการก่ออาชญากรรม เป็นต้น ในด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น ถูกฆ่า ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกลักทรัพย์ หรือถูกเหยียดสีผิว ถือว่ารัฐบกพร่องต่อหน้าที่ในการประกันสิทธิเสรีภาพดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อได้รับการเยียวยาจากการกระทำความผิดอาญา หลายประเทศได้มีมาตรการเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อที่ถูกกระทำความผิดทางอาญา การชดเชยความเสียหายให้เหยื่ออาชญากรรมโดยรัฐ เริ่มมาจากแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน (Compensation) ต่อผู้เสียหาย ต่อมาได้ขยายไปถึงการช่วยเหลือเหยื่อ (Victim Assistance) รูปแบบอื่น ประเทศไทย ได้มีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้อย่างแคบ หมายถึง“บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น โดยที่ตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดนั้น” ตามความหมายนี้ เหยื่ออาชญากรรมที่ได้รับความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน เช่น การฉ้อโกง ลักทรัพย์ หรือความเสียหายต่อเสรีภาพ เช่นการข่มขู่ หรือลักตัวไปเรียกค่าไถ่ หรือถูกเหยียดหยามเรื่องสีผิว จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับค่าตอบแทน |
CRIMINAL DIVISION OF THE SUPREME COURT FOR THE PERSON HOLDING POLITICAL POSITIONS, THE คำแปล : แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ความหมาย :
แผนกงานคดีแผนกหนึ่งของศาลฎีกา จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติอันเกิดจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต รวมถึงบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวด้วย องค์คณะผู้พิพากษาในแผนกนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ที่คัดเลือกสำหรับแต่ละคดีโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาการพิจารณาคดีจะเป็นแบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาคดีอาญาทั่วไป ศาลจะยึดถือสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหลัก ในการพิจารณา ผู้พิพากษาที่พิจารณาในคดีทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาในการประชุมก่อนการลงมติ แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลสูง คำสั่งและคำพิพากษาของศาลฯ เป็นที่สุด เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา อนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น |
CRIMINAL LAW, PENAL LAW คำแปล : กฎหมายอาญา ความหมาย :
กฎหรือเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับเพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคลในการอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษอาญา กฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมซึ่งต่างจากกฎหมายแพ่งที่เป็นเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนสภาพบังคับของกฎหมายอาญาคือ “โทษ” ส่วนสภาพบังคับของกฎหมายแพ่งเน้นที่การชำระหนี้ ทางทฤษฎีความผิดอาญาแบ่งเป็นสองประเภท คือความผิดที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวเอง (mala in se) และความผิดที่เกิดจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด (mala prohibita) ตามแนวคิดของนักกฎหมายมหาชน อาชญากรรมเป็นการกระทำความผิดต่อรัฏฐาธิปัตย์อันเป็นการละเมิดต่อรัฐ เพราะกฎหมายอาญากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน เป็นเสมือนพันธสัญญาระหว่างรัฐกับปัจเจกชน โดยรัฐบัญญัติให้ปัจเจกชนมีหน้าที่กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด เมื่อปัจเจกชนกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายอาญาจึงเป็นการละเมิดต่อรัฐ แม้ว่าในความผิดบางอย่างมีผู้เสียหายอื่น เช่น ความผิดฐานฆ่าคน ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ และหมิ่นประมาท เป็นต้น ก็ยังถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น เมื่อมีการกระทำความผิดอาญา นอกจากบุคคลที่เป็นผู้เสียหายจริงมีอำนาจฟ้องแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้อัยการมีอำนาจฟ้องซึ่งเป็นการฟ้องแทนสาธารณชนในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ตามแนวคิดของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาเป็นมาตรการทางกฎหมายในการประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดโดยบุคคลที่สาม เช่น • ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เป็นการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของบุคคล • ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคล • ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง เป็นการคุ้มครองสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยในร่างกายของบุคคล |
CRIMINAL PROCEDURE LAW คำแปล : กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ความหมาย :
กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ กฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญานับตั้งแต่เมื่อความผิดเกิดขึ้น หรือมีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจนถึงการพิพากษาลงโทษ และการปล่อยตัวนักโทษ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายในการดำเนินคดีอาญา และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกกล่าวหา หรือถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญาเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นกลั่นแกล้ง หรือถูกปฏิบัติมิชอบโดยเจ้าพนักงาน/เจ้าหน้าที่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีขอบเขตครอบคลุมการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไปนี้ • การสอบสวน ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน นับตั้งแต่ความผิดเกิดขึ้น การรวบรวมพยานหลักฐานการจับกุม การตั้งข้อกล่าวหา การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องโดยอัยการและการปล่อยตัวชั่วคราว • การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งจะเริ่มจากการไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การนำพยานเข้าสืบ และการสั่งหรือการพิพากษาของศาล • การอุทธรณ์และฎีกา เป็นกระบวนการพิจารณาโดยศาลสูง เมื่อโจทก์หรือจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็สามารถคัดค้านต่อศาลสูงกว่า คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ (ดู Appeal, Court of Appeal, Dika Court) • การบังคับตามคำพิพากษา การอภัยโทษ การลดโทษ และการปล่อยตัวจำเลย หรือนักโทษ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีความสำคัญอย่างมากต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หลักการต่างๆ ในกฎหมายนี้อยู่บนพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น หลักเกณฑ์ เรื่องการจับ การแจ้งข้อหา การกระทำผิด ระยะเวลาในการควบคุมตัวสิทธิที่จะมีทนายความ สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เป็นต้น |
CULTURAL RELATIVISM (OF HUMAN RIGHTS) คำแปล : สัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน ความหมาย :
สัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีสิทธิมนุษยชนที่ปฏิเสธความเป็นสากล / สากลภาพของสิทธิมนุษยชนมาจากความเห็นที่ว่าในแต่ละสังคมมีความแตกต่างทางด้านค่านิยม ความคิด วัฒนธรรม ธรรมเนียม และวิธีคิด ดังนั้นการปรับใช้หรืออธิบาย ตีความเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องพิจารณาความแตกต่างของแต่ละสังคม แนวคิดแบบสัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนได้ยกขึ้นอ้างโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศในโลกที่สาม หรือประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการเพื่อใช้ตอบโต้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ดู Relativity of Human Rights) แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับสัมพัทธภาพทางวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน คือ แนวคิดแบบความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน (Universality of Human Rights) |
CULTURALIDENTITY, THE RIGHT TO คำแปล : สิทธิในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความหมาย :
สิทธิในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นสิทธิที่ใช้เรียกร้องเพื่อดำรงรักษาวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เพื่อไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติจากชนกลุ่มใหญ่อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ นอกจากนั้น สิทธิใน อัตลักษณ์ยังเป็นการยับยั้งไม่ให้รัฐใช้นโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อกลืนวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย สิทธิมนุษยชนถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมเป็นสิ่งที่มีความดีอยู่ในตัว และสมาชิกของสังคมควรต้องมีใจกว้างยอมรับวัฒนธรรมที่ต่างกันเพราะความแตกต่างนั้นยังประโยชน์แก่ทุกคน |
CURFEW คำแปล : เคอร์ฟิว / การห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด ความหมาย :
คำสั่งของรัฐบาลให้ประชาชนกลับเคหสถานก่อนเวลาที่ได้กำหนดหรือห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมักเป็นเวลากลางคืนและมักใช้ภายหลังมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน (ดู STATE OF EMERGENCY) คำว่า “CURFEW” หรือ “เคอร์ฟิว” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า COUVREFEU แปลว่า “ดับไฟ” (COUVRE = ดับ, FEU = ไฟ) โดยทั่วไป การใช้ เคอร์ฟิว / การห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด มักทำพร้อมกับการจำกัดหรือการห้ามการชุมนุม จะทำในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดขึ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย อันเนื่องมาจากสถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งรัฐหรืออันอาจทำให้รัฐตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวะการรบหรือการสงคราม ซึ่งฝ่ายบริหารของรัฐมีอำนาจประกาศว่าพื้นที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ ซึ่งให้ อำนาจพิเศษในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้เคอร์ฟิว / ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนดจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหลายด้าน เช่น ในด้านการเดินทาง การประกอบอาชีพ การศึกษา การบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ และการใช้ชีวิตร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นในประกาศดังกล่าวถ้าไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม หรือความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ