COMMON ARTICLE 3 (OF 1949 GENEVACONVENTIONS) คำแปล : ข้อ 3 ร่วม (แห่งอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 สี่ฉบับ) ความหมาย :
ข้อ 3 ร่วม” หมายถึง ข้อ3 ของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ( พ.ศ. 2492)ทั้ง สี่ฉบับ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในยามที่เกิดสงครามหรือพิพาทด้วยอาวุธ โดยข้อ3 ของอนุสัญญาทั้งสี่ฉบับ ได้ใช้ถ้อยคำและเนื้อหาอย่างเดียวกัน ข้อ3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาใช้บังคับกับข้อพิพาทที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ หรือการพิพาทด้วยอาวุธภายในประเทศ ข้อ3 ของอนุสัญญาทั้งสี่ฉบับ ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อบุคคล โดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการคุ้มครองบูรณภาพเหนือเนื้อตัวร่างกายและจิตใจ รวมถึงต้องปฏิบัติโดยใช้กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายต่อพลรบที่เป็นเชลยศึก และเป็นกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือนด้วย |
COMMUNICATION คำแปล : เรื่องร้องเรียน ความหมาย :
เรื่องร้องเรียนเป็นเอกสารที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลทำขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อเสนอต่อองค์กรหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) กล่าวหาว่ารัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ “เรื่องร้องเรียน”จึงเป็นคำที่ใช้เรียก เอกสาร ที่สื่อสารถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนภายใต้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนในกระบวนการสอดส่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกตามสนธิสัญญา หรือ Treaty-Based เช่น ICCPR ข้อ 41 และกลไกภายใต้กลไกตาม กฎบัตรฯ หรือ Charter-Based เช่น กระบวนการ 1235 และกระบวนการ 1503 |
COMMUNICATION, THE RIGHT TO คำแปล : สิทธิในการสื่อสาร ความหมาย :
สิทธิในการสื่อสาร เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมกรสื่อสารในสังคมจำเป็นต้องติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างหลากหลายกับผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งหลาย โดยรัฐต้องให้การคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนทั้งในส่วนที่เป็น “เนื้อหา” และ “ช่องทาง” ของการสื่อสารโดยเน้นความอิสระปราศจากการแทรกแซงโดยไม่จำเป็น |
COMPENSATION คำแปล : ค่าชดเชย / การชดเชย ความหมาย :
ค่าชดเชย หรือ การชดเชยในความหมายทั่วไปหมายถึง ค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิดสิทธิ ซึ่งผู้เสียหายได้รับจากผู้กระทำละเมิดหรือจากบริษัทประกันภัย สิทธินั้นอาจเป็นสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่กฎหมายรับรอง ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน คำนี้หมายถึง ค่าชดเชย / การชดเชยความเสียหาย เป็นเงินที่ศาลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีหรือเรื่องราวร้องทุกข์ กำหนดให้รัฐจ่ายให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแม้ว่าสิทธินั้นจะไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมายภายใน |
COMPETITIVE EDGE คำแปล : การได้เปรียบคู่แข่งขันอย่างเด่นชัด ความหมาย :
การได้เปรียบคู่แข่งขันอย่างเด่นชัด หมายถึงการมีความได้เปรียบคู่แข่งในด้านองค์ประกอบของการผลิตและการตลาด ซึ่งลูกค้า หรือ ผู้บริโภค ได้ให้คุณค่าแก่ผู้ประกอบการนั้นๆ โดยหลักการแล้ว การได้เปรียบของผู้ประกอบการ อาจจำแนกเป็นความมั่งคั่งตามธรรมชาติ (Natural Endowment) เช่น การมีทรัพยากรธรรมชาติ การมีแรงงานจำนวนมาก ราคาถูก การมีทรัพย์สินประเภททรัพย์สินถาวร การมีทุนทรัพย์ กับความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นมา (Created Endowment) ในปัจจุบันบทบาทของการได้เปรียบตามธรรมชาตินั้น ลดความสำคัญลงเพราะกลไกของระบบโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติในที่ต่างๆได้ทั่วโลก โดยไร้อุปสรรค หรือ มีอุปสรรคน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น ทุน ที่ดิน แรงงาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นมามากขึ้น แต่ความมั่งคั่งนี้ ผู้ประกอบการต้องรังสรรค์สร้างขึ้นมาโดย องค์ความรู้ ความชำนาญการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในโลกปัจจุบัน ความได้เปรียบที่มีความสำคัญกว่า คือ ความได้เปรียบที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ การแข่งขันในทุกภาคส่วนเน้นการพัฒนา ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ตลอดจนการศึกษา ในประเทศที่มีความยากจนมาก กลุ่มชนที่ยากไร้ ถูกทอดทิ้งให้ล้าหลังซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา องค์ความรู้และเทคโนโลยี จึงไม่สามารถแข่งขันได้ เกิดเป็นวัฎจักรความยากจน และนำไปสู่การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อยากจนก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา องค์ความรู้ วิทยาการ ความเชี่ยวชาญ ชำนาญการ ทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน โอกาสการพัฒนาเป็นวงจรยากไร้ที่ไม่สิ้นสุด |
COMPLAINT คำแปล : การร้องเรียน / คำร้องเรียน ความหมาย :
การร้องเรียน / คำร้องเรียนในความหมายทั่วๆไป หมายถึงเรื่องร้องเรียน หรือคำฟ้อง เป็นเอกสารที่ปัจเจกชน กลุ่มบุคคล หรือรัฐทำขึ้นอย่างเป็นทางการเสนอต่อองค์กรหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) กล่าวหาว่ารัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ในความหมายเฉพาะในกระบวนรับเรื่องร้องเรียนโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนในระบบสหประชาชาติ เรียกว่า “Complaint Procedure” กระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอาจเรียกคำร้องเรียนหรือคำฟ้องต่างกัน เช่น “คำร้องทุกข์(Petition) หรือ เรื่องราวร้องทุกข์/เรื่องร้องเรียน(Communication) และคำฟ้อง (Application) |
COMPLAINT *2* คำแปล : คำร้องทุกข์ (วิธีพิจารณาความอาญา) ความหมาย :
ถ้อยคำหรือเอกสารที่ผู้เสียหายได้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ โดยกล่าวหาว่า มีการกระทำความผิดขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย การกล่าวหานั้นไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม แต่จะต้องมีเจตนาให้ดำเนินการเพื่อลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดในกฎหมายอาญา คำร้องทุกข์เป็นจุดเริ่มต้นกระบวน การพิจารณาความอาญาประการหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจรับเรื่องร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ก็จะทำการสอบสวนหาคนผิดมาดำเนินคดีต่อไป บุคคลที่ทำคำร้องทุกข์อันเป็นเท็จว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญา โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น มีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จ คำนี้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง การร้องเรียนหรือคำร้องเรียน ที่รัฐหรือเอกชนทำขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อเสนอต่อองค์กรหรือหน่วยงานระหว่างประเทศกล่าวหาว่า รัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน |
COMPULSORY LABOUR คำแปล : แรงงานภาคบังคับ / การเกณฑ์แรงงาน ความหมาย :
งานหรือบริการทุกชนิดที่บุคคลทำไป เนื่องจากถูกบีบบังคับ โดยการใช้บทลงโทษและบุคคลนั้นไม่สมัครใจทำงานหรือให้บริการนั้น การเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานภาคบังคับขัดต่อมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานภาคบังคับ พ.ศ. 2473 (ILO Convention(No. 29) Concerning Forced or Compulsory Labour 1930) ที่ถือว่าเป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ดู ILO CORECONVENTIONS) ได้กำหนดให้ประเทศภาคีดำเนินการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับหรือเกณฑ์แรงงานทุกรูปแบบ ทั้งในภาคธุรกิจเอกชนและกิจการของรัฐโดยห้ามใช้มาตรการใดที่เป็นการขู่เข็ญ ลงโทษทางกฎหมาย หรือมาตรการทางวินัย เพื่อให้บุคคลจะต้องทำงานหรือบริการใด ๆ โดยไม่สมัครใจ อนึ่ง คำว่า “การบีบบังคับโดยใช้บทลงโทษ” ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะแต่โทษทางอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสูญเสียสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายมหาชน ทางวินัย และสิทธิทางแพ่งด้วย เช่นสวัสดิการและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการทำงาน เช่น การที่นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลา มิฉะนั้นจะถูกตัดสวัสดิการที่เคยได้รับ หรือถูกหักเงินเดือน หรือถูกลดตําแหน่ง เป็นต้น อนุสัญญาฯ ได้ยกเว้นงานหรือบริการบางประเภทที่สามารถทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเกณฑ์แรงงาน เช่น • งานหรือการบริการใด ๆ อันมีลักษณะทางทหารอย่างแท้จริงภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ • งานหรือการบริการใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองทั่วไปของประเทศ เช่น การเกณฑ์แรงงานสร้างถนน ขุดคลองส่งน้ำปลูกป่า เป็นต้น ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับสาธารณูปโภคของรัฐ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของธุรกิจ สมาคม หรือนายจ้างใด ๆ • งานที่เป็นโทษตามคำพิพากษาบางประเทศที่มีโทษให้ทำงานหนัก แต่การทำงานนั้นต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของธุรกิจ • งานหรือการบริการใด ๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะในกรณีฉุกเฉินที่มีสงครามหรือภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย โรคระบาด เป็นต้นซึ่งอาจกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รัฐสามารถเกณฑ์แรงงานบุคคลให้มาทำงานสาธารณะได้ • งานหรือการบริการใด ๆ สำหรับชุมชนของตนเอง เป็นการที่สมาชิกภายในชุมชนกำหนดขึ้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกในชุมชน งานหรือการบริการนั้นทำเพื่อส่วนรวมสำหรับคนในชุมชนโดยตรง เช่นการกำหนดเวรยาม เพื่อเฝ้าระวังและอำนวยความปลอดภัยในสนามเด็กเล่นของชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ที่จะถูกเกณฑ์แรงงานนั้นต้องเป็นเพศชาย ไม่เป็นบุคคลพิการ ไม่เกณฑ์แรงงานบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 45 ปี นอกจากนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีร่างกายเหมาะสมที่จะทำงานตามที่กำหนดไว้ได้ และจะเกณฑ์แรงงานบุคคลให้ทำงานเกินหกสิบวันในรอบสิบสองเดือนไม่ได้ นอกจากนั้นต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานเช่นเดียวกับชั่วโมงทำงานปกติ และให้ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่างานประเภทเดียวกัน การทำงานเกินชั่วโมงทำงานปกติก็ต้องได้รับค่าตอบแทน รวมทั้งต้องให้บุคคลที่ถูกเกณฑ์แรงงานมีวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ด้วย อนึ่ง ยังมีมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบังคับแรงงาน คือ ข้อเสนอแนะของ ILO ฉบับที่ 35 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงาน(การบังคับทางอ้อม) พ.ศ. 2473 (Forced Labour (Indirect Compulsion) Recommendation 1930 (No. 35) และอนุสัญญาฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) (ILO Convention(No. 105) concerning Abolition of Forced Labour 1957) |
CONCERTED ACTIVITY (LABOUR RIGHTS) คำแปล : การปฏิบัติร่วมกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน ความหมาย :
การปฏิบัติร่วมกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน หมายถึง การกระทำร่วมกันเพื่อสิทธิเรียกร้องของคนงาน อาจเป็นการกระทำโดยลูกจ้างแม้คนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ที่กระทำในนามของเพื่อนคนงานด้วยกัน หรือ ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์จะยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน และสภาพการจ้าง หรือเพื่อเรียกร้องสิทธิ ผลประโยชน์อื่นใดจากการจ้างงาน การกระทำร่วมกันดังกล่าวนี้ เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของลูกจ้าง และ สหภาพแรงงาน ที่จะไม่ถูกตอบโต้ หรือ แก้เผ็ด จากฝ่ายนายจ้าง หรือจะไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมาย หากการกระทำเพื่อการเรียกร้องดังกล่าวกระทำในกรอบของกฎหมายโดยชอบ จัดว่าเป็นสิทธิที่ประกันการคุ้มครองแก่แรงงาน ภายใต้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านการมีสภาพการจ้างที่มีมาตรฐาน และการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของแรงงาน |
CONFESSION คำแปล : การรับสารภาพ ความหมาย :
ถ้อยคำ ข้อความ คำพูด หรือ การเขียนของผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ทำโดยสมัครใจ เพื่อแสดงการยอมรับว่า ได้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตามที่เจ้าพนักงานสอบสวนตั้งข้อหา หรือซึ่งถูกดำเนินคดีอาญา คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนแต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นเหตุให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แต่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227วรรคหนึ่ง) เช่น ประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์พยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ พยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ถ้าพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยสามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ หรือหากเป็นที่เชื่อว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษายกฟ้องและปล่อยจำเลยไป ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ และแม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่จำเลยมีสิทธิกลับคำให้การในการเบิกความในชั้นศาลได้เพราะถือว่าเป็นสิทธิของจำเลยที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง การที่จำเลยรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน อาจเป็นเหตุให้ศาลลดหย่อนโทษได้ ถ้าการสารภาพนั้นเป็นเพราะจำเลยได้สำนึกผิดในการกระทำและเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี แต่ถ้าการรับสารภาพนั้นไม่ได้เกิดจากความสมัครใจแต่สารภาพเพราะจำเลยจำนนด้วยพยานหลักฐานก็ไม่เป็นผลดีกับจำเลยในการที่จะได้รับการลดหย่อนโทษ ถ้าการรับสารภาพนั้นได้กระทำลงด้วยความไม่สมัครใจอันเป็นผลจากการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบังคับขู่เข็ญ หรือเกิดจากการทรมานหรือเกิดจากการถูกล่อลวงจากพนักงานสอบสวนว่าจะได้ประโยชน์จากคดี(เช่น จะได้รับการยกเว้นโทษ) เป็นต้น เช่นนี้ย่อมไม่ใช่คำรับสารภาพ ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การใดในเรื่องที่สารภาพเลย และศาลจะใช้คำให้การนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ |
CONSTITUTIONAL COURT คำแปล : ศาลรัฐธรรมนูญ ความหมาย :
สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรมของกฎหมาย เพื่อไม่ให้กฎหมายลำดับรองขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกรอบในการปกครองประเทศ ในระบบนิติรัฐสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไม่ให้กฎหมาย ที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ขัดกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษให้อำนาจศาลยุติธรรม (Court of Justice) พิจารณาวินิจฉัยความสอดคล้องของกฎหมายต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคดีเกี่ยวกับการบริหารราชการหรือคดีปกครอง กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขการนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัดเช่น การกำหนดองค์กรที่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เป็นต้น บางประเทศบุคคลสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้โดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997) และได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มีจำนวนเก้าคน ที่มาจากการคัดเลือกโดยการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยมีระยะเวลาเก้าปี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายในเรื่องต่อไปนี้ • ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ร่างกฎหมาย หรือเงื่อนไขของการออกกฎหมาย • สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา ในเรื่องการมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย • ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภาคณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ • มติพรรค หรือข้อบังคับของพรรคการเมือง ที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของบุคคล • สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการการเลือกตั้ง • หนังสือสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน • อำนาจอื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ |
CONSULTATIVE STATUS คำแปล : สถานะเพื่อการปรึกษา ความหมาย :
สถานะทางกฎหมายที่องค์การระหว่างประเทศได้มอบให้แก่องค์กรหน่วยงาน หรือสมาคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิกเพื่อให้มีส่วนในการให้ความเห็นหรือคำแนะนำกระบวนการการเจรจาและการดำเนินงาน เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศเป็นสมาคมของ “รัฐ” และรัฐเท่านั้นที่มีฐานะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หรือ องค์การระหว่างประเทศได้ ในกระบวนการการเจรจาขององค์การระหว่างประเทศจึงกระทำโดยผู้แทนของรัฐ อย่างไรก็ตามองค์การระหว่างประเทศบางองค์การสามารถยินยอมให้ “สถานะเพื่อการปรึกษา” แก่องค์กรเอกชนได้ กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 71 ให้อำนาจคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม(ECOSOC)ที่จะปรึกษาหารือกับองค์กรเอกชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้โดยองค์กรนั้นจะต้องมีการจัดตั้งอย่างมีระบบ มีการบริหารที่อยู่บนหลักการประชาธิปไตย และดำเนินงานในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะมนตรีฯ สถานะเพื่อการปรึกษาของสหประชาชาติแบ่งเป็นสามประเภทคือ 1. สถานะเพื่อการปรึกษาทั่วไป ให้แก่เป็นองค์กรที่มีขอบข่ายการทำงานครอบคลุมการดำเนินงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหประชาชาติ และทำงานครอบคลุมพื้นที่ของประเทศสมาชิกหรือเป็นตัวแทนของภาคส่วนของสังคมอย่างกว้าง 2. สถานะเพื่อการปรึกษาเฉพาะเรื่อง ให้แก่องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญในเรื่องใดเป็นพิเศษในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะมนตรี 3. สถานะเพื่อการปรึกษาเฉพาะกิจ ให้แก่องค์กรที่คณะมนตรี หรือเลขาธิการสหประชาชาติ อาจเห็นว่าสามารถให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ได้เป็นครั้งคราว ใน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ซึ่งเป็นปีที่คณะมนตรีมีมติรับรองสถานะเพื่อการปรึกษา มีองค์กรเอกชนที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษา41 องค์กร ใน ค.ศ. 2010(พ.ศ. 2553) มีองค์กรกว่า 3,200 องค์กรที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของคณะมนตรีฯ ซึ่งไม่รวมองค์กรที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสถานะเพื่อการปรึกษาของทบวงชำนัญพิเศษ (Specialized Agency) |
CONSUMERISM คำแปล : บริโภคนิยม ความหมาย :
แนวคิดทางสังคม เศรษฐกิจ ที่เน้นการบริโภค แนวคิดนี้ถูกสร้างอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนในการสร้างความต้องการ ในการบริโภค การผลิต การซื้อ ขาย จำหน่าย โดยเชื่อว่าการบริโภคเป็นการกระตุ้นการผลิต และสร้างขนาดของเศรษฐกิจให้เติบโตจากการจับจ่ายใช้สอยของมนุษย์ ทำให้เกิดอุปสงค์อุปทานอย่างต่อเนื่อง เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในสังคม แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการบริโภคเพื่อก่อให้เกิดการผลิต รองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสูง มีการใช้เครื่องจักรในการอุตสาหกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างอำนาจการซื้อให้เพิ่มขึ้น และเมื่อมีความต้องการบริโภคสูง ก็จะนำไปสู่การผลิตที่สูงขึ้นส่งผลให้มีการจ้างงานสูงขึ้น แนวคิดนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือว่าเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโต และเพิ่มการสร้างงาน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในทางสังคม และสิ่งแวดล้อม จะพบว่า การบริโภคมากเกินไป ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมากเกินไป (Over Exploitation) จึงไม่เป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานของการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากศักยภาพในการบริโภคและกำลังทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้การบริโภคเกินส่วนของทรัพยากรที่จัดสรรแก่มนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงในสังคมมนุษย์ในยุคต่อๆไป บริโภคนิยม อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง เสรีภาพ หรือความสมัครใจของผู้บริโภคโดยที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคสินค้า หรือ บริการอย่างเสรี |
CONTEMPT OF COURT คำแปล : การละเมิดอำนาจศาล ความหมาย :
พฤติกรรมที่ต่อต้าน ขัดขวาง หรือขัดขืนอำนาจของศาล หรือทำลายเกียรติศักดิ์ของศาล เช่น การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล การก่อกวนความสงบเรียบร้อย อันอาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี เป็นต้น บุคคลที่ละเมิดอำนาจศาลจะเป็นคู่ความในคดีหรือบุคคลภายนอกก็ได้ การละเมิดอำนาจศาลอาจทำโดยสื่อมวลชน เช่น การแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนที่เป็นการแสดงข้อความ หรือแสดงความเห็นในระหว่างการพิจารณาคดี ทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน เหนือศาล เหนือคู่ความ หรือเหนือพยานซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป กฎหมายให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งออกมาตรการ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในศาล และนอกศาล ในการดำเนินกระบวนพิธีพิจารณาคดี และเพื่อรักษาความมีประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของศาลให้ดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรม เป็นอิสระ และรวดเร็ว ซึ่งหลักกฎหมายนี้ได้มีการรับรองอยู่ในกฎหมายของทุกประเทศ |
CONTRACTUAL RIGHTS คำแปล : สิทธิตามสัญญา ความหมาย :
ประโยชน์ อำนาจกระทำการ ความคุ้มกัน ของบุคคลที่เกิดจากความยินยอมตกลงกันระหว่างบุคคล ในทางทฤษฎีสังคมการเมือง มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการคิด ตัดสินใจที่จะทำสัญญาผูกพันระหว่างกันในการที่จะแลกเปลี่ยนประโยชน์ หรือสิทธิของบุคคลรวมทั้งสิทธิในทรัพย์ ที่ตนเองมีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองมากที่สุด เสรีภาพในการทำสัญญาจึงเป็นช่องทางในการทำให้บุคคลได้บรรลุความต้องการของตนเอง ตัวอย่างเช่น บางคนมีเงินทุนแต่ขาดแรงงาน ในขณะที่บุคคลอีกคนหนึ่งมีแรงงานแต่ขาดเงินทุน ดังนั้นบุคคลทั้งสองคนจึงตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างค่าจ้างกับแรงงานกัน เจ้าของเงินทุนก็จะได้แรงงานบุคคลที่เป็นเจ้าของแรงงานก็ได้ค่าจ้างจากการทำงานเมื่อบุคคลตัดสินใจตกลงทำสัญญาแล้วก็จะเกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน สิทธินี้จึงเกิดจากสัญญาอันต่างจากสิทธิตามกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐรับรองสิทธินั้น โดยการออกกฎหมายเป็นการกำหนดสิทธิและหน้าที่โดยรัฐ มิใช่โดยความสมัครใจของบุคคลสิทธิตามสัญญา และเสรีภาพในการทำสัญญาได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายทุกระบบ แม้แต่ในระบบสังคมนิยม โดยที่บุคคลอาจมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน กฎหมาย จึงอาจเข้ามาแทรกแซงเสรีภาพในการทำสัญญาของบุคคล เพื่อรักษาคุณค่าบางประการของสังคม เช่น ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น การแทรกแซงของรัฐโดยกฎหมายก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมายขึ้น สิทธินี้เรียกว่า “สิทธิตามกฎหมายบัญญัติ” (ดู STATUTORY RIGHTS) ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับสิทธิตามสัญญา |
CONVENTION คำแปล : อนุสัญญา ความหมาย :
อนุสัญญาใช้เรียกเอกสารความตกลงทางการที่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี หรือเอกสารความตกลงที่ร่างขึ้นโดยองค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศ ความตกลงเช่นนี้มุ่งให้มีลักษณะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายขึ้น หรือเป็นการประมวลกฎหมาย แต่มีบางกรณีที่ใช้คำว่าอนุสัญญาสำหรับความตกลงทวิภาคี โดยทั่วไปสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะอยู่ในรูปแบบของอนุสัญญาเนื่องจากเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีเกิดจากการริเริ่มศึกษาขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ องค์การอนามัยโลก แล้วนำไปสู่การยกร่างข้อบทและการเจรจาแบบพหุภาคี เมื่อสิ้นสุดการเจรจาและได้ข้อบทสุดท้ายแล้วก็จะมีการรับรอง (Adoption) โดยองค์กรนั้นๆ เพื่อนำไปสู่การให้สัตยาบัน (Ratify) ในขั้นตอนต่อไป |
CONVENTION ON BIOLOGICAL DIVERSITY คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความหมาย :
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุประสงค์หลัก สามประการ คือ การอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมในผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ทรัพยากรชีวภาพอนุสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ณ นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) สมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาได้จัดทำความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญหลายฉบับด้วยกันรวมถึงอนุสัญญาสามฉบับที่เรียกรวมว่า “อนุสัญญารีโอเดจาเนโร” ประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนับว่าเป็นความตกลงระดับโลกฉบับแรกที่ครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุมดังกล่าวประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อมาได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) อนุสัญญาฯ มีภาคีทั้งหมด 193 ประเทศ กลุ่มความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่สำคัญได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศพรรณพืชพรรณสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พรรณพืช พรรณสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อนุสัญญากรุงบอนน์ว่าด้วยการข้ามแดนของสายพันธุ์พืชและสัตว์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนพิธีสารคาร์ทาเญนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเพื่ออนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยป่าไม้ เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ |
CONVENTION ON THE ELIMINATION OF ALL FORMS OF DISCRIMINATION AGAINST WOMEN (CEDAW) คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ความหมาย :
อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นานาประเทศยุติการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอย่างไม่เป็นธรรม และให้หลักประกันว่าสตรีจะได้รับสิทธิประโยชน์และการมีโอกาสที่เท่าเทียมกับบุรุษ อนุสัญญานี้ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่ใน ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) และมีผลใช้บังคับ ใน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) คำว่า การเลือกปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หมายถึง "การแบ่งแยก (Distinction) การกีดกัน (Exclusion) หรือการจำกัด (Restriction) ใด ๆ ที่ได้ก่อตั้งบนพื้นฐานของเพศ"ในด้านต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย และเนื่องจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวทำให้การมีหรือการใช้สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรีไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เสื่อมเสีย อนุสัญญาฯ กำหนดให้ รัฐเลิกการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เนื่องจากสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงโดยใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผน พฤติกรรมทางสังคม และวัฒนธรรมของชายหญิง เพื่อนำไปสู่การขจัดอคติและธรรมเนียมปฏิบัติอื่น ๆที่อยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทเดิมที่ไม่เท่ากันของชายหญิง อนุสัญญาฯได้จัดตั้ง คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีขึ้นประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนยี่สิบห้าคน เพื่อเป็นกลไกในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายนพ.ศ.2528 (ค.ศ. 1985) |
CONVENTION ON THE RIGHTS OF PERSONS WITH DISABILITIES คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ความหมาย :
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการพร้อมด้วยพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ได้รับการรับรอง (Adopted)โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) อนุสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่ได้รับรองสิทธิคนพิการอย่างรอบด้านทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม CRPD มุ่งที่จะส่งเสริมคุ้มครองและประกันให้คนพิการ ทั้งปวง ได้ใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน โดยกำหนดให้รัฐภาคีห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ และประกันให้คนพิการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิผล อนุสัญญาฯ ได้สนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Actions) โดยประกันว่าจะจัดให้มีการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลเพื่อให้บรรลุถึงความเท่าเทียมกันในทางปฏิบัติ นอกจากนั้นอนุสัญญาได้กำหนดให้รัฐให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงบริการและทรัพยากรของชาติได้อย่างเต็มที่ อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดให้จัดตั้ง คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of Persons with Disabilities) ขึ้นประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนสิบสองคน (และอาจเพิ่มจำนวนถึงสิบแปดคนได้) เพื่อสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาและได้เข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 30มีนาคม พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) และได้ตั้งข้อสงวนโดยการทำถ้อยแถลงการณ์ตีความ (Interpretative Declaration) ข้อ 18 ว่าการตีความของอนุสัญญานั้นจะอยู่ภายใต้กฎหมายไทย และภายใต้กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติของไทย |
CONVENTION ON THE RIGHTS OF THE CHILD คำแปล : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความหมาย :
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิเด็กด้านต่างๆไว้อย่างกว้างขวาง CRC ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1989 ( พ.ศ. 2532)และมีผลใช้บังคับใน ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) อนุสัญญาฯ ได้ยอมรับว่าเด็กสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิได้ด้วยตนเอง เป็นการเปลี่ยนความคิดดั้งเดิมที่เคยถือกันว่าเด็กเป็นเพียงเป้าหมายที่สิทธิมุ่งให้การคุ้มครองโดยเด็กจะมีหรือใช้สิทธิต่างๆ จะต้องผ่านทางบิดามารดา หรือผู้ปกครองเนื่องจากเด็กจำต้องพึ่งพิงบุคคลเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นบางสังคมถือว่าเด็กเป็นเสมือนทรัพย์สมบัติของครอบครัวหาได้เป็นผู้ทรงสิทธิ์ดังเช่นผู้ใหญ่ไม่ อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้แจกแจงสิทธิด้านต่างๆ ของเด็กอย่างรอบด้าน โดยนิยามว่าเด็กคือบุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี หลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ สี่ประการคือ หนึ่ง “หลักการห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็ก” โดยให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือสีผิว นอกจากนั้นการห้ามเลือกปฏิบัติยังหมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ สอง “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ในการดำเนินการใดๆ ไม่ว่ากระทำโดยรัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าโดยกฎหมาย นโยบาย หรือ การปฏิบัติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก สาม“หลักเด็กเป็นศูนย์กลางแห่งสิทธิ” ซึ่งหมายถึงเด็กมีสิทธิในการมีชีวิต มีสิทธิในการอยู่รอด และมีสิทธิในการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม และอารมณ์ ดังนั้นรัฐจึงมีพันธกรณีที่จักต้องทำให้เด็กได้บรรลุถึงการมีสิทธิ CRC ถือเป็นตัวอย่างของการบูรณาการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยการพิจารณาจากตัวบุคคลเป็นหลัก สี่ “หลักการมีส่วนร่วมของเด็ก” ซึ่งหมายถึงในการดำเนินการใดๆที่อาจกระทบต่อเด็ก จักต้องให้เด็กมีส่วนร่วมและจักเคารพต่อการตัดสินใจของเด็ก รัฐมีพันธกรณีต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติตาม CRC ภายในสองปีนับจากเข้าเป็นภาคี และต้องเสนอรายงานฉบับต่อๆ ไปทุกสี่ปี ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติใน ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) และขณะที่เข้าเป็นภาคีได้ตั้งข้อสงวนสามข้อ คือ ข้อ 7 เรื่องการจดทะเบียนการเกิดและการให้สัญชาติเด็กที่เกิดจากผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพในประเทศไทย ข้อ 22 เรื่องสถานะของผู้ลี้ภัยเด็ก ข้อ 29 (C) เรื่องสิทธิในการศึกษาของชนกลุ่มต่างๆ ที่สามารถดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และ ค่านิยมของเด็กได้ (ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ