Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

WAR CRIME

คำแปล : อาชญากรรมสงคราม

ความหมาย :

ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง การกระทำที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ในการสู้รบ ซึ่งเป็นความรับผิดทางอาญาของบุคคลที่เป็นสมาชิกของกองกำลังของรัฐ หรือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ รวมถึงผู้บังคับบัญชา บุคคลที่กระทำการดังกล่าวโดยการออกคำสั่ง ส่งเสริมหรือรู้เห็นเป็นใจ กับการกระทำที่เกิดขึ้นในภาวะที่มีการขัดกันด้วยอาวุธ ไม่ว่าการขัดกันนั้นจะมีลักษณะระหว่างประเทศ หรือเป็นความขัดกันภายในประเทศก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่มีสภาพบังคับ กฎหมายภายในประเทศ (ดู DOMESTIC LAW) ของประเทศต่าง ๆจะบัญญัติลักษณะการกระทำที่ขัดต่อจารีตประเพณีการใช้กำลังสู้รบไว้ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับทหาร เช่น กฎการใช้กำลัง และข้อห้ามเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อศัตรู เช่น การฆ่าหรือทรมานเชลยศึก การใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ เป็นต้น ความหมายอย่างแคบ หมายถึง อาชญากรรมประเภทหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามข้อ 8 ของธรรมนูญศาลกรุงโรมฯ (ดู ROME STATUTE ON THE INTERNATIONAL CRIMINAL) ได้กำหนดลักษณะของการกระทำที่เป็นอาชญากรรมสงครามไว้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ คือ • การละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง • การละเมิดกฎหมายและจารีตประเพณีที่ใช้บังคับในการขัดกันด้วยอาวุธ • การละเมิดข้อ 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาสี่ฉบับ ในกรณีที่การขัดกันด้วยอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (ดู Common Article 3 of Geneva Conventions) • การละเมิดกฎหมายและจารีตประเพณีที่ใช้บังคับในการขัดกันด้วยอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตามข้อ 8 ของธรรมนูญกรุงโรม (ให้ดูธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก) ได้กำหนดว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำลงโดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนหรือนโยบาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อนึ่ง ศาล ICC (International Criminal Court) ต่างจากศาล ICJ (International Court of Justice) ซึ่งมักเรียกศาล ICJ ว่า “ศาลโลก” ศาลทั้งสองศาลตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ด้วยกัน


WATER, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการใช้น้ำ

ความหมาย :

สิทธิในการใช้น้ำ บางครั้งอาจเรียกว่าสิทธิในการมีน้ำที่สะอาด (The Right to Clean Water) เป็นการกล่าวอ้างถึงความจำเป็นของมนุษย์ที่จะมีน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะสำหรับดื่ม และใช้ในชีวิตประจำวัน โดยถือว่าสิทธิในการใช้น้ำเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และรัฐจักต้องใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพของบุคคล การเข้าถึงน้ำที่สะอาด มีปริมาณเพียงพอ อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน จึงเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะมีสุขอนามัยที่ดี ทั้งนี้น้ำยังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนทั้งหลาย สิทธิในการใช้น้ำมักนำมากล่าวอ้างเรียกร้องเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ ซึ่งเกิดจากความแห้งแล้ง หรือเกิดความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เช่นการจัดลำดับความสำคัญ หรือเกิดจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ เช่น การจัดสรรน้ำสำหรับบริโภคกับน้ำสำหรับการพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยว ในกรณีนิคมอุตสาหกรรมหรือสนามกอล์ฟ อันเกิดจากรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนในการผลิตหรือให้บริการน้ำการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรับรองสิทธิในการเข้าถึงน้ำ


WELFARE STATE

คำแปล : รัฐสวัสดิการ

ความหมาย :

รัฐสวัสดิการ เป็นคำที่ใช้เรียกรูปแบบหรือนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐที่มีเป้าหมายในการให้หลักประกันมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยรัฐใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการกระจายทรัพยากรของรัฐ เช่น การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาจุนเจือผู้มีรายได้ต่ำ กลุ่มขาดโอกาส หรือกลุ่มเปราะบาง และกำหนดให้ปัจจัยการดำรงชีวิตเป็นสิทธิที่ รัฐจัดให้ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ ประชาชนก็มีสิทธิได้รับการเยียวยาตามกระบวนการทางสังคม และฟ้องร้องให้ศาลบังคับตามสิทธิได้


WELL FOUNDED FEAR OF PERSECUTION

คำแปล : มีมูลเหตุแห่งความกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร

ความหมาย :

คำว่า “มีมูลเหตุแห่งความกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร” เป็นเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาในการให้สถานภาพผู้ลี้ภัย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugees) ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) และอนุสัญญาองค์การเอกภาพแอฟริกาเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยอันเป็นปัญหาจำเพาะของทวีปแอฟริกา (Organisation of African Unity Convention Governing the Specific Aspects of Refugee Problem in Africa) ค.ศ. 1969(พ.ศ. 2512) โดยให้คำจำกัดความของคำ “ผู้ลี้ภัย” ว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐของสัญชาติของตนและมีมูลเหตุแห่งความกลัวว่าจะถูกประหัตประหารด้วยสาเหตุทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือ สมาชิกภาพของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าทางสังคม หรือทางความคิดการเมือง และบุคคลนั้นไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะรับความคุ้มครองจากรัฐตน อันเนื่องมาจากความกลัวดังกล่าว


WHITE- COLLAR WORKERS

คำแปล : คนทำงานในสำนักงาน

ความหมาย :

คนทำงานในสำนักงาน ได้แก่ คนทำงานบริหาร จัดการ พนักงานฝ่ายขาย มักจะทำงานทางด้านบริการ (Service Sectors) เป็นคนทำงานที่มีความสบาย ตรงกันข้ามกับคนทำงานที่ใช้แรงงานที่เรียกว่า Blue-collar Workers) คำว่า White-collar Workers และ คำว่า Blue-collar Workers ได้มีการนำมาใช้ประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สืบเนื่องจากการกำหนดลักษณะการแต่งกายสำหรับคนที่ทำงานในสำนักงานซึ่งต้องใส่เสื้อเชิ้ตและผูกเนคไท พนักงานในสำนักงานจึงแต่งกายด้วยเสื้อคอปกสีขาวจึงถูกเรียกว่าWhite-collar Workers เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปกติเป็นคนทำงานที่ได้รับค่าแรงสูงกว่าคนงานที่ใช้แรงงาน


WILD CAT STRIKE

คำแปล : การนัดหยุดงานอย่างไม่มีระเบียบ

ความหมาย :

การนัดหยุดงานอย่างไม่มีระเบียบ หมายถึง การจัดการชุมนุมประท้วงระยะสั้นๆ ซึ่งมีสาเหตุการประท้วงมาจากการทำงานหรือสภาพการจ้าง หรือเงื่อนไขการจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยปกติมักจะไม่ได้กระทำโดยหัวหน้าสหภาพแรงงานหรือโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าสหภาพแรงงาน การประท้วงดังกล่าวจึงมักจะมีระยะเวลาอันสั้น เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อนายจ้าง


WIRETAPPING

คำแปล : การดักฟัง

ความหมาย :

การดักฟังการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่สื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือทางเครื่องมือสื่อสารอื่นเช่นเดียวกับโทรศัพท์ เช่น การสนทนาทางอินเทอร์เน็ต การดักฟังถือว่าเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัว (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ17) และเสรีภาพในการสื่อสาร (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ19) อย่างไรก็ตาม กฎหมายทุกระบบยอมรับว่าการดักฟังอาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายถ้ามีความสมเหตุสมผลและมีกระบวนการตรวจสอบที่เหมาะสม เช่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยตัดสินวางหลักไว้ว่า การดักฟังที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจโดยเฉพาะเจาะจงและได้ขออำนาจศาลเป็นกรณีๆไปในการดักฟังในช่วงระยะเวลาที่แน่นอนเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสังคมถือได้ว่ามีความชอบธรรมในการจำกัดเสรีภาพในความเป็นส่วนตัว ส่วนกรณีที่กฎหมายให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจของท้องถิ่นเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดักฟังบุคคลที่มีเหตุเชื่อว่าจะประกอบอาชญากรรมได้ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงเกินความจำเป็นละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวที่รับรองโดยอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ข้อ 8


WOMAN RIGHTS

คำแปล : สิทธิสตรี

ความหมาย :

สตรีถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากสังคมที่ยังมีคติถือว่าชายเป็นใหญ่ ทำให้สตรีไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง หรือร่วมตัดสินใจในประเด็นที่ทำให้เกิดการกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรี ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพบางอย่าง การดำรงตำแหน่งที่สำคัญบางตำแหน่ง หรือในรูปของคติสังคม เช่น ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง และต้องอยู่บ้านดูแลครอบครัวจึงไม่จำเป็นต้องศึกษาสูง ทำให้สตรีขาดโอกาสในการพัฒนา อนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิสตรีเรียกร้องให้รัฐต้องปรับเปลี่ยนคติสังคมที่เห็นว่าหญิงมีฐานะด้อยกว่าชาย และมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ทุกสถานการณ์เพื่อให้สตรีได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคมมากขึ้น


WOMEN’S SUFFRAGE / WOMAN SUFFRAGE

คำแปล : สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ความหมาย :

สิทธิทางการเมืองของสตรีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง เป็นสิทธิที่เป็นเครื่องมือ (Instrumental Rights) ที่ช่วยสะท้อนความต้องการของสตรีและการร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านทางผู้แทน สิทธินี้ได้รับการรับรองโดยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ พ.ศ. 2522 (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women 1979) จากรายงานของโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)ช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา จำนวนสตรีมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลเมืองโลก ผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกมากกว่าสองในสามส่วน เกิดจากแรงงานสตรี แต่สตรีได้รับประโยชน์ตอบแทนจากผลผลิตเพียงไม่ถึงหนึ่งในสามส่วน ความไม่เป็นธรรมทางสังคมเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่กันสตรีออกจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมเกือบทุกประเทศรับรองแต่เพียงสิทธิของผู้ชายในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นกฎหมายและนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำหนดขึ้นจึงไม่ได้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชาย สตรีจึงควรมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่อาจกระทบต่อสตรี ใน ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นประเทศแรกที่รับรองสิทธิของสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ประเทศต่าง ๆ เริ่มให้สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป (Universal Suffrage) เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เช่น ประเทศอังกฤษ (ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461)) สหรัฐอเมริกา (ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่สิบเก้า ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463)) ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มรับรองสิทธินี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันยังมีบางประเทศที่สตรีไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและบางประเทศกำหนดเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของผู้ลงคะแนนเสียงของสตรีต่างจากบุรุษ เช่น อายุ และระดับการศึกษา เป็นต้น


WORLD CONFERENCE ON HUMAN RIGHTS

คำแปล : การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

การประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ การนำประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับโลกขึ้นพิจารณา เพื่อวางแผนร่วมกันรวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาการส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกันสิทธิมนุษยชน การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) ในโอกาสครบรอบยี่สิบปีของการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรก การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครั้งที่สองจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 14 - 25 มิถุนายน ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536)อันเป็นการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนครั้งแรกเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง(ดู COLD WAR) ในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ มีประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเข้าสู่การพิจารณาอย่างกว้างขวางรอบด้าน เช่น • อุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น • ความเกี่ยวพันกันระหว่างการพัฒนาประชาธิปไตย และความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน • ประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบรรลุผลในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน • การหาหนทางความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนและการที่จะส่งเสริมศักยภาพของสหประชาชาติในการดำเนินงานในเรื่องนี้ให้ได้ผล • การหาเงินทุนและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ในการประชุมระดับโลกครั้งที่สองนี้ มีผู้แทนของรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และสถาบันต่าง ๆ ในระดับประเทศ ตลอดจนองค์การที่มิใช่รัฐบาลเข้าร่วมรวมแปดร้อยสี่สิบเอ็ดสถาบัน นับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการประชุมระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Vienna Declaration)เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (ดู VIENNADECLARATION)


WORLD CONFERENCE ON WOMEN

คำแปล : การประชุมระดับโลกว่าด้วยบทบาทและสถานะสตรี

ความหมาย :

การประชุมระหว่างประเทศจัดขึ้นโดยสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความก้าวหน้าของสถานภาพ ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาสตรี ตลอดจนปัญหาสิทธิมนุษยชนของสตรี ทั้งนี้เนื่องจากสตรีเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมโลกว่าด้วยสิทธิสตรีขึ้นรวมสี่ครั้ง ดังนี้ • ครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภายใต้แนวคิดหลัก คือ ความเสมอภาคการพัฒนาและสันติภาพ ผลการประชุมครั้งนี้ทำให้สมัชชาสหประชาชาติประกาศให้ ค.ศ. 1976 - 1985 (พ.ศ. 2519 - 2528)เป็นทศวรรษแห่งสหประชาชาติสำหรับสตรี และต่อมาเมื่อวันที่18 ธันวาคม ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ได้มีมติที่ 34/180 รับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women หรือ CEDAW)” ขึ้น • ครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2523) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อทบทวนประเด็นปัญหาและอุปสรรคในช่วง 5 ปีแรกของทศวรรษสตรี โดยที่ประชุมฯ ได้รับรองโครงการปฏิบัติสำหรับช่วง 5 ปีของทศวรรษสตรี ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการทำงานของสตรี • ครั้งที่สาม ใน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2528) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความสำเร็จของทศวรรษสตรี ตลอดจนประเมินผลการดำเนินงานในช่วงทศวรรษสตรี โดยที่ประชุมมีมติรับรองยุทธศาสตร์ในการมองไปข้างหน้าเพื่อความก้าวหน้าของสตรีแห่งไนโรบี (Nairobi Forward-looking Strategies for the Advancement of Women) ซึ่งเน้นความสำคัญของสตรีในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้วางแผน ตลอดจนในฐานะผู้ให้ประโยชน์และผู้รับประโยชน์จากการพัฒนา • ครั้งที่สี่ใน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดขึ้นในวาระครบรอบสิบปีที่สิ้นสุดทศวรรษว่าด้วยสตรี รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาของสตรี โดยรัฐบาลจาก 116 ประเทศได้ลงมติรับรองและลงนามในปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action หรือ BDPA) ซึ่งเน้นการส่งเสริมความก้าวหน้าในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี สิทธิสตรี ความยากจน และการอนุวัติอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบซึ่งเน้นหลักความเสมอภาค (Equality) การไม่เลือกปฏิบัติ(Non-discrimination) และพันธะหน้าที่ของรัฐ (State Obligation)ในการคุ้มครองสนับสนุน และดำเนินการให้ผู้หญิงได้รับสิทธิและโอกาสในด้านต่าง ๆ ตลอดจนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) และความร่วมมือระหว่างประเทศ การประชุมครั้งที่ห้าจะจัดขึ้นใน ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ณนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาและจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอื่น ๆ มาใช้เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกมีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของสิทธิสตรี


WORLD ENVIRONMENTAL DAY

คำแปล : วันสิ่งแวดล้อมโลก

ความหมาย :

สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสำคัญระดับโลกเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการรักษาภาวะแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืนจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลกเกิดจากการประชุมระหว่างประเทศเรื่อง “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ใน ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ในการประชุมครั้งนั้น สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (Universal Declaration on Human Environment) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environmental Programme หรือ UNEP) ใช้วันสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อนำประเด็นสิ่งแวดล้อมสู่ความสนใจของสาธารณชน โดยหัวข้อในการรณรงค์จะเปลี่ยนไปในแต่ละปีเช่น • หัวข้อ “เยาวชน ประชากร และสิ่งแวดล้อม (Youth, Population and Environment)” ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) • หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ความจำเป็นในการสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดความร่วมมือระดับโลก (Climate Change : Need for Global Partnership)” ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) • หัวข้อ “ให้โอกาสโลกฟื้นคืนความสดใสให้ชีวิต (Give Earth a Chance)” ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) • หัวข้อ “ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา (Forests : Nature at your Service)” ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) (ประเด็นสำหรับรณรงค์สิ่งแวดล้อมแต่ละปี ดูภาคผนวกที่ 3 “คำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก”) ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดให้เป็น “วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ”“วันปลอดรถยนต์” และ “วันรีไซเคิล” เป็นต้น


WORLDWATCH INSTITUTE

คำแปล : สถาบันเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก

ความหมาย :

สถาบันเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่วิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการยกย่องจัดลำดับเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของสถาบันชั้นนำของโลก เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พันธกิจของสถาบันแห่งนี้ คือ การให้ข้อมูลแก่ผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และสาธารณชน ในเรื่องความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนระหว่างเศรษฐกิจ กับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยเหล่านี้จะเป็นลักษณะบูรณาการ และเป็นพหุศาสตร์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ และการขจัดความยากจน ภาระงานที่สำคัญได้แก่การจัดทำหรือสร้างระบบการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมัน ส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน หรือ เกษตรอินทรีย์ การใช้ดิน น้ำ และทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน พันธกิจเหล่านี้ ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์สภาวะแวดล้อมให้มีคุณภาพสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคตต่อไป


WRIT OF SUMMON

คำแปล : หมายเรียกให้มาศาล

ความหมาย :

คำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ศาลเรียกให้บุคคลมาศาล หมายเรียกจะต้องระบุเหตุที่ต้องเรียกบุคคลนั้นในหมาย เช่น ให้มาให้การต่อศาลเพราะถูกฟ้อง หรือให้มาให้การในฐานะพยาน และต้องระบุวัน และสถานที่ที่ให้บุคคลที่เรียกนั้นไปถึง โดยจะต้องคำนึงถึงระยะทางใกล้ไกลเพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามวันที่กำหนด การส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาศาลจะต้องส่งให้แก่ผู้ต้องหาโดยตรงหรือให้แก่สามี ภรรยา ญาติ หรือผู้ปกครองของผู้ที่ถูกหมายเรียกเท่านั้น บุคคลที่ไม่มาศาลเมื่อมีหมายเรียก จะมีความผิดอาญาฐานขัดหมายศาล


WRONGFUL TERMINATION

คำแปล : การเลิกจ้างโดยมิชอบ

ความหมาย :

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบนั้นควรร้องเรียนนายจ้างว่าการเลิกจ้างนั้นฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดในสัญญาจ้างหรือสิทธิตามที่กำหนดไว้ในนโยบายสาธารณะหรือตามสัญญา


XENOPHOBIA

คำแปล : ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ

ความหมาย :

ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ มาจากภาษากรีก ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Fear of Foreigner” เนื่องจากความรู้สึกว่าคนต่างชาติเป็นภัย หรือเป็นอันตรายต่อประชาชนที่เป็นคนสัญชาติของประเทศนั้น เช่น ภัยจากอาชญากรรม การทำลายวัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมของชาติ อันกระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง และ เกรงว่าคนต่างชาติจะแย่งงาน หรือก่อภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ เป็นทัศนคติที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน ที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าสังคมโลกประกอบด้วย ประชากรที่มีความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์ และเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ทัศนะเกลียดกลัวคนต่างชาติเป็นต้นเหตุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และนำมาซึ่งความขัดแย้งของสังคมได้


YOGYAKARTA PRINCIPLES

คำแปล : หลักการยอกยาการ์ตา

ความหมาย :

คำเรียกย่อของ “หลักการว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นเกี่ยวกับความโน้มเอียงทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ”(Principles on the Application of International Human Rights Law in relation to Sexual Orientation and Gender Identity) ซึ่งเป็นหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นให้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับความโน้มเอียงทางเพศ (Sexual Orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลักการดังกล่าวเกิดจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลกที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ทั้งนี้เนื่องจากยังมีการเลือกปฏิบัติทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งมีสาเหตุมาจากความหลากหลายทางเพศที่ยังดำเนินอยู่ในทุกประเทศ เช่น การมีกฎหมายกำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นการลามกอนาจารมีความผิดอาญา บางประเทศมีโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้คุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงมักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางร่างกาย หรือถูกทำให้ได้รับความอับอายโดยไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยา นอกจากนั้นยังมีหลายประเทศที่มีการลิดรอนสิทธิบุคคลข้ามเพศบุคคลที่รักเพศเดียวกันมักถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์อันเป็นความคิดที่ถูกครอบงำ โดยความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีเพียงเพศหญิงและชาย เช่นการห้ามบุคคลที่เป็นชายรักชายรับราชการ และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการรับรองการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน หลักการยอกยาการ์ตา ตั้งอยู่บนหลักการสองประการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คือ ความเป็นสากลและการไม่เลือกปฏิบัติสิทธิในหลักการทั้งหมดจะต้องไม่ถูกกีดกัน แบ่งแยก หรือละเมิด ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความโน้มเอียงทางเพศและเพศสภาพ (Gender) ของบุคคล โดยได้เน้นย้ำว่าความโน้มเอียงทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นส่วนสําคัญของศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลและต้องไม่ถูกใช้เป็นสาเหตุของการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทําทารุณกรรม บุคคลที่มีความโน้มเอียงทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ จักต้องมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยของบุคคล สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในสังคม และมาตรการป้องกันทางสังคมอื่น ๆ


YOUNG OFFENDER

คำแปล : ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน / จำเลยที่เป็นเยาวชน

ความหมาย :

บุคคลที่เป็นเด็ก หรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องว่ากระทำความผิดอาญา โดยมีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ในความรับผิดทางอาญาเท่าผู้ใหญ่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับเด็กจะมีแนวคิดและวิธีการดำเนินการต่างผู้ใหญ่ แนวคิดหลักคือการฟื้นฟูให้เด็กกลับคืนสู่สังคมมากกว่าการลงโทษ(ดู JUVENILE DELINQUENCY) คำว่า “เยาวชน (Young Person หรือ Youth)” ได้ใช้ในกฎหมายอาญาเพื่อให้เกิดความแตกต่างในเรื่องความรับผิดทางอาญาจากบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ ประเทศต่าง ๆ อาจกำหนดอายุของการเป็นเยาวชนที่แตกต่างกัน


ZIONISM

คำแปล : ลัทธิไซออน / ลัทธิชาตินิยมของชาวยิว

ความหมาย :

อุดมคติ ของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐชาติยิวโดยการหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งและรวบรวมชาวยิวที่อยู่กระจัดกระจายทั่วโลกมารวมกันในประเทศเดียวกัน ณ ดินแดนที่เป็นนครเยรูซาเล็มโบราณ ลัทธิไซออนมีมานานกว่าหนึ่งพันปี และเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในปลายศตวรรษที่สิบเก้าแนวคิดนี้เห็นว่าชาวยิวที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ มักถูกรังเกียจเดียจฉันท์และถูกรังควานจากรัฐ หรือประชาชนในประเทศที่ชาวยิวอยู่แม้ว่าชาวยิวจะได้ก่อประโยชน์ให้กับสังคมนั้นเพียงใดก็ตาม หนทางเดียวที่แก้ปัญหานี้ก็คือชาวยิวจะต้องร่วมกันจัดตั้งรัฐยิวขึ้นมา คำว่า ไซออน (Zion) เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งอยู่ในเยรูซาเล็ม ชาวยิวเชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิสิทธิ์ เพราะศาสดาของศาสนายิวได้สร้างวิหารไว้บนภูเขาลูกนี้ ชาวยิวจึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ในการสถาปนารัฐยิว แนวคิดตามแบบลัทธิไซออนทำให้เกิดกระบวนการก่อตั้งรัฐยิวขึ้นเป็นประเทศอิสราเอลหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีเมืองหลวง คือเยรูซาเล็ม