Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

UNITED NATIONS GUIDELINES ON THE ROLES OF PROSECUTORS

คำแปล : ข้อชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของอัยการ

ความหมาย :

UNITED NATIONS GUIDELINES ON THE ROLES OF PROSECUTORS ข้อชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของอัยการ หลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินงานของบุคคลที่ทำหน้าที่อัยการที่จัดทำขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรมและการคุ้มครองผู้กระทำผิดครั้งที่ 8 ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ใน ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เพื่อเป็นแนวทางแก่ประเทศต่าง ๆ ในการบริหารกระบวนการยุติธรรม ข้อชี้แนะฯ นี้จัดทำขึ้นเนื่องจากอัยการมีบทบาทสำคัญในการบริหารกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงได้ร่วมประชุมวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่สำคัญของอัยการ โดยการส่งเสริมให้อัยการเคารพหลักการตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาที่มีสิทธิจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลยุติธรรมว่าผิดและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยโดยศาลที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เที่ยงธรรมและเสมอภาค และการคุ้มครองพลเมืองให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อชี้แนะมี 24 ข้อ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ • คุณสมบัติ การคัดเลือก และการฝึกอบรม • สถานภาพและสภาพการทำงาน • เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสมาคม • บทบาทในกระบวนการทางอาญา • การดำเนินคดีอาญาที่เป็นทางเลือกอื่น • การใช้ดุลยพินิจ • ความสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐ • การนำข้อชี้แนะไปใช้ปฏิบัติ


UNITED NATIONS HIGH COMMISSIONER FOR HUMAN RIGHTS

คำแปล : ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ความหมาย :

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีตำแหน่งเทียบเท่ารองเลขาธิการสหประชาชาติ ดำเนินงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และการตัดสินของสมัชชาใหญ่ฯ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน หรือในปัจจุบันคือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของข้าหลวงใหญ่ฯ ก็คือการมีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ไขอุปสรรค และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นและจะต้องทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้บรรลุผลเป็นจริงขึ้นมา


UNITED NATIONS HIGH COMMISSIONER FOR REFUGEE

คำแปล : ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ / ยูเอ็นเอชซีอาร์

ความหมาย :

คำนี้ใช้เรียกทั้งชื่อตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและชื่อหน่วยงานของข้าหลวงใหญ่ฯ หน่วยงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ตามมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อให้มีภาระหน้าที่ดำเนินงานด้านผู้ลี้ภัยต่อจากสำนักงานบริหารเพื่อการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู (United Nations Relief and Rehabilitation Administration หรือ UNRRA) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) โดยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ เพื่อช่วยเหลือการกลับถิ่นฐานเดิมของผู้พลัดถิ่นจำนวนมากกว่าแปดล้านคนซึ่งเกิดจากการสู้รบในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภารกิจหลักของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คือการปกป้องผู้ลี้ภัย และสนับสนุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยการเป็นผู้นำและประสานงานในการรวบรวมความช่วยเหลือจากนานาประเทศเพื่อปกป้องและแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัย ภารกิจนี้ครอบคลุมถึงผู้ที่หนีภัยจากการประหัตประหาร และผู้ที่พลัดถิ่นอันเนื่องมาจากภัยพิบัติอีกด้วย ในการดำเนินงาน UNHCR จะคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะสิทธิที่จะอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในรัฐอื่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทางออกที่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่การเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมโดยสมัครใจ(Voluntary Repatriation) การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นในรัฐแรกรับ(Local Integration) หรือการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม (Third-Country Resettlement) นอกจากนั้น UNHCR ยังมีภารกิจในการปกป้องและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่บุคคลในความห่วงใย (Persons of Concern หรือ POCs) และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ ผู้แสวงหาที่พักพิง (Asylum Seekers)ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons) บุคคลไร้รัฐ (Stateless Persons) และผู้ที่เดินทางกลับประเทศต้นทาง (Returnees) UNHCR ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสองครั้งคือ ใน ค.ศ. 1954(พ.ศ. 2497) และ ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคนปัจจุบัน ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) คือ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส


UNITED NATIONS HUMAN RIGHTS COUNCIL

คำแปล : คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ความหมาย :

องค์กรหลักองค์กรหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ตามข้อมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 60/251 เพื่อให้มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ดู UNITED NATIONS COMMISSION ON HUMAN RIGHTS) เนื่องจากขอบเขต และภาระงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีมากขึ้น ดังนั้นภาระงานทั้งปวงที่เป็นของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจึงได้โอนมาเป็นของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยสมาชิกสี่สิบเจ็ดประเทศซึ่งได้รับการเลือกโดยการลงคะแนนเสียงจากรัฐภาคีสหประชาชาติดังนั้นคณะมนตรีฯ จึงเป็นองค์กรที่ประกอบขึ้นโดยผู้แทนของรัฐ และทำงานในนามของรัฐ อันต่างจากคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐ ในการดำเนินงาน คณะมนตรีฯ มีคณะกรรมการที่ปรึกษา (Advisory Committee) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนสิบแปดคนให้คำแนะนำด้านวิชาการ คณะมนตรีฯ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและให้คำแนะนำด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกของสหประชาชาติตามกระบวนการการประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระ หรือ กระบวนการ UPR (ดู UNIVERSAL PERIODIC REVIEW) และมีอำนาจรับเรื่องราวร้องเรียนจากบุคคลว่ารัฐภาคีได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นระบบตามกระบวนการตามข้อมติของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่ 1235 และ 1503 (ดู THE 1235 PROCEDURE และ THE 1503 PROCEDURE) คณะมนตรีฯ มีอำนาจยกประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ หรือสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศใด ๆ ขึ้นศึกษาหรืออภิปรายเพื่อหาทางแก้ปัญหาและอาจแต่งตั้งผู้จัดทำรายงาน ผู้แทน ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกได้หรืออาจเสนอให้เลขาธิการสหประชาติเพื่อแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวได้


UNITED NATIONS HUMAN RIGHTS PRIZE

คำแปล : รางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ความหมาย :

คำเรียกอย่างย่อของคำว่า United Nations Prize in the Field of Human Rights ซึ่งเป็นรางวัลที่สหประชาชาติประกาศมอบให้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรที่มีผลงานที่โดดเด่นในการอุทิศตนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะประกาศทุกห้าปี เริ่มมอบรางวัลครั้งแรกใน ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) พิธีมอบรางวัลจะทำในวันที่ 10ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงแก่ผู้ได้รับโดยไม่มีเงินรางวัลตอบแทน รางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กระตุ้นให้หลายประเทศมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนระดับชาติ (Human Rights Award / Prize) ขึ้น ซึ่งอาจดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกาศรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่นเป็นประจำทุกปี


UNITED NATIONS RULES FOR THE TREATMENT OF WOMEN PRISONERS AND NON-CUSTODIAL MEASURES FOR WOMEN OFFENDERS / BANGKOK RULES

คำแปล : ข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การควบคุมสำหรับผู้กระทำผิดหญิง/ ข้อกำหนดกรุงเทพฯ

ความหมาย :

ตราสารระหว่างประเทศที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำความผิดที่เป็นหญิง ซึ่งได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) หรือเรียกโดยย่อว่าข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) เกิดขึ้นจากการริเริ่มของประเทศไทยภายใต้โครงการยกระดับชีวิตผู้ต้องขังหญิง (Enhancing Lives of Female Inmates) หรือ “เอลฟี” (ELFI) ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ข้อกำหนดฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำขึ้น เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้ใช้อ้างอิงในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบด้านราชทัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงที่จะนำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ต้องขังหญิง เช่น การจำแนกลักษณะและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะพิเศษแต่ละประเภท การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพที่เป็นความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง และการดูแลบุตรที่ติดมากับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เป็นต้น


UNITED NATIONS STANDARD MINIMUM RULES FOR THE TREATMENT OF PRISONERS 1955

คำแปล : ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง พ.ศ. 2498

ความหมาย :

ประมวลหลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการบริหารเรือนจำและการปฏิบัติกับผู้ต้องขังเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังข้อกำหนดฯ จัดทำขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการคุ้มครองผู้กระทำผิด ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) และต่อมาข้อกำหนดฯ นี้ได้รับรองโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) และ ค.ศ. 1977 (พ.ศ.2520) มักจะเรียกประมวลหลักการฯ นี้สั้น ๆ ว่า “มาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง” ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำฯ รวบรวมทั้งหลักการในการจัดการเรือนจำสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง และแนวทางสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรวมทั้งหมด 95 ข้อที่สำคัญ เช่น • การย้ำว่าข้อกำหนดนี้มิได้ต้องการกำหนดรายละเอียดของรูปแบบของเรือนจำ แต่เป็นการวางหลักการร่วมกันขององค์ประกอบที่สำคัญระบอบ หลักการ และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและยอมรับได้ในการจัดการเรือนจำ • การดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องขังจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ และการเคารพความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมของผู้ต้องขัง • การจัดทำทะเบียน การจำแนกประเภทของผู้ต้องขัง • การมีห้องพักที่มีมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีวิต เช่น สะอาดถูกสุขลักษณะ มีพื้นที่และแสงสว่างเพียงพอ มีห้องส้วมและห้องอาบน้ำและสิ่งของที่จำเป็นในการทำความสะอาดร่างกาย • การมีน้ำดื่มที่สะอาด และได้รับอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างเพียงพอมีเวลาในการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมงมีเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และไม่เป็นที่อับอายหรือทำให้รู้สึกต่ำต้อย หรือตกเป็นเป้าสายตาเมื่อต้องออกไปนอกเรือนจำ • เรือนจำต้องจัดให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณวุฒิและมีความรู้ด้านจิตเวช ผู้ต้องขังที่ป่วยและจำเป็นต้องรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจะต้องได้รับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเฉพาะหรือโรงพยาบาลทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์จะต้องให้คำแนะนำต่อผู้อำนวยการ หรือผู้บัญชาการเรือนจำในเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพอาหาร และสุขอนามัยของเรือนจำ • การห้ามบังคับผู้ต้องขังทำงานที่เป็นหน้าที่ของเรือนจำ เว้นแต่เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองหรือกิจกรรมเพื่อสังคม • การห้ามลงโทษทางกาย ขังในห้องมืด หรือการลงโทษที่ทารุณไร้มนุษยธรรมหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ • เครื่องพันธนาการ เช่น กุญแจมือ โซ่ตรวน ชุดมัดตัวสำหรับผู้ป่วยโรคจิต จะต้องไม่ใช้เพื่อการลงโทษ เว้นแต่จะใช้เพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ถูกคุมขัง หรือมีเหตุผลทางการแพทย์ • ผู้ต้องขังจะต้องได้รับแจ้งเกี่ยวกับระเบียบ วินัย ข้อบังคับสำหรับการปฏิบัติตน ทราบ รู้สิทธิ และหน้าที่ของตน รวมถึงวิธียื่นคำร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยมีคู่มือ ถ้าผู้ต้องขังเป็นผู้ไม่รู้หนังสือจะได้รับแจ้งด้วยวาจา • กรณีที่ผู้ต้องขังตาย ป่วย บาดเจ็บสาหัส หรือมีการย้ายผู้ต้องขังไปบำบัดรักษา ผู้อำนวยการหรือผู้บัญชาการเรือนจำต้องแจ้งให้คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ต้องขังได้แจ้งไว้โดยเร็ว


UNITED NATIONS UNIVERSITY

คำแปล : มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ

ความหมาย :

สถาบันการศึกษาวิจัยซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นตามมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของนักวิจัยและนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ จากทั่วโลก โดยสนับสนุนให้ทำการศึกษา วิจัยโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งไปสู่การสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านงานวิจัย และการฝึกงานในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ไม่มีนิสิตนักศึกษา คณะวิชา หรือที่ตั้งมหาวิทยาลัยเป็นของตนเองดังเช่นมหาวิทยาลัยทั่วไป มีเพียงสำนักงานซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การดำเนินงานจะทำผ่านเครือข่ายของสถาบันวิจัยและวิชาการรวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์วิจัยของสถาบันวิชาการต่าง ๆ ทั่วโลก ขอบข่ายการศึกษาวิจัยที่สำคัญของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติแบ่งได้เป็นห้าส่วนดังนี้ • การเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน • การบริหารจัดการที่ดีในการพัฒนา (Development Governance) • การป้องกันมลภาวะและการส่งเสริมสุขภาพอนามัย • การศึกษาสภาพแวดล้อมโลก และการพัฒนาอย่างยั่งยืน • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม


UNITED NATIONS “PROTECT, RESPECT AND REMEDY” FRAMEWORK

คำแปล : UNITED NATIONS “PROTECT, RESPECT AND REMEDY” FRAMEWORK

ความหมาย :

แนวทางการดำเนินงานของรัฐและภาคธุรกิจเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรษัท กรอบดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยนายจอห์น รักกี (John Ruggie) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของนายโคฟี อันนันเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความรับผิดของบรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ใน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้รับรองรายงานชื่อ “กรอบการทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการปกป้องคุ้มครอง การเคารพและการเยียวยา” ที่เสนอโดยนายรักกี ดังนั้นบางทีจึงเรียกแนวทางนี้ว่า“กรอบการดำเนินงานแบบรักกี (Ruggie’s Framework)” กรอบการทำงานดังกล่าว มีหลักการสำคัญสามประการ คือ 1. รัฐเป็นองค์กรที่อยู่ในลำดับแรกที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง (Protect) บุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลที่สาม รวมถึงการละเมิดที่เกิดจากบรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจ 2. ภาคธุรกิจและบรรษัทข้ามชาติมีความรับผิดชอบในการเคารพ(Respect) สิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานภายใต้หลักกฎหมาย“การใช้ความระมัดระวังอย่างพอเพียง (Due Diligence)” เพื่อไม่ให้การดำเนินการตามธุรกิจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน 3. ขยายการเข้าถึงการเยียวยา (Remedy) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเยียวยาโดยกระบวนการทางศาล และไม่ใช้กระบวนการทางศาล หรือโดยมาตรการอื่น เช่น การตั้งกองทุนชดเชย เป็นต้น ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดั้งเดิม รัฐเท่านั้นที่มีพันธะหน้าที่ในการประกันสิทธิมนุษยชน (ดู OBLIGATION TO PROTECT, RESPECT และ FULFIL) บรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจไม่มีหน้าที่ประกันสิทธิมนุษยชนแก่บุคคล กรอบการดำเนินงานของสหประชาชาติฯ ถือว่าเป็นความพยายามของสหประชาชาติในการเชื่อมโยงความรับผิดของบรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น


UNIVERSAL DECLARATION OF HUMAN RIGHTS

คำแปล : ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เป็นตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกที่ได้ประกาศหลักการสำคัญว่าด้วย สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในการเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้สมกับคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของทุกคน ปฏิญญาฯ จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างซึ่งเป็นตัวแทนของภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีระบบกฎหมาย ศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยมีนางเอลิเนอร์ รูสเวลต์ เป็นประธาน สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาโดยมติเอกฉันท์ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day) ปฏิญญา ฯ สามารถแบ่งได้เป็นสี่ส่วน ดังนี้ • ส่วนแรก (ข้อ 1 และข้อ 2) บัญญัติหลักการทั่วไปและแนวคิดทางสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากจากมนุษย์ได้ หลักความเท่าเทียม และหลักภราดรภาพ • ส่วนที่สอง(ข้อ 3 ถึงข้อ 21)เป็นการรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) • ส่วนที่สาม (ข้อ 22 ถึงข้อ 28) รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, Social and Cultural Rights) • ส่วนที่สี่ (ข้อ 29 และข้อ 30) บัญญัติหน้าที่ของบุคคลต่อสังคม การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลและการตีความสิทธิตามปฏิญญาฯ จะต้องไม่เป็นการบั่นทอนสิทธินั้น ๆ คุณค่าทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดของปฏิญญาฯคือ การเป็นตราสารอ้างอิงหลักการและเนื้อหาสิทธิมนุษยชนที่รัฐต่างๆได้ปวารณาตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยที่ กฎบัตรฯ มิได้นิยามหรือแจกแจงว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ดังนั้น ปฏิญญาฯ จึงเป็นเอกสารเสริมกฎบัตรฯ ช่วยทำให้คำว่าสิทธิมนุษยชนมีความหมายชัดเจนขึ้น คุณค่าทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดของปฏิญญาฯคือ การเป็นตราสารอ้างอิงหลักการและเนื้อหาสิทธิมนุษยชนที่รัฐต่างๆได้ปวารณาตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยที่ กฎบัตรฯ มิได้นิยามหรือแจกแจงว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ดังนั้น ปฏิญญาฯ จึงเป็นเอกสารเสริมกฎบัตรฯ ช่วยทำให้คำว่าสิทธิมนุษยชนมีความหมายชัดเจนขึ้น


UNIVERSAL JURISDICTION

คำแปล : อำนาจสากลของศาลระหว่างประเทศ

ความหมาย :

อำนาจสากลของศาลระหว่างประเทศ เป็นหลักกฎหมายที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่เหนือกฎหมาย (Impunity) ของบุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรงแต่อาศัยดินแดนที่ไม่นับว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด หรือมีรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดช่วยเหลือให้หลบหนี หรือซ่อนเร้นไม่ให้ถูกนำตัวมาพิจารณา ไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม อำนาจสากลของศาลระหว่างประเทศที่มีอยู่เหนือการกระทำความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายเหนือดินแดนทั้งหลายและไม่มีอายุความ เหนือการกระทำที่มีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมสงคราม การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการรุกราน เป็นต้น หลักนี้พัฒนามาจากกฎหมายเด็ดขาด(jus cogens) อันเกิดจากจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนำมาบัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court)


UNIVERSAL PERIODIC REVIEW

คำแปล : การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระ

ความหมาย :

การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระเป็นกระบวนการสอดส่องและตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทุกด้านของประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ โดยต้องส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council)เพื่อทบทวนตรวจสอบทุกรอบสี่ปี การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระจัดตั้งขึ้นตามข้อมติที่ 60 / 251 ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) พร้อมกับการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระ เป็นกระบวนการสอดส่องและตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของรัฐภาคีสหประชาชาติทุกรัฐ อันแตกต่างจากการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกการตรวจสอบที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาและอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้านซึ่งทบทวนตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมการประจำอนุสัญญา เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการสิทธิเด็ก ประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และต่างจากรายงานที่ทำโดยผู้จัดทำรายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ที่กระทำโดยบุคคล การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระดำเนินการโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐภาคี โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะแต่งตั้ง “คณะทำงานว่าด้วยการประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชน (Working Group on UPR)”ประกอบด้วยสมาชิกสี่สิบเจ็ดประเทศเพื่อพิจารณารายงานและทำข้อเสนอแนะทางด้านเทคนิคเพื่อให้รัฐภาคีได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสิทธิมนุษยชน และสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศมีสิทธิที่จะเข้าร่วมอภิปรายหรือแลกเปลี่ยนความเห็นในกระบวนการพิจารณาทบทวนรายงาน


UNIVERSAL SUFFRAGE

คำแปล : การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป

ความหมาย :

วิธีการเพื่อให้ได้มติของประชาชนในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของประชาชนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการบริการกิจการสาธารณะ และการใช้สิทธิของปัจเจกชนเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปจึงสัมพันธ์กับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (the Right to Vote) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีอุดมการณ์ว่า การปกครองที่ดีต้องเป็นไปเพื่อสนองต่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่พร้อมกับการคุ้มครองคนส่วนน้อย การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปมีนัยสองด้านคือ ด้านแรก เป็นสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งสิทธินี้เป็นของราษฎรที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคน (the Right of Every Adult Citizen) แม้ว่าแต่เดิมในประเทศที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจะได้รับรองสิทธิของผู้บรรลุนิติภาวะในการออกเสียงเลือกตั้งแต่จะมีการจำกัดคุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้ที่จะใช้สิทธิ เช่น หลายประเทศได้กำหนดสถานะทางทรัพย์สิน (Property) ต้องเป็นเพศชาย หรือสถานะการสมรส เป็นต้น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของสตรีเพิ่งได้รับการรับรองในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา โดยประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่รับรองสิทธิโดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านี้ผ่อนคลายลงมาก เกือบทุกประเทศได้รับรองความเท่าเทียมของบุคคลในการออกเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในประเทศตะวันออกกลาง ด้านที่สอง เป็นสิทธิในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง (the Right to Run for the Office) ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลในการเสนอตัวเองเป็นผู้แข่งขันรับการเลือกตั้งไม่ว่าจะโดยสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ตาม โดยนัยนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องได้รับโอกาสในการนำเสนอแนวคิดและนโยบายต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และผู้จัดการเลือกตั้งต้องประกันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างเป็นธรรม (Fair) รวมถึงได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อให้บุคคลนั้นนำเสนอความเห็นได้อย่างไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออิทธิพลใด รวมถึงการเข้าถึงสื่อมวลชนนอกจากนั้นยังต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัว และชื่อเสียงที่อาจจะถูกใส่ร้าย เพื่อทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศจากฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นองค์กรที่จัดการเลือกตั้งต้องดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมขึ้น ทุกประเทศกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องอายุ เช่น บางประเทศกำหนดให้เป็นสิทธิของผู้บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 99 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้ • เป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่ผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง นอกจากนี้ มาตรา 100 ได้กำหนดลักษณะของบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ดังนี้ • บุคคลที่เป็นนักบวช นักพรต ภิกษุ หรือสามเณร • ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง • ผู้ที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย • บุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


UNIVERSALITY (OF HUMANRIGHTS)

คำแปล : ความเป็นสากล /สากลภาพ (สิทธิมนุษยชน)

ความหมาย :

ความเป็นสากล หรือสากลภาพของสิทธิมนุษยชน เป็นแนวคิดหรือทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด ๆ และไม่ว่าจะมีสีผิว เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ภาษา ระบบกฎหมาย หรืออุดมการณ์การเมือง หรือนับถือศาสนาใด จะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยชน ดังนั้น หลักการและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสามารถปรับใช้ได้กับทุกสังคม แนวคิดความเป็นสากล / สากลภาพของสิทธิมนุษยชนนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบของระบบกฎหมายและระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน แนวคิดที่ตรงข้ามกับแนวคิดนี้ คือ ลักษณะจำเพาะ / สัมพัทธภาพทางสิทธิมนุษยชน หรือ Relativity of Human Rights ซึ่งเห็นว่าสิทธิมนุษยชนขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละสังคม จึงต้องปรับใช้หรือตีความเกณฑ์มาตรฐานสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับลักษณะจำเพาะของสังคมนั้น


UNLAWFUL ACTION

คำแปล : การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ความหมาย :

ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง การกระทำของบุคคลต่อบุคคลอื่นโดยไม่มีอำนาจ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎหมายที่ให้อำนาจการกระทำการอาจเป็นกฎหมายที่เป็นเนื้อหาสาระ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งหรือเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ ในทุกสังคมจะต้องสร้างหลักความสัมพันธ์ สิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติตนของบุคคลที่เรียกว่า กฎหมาย กฎ และระเบียบของสังคม การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบของสังคม ย่อมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนการประพฤติที่ดี ที่เหมาะสม และในทุกสังคมที่มีวัฒนธรรม จะกำหนดว่าการกระทำใดที่ยอมรับได้ หรือยอมรับไม่ได้ และต้องถูกลงโทษหนักเบาตามสภาพของเรื่องนั้น ๆ อนึ่ง ในเรื่องละเมิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่บุคคลทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำ แต่ถ้าบุคคลผู้เสียหายยินยอม ถือว่าผู้กระทำมีอำนาจกระทำตามหลัก “ความยินยอมไม่เป็นละเมิด” กล่าวอีกนัยหนึ่งถือว่าผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายแพ่ง ความหมายอย่างแคบ ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร หมายถึงการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือองค์กรของรัฐต่อบุคคล โดยไม่มีอำนาจ เช่น กลั่นแกล้งจับกุมบุคคลโดยไม่มีความผิด การทำร้ายร่างกายบุคคลที่ถูกจับกุม การควบคุมตัวบุคคลเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายอนุญาตให้อำนาจ เป็นต้น


USE OF FORCE

คำแปล : การใช้กำลัง

ความหมาย :

การใช้กำลังเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กฎบัตรสหประชาชาติไม่ห้ามกรณีที่รัฐใช้กำลังป้องกันตัวเอง (Self Defence) หรือการใช้กำลังเพื่อการป้องกันร่วมกัน (Collective Defence) เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพการใช้กำลังต้องตั้งอยู่บนหลักการข้างต้น และการใช้กำลังร่วมกันปกป้องสันติภาพนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ทำตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security Council)เท่านั้น และการใช้กำลังต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) และความจำเป็นทางการทหาร (Military Necessity) ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้กำลัง


VERTICAL DIRECT EFFECT

คำแปล : ผลโดยตรงของสิทธิตามแนวตั้ง

ความหมาย :

ผลโดยตรงของสิทธิตามแนวตั้งหมายถึง การที่ปัจเจกชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่งประเทศอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองปัจเจกชนจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ ตัวอย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับต่อรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปทุกรัฐในการบังคับการตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนในระดับสหภาพ และให้สิทธิโดยตรงแก่ปัจเจกชนในสหภาพยุโรปสามารถฟ้องรัฐใดๆที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อปัจเจกชนนั้นได้โดยตรง


VIOLENCE AGAINST WOMEN

คำแปล : ความรุนแรงต่อสตรี

ความหมาย :

การใช้ความรุนแรงใด ๆ อันสืบเนื่องมาจากแตกต่างระหว่างหญิง ชายซึ่งมีผลหรืออาจจะมีผลทำให้เกิดอันตรายหรือความเดือดร้อนทางกาย ทางเพศหรือทางจิตใจต่อผู้หญิง ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของสังคม ทั้งในครอบครัว ในชุมชน สถานที่ทำงาน และสถาบันการศึกษา อนึ่งคำว่า Women นั้น หมายความรวมถึง เด็กหญิง (Girl) ด้วย ความรุนแรงต่อสตรีมีหลายรูปแบบเช่น • ความรุนแรงต่อร่างกาย และจิตใจความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในครอบครัว การทุบตี การทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กผู้หญิงในบ้านการข่มขืนโดยคู่สมรส การขริบอวัยวะเพศสตรี และข้อปฏิบัติตามประเพณีต่าง ๆ อันเป็นอันตรายต่อสตรี ความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากคู่สมรสและความรุนแรงที่เป็นการหาประโยชน์จากสตรี • ความรุนแรงต่อร่างกาย ทางเพศและจิตใจที่เกิดขึ้นภายในชุมชนทั่วไป รวมถึงการข่มขืน การทารุณกรรมทางเพศ การลวนลามทางเพศการข่มขู่ในสถานที่ทำงานในสถาบันการศึกษา และสถานที่ต่าง ๆการค้าหญิง และการบังคับให้ค้าประเวณี • การที่รัฐเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรี ความรุนแรงต่อสตรีเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุซึ่งความเสมอภาคการพัฒนา สันติภาพ และความก้าวหน้าของสตรี ความรุนแรงต่อสตรีเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรี และทำให้ประโยชน์ที่สตรีจะได้รับจากสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น ต้องถูกทำลายหรือลดน้อยลง ความรุนแรงต่อสตรี เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลกมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อและวัฒนธรรมที่เห็นว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งฝังลึกอยู่ในสังคม ดังนั้นใน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาเพื่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีในอารัมภบทของปฏิญญาฯ ได้ชี้ให้เห็นรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีว่า “ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างบุรุษและสตรี ซึ่งนำไปสู่การครอบงำและการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยบุรุษ และเป็นสิ่งที่ขัดขวางความก้าวหน้าของสตรี และตระหนักว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นกลไกทางสังคมที่โหดร้ายอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้สถานะของสตรีเป็นรองเมื่อเปรียบเทียบกับบุรุษ” เพื่อแก้ปัญหานี้ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรี”


VIRGINIA DECLARATION OF RIGHTS 1776

คำแปล : คำประกาศแห่งเวอร์จิเนียว่าด้วยสิทธิ พ.ศ. 2319

ความหมาย :

เอกสารทางประวัติศาสตร์แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนในดินแดนอเมริกาในยุคที่ยังเป็นดินแดนอาณานิคมของประเทศในยุโรป คำประกาศฯ ได้จัดทำโดย นายจอร์จ เมสัน (George Mason) นักการเมืองแนวคิดเสรีนิยมซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มให้เลิกทาสและสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของอเมริกา ที่ประชุมประชาชนแห่งเวอร์จิเนียได้รับรองคำประกาศฯ โดยฉันทามติเมื่อ ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) คำประกาศฯ ได้ยืนยันความเป็นอิสระ ความเท่าเทียม และเสรีภาพขั้นพื้นฐานว่าเป็นสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน การมีรัฐบาลก็เพื่อที่จะคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลล้มเหลวไม่สามารถดำเนินตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ต่อไป ประชาชนที่อยู่ในปกครองก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลได้ คำประกาศฯ เป็นพื้นฐานในการจัดทำรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา(Constitution of the United States of America) และมีอิทธิพลต่อแนวคิดในร่างเอกสารทางกฎหมาย และการเมืองหลายฉบับ เช่น คำประกาศอิสรภาพแห่งอเมริกา (American Declaration of Independence) บทบัญญัติแห่งสิทธิของอเมริกา (American Bill of Rights) คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษย์และสิทธิพลเมืองแห่งฝรั่งเศส พ.ศ. 2332 (Declaration on the Rights of Man and of Citizen 1789) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 (Universal Declaration of Human Rights 1948)


VULNERABLE GROUPS

คำแปล : กลุ่มเสี่ยง / กลุ่มที่เปราะบาง

ความหมาย :

กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่เปราะบาง คือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะร่วมกันทางด้านสถานะสังคม วัฒนธรรม หรือ ด้านทางด้านกายภาพ เช่นเชื้อชาติ สีผิว เพศหรือความพิการทางกายหรือจิตใจ และเนื่องจากลักษณะเหล่านั้นทำให้เขาขาดโอกาสในการใช้สิทธิ หรือเข้าถึงบริการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ดังเช่นคนอื่นหรือด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้เขาเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิที่จักได้รับการการเคารพ ปกป้อง คุ้มครอง อย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มใหญ่ มาตรการที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางสังคมเพื่อประกันสิทธิของกลุ่มเสี่ยงซึ่งถือเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายโดยใช้มาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงมาตรการในเชิงยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures)