THE FIFTH AMENDMENT คำแปล : บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า (รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา) ความหมาย :
รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในบทที่ห้าซึ่งรับรองสิทธิที่เกี่ยวกับบุคคลในคดีอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การฟ้องศาล การสอบสวน และการลงโทษเป็นต้น เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนฃ บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights) เนื่องจากเป็นการบัญญัติถึงสิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ประกอบไปด้วยสิทธิที่ผู้ต้องหาจะไม่ถูกบังคับให้ต้องให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญาหรือปรักปรำตนเอง (The Privilege against Self-incrimination) สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษซ้ำในความผิดเดียวกัน (Double Jeopardy) สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำการใด ๆ อันเป็นการจำกัดสิทธิในชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของบุคคล โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมแห่งกฎหมาย (Due Process) รวมถึงสิทธิที่จำเลยจะได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีการพิจารณาคดีจากคณะลูกขุนใหญ่(Grand Jury) ในคดีอาญาที่ระวางโทษประหารชีวิตหรือคดีอุกฉกรรจ์ ถ้อยคำในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้าได้บัญญัติว่า “บุคคลใดจะถูกพิจารณาในคดีที่มีโทษถึงประหารชีวิต หรือคดีอาญาอันไม่ปรารถนาอื่นใดไม่ได้ นอกจากคณะลูกขุนใหญ่จะได้แจ้งหรือชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษรให้พิจารณาคดีนั้นแล้ว ทั้งนี้ เว้นแต่คดีที่เกิดขึ้นในกองทัพบก กองทัพเรือ หรือในกองกำลังพลอาสาสมัครที่เข้าประจำการยามสงคราม หรือมีความไม่สงบเกิดขึ้นและบุคคลใดจะถูกพิพากษาหรือลงโทษในความผิดอันเดียวกันซ้ำอีกไม่ได้ หรือจะถูกบังคับให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเองในคดีอาญาใด ๆ ไม่ได้ หรือจะถูกจำกัดสิทธิในชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินโดยไม่ต้องด้วยกระบวนความแห่งกฎหมายไม่ได้และทรัพย์สินของบุคคลใดจะนำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนอันชอบธรรมไม่ได้” อนึ่ง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นบทบัญญัติดั้งเดิมที่ได้รับรองโดยมลรัฐต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) และส่วนที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายครั้ง(ดู Amendments) |
THE FIRST AMENDMENT คำแปล : บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่ง (รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา) ความหมาย :
รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในบทที่หนึ่งซึ่งได้รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในด้านความเชื่อ การนับถือศาสนาการพูด การพิมพ์ การโฆษณา และการชุมนุมโดยสันติของประชาชน บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งแรก เป็นการบัญญัติกฎหมายครั้งสำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights) ถือเป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เนื่องจากเป็นการจำกัดการใช้อำนาจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อประชาชน ถ้อยคำในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐสภาจะบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนา หรือห้ามการปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาโดยเสรี หรือตัดทอนเสรีภาพในการพูด หรือการพิมพ์ โฆษณา หรือสิทธิของประชาชนที่จะร่วมชุมนุมกันโดยสงบ และยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาลไม่ได้” อนึ่ง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นบทบัญญัติดั้งเดิมที่ได้รับรองโดยมลรัฐต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) และส่วนที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายครั้ง (ดู Amendments) |
THE RIGHT TO COUNSEL คำแปล : สิทธิที่จะปรึกษาทนาย ความหมาย :
สิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 13 สิทธินี้เกิดขึ้นจากปัญหาในทางปฏิบัติที่ว่าการสอบปากคำผู้ต้องหาผู้ต้องหาอาจอยู่ในสภาวะถูกกดดันจนอาจทำให้ผู้ต้องหาให้การโดยเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนอันเป็นผลกระทบต่อผู้ต้องหาอย่างไม่เป็นธรรม บางกรณีผู้ต้องหา หรือจำเลยอาจไม่เข้าใจถ้อยคำทางกฎหมายหรือผลทางกฎหมายจึงอาจให้การที่เป็นผลร้ายกับตนเอง นอกจากนั้นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอำนาจของผู้ถูกสอบสวนกับพนักงานสอบสวน อาจทำให้พนักงานสอบสวนใช้อำนาจโดยมิชอบได้ การได้ปรึกษาทนาย หรือมีทนายเข้าร่วมในการดำเนินคดีจึงทำให้การดำเนินคดีมีความเป็นธรรมมากขึ้น บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาทนายให้กับผู้ต้องหากรณีที่ผู้ต้องหาไม่สามารถหาทนายได้หรือถ้าเจ้าพนักงานไม่อนุญาตให้ทนายเข้าฟังการสอบสวนถือว่าเป็นกระบวนการที่ขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย สิทธิในการมีทนายสามารถแบ่งได้เป็นสองขั้นตอน คือ 1. ทนายในชั้นก่อนฟ้องคดี ผู้ต้องหามีสิทธิในการให้ทนายเข้ามารับฟังข้อกล่าวหา 2. ทนายในชั้นศาลซึ่งจำเลยมีสิทธิในการแต่งตั้งทนายเข้ามาเพื่อดำเนินการในการต่อสู้คดี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)ได้รับรองสิทธิในการมีทนายไว้ใน มาตรา 242 ดังนี้ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ตามที่กฎหมายบัญญัติในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่อาจหาทนายความได้ รัฐต้องตั้งทนายความให้ผู้ถูกควบคุมตัวโดยเร็ว” และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ (1) บัญญัติว่า “ผู้ต้องหามีสิทธิพบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง” |
TO BE TRIED WITHOUT UNDUE DELAY, THE RIGHT คำแปล : สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น ความหมาย :
สิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับการพิจารณาไต่สวนความผิดในระยะเวลาโดยเร็ว ไม่เนิ่นช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอ้างได้ ในคดีอาญาแม้ว่าบุคคลที่ศาลยังไม่พิพากษาว่าผิดจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่บุคคลที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกลิดรอนสิทธิหลายประการ เช่น อาจถูกคุมขัง ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง นอกจากนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ในระหว่างการดำเนินคดี การพิจารณาคดีที่รวดเร็วจึงทำให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รัฐจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้คดีอาญาดำเนินไปอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ทั้งในขั้นตอนก่อนฟ้องและใขั้นดำเนินคดีในศาล เช่น การมีพนักงานสอบสวนที่มีความรู้ความสามารถที่พอเพียง มีกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการเลื่อนนัดการผัดฟ้องที่รัดกุม และมีจำนวนอัยการ และตุลาการที่พอเพียงกับปริมาณคดี คำว่าไม่ชักช้าเกินความจำเป็นนั้นจะต้องไม่ใช่ระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนเป็นการรวบรัดจนจำเลยไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อติดต่อหาทนายความ เพื่อเป็นที่ปรึกษาคดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็นได้รับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14(3)ว่า “ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค … (ค) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินจำเป็น” (In the determination of any criminal charge against him, everyone shall be entitled to the following minimum guarantees, in full equality …(c) To be tried without undue delay) |
TORTURE คำแปล : การทรมาน ความหมาย :
การทรมาน เป็นการลงโทษหรือการบังคับให้รับสารภาพโดยการทำให้เกิดความเจ็บปวดที่เป็นการสร้างความหวาดกลัวไม่ให้คนกระทำผิดพร้อมๆกับการสร้างความหวาดกลัวให้แก่สังคม การทรมานยังใช้เพื่อการพิสูจน์ความผิด หรือการไต่สวนความผิดอีกด้วย การทรมาน หรือทารุณกรรมนั้นมีได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทารุณกรรมและการลงโทษที่เป็นการลดคุณค่ามนุษย์ (CAT) ได้ให้คำจำกัดความไว้อย่างแคบ กล่าวคือ ผู้กระทำต้องเป็นพนักงานของรัฐหรือผู้ที่รัฐได้สนับสนุนรู้เห็นเป็นใจ และกระทำเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อร่างกายหรือจิตใจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกกระทำยอมรับสารภาพ หรือ ให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการกระทำที่เป็นการลงโทษ แต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมีความหมายกว้างกว่า ไม่ว่าจะกระทำโดยใครแต่มีองค์ประกอบคือต้องจงใจ ทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรงระดับหนึ่งโดยการปฏิบัติที่ไม่มีมนุษยธรรม การทรมาน มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าการปฏิบัติที่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีหรือไร้มนุษยธรรม (Degrading / Inhuman Treatment)ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้จำแนกข้อแตกต่างที่สำคัญของสองคำนี้ไว้ว่า การทรมานนั้นพิจารณาถึงระดับความเจ็บปวดความโหดร้ายของการกระทำ ในขณะที่การปฏิบัติที่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรี หรือไร้มนุษยธรรม มุ่งที่วิธีการของการกระทำที่เป็นการทำลายคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามการลงโทษที่ทารุณนั้นถือว่าเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว |
TOTALITARIANISM คำแปล : ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ ความหมาย :
รูปแบบของระบบการเมืองการปกครองที่ถืออำนาจรัฐเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารประเทศ ทำให้รัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการจัด กำหนดกิจกรรมต่าง ๆในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จมีความคล้ายคลึงกับลัทธิเผด็จการทหารแบบขวาจัด เช่น ลัทธิฟาสซิส (Fascism) และลัทธินาซี (Nazism) หรือเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบซ้ายจัด เช่น คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน(Stalinist Communism) ระบบการปกครองแบบนี้จะยึดถือความคิดว่า รัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอำนาจของผู้บริหารจึงเป็นอำนาจที่ใช้จัดการทุกอย่างของรัฐ รัฐจึงมีอำนาจควบคุมทุกอย่าง เพื่อความเป็นเอกภาพของรัฐ โดยไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจกชนดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับการบริหาร คือ รัฐจะใช้วิธีการควบคุมกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คณะผู้บริหารส่วนกลางเป็นองค์กรที่ผูกขาดอำนาจการตัดสินใจกำหนดนโยบาย มีการควบคุมองค์กรรัฐในระดับย่อย ๆ ตามลำดับอย่างเคร่งครัด โดยกฎระเบียบ คำสั่ง และแนวปฎิบัติมีมาตรการบังคับให้ประชาชนเชื่อฟัง เคารพ และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐอย่างเคร่งครัด เช่น การใช้วิธีการทางกฎหมายและการโฆษณาชวนเชื่อที่มักอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจกชนดังนั้นประชาชนจึงเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน |
TRADE UNION คำแปล : สหภาพแรงงาน ความหมาย :
สหภาพแรงงาน เป็นสมาคมของลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเช่นการเรียกร้องค่าแรง สภาพการจ้างงาน หรือสวัสดิการอื่น ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือกันระหว่างลูกจ้างด้วยกันเองในด้านสวัสดิการ และการสมาคมของเหล่าลูกจ้าง สิทธิในการรวมกลุ่มสมาคม ( The Right to Association)เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองสิทธิของผู้ใช้แรงงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์ของสหภาพแรงงาน อนุสัญญาหลายฉบับขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองสมาชิกของสหภาพแรงงาน เช่น สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม กฎหมายของรัฐที่ห้ามไม่ให้ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนจัดตั้งสหภาพแรงงานจึงเป็นการขัดต่อสิทธิในการรวมกลุ่มและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ดังนั้นสิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน บรรดากฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ห้ามหรือมีลักษณะเป็นโทษต่อลูกจ้างเพราะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนับว่าละเมิดต่อสิทธินี้เช่นกัน นอกจากนั้นรัฐต้องมีมาตรการห้ามนายจ้างกลั่นแกล้ง หรือลงโทษลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน |
TRAFFICKING IN PERSONS คำแปล : TRAFFICKING IN PERSONS ความหมาย :
การค้ามนุษย์ เป็นการก่ออาชญากรรมโดยการถือเอามนุษย์เป็นสินค้าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ของตนหรือองค์กรอาชญากรรม นับเป็นการค้าทาสรูปแบบใหม่ที่อาศัยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ยากไร้ ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมือง เด็ก และสตรี มาแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่นการบังคับให้ค้าประเวณี หรือบังคับแรงงาน กฎหมายสิทธิมนุษยชนถือว่าการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีกรอบกฎหมายเพื่อให้รัฐร่วมมือกันป้องกัน |
TRANSPARENCY คำแปล : ความโปร่งใส ความหมาย :
ความโปร่งใสนี้มีความหมายหลายมิติ ทั้งทางกายภาพ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐกิจ การค้า การปกครอง และการเมือง ซึ่งมีลักษณะที่สามารถมองได้ ปรุโปร่ง ไม่มีสิ่งใดปกปิด ดังนั้นการกระทำสิ่งใด ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หากมีความโปร่งใสย่อมสามารถเห็นได้โดยชัดเจนในทุกด้าน โดยปราศจากสิ่งปิดบังอำพราง เป็นลักษณะของการมีธรรมาภิบาล การเมือง การปกครอง การค้า การบริหาร จัดการอย่างมีความโปร่งใสจึงเป็นการดำเนินการที่มีความเที่ยงตรงและเที่ยงธรรมตรวจสอบได้ จึงนำมาซึ่งความยุติธรรมต่อสมาชิกของสังคมนั้นๆ |
TRAVAUX PREPARATOIRES (French) คำแปล : บันทึกร่างสนธิสัญญา / บันทึกร่างกฎหมาย ความหมาย :
Travaux Preparatoires เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “งานเตรียมการ (Preparatory Work)” บันทึกร่างสนธิสัญญา / บันทึกร่างกฎหมาย เป็นเอกสารที่รวบรวมบันทึกการจัดทำสนธิสัญญานับตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจาจนถึงการยอมรับสนธิสัญญา บันทึกร่างสนธิสัญญามีประโยชน์ในการใช้เป็นเอกสารอ้างอิงการตีความข้อบทสนธิสัญญาโดยทำให้เข้าใจเจตนาของผู้ร่างและประเด็นที่มีการอภิปรายกันในระหว่างการจัดทำร่างถ้อยคำในข้อบทนั้นว่าต้องการให้มีความหมายเช่นใด |
TREATY คำแปล : สนธิสัญญา ความหมาย :
สนธิสัญญามีความหมายอย่างแคบ หมายถึงความตกลงระหว่างประเทศ กับความหมายอย่างกว้างหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศในลักษณะต่างๆ และมีชื่อที่เรียกต่างๆกัน เช่น อนุสัญญา (Convention) กติกา (Covenant) ความตกลง (Agreement) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ได้ให้คำนิยามของสนธิสัญญาว่าหมายถึงความตกลงระหว่างประเทศที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะกระทำขึ้นเป็นตราสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และไม่ว่าจะมีชื่อเฉพาะเรียกว่าอย่างไรก็ตามตราสารระหว่างประเทศเป็นสนธิสัญญามีลักษณะดังนี้ 1. เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่กระทำระหว่างคู่ภาคี สองฝ่าย หรือมากกว่าสองฝ่าย 2. สนธิสัญญาต้องกระทำโดยคู่ภาคีที่เป็นรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ 3. เป็นตราสารที่ก่อพันธะทางกฎหมาย 4. ตราสารนั้นอาจเป็นตราสารฉบับเดียว สองหรือหลายฉบับเกี่ยวเนื่องกัน ตราสารใดจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นสนธิสัญญาหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อของตราสารนั้นๆแต่อยู่ที่เจตนาของคู่ภาคีของตราสารนั้น อนุสัญญากรุงเวียนนามีข้อบทกล่าวถึงสนธิสัญญาปากเปล่าว่ามีได้แต่อนุสัญญาไม่ส่งเสริมให้ทำ |
TRIAL IN CAMERA คำแปล : การพิจารณาเป็นการลับ ความหมาย :
คำว่า in camera เป็นภาษาละติน แปลว่า ในห้อง (In a Chamber) รูปแบบ หรือวิธีการพิจารณาคดีในศาลที่ไม่ให้บุคคลทั่วไปและสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการไต่สวนสืบพยานในศาลเว้นแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีนั้นซึ่งเป็นการยกเว้นหลักทั่วไปของการไต่สวนพิจารณาคดีอาญาที่มีหลักว่าจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยและต้องเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย (ดู OPEN TRIAL / PUBLIC TRIAL) เพื่อไม่ให้รัฐใช้กระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งจำเลย และเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนตรวจสอบความชอบธรรมและความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากบางกรณีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยอาจจะกระทบต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ความมั่นคงของชาติ เช่น คดีความผิดต่อความมั่นคง หรือต้องการคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน เช่น ในคดีก่อการร้าย คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล หรือต้องการคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของผู้เสียหาย เช่นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็ก เป็นต้น ดังนั้นจึงยอมให้พิจารณาคดีโดยไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาไต่สวนคดีเข้าร่วมฟังการพิจารณาได้หลักการนี้เป็นข้อยกเว้นสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจึงต้องเป็นกรณีที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นโดยแท้จริงหลายประเทศได้วางหลักเกณฑ์ระเบียบที่เคร่งครัดเกี่ยวกับการพิจารณาเป็นการลับไว้ ในการพิจารณาในศาลเยาวชนมักจะใช้การพิจารณาเป็นการลับเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกเกิดตราบาปติดตัว ในประเทศไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดแต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ เพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไปล่วงรู้ เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ • โจทก์และทนาย • จำเลยและทนาย • ผู้ควบคุมตัวจำเลย • พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ • ล่าม • บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล • พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับศาล แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร |
TYRANNY OF THE MAJORITY คำแปล : เผด็จการโดยเสียงข้างมาก ความหมาย :
สภาพการณ์ที่รัฐบาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจปกครองที่ได้อำนาจมาตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย หรือดำเนินการใด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่สนับสนุน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิ สวัสดิการ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของประชาชนที่เป็นเสียงส่วนน้อย บางทีก็เรียกสภาพการณ์เช่นนี้ว่า Dictatorship of the Majorityในสำนวนไทยมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือ “พวกมากลากไป” แม้ว่าหลักการของประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง สิทธิที่เป็นเสียงส่วนน้อยจักต้องได้รับการคุ้มครอง ในการกำหนดนโยบายรัฐจักต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคลที่เป็นเสียงส่วนน้อยอย่างเท่าเทียมกันกับเสียงส่วนใหญ่ (ดู UNIVERSAL SUFFRAGE) |
ULTRA VIRES (Latin) คำแปล : เกินขอบอำนาจ ความหมาย :
มาจากภาษาละติน นิยมอ่านว่า อัล-ตรา-ไว-เรส หมายถึง การกระทำใด ๆที่อยู่นอกเหนือขอบอำนาจที่ได้กำหนดไว้ หรือได้รับมอบหมาย คำนี้ปรากฏทั้งในกฎหมายมหาชนและเอกชน ในกฎหมายมหาชน คำนี้ใช้ได้ทั้งกรณีที่เป็นบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานหมายถึงการที่องค์กร หน่วยงาน หรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจ(Sub-delegated/ delegatus) กระทำเกินกว่าขอบเขตหน้าที่ที่มีอำนาจหรือที่ได้รับมอบอำนาจจากองค์กร หรือบุคคลที่มอบอำนาจ (Delegate/ delegare) ไม่ว่าการมอบหมายนั้นจะมีขึ้นโดยกฎหมาย หรือคำสั่ง ในกฎหมายเอกชนใช้ได้หลายความหมาย ไม่ว่าการมอบหมายอำนาจหน้าที่ระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นจะเกิดจากสัญญา หรือตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ตัวแทนกระทำนอกขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากตัวการหรือการที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลกระทำเกินขอบอำนาจที่นิติบุคคลนั้นมีตามกฎหมาย การกระทำเกินขอบอำนาจสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ การกระทำเกินขอบอำนาจในเนื้อหา (Substantive/ ultra vires) ซึ่งเป็นการกระทำเกินขอบอำนาจที่มีอยู่ และการกระทำเกินขอบอำนาจในกระบวนการ (Procedural/ ultra vires) ซึ่งหมายถึง มีอำนาจตามกฎหมายแต่กระบวนการไม่ถูกต้อง |
UNILATERAL MEASURE คำแปล : มาตรการฝ่ายเดียว ความหมาย :
มาตรการฝ่ายเดียวเป็นการกระทำที่รัฐใดรัฐหนึ่งดำเนินการต่อบูรณภาพของรัฐอื่น เช่น การโจมตี การส่งกองกำลังทหารเข้าไป หรือการลงโทษทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศการแทรกแซงด้านสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมสามารถกระทำได้ถ้าเป็นการกระทำเพื่อเป็นการร่วมกันป้องกัน (Collective Measure) โดยได้รับมติเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตามหมวดที่ 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการบีบบังคับเท่านั้น ประเทศมหาอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศมักกระทำการฝ่ายเดียวซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีที่มีความขัดแย้งในคณะมนตรีความมั่นคงทำให้ไม่สามารถมีข้อมติได้ รัฐใดรัฐหนึ่งอาจใช้มาตรการแทรกแซงรัฐที่มีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในรัฐนั้น เช่น กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐมหาอำนาจอาจเป็นผลร้ายต่อสิทธิมนุษยชนได้ เช่น การใช้กำลังเข้าไปเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบเผด็จการ อาจนำมาซึ่งการพิพาทด้วยอาวุธ หรือการไม่คบค้าทางเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนในทางการเมือง |
UNITED NATIONS COMMISSION ON HUMAN RIGHTS คำแปล : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ความหมาย :
องค์กรย่อยภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ดำเนินการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ภารกิจเริ่มแรกของคณะกรรมาธิการคือการจัดทำร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และต่อมาคณะกรรมาธิการมีบทบาทหลักในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยมีองค์กรย่อยที่สำคัญ คือ คณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมและการปกป้องสิทธิมนุษยชน (Sub-Commission on the Promotion and Protection of Human Rights) หลังจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมุนษยชน ณ กรุงเวียนนาที่ประชุมได้เสนอแนะว่าสหประชาชาติควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและควรยกระดับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯให้เป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติเช่นเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)สมัชชาใหญ่สหประชาชติได้มีมติให้ยกเลิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯพร้อมทั้งให้จัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนขึ้นและให้โอนงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ มาเป็นของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน(ดู UNITED NATIONS HUMAN RIGHTS COUNCIL) |
UNITED NATIONS DECLARATION ON HUMAN RIGHTS EDUCATION AND TRAINING คำแปล : ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน ความหมาย :
ตราสารระหว่างประเทศที่รวบรวมหลักการและแนวทางสำคัญสำหรับรัฐในการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาและฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ปฏิญญาฯ นี้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติโดยมีมติรับรองในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ปฏิญญาฯ ไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐ และไม่ได้รับรองสิทธิมนุษยชนขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด แต่ได้รวบรวมหลัการสำคัญ ๆ ไว้ในข้อบทรวม 14 ข้อซึ่งครอบคลุมกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษารูปแบบต่าง ๆ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษานอกระบบ ตลอดจนข้อที่ควรคำนึงในการศึกษาและอบรมด้านสิทธิมนุษยชนโดยมีเป้าหมายให้มีการจัดการศึกษาและฝึกอบรมสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักการที่สำคัญตามปฎิญญาฯ นี้ เช่น • ข้อ 1 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความรู้ ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน • ข้อ 3 สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย • ข้อ 4 สิทธิมนุษยชนศึกษาควรอยู่บนพื้นฐานตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และตราสารระหว่างประเทศ • ข้อ 5 สิทธิมนุษยชนศึกษาไม่ว่าจะดำเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคโดยเฉพาะความเสมอภาคระหว่างเด็กหญิง และเด็กชาย และควรคำนึงถึงบุคคลในกลุ่มที่มีความยากลำบากเป็นพิเศษ เช่น คนพิการ เป็นต้น |
UNITED NATIONS EDUCATIONAL, SCIENTIFIC AND CULTURAL ORGANISATION คำแปล : องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ / องค์การยูเนสโก ความหมาย :
“องค์การยูเนสโก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ยูเนสโก” เป็นองค์การชำนัญพิเศษองค์การหนึ่งภายใต้องค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีวัตถุประสงค์คือการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดการยอมรับความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่มในโลก เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันเป็นชนวนสู่สงคราม นอกจากนี้ ยูเนสโกยังส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้คนและรัฐต่าง ๆ ทั่วโลกเคารพความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา วัตถุประสงค์ข้างต้นปรากฏในธรรมนูญก่อตั้งองค์การยูเนสโกที่ว่า “ด้วยสงครามเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ดังนั้น จึงต้องสร้างการพิทักษ์สันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย” (“Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that the defences of peace must be constructed.”) องค์การยูเนสโกมีขอบข่ายงานที่กว้างขวางโดยไม่จำกัดเฉพาะงานทางด้านการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชนและสารสนเทศ องค์การยูเนสโกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 195 ประเทศ และสมาชิกสมทบอีก 7 ประเทศ (ข้อมูลณ เดือนพฤษภาคม 2555) ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การยูเนสโกลำดับที่ 49 โดยเป็นภาคีสมาชิกใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) และประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งสำนักงานยูเนสโกประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร |
UNITED NATIONS ENVIRONMENT PROGRAMME คำแปล : โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ / ยูเน็พ ความหมาย :
องค์การระหว่างประเทศที่มีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับโลกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไนโรบีประเทศเคนยา ในการดำเนินงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ยูเน็พจะร่วมมือกับสหประชาชาติและรัฐภาคีสมาชิก ในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักวิทยาศาสตร์ การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ โดยร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และองค์กรในท้องถิ่นเพื่อบูรณาการนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนา และการนำนโยบายไปใช้ในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการผลักดันให้มีความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ภารกิจของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครอบคลุมตั้งแต่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สภาพบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมทางทะเล และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของโลก การกำกับดูแลสภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจสีเขียว ยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ • การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางลบ • การลดและป้องกันมลพิษ เช่น การบำบัดของเสีย และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น • การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม |
UNITED NATIONS GUIDELINES FOR NATIONAL PLAN OF ACTION FOR HUMAN RIGHTS EDUCATION คำแปล : ข้อชี้แนะของสหประชาชาติเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษา ความหมาย :
เอกสารที่เป็นคำแนะนำ หรือเป็นแนวทาง ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights หรือ OHCHR) ใน ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) เพื่อใช้เป็นกรอบสำหรับความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับรัฐ องค์การระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organisation) องค์การพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organisation) กลุ่มวิชาชีพ ตลอดจนปัจเจกบุคคลและภาคประชาชน ในการกำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติ / แนวปฏิบัติและการพัฒนาการศึกษา และฝึกอบรมสิทธิมนุษยชน ในวาระที่มีการประกาศให้ค.ศ. 1995 - 2004 (พ.ศ. 2538 - 2547) เป็น ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนภายในรัฐภาคีสมาชิก |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ