STAKEHOLDER คำแปล : ผู้มีส่วนได้เสีย ความหมาย :
ผู้มีส่วนได้เสีย ถือเป็นบุคคลที่มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ และการกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อกลุ่มอย่างกว้างขวาง การกำหนดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้มีส่วนได้เสียในแง่การวางแผนลดผลกระทบ และการหาวิธีเยียวยาความเสียหาย และยังเป็นประโยชน์ในเชิงกระบวนการตัดสินใจอันจะนำไปสู่การยอมรับผลการตัดสินใจเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในอนาคต |
STATE COMPLAINT คำแปล : คำร้องเรียนที่เสนอโดยรัฐ / การร้องเรียนที่เสนอโดยรัฐ ความหมาย :
เอกสารที่รัฐหนึ่งหรือหลายรัฐทำขึ้นอย่างเป็นทางการที่ได้เสนอต่อองค์กรที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เพื่อกล่าวหาว่ารัฐใดละเมิดพันธกรณีตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน กลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาหลายฉบับของสหประชาชาติ ได้จัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐขึ้น โดยให้อำนาจรัฐภาคีสนธิสัญญายื่นเรื่องร้องเรียน (ดู COMPLAINT) ว่ารัฐภาคีใดไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา เช่น ข้อ 41 - 43ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและข้อ 21 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี การยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจะทำได้นั้นต่อเมื่อปรากฏว่าประเทศที่ถูกร้องเรียนได้มีการประกาศยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาดังกล่าวในการไต่สวนระงับข้อพิพาทไว้ก่อนแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่มีการจัดทำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนขึ้น ยังไม่เคยมีรัฐใดยื่นข้อร้องเรียนภายใต้ระบบสนธิสัญญาของสหประชาชาติเลย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐภาคีอาจจะเกรงว่าถ้าตนยื่นข้อร้องเรียนว่ารัฐใดละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนเองจะถูกยื่นข้อร้องเรียนตอบโต้ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไรก็ดี ข้อร้องเรียนที่เสนอโดยรัฐมีการใช้ในทางปฏิบัติจริงในระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค เช่น ภายใต้อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป กรณีที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ยื่นข้อร้องเรียนต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปกล่าวหารัฐบาลสหราชอาณาจักรละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคว้นไอร์แลนด์เหนือ อันเป็นการละเมิดอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป |
STATE OF EMERGENCY คำแปล : สถานการณ์ฉุกเฉิน ความหมาย :
สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกรอบการปกครองที่รัฐได้ประกาศขึ้นในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อความดำรงอยู่ของประเทศชาติ เช่น การรุกรานของต่างชาติ การเกิดจลาจล ไม่เคารพกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หรือเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้มาตรการต่างๆ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ใช้ในยามปกติได้ กฎหมายสิทธิมนุษยชนยินยอมให้รัฐสามารถพักใช้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการเคารพ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางประเภทในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นได้ เช่น ฝ่ายบริหารมีอำนาจออกคำสั่งจับกุม คุมขัง บุคคลหรือการห้ามชุมนุม การตรวจกรองข่าว แต่สิทธิมนุษยชนบางประเภทที่ถือว่าเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) หรือเป็นสิทธิที่ไม่สามารถพักใช้ชั่วคราวได้ (Non-derogableRights) รัฐไม่อาจพักใช้ชั่วคราวได้เช่น สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลในคดีอาญา (ดู กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 4(1), อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ข้อ 15(1) และอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ข้อ 27(1)) รัฐอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่ไม่ว่ารัฐจะได้ประกาศโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้หรือไม่ก็ตาม องค์กรที่มีหน้าที่สอดส่องการปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน มีหน้าที่ในการพิจารณาว่ามีสถานการณ์ที่จำเป็นถึงขั้นฉุกเฉินหรือไม่ ตลอดจนสอดส่องติดตามเพื่อไม่ให้รัฐใช้มาตรการเกินความจำเป็นหรือใช้มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ฉุกเฉินมีความหมายเดียวกับคำว่า “สถานการณ์พิเศษ (State of Exception)” |
STATE OF EXCEPTION คำแปล : สถานการณ์พิเศษ ความหมาย :
สถานการณ์ฉุกเฉินมีความหมายเดียวกับคำว่า “สถานการณ์พิเศษ" (State of Exception) สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกรอบการปกครองที่รัฐได้ประกาศขึ้นในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อความดำรงอยู่ของประเทศชาติ เช่น การรุกรานของต่างชาติ การเกิดจลาจล ไม่เคารพกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หรือเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้มาตรการต่างๆ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ใช้ในยามปกติได้ กฎหมายสิทธิมนุษยชนยินยอมให้รัฐสามารถพักใช้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการเคารพ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางประเภทในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นได้ เช่น ฝ่ายบริหารมีอำนาจออกคำสั่งจับกุม คุมขัง บุคคลหรือการห้ามชุมนุม การตรวจกรองข่าว แต่สิทธิมนุษยชนบางประเภทที่ถือว่าเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) หรือเป็นสิทธิที่ไม่สามารถพักใช้ชั่วคราวได้ (Non-derogableRights) รัฐไม่อาจพักใช้ชั่วคราวได้เช่น สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลในคดีอาญา (ดู กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 4(1), อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ข้อ 15(1) และอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ข้อ 27(1)) รัฐอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่ไม่ว่ารัฐจะได้ประกาศโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้หรือไม่ก็ตาม องค์กรที่มีหน้าที่สอดส่องการปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน มีหน้าที่ในการพิจารณาว่ามีสถานการณ์ที่จำเป็นถึงขั้นฉุกเฉินหรือไม่ ตลอดจนสอดส่องติดตามเพื่อไม่ให้รัฐใช้มาตรการเกินความจำเป็นหรือใช้มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ฉุกเฉินมีความหมายเดียวกับคำว่า “สถานการณ์พิเศษ (State of Exception)” |
STATE PARTY คำแปล : รัฐภาคี ความหมาย :
รัฐภาคี ในกฎหมายระหว่างประเทศหมายถึงรัฐที่เข้าเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ว่าโดยวิธีลงนามให้สัตยาบันหรือการภาคยานุวัติ อันเป็นผลให้สนธิสัญญาฉบับนั้นมีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐนั้น สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งจะกำหนดให้มีผลผูกพันโดยการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา ดังนั้นการที่รัฐเพียงแต่ลงนามรับรองยังไม่ถือว่ารัฐมีความผูกพันต่อสนธิสัญญานั้น การเป็นรัฐภาคีเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาว่ารัฐมีพันธะหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาหรือไม่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง รัฐใดจะอ้างว่ารัฐหนึ่งละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาฉบับใดได้ ก็ต่อเมื่อรัฐที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญานั้นเสียก่อน สนธิสัญญาแต่ละฉบับอาจจะใช้คำเรียกรัฐสมาชิกของสนธิสัญญาต่างกัน เช่น ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และ อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา(ACHR)ใช้คำว่ารัฐภาคี (State Parties)ในขณะที่อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (ECHR)ใช้คำว่า “อัครภาคี (High Contracting Parties)” ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน |
STATUTE คำแปล : ธรรมนูญ ความหมาย :
ธรรมนูญ หรือ ข้อบัญญัติ ปกติใช้ในกรณีต่อไปนี้ 1. ประมวลกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันระหว่างประเทศ เช่นธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2488 (Statute of the International Court of Justice 1945) และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541(Rome Statute of the International Criminal Court 1998) 2. ประมวลกฎหมายที่กำหนดโดยการตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ภายในอาณาบริเวณเฉพาะแห่ง ภายใต้การควบคุมดูแลระหว่างประเทศ เช่น Statute of the Sanjak of Alexandra 1937 3. เอกสารแนบท้ายอนุสัญญา ซึ่งกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์บางอย่าง สำหรับใช้ปฏิบัติ เช่น Statute on Freedom of Transit ซึ่งเป็นเอกสารผนวกอนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทางผ่านแดนที่เมืองบาร์เซโลนา พ.ศ. 2464 (Convention on Freedom of Transit1921) |
STATUTORY RIGHTS คำแปล : สิทธิตามกฎหมายบัญญัติ ความหมาย :
ประโยชน์ อำนาจกระทำการ และความคุ้มกัน ของบุคคลที่เกิดจากการกำหนด หรือการรับรองโดยรัฐที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย ตามบทบัญญัติอันเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองบุคคล คำนี้มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “สิทธิตามสัญญา” (ดู CONTRACTUAL RIGHTS) ทฤษฎีทางกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายแพ่ง ยึดถือเสรีภาพในการทำสัญญาสัญญาเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคล ในขณะที่สิทธิตามกฎหมายบัญญัติ เป็นสิทธิที่ก่อตั้ง หรือรับรองโดยกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล ทั้งนี้เนื่องจากในสังคมบุคคลมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากันจึงต้องคุ้มครองบุคคลที่อ่อนแอ หรือมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าหรือเพื่อรักษาระเบียบทางเศรษฐกิจไว้ การที่กฎหมายกำหนด หรือรับรองสิทธิของบุคคลขึ้นเป็นการแทรกแซงเสรีภาพในการทำสัญญาของบุคคล เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายป้องกันการผูกขาด และกฎหมายเกี่ยวกับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น บุคคลอาจทำความตกลงยกเว้น หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิตามกฎหมายบัญญัติได้ถ้าเป็นเพียงกฎหมายที่คุ้มครองปัจเจกชน แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณชน เช่น ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของสังคม ศีลธรรมอันดี และระเบียบทางเศรษฐกิจของมหาชน จะทำความตกลงให้ขัดกับกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ |
SUI JURIS คำแปล : การบรรลุนิติภาวะ ความหมาย :
มาจากภาษาละตินอ่านว่า ซูอี ยูริส แปลว่า “ด้วยสิทธิของเขาเอง(Of His/Her Own Right)” หมายถึง สภาวะที่บุคคลสามารถมีและใช้สิทธิพลเมือง และสิทธิทางสังคมเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ไม่ตกอยู่ในภาวะหย่อนความสามารถทางกฎหมายในการใช้สิทธิ หรือต้องอยู่ในความดูแลหรือปกครองของบุคคลอื่น บุคคลที่บรรลุนิติภาวะสามารถตัดสินใจและดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับตนเองได้ทั้งสิ้น อันต่างจากบุคคลซึ่งเป็นผู้เยาว์ (Minor) ที่การใช้สิทธิที่มีตามกฎหมาย (Legal Rights) จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ดังนั้น การทำนิติกรรมใด ๆ ของผู้เยาว์ที่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำเองเฉพาะตัว จึงต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก่อน กฎหมายของประเทศต่าง ๆ จะใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาซึ่งแตกต่างกันไป นับตั้งแต่ได้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)ที่กำหนดว่า เด็กคือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี มีหลายประเทศกำหนดให้อายุสิบแปดปีเป็นเกณฑ์ในการบรรลุนิติภาวะ เดิมกฎหมายใช้วัยของบุคคลเป็นเกณฑ์การกำหนดในการบรรลุนิติภาวะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอายุแทน ตามกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือเมื่อทำการสมรสตามกฎหมาย |
SUPERVENING IMPOSSIBILITY OF PERFORMANCE คำแปล : การพ้นวิสัยในการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ความหมาย :
การพ้นวิสัยในการปฏิบัติตามสนธิสัญญา หลังจากทำสนธิสัญญาไปแล้วหากมีเหตุการณ์ภายนอก อันมิใช่ความผิดของรัฐภาคีใดๆ เกิดขึ้นเป็นเหตุให้รัฐภาคีใดอยู่ในภาวะที่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาได้ รัฐภาคีนั้นๆอาจจะอ้างเหตุพ้นวิสัยดังกล่าวเพื่อยกเลิกสนธิสัญญา หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาได้ อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969(พ.ศ. 2512) ในข้อ 61 กำหนดไว้ว่า “รัฐภาคีใดอาจจะอ้างเหตุพ้นวิสัยในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเป็นเหตุในการยกเลิกสนธิสัญญา หรือถอนตัวออกจากสนธิสัญญา หากการพ้นวิสัยนั้นเป็นผลมาจากการสิ้นสลาย มลายสูญหายไป หรือการถูกทำลายไปอย่างถาวร ของวัตถุซึ่งเป็นสาระสำคัญสำหรับการบังคับให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา หากการพ้นวิสัยนั้นเป็นการชั่วคราว รัฐภาคีดังกล่าวอาจจะกล่าวอ้างการพ้นวิสัยนั้นเพื่อเป็นเหตุให้ระงับการบังคับใช้สนธิสัญญาชั่วคราว” การพ้นวิสัยในการปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้นแตกกับเหตุสุดวิสัย (force majeure) และต่างกับพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ (rebus sic stantibus) การพ้นวิสัยในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่อาจจะถูกกล่าวอ้างโดยรัฐภาคีเพื่อเป็นเหตุที่จะยกเลิกสนธิสัญญา หรือถอนตัวจากสนธิสัญญา หากการพ้นวิสัยนั้นเป็นเหตุมาจากการปฏิบัติผิดสนธิสัญญาของรัฐภาคีฝ่ายนั้นเองไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติผิดต่อพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญานั้น หรือปฏิบัติผิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติต่อรัฐภาคีอื่นๆแห่งสนธิสัญญานั้น |
SUPREME COURT คำแปล : ศาลสูงสุด ความหมาย :
ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสูงสุดของประเทศคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลนี้จะไม่ถูกทบทวนโดยศาลใดอีก คำวินิจฉัยหรือความเห็นในคำพิพากษาศาลสูงสุดมีความสำคัญเพราะเป็นการวางหลักกฎหมายของประเทศ บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีศาลประจำมลรัฐ เช่น “The Supreme Court of New York” นั้น ไม่ถือว่าศาลประเภทนี้เป็นศาลสูงสุดเนื่องจากคำพิพากษาของศาลนี้ สามารถถูกทบทวนได้โดยศาลที่สูงกว่า คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุดแห่งสหพันธรัฐ ศาลสูงสุดในแต่ละประเทศอาจมีชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น ประเทศออสเตรเลีย เรียกว่า The High Court of Australia ส่วนประเทศอังกฤษ(แคว้นอิงแลนด์และเวลส์) ก่อนการปฏิรูประบบศาลใน ค.ศ. 2005(พ.ศ. 2548) ศาลสูงสุดมีสามศาลคือ The Crown Court, The High Courtและ The Court of Appeal แต่ปัจจุบันได้จัดตั้ง The Supreme Court of the United Kingdom ขึ้นเป็นศาลเดียว สำหรับประเทศไทยศาลสูงสุดคือ ศาลฎีกา “Dika Court” ในภาษาพูดมีคำอื่นที่มีความหมายเหมือนกับ “ศาลสูงสุด” หลายคำ เช่น“Court of Last Resort” “High Court” “Appellate Court” / “Court of Appeal” และ “Apex Court” เป็นต้น |
SUSPECT, THE คำแปล : ผู้ต้องสงสัย ความหมาย :
บุคคลที่ถูกกล่าวหา หรือเชื่อว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังไม่ได้รับการแจ้งข้อหาการกระทำความผิดอาญาจากพนักงาน กฎหมายกำหนดว่า การจับกุม ควบคุมตัว หรือกักขังผู้ต้องสงสัยโดยไม่ได้แจ้งข้อหากระทำไม่ได้ การค้นตัวบุคคล การตรวจค้นทรัพย์สินหรือยึดของกลางเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบคดีจะกระทำมิได้ถ้าไม่มีหมายค้นซึ่งออกโดยศาล พนักงานสืบสวนอาจมีหมายเรียกเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยมาให้ปากคำหรือให้การได้ถ้าบุคคลนั้นไม่มาจะมีความผิดอาญา |
SUSPENDED EXECUTION OF IMPRISONMENT คำแปล : รอการลงโทษจำคุก ความหมาย :
วิธีการที่ศาลใช้ในกรณีที่ศาลเห็นว่า จำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกนั้นไม่ได้มีความชั่วร้ายหรือเป็นภัยอันตรายต่อสังคม ควรมีโอกาสแก้ไขความประพฤติเพื่อประโยชน์ต่อบุคคลนั้นเอง แนวคิดทางด้านอาชญาวิทยาเห็นว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทุกคนมีโอกาสทำผิดได้ เมื่อบุคคลได้พลั้งเผลอกระทำผิด ถ้ามิได้กระทำโดยเจตนาชั่วร้ายเป็นนิสัย และการปล่อยให้บุคคลนั้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมตามปกติ จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบุคลิกภาพ ความประพฤติของบุคคลนั้นได้แล้ว สังคมควรให้โอกาสบุคคลนั้นแก้ไขกลับเนื้อกลับตัวเพื่อการพัฒนาตนเอง สุดท้ายสังคมก็จะได้ประโยชน์ ทางด้านทัณฑวิทยามีแนวคิดว่าการลงโทษจำคุกที่ควบคุมตัวบุคคลไว้ในเรือนจำ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลนั้นหลาบจำ รับผิดชอบในผลการกระทำความผิดของตนเองแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักโทษตามโครงการต่าง ๆ ของทัณฑสถานซึ่งจะต้องใช้เวลา การจำคุกระยะสั้น ๆ ไม่อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้และอาจเกิดผลในทางตรงกันข้ามคือบุคคลที่ไม่ได้เป็นอาชญากรโดยนิสัย อาจเรียนรู้อาชญากรรมจากนักโทษในคุก ดังนั้นถ้าสังคมสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลนั้นโดยไม่ต้องใช้ฑัณทสถาน ก็จะเป็นประโยชน์กว่า กฎหมายอาญาของไทยให้ศาลสามารถสั่งให้รอการลงโทษจำคุกได้กรณีที่ศาลได้ตัดสินว่า จำเลยกระทำความผิดให้ลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมา แต่เป็นโทษที่จำเลยกระทำด้วยความประมาท หรือเป็นความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตใจ หรือเหตุอันควรปราณีแล้ว ศาลอาจกำหนดให้รอการลงโทษจำคุกนั้นไว้ก่อน แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้บุคคลนั้นได้มีโอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พิพากษา คำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกทำพร้อมกับการพิพากษาความผิดของจำเลย กรณีที่จำเลยกระทำความผิดลักษณะเดียวกันอีก ระหว่างที่รอการลงอาญาศาลที่พิจารณาความผิดในคดีหลังอาจสั่งให้รวมโทษที่รอการลงโทษจำคุกเข้าไว้ในคดีหลังได้ หลายประเทศได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการติดตามสอดส่องความประพฤติของบุคคลที่อยู่ระหว่างการรอการลงโทษจำคุกมาตรการดังกล่าว เรียกว่า การคุมประพฤติ (Parole) ซึ่งทำโดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ (Parole Officer) |
SUSTAINABLE DEVELOPMENT คำแปล : การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความหมาย :
การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการลดระดับความยากจนของมวลมนุษยชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพียงพอและเสมอภาค และการดูดซับกำจัดของเสียในระดับที่จัดการได้สมดุลกับการสร้างของเสียของมนุษย์ โดยดำเนินไปในหนทางของการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่จะมีเพียงพอตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ในยุคต่อๆไป |
SWEATSHOP คำแปล : สถานที่ทำงานที่มีสภาพไร้มาตรฐาน ความหมาย :
สถานที่ทำงานที่มีสภาพไร้มาตรฐาน หรือมีสภาพการทำงานเยี่ยงทาส เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน คนงานที่ทำงานในสถานที่ดังกล่าวจะได้รับค่าแรงต่ำมาก และทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงาน มีการใช้แรงงานเด็ก หรือผู้หญิง หรือใช้คนที่ไม่เหมาะกับสภาพงาน ทำงานฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีการคุ้มครองแรงงาน สถานที่ทำงานแออัด สกปรก ปราศจากมาตรฐานทางด้านอาชีว อนามัยและความปลอดภัยมีความเสี่ยงสูงและไม่มีอุปกรณ์ป้องกันภัยอย่างเพียงพอ แนวคิดของสถานประกอบการที่เรียกว่า sweatshop เกิดในขึ้นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งจะมีคนกลาง ที่เรียกว่า sweater ทำหน้าที่จัดหาคนงาน เพื่อส่งให้แก่โรงงานผลิตสิ่งทอ โดยคนงานเหล่านี้จะไม่สามารถติดต่อเจ้าของสถานประกอบการได้โดยตรง และจะไม่ทราบว่านายจ้างเป็นผู้ใด และยังมีระบบผู้รับจ้างช่วง เป็นนายหน้าจัดหาคนงานเพื่อทำงานในโรงงานในลักษณะจ้างทำของเป็นรายๆไป ระบบดังกล่าว เรียกว่า ระบบ Sweating System ซึ่งการทำงานในลักษณะที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าว เป็นสภาพการจ้างงานในยุคเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมในเมืองอุตสาหกรรมและในยุคต่อมา สภาพการทำงานใน sweatshop นี้ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงเนื่องจากเป็นสภาพการทำงาน และ การจ้างงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง และหากคนงานคนใดเจ็บป่วยได้รับบาดเจ็บจากการทำงานหรือไม่สามารถทำงานหนักได้จะถูกให้ออกและถูกแทนที่ตำแหน่งทันทีโดยไม่มีการชดเชยตามกฎหมายแต่อย่างใด |
TECHNOLOGY INTENSIVE INDUSTRY คำแปล : อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ความหมาย :
อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต หรือภาคบริการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก อุตสาหกรรมชนิดนี้จะมีการใช้ความรู้ วิทยาการ เทคโนโลยี ความชำนาญการในระดับสูงในการผลิตหรือการให้บริการ วิธีในการวัดระดับของการเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยี คือ การวัดสัดส่วนของการลงทุนในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการผลิตและการให้บริการ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจะเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินทุนเป็นหลักด้วย เช่น อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อุตสาหกรรมการส่งดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ การถ่ายทอดรายการผ่านดาวเทียม เป็นต้น อุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลักอาจมีประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยการถ่ายโอนเทคโนโลยีหากได้เข้าไปตั้งอุตสาหกรรมการลงทุนในประเทศเหล่านี้ ในขณะเดียวกันต้องพิจารณาประกอบกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย เช่น การรั่วไหลของสารเคมี หรือกัมมันตภาพรังสี ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะในชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้านการมีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีสุขภาวะ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ และปัญหาอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชน คือปัญหาการว่างงานหากมีอุตสาหกรรมประเภทนี้เข้าไปลงทุนในประเทศใด เนื่องจากความจำเป็นในการใช้แรงงานไร้ฝีมือมีน้อยมากนอกจากว่าจะมีการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้เป็นผู้มีความชำนาญการในระดับสูง |
TERMINATIONOF TREATY คำแปล : การยกเลิกสนธิสัญญา ความหมาย :
อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ข้อ54ได้บัญญัติไว้ว่า “การยกเลิกสนธิสัญญาหรือการถอนตัวออกจากสนธิสัญญานั้นอาจจะกระทำได้โดย (ก) เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญา หรือ (ข) กระทำได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งโดยการแสดงเจตนายินยอมของรัฐภาคีทั้งปวง หลังจากได้ปรึกษาหารือกับรัฐภาคีอื่นๆแล้ว” แต่ในกรณีที่สนธิสัญญาที่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกสนธิสัญญา หรือไม่มีข้อบทว่าด้วยการถอนตัวจากสนธิสัญญาหรือเหตุแห่งการไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา รัฐภาคีไม่สามารถยกเลิกสนธิสัญญา หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (ก) หากปรากฏจากสนธิสัญญาเป็นที่ยุติว่า รัฐภาคีนั้นตั้งใจที่จะเปิดโอกาสให้มีการยกเลิก เพิกถอนสนธิสัญญาได้ หรือให้ถอนตัวจากสนธิสัญญาได้ หรือ (ข)โดยลักษณะของสนธิสัญญานั้น อนุมานได้ว่ารัฐภาคีสามารถยกเลิกสนธิสัญญา หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาได้ ในกรณีเช่นว่านั้นรัฐภาคีฝ่ายที่จะขอยกเลิก เพิกถอนสนธิสัญญาหรือขอถอนตัวจากสนธิสัญญาจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสองเดือนเพื่อแจ้งรัฐภาคีอื่นๆ ให้ทราบเจตนารมณ์ในการยกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาตามที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ |
TERRORISM คำแปล : การก่อการร้าย / ลัทธิก่อการร้าย ความหมาย :
การก่อการร้าย หรือลัทธิก่อการร้าย หมายถึงการใช้กำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทรัพย์สิน หรือระบบบริการสาธารณะ โดยใช้วิธีการรุนแรงเพื่อสร้างความปั่นป่วน หรือความหวาดกลัวให้แก่สังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบีบบังคับ ขู่เข็ญรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง การกระทำที่เป็นการก่อการร้ายแม้ว่าจะมีเป้าหมายทางการเมืองแต่กฎหมายไม่ถือว่าเป็น “ความผิดทางการเมือง (Political Offence)”และรัฐที่มีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการก่อการร้ายสามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ |
THE 1235 PROCEDURE คำแปล : กระบวนการตามข้อมติที่ 1235 (หรือ กระบวนการ 1235) ความหมาย :
กระบวนการตามข้อมติที่ 1235 เป็นกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน (Communication หรือ Complaint) ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ตามข้อมติที่ 1235 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) เพื่อให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Commission on Human Rights) หรือปัจจุบันคือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและ เป็นระบบ (Systematic, Gross Violation of Human Rights) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ “เปิดเผยต่อสาธารณะ” ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอาจมีการอภิปรายประจำปีที่มีรัฐบาลและองค์กรเอกชนเข้าร่วมการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ หรือรายงานการศึกษา การตรวจสอบ การไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่ากระบวนการ 1235 จะไม่มีผลบังคับใดๆ ต่อประเทศที่ถูกร้องเรียน แต่ถือว่าเป็นการสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลที่ถูกร้องเรียน องค์กรเอกชนและภาคประชาชนอาจถือโอกาสหยิบยกปัญหาขึ้นกดดันรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ และหากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีความรุนแรงมากอาจนำไปสู่การรับรองข้อมติเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น |
THE 1503 PROCEDURE คำแปล : กระบวนการตามข้อมติ 1503 หรือกระบวนการ 1503 ความหมาย :
กระบวนการตามข้อมติ 1503 เป็นกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน (Communication หรือ Complaint) ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ตามข้อมติที่ 1503ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) เพื่อให้อำนาจคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Commission on Human Rights) หรือปัจจุบันคือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) มีอำนาจรับข้อร้องเรียนจากบุคคลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ (Systematic, Gross Violation of Human Rights) ซึ่งเป็นกระบวนการ “พิจารณาลับ” ข้อมติที่ 1503 ได้จัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยข้อร้องเรียน (Working Group on Communications) ขึ้นเพื่อพิจารณารับข้อร้องเรียนของบุคคลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อคณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานน่าเชื่อถือว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นระบบก็จะมีมติ (Resolution)เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนพิจารณา ในการพิจารณาคณะกรรมาธิการฯ จะแต่งตั้งให้คณะทำงานพิจารณาสถานการณ์ (Working Group on Situations) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของกรรมาธิการฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการฯ เอง หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการฯ จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่นตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาเป็นกรณีนั้นฯ ให้มีการไต่สวนสถานการณ์ หรือยุติการพิจารณา กระบวนการตามข้อมติ 1503 จะดำเนินเป็นความลับตลอดกระบวนการนับตั้งแต่ขั้นรับเรื่องร้องเรียนจนกระทั่งคณะกรรมาธิการฯ มีมติให้แจ้งให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) ทราบผลของการพิจารณา หลังจากนั้นอาจมีการดำเนินการตามกระบวนการที่ 1235 (The 1235 Procedure) ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ดำเนินการใดๆ ต่อไปเช่น การตั้งกลไกพิเศษในรูปของคณะกรรมการ ผู้แทนพิเศษ(Special Representative) หรือผู้จัดทำรายงานพิเศษ (Special Rapporteur) เพื่อศึกษาสนานการณ์ สิทธิมนุษยชนขึ้นเฉพาะ |
THE BEST INTERESTS OF THE CHILD คำแปล : ประโยชน์สูงสุดของเด็ก ความหมาย :
หลักการทางกฎหมายและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากหลักการในการดำเนินการเพื่อคุ้มครอง ปกป้อง และทำให้สิทธิเด็กเกิดขึ้นจริงมีหลายด้านในบางครั้งหลักการดังกล่าวอาจคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรืออาจแย้งกันเอง นอกจากนั้นสิทธิเด็กอาจขัด หรือแย้งกับสิทธิของบุคคลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิของเด็ก หรือหน้าที่ของเด็ก เช่น สิทธิของบิดามารดา หรือหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงต้องคำนึงว่า สิ่งใดคือผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่สำคัญไว้สี่ประการ ได้แก่ • สิทธิที่จะได้ผลประโยชน์สูงสุดในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก • สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม • สิทธิที่จะมีชีวิตรอด • สิทธิในการพัฒนา อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมิได้ให้คำนิยามของคำว่าผลประโยชน์สูงสุดของเด็กไว้ชัดเจน ดังนั้น ใน ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจึงได้จัดทำแนวทางที่เป็นทางการในการกำหนดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก (Guidelines on Formal Determination of the Best Interests of the Child) ขึ้นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของ “เป้าหมายแห่งสหัสวรรษ หรือ MDGs” โดยประโยชน์สูงสุดของเด็กต้องพิจารณาจากสองด้าน ได้แก่ หลักทั่วไปในการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็กภายใต้สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เฉพาะเจาะจง (Measures to Ensure due Attention to the Specific Situation and Risks of Children as a Permanent Consideration)และหลักการกำหนดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นรายบุคคล (Measures to Identify the Best Interests of an Individual Child) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ