Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

SEARCH POWERS / POWERS TO SEARCH

คำแปล : อำนาจค้น

ความหมาย :

อำนาจที่กฎหมายมอบให้กับเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เฉพาะในการค้นตัวบุคคล หรือสิ่งของ รวมถึงการเข้าไปในเคหสถานของบุคคลเพื่อป้องกันอาชญากรรม หรือให้ได้หลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของบุคคล ในการค้นกฎหมายจะให้อำนาจเจ้าพนักงานในการยึดสิ่งของที่สงสัยว่าบุคคลนั้นได้ใช้หรืออาจจะใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด ดังนั้นจึงมีคำที่ใช้เรียกอำนาจนี้ว่า “Search and Seizure” ในการค้นตัวบุคคล หรือสิ่งของ หรือการเข้าไปในเคหสถานเพื่อการค้นถือว่าเป็นการรบกวนสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดเงื่อนไขที่เคร่งครัดในการดำเนินการค้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและป้องกันไม่ให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เช่น การกำหนดให้มีหมายค้น หรือกรณีที่ไม่มีหมายค้นจะต้องมีเหตุที่พอเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำความผิดหรือได้กระทำความผิด ในกรณีที่มีการตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิปฏิเสธที่จะถูกตรวจค้นโดยไม่ถือว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายไทยอำนาจการค้นตามกฎหมายแบ่งได้สองประเภท คือ การค้นตัวบุคคล และการค้นเคหสถาน หรือที่รโหฐาน • การค้นตัวบุคคล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะค้นตัวได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดหรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือเพื่อยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ ในกรณีที่ยังไม่ปรากฏความผิดจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานมิได้ เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ส่วนการค้นตัวบุคคลหลังจับกุมตัวแล้ว เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น • การค้นเคหสถาน หรือค้นที่รโหฐาน หมายถึง ที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไป หรือประชาชนจะเข้าออกตามอำเภอใจเช่น บ้านพักอาศัยกฎหมายกำหนดห้ามมิให้ค้นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น (Writ of Search) เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ - เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่นั้น - เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน - เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น - เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าความล่าช้าในการนำหมายค้นมาจะทำให้มีการโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน - เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านตามหมายจับ หรือเป็นการจับที่เป็นความผิดซึ่งหน้า


SECRET BALLOT

คำแปล : การลงคะแนนเป็นการลับ / การลงคะแนนโดยไม่เปิดเผยชื่อ

ความหมาย :

รูปแบบหนึ่งของการออกเสียงลงมติออกเสียงเลือกตั้งตามวิธีการของระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นการประกันว่าผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะสามารถใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างอิสระ เสรี ปราศจากการถูกข่มขู่ ติดสินบน เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีโอกาสพิจารณาเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการอย่างแท้จริง ออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีการลงคะแนนเป็นการลับ / การลงคะแนนโดยไม่เปิดเผยชื่อ ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกวิธีการลงคะแนนเสียงแบบนี้ว่า“การลงคะแนนเสียงแบบออสเตรเลีย หรือ Australian Ballot” ในประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐแมสซาชูเซตส์เป็นมลรัฐแรกที่จัดให้มีการลงคะแนนเสียงลับจึงเรียกกันต่อมาว่า “การลงคะแนนเสียงแบบแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Ballot)” แนวปฏิบัติในการจัดการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่เป็นการลงคะแนนเป็นการลับ / การลงคะแนนโดยไม่เปิดเผยชื่อ มีองค์ประกอบดังนี้ 1. ค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องมาจากงบประมาณแผ่นดิน 2. ต้องพิมพ์ชื่อของผู้รับสมัครรับเลือกตั้งทุกคน และทุกพรรคในบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งในใบประกาศรายชื่อผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง 3. บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องมอบให้กับผู้ลงคะแนนเสียงในสถานที่ลงคะแนนเสียงเท่านั้น 4. การลงคะแนนจะต้องทำโดยไม่เปิดเผย หรือไม่ทำให้บุคคลอื่นสามารถล่วงรู้ว่าผู้ลงคะแนนได้ลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หรือพรรคใด สำหรับประเทศไทย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมิได้ระบุนิยามของการลงคะแนนเสียงลับไว้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้นิยามการเลือกตั้งโดยลับ หมายถึง การออกเสียงต้องกระทำแต่เพียงลำพัง โดยไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมด้วย หรือสามารถล่วงรู้ได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกผู้สมัครคนใด หรือออกเสียงอย่างไร


SECURITY COUNCIL

คำแปล : คณะมนตรีความมั่นคง

ความหมาย :

คณะมนตรีความมั่นคงประกอบด้วยสมาชิกถาวรห้าประเทศ และสมาชิกไม่ถาวรอีกสิบประเทศ คณะมนตรีความมั่นคงเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติในการดำรงรักษาความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ รวมถึงการมีมติให้ใช้กองกำลังแทรกแซงเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูสถานการณ์ใดๆที่กระทบต่อสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศได้ เช่นกรณีที่มีสถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง หรือเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลายๆด้าน เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติ อำนาจในการดำรงรักษาสันติภาพรวมไปถึงการเข้าไปดูแลจัดการบริหารชั่วคราวเพื่อให้ประเทศที่เกิดใหม่หรือในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจได้มีความมั่นคงและสันติภาพที่ยืนยาวตามระบอบประชาธิปไตย เช่น การจัดตั้งองค์กรบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (United Nations Transition Authority in Cambodia หรือ UNTAC) เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา หรือ การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในโคโซโว(United Nations Interim Administration Mission in Kosovo หรือ UNMIK) ซึ่งเป็นกองกำลังสันติภาพที่มีภารกิจกว้างขวางและ ซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่สหประชาชาติเคยจัดตั้งขึ้น


SEDITION

คำแปล : การยุยงปลุกปั่น

ความหมาย :

การยุยงปลุกปั่นคือการกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ไม่ว่าโดยการพูด การเขียน หรือโฆษณา เพื่อให้ประชาชนเกลียดชังผู้ใช้อำนาจปกครองและให้เกิดการขัดขืนหรือต่อต้านกฎหมาย โดยมุ่งหมายให้เกิดการล้มล้างอำนาจปกครอง การยุยงปลุกปั่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยเฉพาะรัฐมักใช้ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นบุคคลที่ตรงกันข้ามไม่ว่าการยุยงปลุกปั่นนั้นจะมุ่งหมายเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนก็ตาม


SELF- DETERMINATION, RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง

ความหมาย :

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นจากหลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้สิทธิตัดสินใจในประเด็นสาธารณะทั้งหลาย โดยในทศวรรษ 1960 สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยการกำหนดอนาคตตนเองของบรรดากลุ่มชน (Peoples) เพื่อยอมรับสิทธิของประชาชนที่รวมกันเป็น กลุ่มชนในการกำหนดอนาคตตนเองในหลากหลายระดับ ทั้งระดับโลก ระดับชาติ และระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างการปกครองที่สะท้อนถึงการมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการพัฒนารัฐ ชุมชน และตนเอง อย่างไรก็ดีจะต้องมีกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดอนาคตนั้นเป็นความต้องการของกลุ่มชนอย่างแท้จริง


SELF-DEFENCE

คำแปล : การป้องกันสิทธิตนเอง / การป้องกันตัว

ความหมาย :

การป้องกันสิทธิ ในความหมายทั่วไปอย่างกว้าง คือ การอ้างสิทธิเพื่อความชอบธรรมในการปกป้องตนเองเพื่อตอบโต้ผู้ที่ละเมิด หลักการนี้ได้ปรากฏในระบบกฎหมายของทุกประเทศ หลักในเรื่องการป้องกันสิทธิเป็นการรับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ซึ่งในความเป็นจริงรัฐไม่อาจที่จะคุ้มครองสิทธิด้านต่าง ๆ ของบุคคลได้ทันกาลทุกเรื่อง ดังนั้นกฎหมายจึงรับรองสิทธิของบุคคลที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง คำนี้บาง ครั้งจึงใช้คำว่า “การป้องกันสิทธิของตนโดยปัจเจกชน (Private Self-defence)” ในประเทศไทยหลักกฎหมายนี้ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด” ในกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิในการป้องกันตนเองของรัฐซึ่งสิทธินี้เป็นไปตามหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยอมรับว่ารัฐอาจใช้มาตรการใด ๆ เพื่อป้องกันอธิปไตยของรัฐได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น การที่รัฐใช้มาตรการป้องกันตนเอง ทำให้รัฐไม่ต้องมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศ


SELF-INCRIMINATION

คำแปล : การให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ความหมาย :

การกระทำโดยการให้ถ้อยคำ หรือแสดงโดยประการอื่นของบุคคลที่แสดงว่าตนได้กระทำ มีส่วนในการกระทำ หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาอันเป็นเหตุให้ต้องถูกฟ้องคดี หรือถูกพิพากษาว่ากระทำผิด หลักการทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนรับรองสิทธิของบุคคลที่ถูกดำเนินการในคดีอาญาที่จะไม่ถูกบังคับให้การรับสารภาพ หรือให้การใดที่เป็นการปรักปรำหรือเป็นผลร้ายต่อตนเอง รวมถึงมีสิทธิที่จะไม่ให้การ(ดู THE RIGHT TO SILENCE) หลักการนี้พัฒนามาจากแนวคิดเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหา หรือถูกฟ้องในคดีอาญาจึงไม่มีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่กล่าวหา หรือโจทก์ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดขึ้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับรองสิทธินี้ไว้ในข้อ 14 วรรค 3 ว่า “ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค....(ช) สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง หรือให้รับสารภาพผิด” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 40(4) ได้รับรองสิทธินี้ไว้ทำนองเดียวกันว่า “ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสียหรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง” การให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอาจมีได้ตั้งแต่ในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน และในชั้นไต่สวนพิจารณาคดีโดยศาล ผลทางกฎหมายของหลักการนี้คือ บางประเทศได้มีกฎหมายกำหนดให้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยการบังคับให้จำเลยให้การ เป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะให้ศาลใช้ในการชั่งน้ำหนักพิจารณาความผิดจำเลยไม่ได้


SEXUAL HARASSMENT

คำแปล : การคุกคามทางเพศ / การรังควานทางเพศ

ความหมาย :

การแสดงกริยาท่าทาง คำพูด ล่วงเกินเชิงชู้สาว หรือการบังคับขู่เข็ญกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหง จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ ต้องยินยอมหรือจำยอมต่อผู้กระทำ เกิดความรู้สึกหวาดกลัว หรือได้รับความอับอาย ซึ่งการคุกคามทางเพศ หรือการรังควานทางเพศนั้นอาจมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเพศตรงข้าม หรือกระทำต่อเพศเดียวกันก็ได้ การคุกคามทางเพศ หรือการรังควานทางเพศมิได้จำกัดแต่เฉพาะการกระทำทางเพศต่อตัวผู้ถูกกระทำโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร อันก่อให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจโดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊อนาจารไว้ในสถานที่ทำงาน หรือการเขียนข้อความในเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้าง การคุกคามทางเพศ หรือการรังควานทางเพศ มักใช้กับการต่อรองหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ต่อผู้ที่อยู่ในสถานะด้อยกว่า เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกจ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจในเรื่องเพศ เช่น ขอให้มีเพศสัมพันธ์ การยินยอมให้จับต้องสัมผัสร่างกายโดยเสนอผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น การขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หากลูกจ้างไม่ยินยอมจะได้รับผลร้าย เช่น ถูกลงโทษทางวินัย กลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา เป็นต้น


SEXUAL VIOLENCE

คำแปล : ความรุนแรงทางเพศ

ความหมาย :

การกระทำที่ใช้ความรุนแรงต่อบุคคลอันมีพื้นฐานมาจากเพศสัมพันธ์หรือมีวัตถุประสงค์ทางเพศ ส่วนใหญ่เหยื่อของการกระทำมักเป็นผู้หญิงซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับวัย ฐานะ อาชีพ หรือสภาพทางกาย เนื่องจากค่านิยมหรือเจตคติทางสังคมที่ถือว่า ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง จึงเป็นสาเหตุหลักของการใช้ความรุนแรงทางเพศกับผู้หญิง รูปแบบของความรุนแรงทางเพศมักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเพศซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้หญิง เช่น การกระทำอนาจาร การลวนลามทางวาจาการพูดส่อเสียดจนเกิดความเสียหาย การลวนลามทางกาย เช่น กอด จูบ สัมผัสจับต้องร่างกาย ตลอดจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราโดยการใช้กำลังประทุษร้าย และการข่มขืนกระทำชำเราแล้วฆ่า เป็นต้น ความรุนแรงทางเพศยังมีความเชื่อมโยงกับความรุนแรงในครอบครัว(Domestic Violence) เช่น สามีบังคับให้ภรรยามีเพศสัมพันธ์ หรือการบังคับให้ภรรยารับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยถ้าภรรยาปฏิเสธก็จะถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น การใช้ความรุนแรงทางเพศนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วยังสะท้อนอำนาจนิยมทางเพศของสังคมและแสดงถึงการไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง


SHADOW REPORT

คำแปล : รายงานเงา

ความหมาย :

รายงานขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน สถาบันการศึกษา หรือองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศภายใต้กระบวนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นกระบวนการตามกฎบัตรฯ (ดู CHARTER BASED MECHANISM) และกระบวนการตามสนธิสัญญา (ดู TREATY BASED MECHANISM) รายงานเงาจะถูกใช้ประกอบกับรายงานของรัฐบาลเพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลเสนอ ทั้งนี้เนื่องจากในบางครั้งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เสนอโดยรัฐบาลจะให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือให้ความสำคัญกับประเด็นการรายงานที่ไม่สะท้อนปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้น หรือการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ ที่ไม่สมดุลกัน ปัจจุบัน (ณ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012)) ประเทศไทยมีพันธะหน้าที่ที่จะต้องเสนอรายงานที่สำคัญจำนวนแปดฉบับ โดยองค์กรภาคประชาชนจะถือโอกาสเสนอรายงานเงาเพื่อให้ข้อมูลประกอบกัน โดยเสนอต่อองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่รับรายงานไปพิจารณา รายงานแปดฉบับ ประกอบด้วย 1. รายงานตามกระบวนการการประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชนตามวาระ (ดู UNIVERSAL PERIODIC REVIEW หรือ UPR) ซึ่งเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และรายงานที่จะต้องเสนอต่อคณะกรรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ อีกเจ็ดฉบับ คือ 2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights หรือ ICESCR) 3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือICCPR) 4. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women หรือ CEDAW) 5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination หรือ ICERD) 6. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) 7. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติอื่น ๆ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) 8. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities หรือ CRPD) รายงานเงาเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการสร้างรากฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สร้างแรงกดดันทางการเมือง เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ผ่านกระบวนการจัดทำรายงานเงา รวมทั้งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน


SIGNATURE

คำแปล : การลงนาม

ความหมาย :

การลงนาม อาจมีความหมายหลายนัย และมีผลต่างกัน เช่น การลงนามย่อ (Initial) การลงนามโดยมีเงื่อนไขว่าจะกลับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง (Signature ad referendum)การลงนามโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการให้สัตยาบันอีกครั้งหนึ่ง (Signature Subject to Ratification) การลงนามเหล่านี้จะยังไม่มีผลผูกพันรัฐ ในความหมายเฉพาะตามกฎหมายสนธิสัญญา การลงนาม หมายถึงวิธีการที่รัฐให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา ซึ่งเป็นการลงนามเต็มโดยลงทั้งชื่อและนามสกุลของผู้ที่มีอำนาจลงนามซึ่งเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจโดยตำแหน่ง โดยการลงนามดังกล่าวเป็นการให้ความยินยอมที่แน่นอน (Definitive Consent) ที่ไม่ต้องมีการให้สัตยาบัน หรือการยอมรับหรือการให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งโดยรัฐ (ซึ่งบางกรณีรัฐที่ให้อำนาจอาจจะกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขเช่นนั้น และในกรณีเช่นว่านี้การลงนามโดยผู้แทนในสนธิสัญญาจะยังไม่ผูกพันรัฐจนกว่ารัฐจะได้กระทำการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้วนั้น) โดยทั่วไปสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนจะไม่ใช้วิธีการลงนามเต็ม แต่จะใช้การลงนามแบบต้องมีการให้สัตยาบันก่อน


SIGNATURE AD REFERENDUM

คำแปล : การลงนามโดยมีเงื่อนไขต้องกลับไปขอความเห็นชอบก่อน

ความหมาย :

การลงนามโดยมีเงื่อนไขต้องกลับไปขอความเห็นชอบก่อนเป็นการลงนามในสนธิสัญญาหลังจากกระบวนการเจรจาได้สิ้นสุดลง การลงนามประเภทนี้ยังไม่มีผลผูกพันต่อรัฐแต่เป็นการลงนามที่มีเงื่อนไขว่าจะกลับไปพิจารณา ขอความเห็นชอบตามกระบวนการภายในรัฐก่อน และเมื่อสนธิสัญญานั้นได้รับการเห็นชอบจากกระบวนการภายในของรัฐแล้ว การลงนามนั้นก็จะมีผลเสมือนเป็นการลงนามเต็ม และสนธิสัญญานั้นจะมีผลย้อนหลังขึ้นไปนับแต่วันที่ได้ลงนามโดยมีเงื่อนไขไว้ ในทางปฏิบัติของประเทศไทยคณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบก่อนการลงนามและเมื่อลงนามโดยมีเงื่อนไขแล้วจะต้องนำมาแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้ง


SIGNATURE SUBJECT TO RATIFICATION

คำแปล : การลงนามโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการให้สัตยาบัน

ความหมาย :

การลงนามโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการให้สัตยาบัน เป็นการลงนามประเภทหนึ่งในกระบวนการทำสนธิสัญญาโดยเฉพาะสนธิสัญญาพหุภาคี โดยการลงนามแบบนี้จะยังไม่มีผลผูกพันรัฐที่ลงนามทันทีจนกว่าจะได้มีการให้สัตยาบันสารก่อน อย่างไรก็ตามรัฐจักต้องกระทำการโดยสุจริตก่อนที่สนธิสัญญานั้นจะมีผลโดยการละเว้นกระทำการใดๆที่เป็นการขัดขวางไม่ให้สนธิสัญญานั้นมีผล หรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาเสื่อมเสียไปและต้องมีความพยายามอย่างสุจริตใจที่จะให้มีการให้สัตยาบัน ตัวอย่างการปฏิบัติที่ถือว่ากระทำการที่ขัดต่อการลงนามประเภทนี้เช่น การที่ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงไม่ส่งคนชาติอเมริกาให้กับ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยได้ลงนามสนับสนุนธรรมนุญกรุงโรม (Rome Statute) ซึ่งถือว่า ขัดกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามรัฐนั้นอาจถอนการลงนาม (Withdrawal of Signature) ได้ถ้าไม่ประสงค์จะผูกพัน หรือไม่สนับสนุนวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญานั้นต่อไป เช่น สหรัฐอเมริกาได้ถอนการลงนาม Rome Statute ที่ได้ลงนามไว้ในสมัยประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน แนวปฏิบัติของประเทศไทยสำหรับการลงนามประเภทนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนลงนามและเมื่อลงนามไปแล้วก่อนที่จะให้สัตยาบันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้รับอนุมัติจากรัฐสภา


SLAVERY

คำแปล : สภาวะการเป็นทาส

ความหมาย :

SLAVERY สภาวะการเป็นทาส สถานภาพทางกฎหมาย หรือทางสังคมของบุคคลที่กำหนดให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าของสิทธิความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำหนดตัดสินใจชะตากรรมของตนได้เอง และต้องยอมรับสภาพที่ถูกบังคับ หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์จากร่างกายหรือแรงงาน หรือถูกซื้อหรือขายเยี่ยงทรัพย์สิน หรือสภาพบุคคลที่ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม ทาสมีมานับตั้งแต่ยุคโบราณ สภาพการเป็นทาสมีความแตกต่างกันตามยุคสมัยและสังคม อย่างไรก็ตามมีลักษณะร่วมกัน คือ • สิทธิและเสรีภาพของทาสกับบุคคลที่เป็นไท (Freeman) มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทาสจะไม่มีอิสรภาพในการดำรงชีวิต ไม่มีสิทธิในการมีทรัพย์สิน การเดินทาง การตัดสินใจ บางสังคมการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของทาสขึ้นอยู่กับนายทาส • ทาสมีสถานะทางกฎหมายเป็นเพียงทรัพย์สินของนายทาส ที่สามารถซื้อขายกันได้ บางสังคมกฎหมายกำหนดให้มีสถานะเสมือนสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้ทั่วไป บางสังคมกำหนดให้มีสถานะคล้ายกับทรัพย์พิเศษเช่นเดียวกับที่ดินหรือโรงเรือน • ทาสไม่มีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมาย แต่เป็นเพียงผู้รับผลตามกฎหมาย เช่น เมื่อทาสถูกทำร้ายร่างกาย ทาสไม่มี สิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับการเยียวยา สิทธิต่าง ๆ เป็นของนายทาสที่ได้รับการชดใช้จากผู้ที่ทำละเมิดต่อบุคคลที่เป็นทาส การก่อตั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกา และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ส่งผลให้ประเทศยุโรปที่เป็นเจ้าของอาณานิคมต้องการใช้แรงงานในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรในทวีปอเมริกาที่ต้องใช้แรงงานมาก แต่มีกำลังแรงงานที่เป็นคนพื้นเมืองน้อย ทำให้การค้าทาสขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในราว ค.ศ. 1600 ถึง 1850 (พ.ศ.2143 ถึง 2393) จึงเป็นยุคการล่ามนุษย์ในทวีปแอฟริกาเพื่อขายไปเป็นทาสในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป ประมาณว่ามีชาวแอฟริกากว่า 10.3 ล้านคนถูกจับไปเป็นทาสในทวีปอเมริกา ในจำนวนนั้นถูกนำไปใช้เป็นแรงงานปลูกอ้อยในบราซิล และบริเวณหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน และส่วนหนึ่งนำไปเป็นแรงงานปลูกฝ้ายและยาสูบในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ขบวนการยุติการค้าทาสในเขตอิทธิพลของโลกตะวันตกเกิดจากสำนึกทางศาสนาคริสต์ โดยนักปรัชญาได้ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ ต่อมาในค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2320) ได้มีการก่อตั้งสมาคมยุติการค้าทาสขึ้นในประเทศอังกฤษ(ดู ANTI-SLAVERY SOCIETY) เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการมีทาส ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ยกเลิกกฎหมายที่รับรองสภาพการเป็นทาสในรูปแบบเดิม และการเป็นทาสถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้เกิดสภาพทาสรูปแบบใหม่ เช่น การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การบังคับให้เป็นโสเภณี การใช้แรงงานชำระหนี้ (ดู CONTEMPORARY FORMS OF SLAVERY) การเลิกทาสในประเทศไทยมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกระบวนการของการปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมที่ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลากว่าสามสิบปี ขั้นตอนการเลิกทาสเริ่มจากประกาศกฎหมายเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยกำหนดให้ลูกทาสที่เกิดใน พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) อันเป็นปีที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ มีค่าตัวสูงสุดเมื่ออายุเจ็ดถึงแปดปี หลังจากนั้นค่าตัวจะลดต่ำลงทุกปีจนถึงอายุยี่สิบเอ็ดปี ก็ขาดค่าตัวและถือว่าเป็นไท ดังนั้นลูกทาสที่เกิดใน พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) จะเป็นไทใน พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) และต่อมาทรงประกาศเลิกทาสในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905)ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรถือเป็นการสิ้นสุดระบบทาส เหตุผลของการเลิกทาสให้คนทำงานเต็มที่เพื่อที่จะได้เก็บภาษีไว้บำรุงประเทศ


SOCIAL CONTRACT

คำแปล : สัญญาประชาคม

ความหมาย :

ทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายการเกิดขึ้นของสังคมรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่เป็นผู้ปกครองกับประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง สัญญาประชาคมมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยยุคปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ริเริ่มจาก โทมัส ฮ้อบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาชาวอังกฤษ และได้พัฒนาให้มีความชัดเจนขึ้นโดย จอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาชาวอังกฤษ และ ฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ตามลำดับ ฮ้อบส์เห็นว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ในภาวะธรรมชาติทุกคนมีอิสรภาพ มีแนวโน้มที่จะประพฤติความชั่วร้าย ไร้กฎเกณฑ์ และมีความหวาดกลัวดังนั้นมนุษย์จึงยอมสละเสรีภาพของตัวเองให้กับสังคมเพื่อแลกกับการที่ให้สังคมทำหน้าที่ปกป้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับบุคคล ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ สังคมจึงต้องมีอำนาจบังคับเหนือบุคคลโดยการออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายและการตัดสินคดีความ เมื่อเสรีภาพของบุคคลขัดกัน ฮ้อบส์เรียกอำนาจเด็ดขาดนี้ว่าองค์อธิปัตย์ และเห็นว่าปัจเจกชนไม่สามารถขัดขืนใด ๆ ต่อองค์อธิปัตย์ได้ อย่างไรก็ตามมีสิทธิส่วนหนึ่งที่ปัจเจกชนไม่สามารถสละให้กับรัฐได้ สิทธินั้นเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ เช่น สิทธิในชีวิต และความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น ล็อคและรุสโซ ได้ปรับแนวคิดทฤษฎี “สัญญาประชาคม” โดยเสนอว่าปัจเจกชนตกลงยินยอมก่อตั้งสัญญาประชาคมเพราะประโยชน์ของปัจเจกชนเอง เพื่อให้รัฐคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของปัจเจกชน รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่ทำตามหน้าที่ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะล้มล้าง หรือเปลี่ยนรัฐบาลได้ ทฤษฎีสัญญาประชาคมมีอิทธิพลต่อนักคิดทางการเมืองหลายคนโดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้นำข้อเขียนของล็อคเกี่ยวกับสัญญาประชาคมมาไว้ในส่วนหนึ่งของอารัมภบทรัฐธรรมนูญ


SOCIAL SAFETY-NET

คำแปล : โครงข่ายทางสังคมเพื่อประกันกลุ่มเสี่ยง

ความหมาย :

โครงข่ายทางสังคมเพื่อประกันกลุ่มเสี่ยงเป็นมาตรการทางสังคมในการประกันสิทธิ ซึ่งจำเป็นต่อกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกอยู่ในภาวะยากลำบากในยามวิกฤตในบางช่วงเวลา เช่น กรณีกลุ่มคนว่างงานซึ่งขาดรายได้จากการตกงาน รัฐอาจจัดมาตรการรองรับ เช่น การจ่ายเงินทดแทนการว่างงานในช่วงหางานใหม่ หรือการให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อสามารถดำรงชีพ เช่น อาหาร ยารักษาโรค ที่พักพิงชั่วคราว และการจัดหางานให้ เพื่อให้บุคคลผ่านพ้นช่วงวิกฤตอันเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมในภาพรวมด้วย เนื่องจากเป็นการลดอาชญากรรมในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำด้ว


SOFT LAW

คำแปล : กฎหมายที่ควรมี

ความหมาย :

กฎหมายที่ควรมี (ภาษาละตินคือ lex ferenda)ใช้เรียกค่านิยม กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น กฎหมายที่ควรมีจึงเป็นแต่เพียงพันธะทางศีลธรรมหรือสิ่งที่รัฐควรที่จะยึดถือหรือควรจะปฏิบัติตาม กฎหมายที่ควรมีถือว่ากฎเกณฑ์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นก่อนที่จะได้รับการยอมรับฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใช้จริง นักกฎหมาย จึงเรียกว่า กฎหมายในอนาคต กฎเกณฑ์และหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาขึ้นหลังการจัดตั้งสหประชาชาติมักอยู่ในรูปของกฎหมายที่ควรมีเช่น ปฏิญญา (Declaration) ข้อมติ (Resolution) คำแนะนำ (Guidelines) และหลักการพื้นฐาน (Basic Principles) กฎเกณฑ์ หรือหลักการเหล่านี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐ (อย่างไรก็ตามถ้า Declaration, Resolution, Guidelines หรือ Basic Principles นั้นรวบรวมหรือย้ำจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายทั่วไปก็จะเป็นกฎหมายที่ใช้จริง) กฎหมายที่ควรมีมีความหมายตรงกันข้ามกับกฎหมายที่ใช้จริง (Hard Law / lex lada)ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อความชัดเจนและยอมรับโดยรัฐต่าง ๆ ว่าก่อพันธกรณีต่อรัฐหรือผูกพันรัฐให้ปฏิบัติตามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายที่ควรมีสามารถที่จะพัฒนาเป็นกฎหมายที่ใช้จริงได้ เมื่อมีความชัดเจนและมีการยอมรับจากรัฐต่าง ๆ จนเชื่อว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นมีผลผูกพันรัฐ การจำแนกระหว่างกฎหมายที่ใช้จริง กับกฎหมายที่ควรมีใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาว่ารัฐละเมิดต่อพันธกรณีสิทธิมนุษยชนหรือไม่


SOLICITOR- GENERAL

คำแปล : อัยการสูงสุด

ความหมาย :

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานในฝ่ายบริหารมีหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐ และรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการดำเนินคดีแทนรัฐ คำนี้ส่วนใหญ่ใช้กับประเทศที่มีระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ส่วนในระบบซีวิลลอว์ มักใช้ Prosecutor-General บางประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ใช้ Solicitor-General เพราะอิทธิพลของระบบกฎหมายอเมริกาที่มีต่อระบบกฎหมายฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยใช้ “Attorney-General” เรียกตำแหน่งอัยการสูงสุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา Attorney-General หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางฝ่ายบริหารโดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายและเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในคณะบริหาร นอกจากนั้นแต่ละมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีอัยการสูงสุดประจำมลรัฐเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายสูงสุดของมลรัฐ หลายมลรัฐใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกอัยการสูงสุด


SOVEREIGNTY

คำแปล : อธิปไตย / อำนาจอธิปไตย

ความหมาย :

อธิปไตย / อำนาจอธิปไตย หมายถึงอำนาจของรัฐที่จะทำการใดได้โดยอิสระภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยปราศจากการแทรกแซง กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 ได้รับรองบูรณภาพแห่งรัฐเหนือดินแดนอันเป็นการเปิดให้รัฐได้ใช้อำนาจอธิปไตยในการออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท มิตกอยู่ภายใต้การควบคุมและแทรกแซงของอำนาจใด ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่ากิจการใดที่เป็นกิจการภายในโดยแท้ก็เป็นอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของรัฐในการจัดการ แต่หากรัฐล้มเหลวที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จนเกิดผลกระทบกระเทือนต่อสันติภาพของโลก สหประชาชาติหรือรัฐอื่นอาจมีมาตรการลักษณะก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดของรัฐ ตามหลักความรับผิดชอบในการปกป้อง


SPECIAL RAPPORTEUR

คำแปล : ผู้จัดทำรายงานพิเศษ

ความหมาย :

Rapporteur เดิมเป็นคำภาษาฝรั่งเศสแปลตามตัวว่า “บุคคลผู้นำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกลับมา” แต่ในระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหมายถึงบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสหประชาชาติ ซึ่งเสนอโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ทำการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง (Thematic Mandate)เช่นผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในการศึกษา (Right to Education) หรือผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในช่วงการตอบโต้การก่อการร้าย(Protecting Human Rights while Countering Terrorism) หรือสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง (Country Mandate) ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ตามข้อตกลงที่มอบหมายเพื่อเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดทำรายงานพิเศษมักเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเป็นอย่างดี รายงานของผู้จัดทำรายงานพิเศษจะนำมาสู่การพิจารณาเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยิ่งขึ้น ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติในการปฏิบัติภารกิจจะได้รับเอกสิทธิและการคุ้มกันทางการทูตบางประการเพื่อให้บุคคลนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่บรรลุตามที่ได้รับมอบหมาย