PROTECTED CLASS คำแปล : กลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครอง ความหมาย :
กลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครอง มีความหมายว่า เดิมทีนั้นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ มักจะพิจารณาเฉพาะการคุ้มครองบุคคลที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและม่เท่าเทียมกันว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย และสมาชิกที่จะได้รับการคุ้มครองจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มชนดังกล่าว กฎหมายคุ้มครองสิทธิบุคคลในยุคแรกจะคุ้มครองเฉพาะกรณีการถูกเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ หรือเพศ เมื่อได้มีวิวัฒนาการในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น จึงได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นหลายฉบับ ตลอดจนมีการเพิ่มกลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันการคุ้มครองกลุ่มชนได้ขยายขอบเขตการคุ้มครองกว้างขวางขึ้น ได้แก่ การห้ามการเหยียดผิว การเลือกเชื้อชาติต่อแหล่งกำเนิดสัญชาติของบุคคลที่มาจากบางประเทศ การต่อต้านศาสนา เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ อายุ สภาพร่างกายของบุคคล เป็นต้นการคุ้มครองดังกล่าวเป็นพัฒนาการของกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางขึ้น |
PROTOCOL คำแปล : พิธีสาร / พิธีการทางการทูต ความหมาย :
คำว่าพิธีสารมีความหมายสองนัยด้วยกันคือ นัยที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา และนัยที่เกี่ยวกับพิธีการทางการทูต 1. นัยที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา พิธีสารเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีการจัดทำที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญา หรืออนุสัญญา และมิใช่ความตกลงที่กระทำขึ้นโดยประมุขของรัฐ โดยทั่วไปหมายถึงเอกสารดังต่อไปนี้ ก. เอกสารเสริมอนุสัญญาซึ่งร่างโดยผู้ร่วมเจรจา บางครั้งเรียกว่าพิธีสารลงนาม (Protocol of Signature) มักเป็นเอกสารภาคผนวก เอกสารที่ตีความสนธิสัญญา ข้อบัญญัติของสนธิสัญญา บทบัญญัติแทรกเสริม ซึ่งมีความสำคัญไม่มาก บทบัญญัติทางการซึ่งมิได้ปรากฏในอนุสัญญา หรือข้อสงวนที่กระทำโดยภาคีที่ลงนาม พิธีสารแก้ไขสนธิสัญญาพหุภาคีต่างๆ เมื่อมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาจะมีผลเป็นการให้สัตยาบันพิธีสารไปด้วยในตัว ข. เอกสารเสริมอนุสัญญาเช่น พิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol)หรือพิธีสารเพิ่มเติม(Additional Protocol) ซึ่งมีผลผูกพันเช่นเดียวกับสนธิสัญญาแต่มีลักษณะเอกเทศ และมีผลผูกพันรัฐเมื่อมีการให้สัตยาบันพิธีสารนั้นๆเช่นพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights, Aiming at the Abolition of the Death Penalty) มีผลใช้บังคับ ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งเป็นพิธีสารที่กำหนดให้รัฐยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกรูปแบบ ค. สนธิสัญญาเอกเทศที่มีความผูกพันเช่นเดียวกับสนธิสัญญา เช่น พิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญารัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Additional Protocol to the American Convention on Human Rights in the Area of Economic, Social and Cultural Rights) ง. บันทึกความเข้าใจ ซึ่งบางครั้งก็ใช้คำว่า บันทึกการเจรจา (Prose – Verbal) 2. นัยที่เกี่ยวกับพิธีการทางการทูต หมายถึง ธรรมเนียมประเพณี แนวปฏิบัติ หรือมารยาททางการทูตที่บรรดาผู้แทนทางการทูตถือปฏิบัติต่อกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ |
PROTOCOL OF SAN SALVADOR คำแปล : พิธีสารซาน ซัลวาดอร์ ความหมาย :
“พิธีสารซานซัลวาดอร์” เป็นคำที่ใช้เรียกพิธีสารเพิ่มเติมฉบับแรกของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ซึ่งชื่อที่เป็นทางการคือ “พิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Additional Protocol to the American Convention on Human Rights in the area of Economic, Social and Cultural Rights)” ซึ่งได้รับรองโดยองค์การรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1988(พ.ศ. 2531)และ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1999 (พ.ศ. 2542) พิธีสารฉบับนี้นอกจากจะได้รับรองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม(ICESCR) แล้วยังขยายไปถึงสิทธิใหม่ๆ เช่นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการตั้งครอบครัวและได้รับการคุ้มครองในครอบครัว สิทธิในอาหาร เป็นต้น พิธีสารฯ กำหนดพันธกรณีของรัฐภาคีให้มีหน้าที่ในการ “ส่งเสริม” โดยกำหนดให้รัฐภาคีได้ “ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อทำให้สิทธิที่ได้รับรองนี้บรรลุถึงความก้าวหน้าอย่างเต็มเปี่ยม” ซึ่งต่างกับ อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนที่กำหนดให้รัฐคุ้มครองโดยกระบวนการทางกฎหมายที่สามารถฟ้องร้องการละเมิดสิทธิได้ พิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีประจำปี เสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณาทำความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะเสนอไปยังสมัชชาใหญ่ และคณะมนตรีถาวรขององค์การรัฐอเมริกา |
PUBLIC HEALTH คำแปล : การสาธารณสุข ความหมาย :
ความมั่นคงปลอดภัยทางสุขภาพ อนามัย และสภาพความอยู่ดีทางสังคมของประชาชนทั้งมวล ไม่ได้มุ่งหมายถึงสุขภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า “Health (อนามัย)” ไว้ว่า “สภาวะที่ประชาชนมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ในสังคมที่ดี ไม่ได้หมายความเฉพาะแต่การปลอดจากโรค หรือได้รับการรักษาพยาบาล” การสาธารณสุขเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของรัฐที่มีต่อประชาชน ดังนั้น รัฐจึงต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนการป้องกันภยันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ มลพิษ สินค้าที่ไม่ปลอดภัยรวมทั้งเสริมสร้างปัจจัยทางสังคมที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เช่นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับแม่และเด็ก คนพิการ หรือคนด้อยโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้บุคคลมีพฤติกรรมที่นำไปสู่สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานในการดำรงชีพและการกินอยู่ดีของครอบครัวหรือรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาพยาบาล” อนึ่ง รัฐอาจใช้การสาธารณสุขเป็นเหตุผลในการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพ หรือใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างชอบธรรมได้ (ดู LEGITIMATE INTERFERENCE และ LIMITATION / RESTRICTION) |
RACISM คำแปล : การเหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ / การเหยียดสีผิว ความหมาย :
การเหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ / การเหยียดสีผิว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมรูปแบบหนึ่งที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือสีผิว ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ถูกเหยียด หรือไม่มีการรองรับประกันสิทธิให้แก่กลุ่มเชื้อชาติเผ่าพันธุ์/ สีผิว เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม เช่น การเหยียดคนผิวดำในรัฐที่ใช้ทาสผิวดำมาก่อน ทำให้มีการล่าสังหารคนผิวสี และไม่ให้สิทธิคนผิวสีในกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมรองรับการกระทำเหล่านั้น |
RATIFICATION คำแปล : การให้สัตยาบัน ความหมาย :
การให้สัตยาบันคือกระบวนการ หรือขั้นตอนที่กำหนดให้รัฐแสดงเจตนารมณ์ให้ความยินยอมผูกพันรัฐตามสนธิสัญญา ดังนั้นหากในสนธิสัญญาใดมีการกำหนดให้ต้องมีการให้สัตยาบันก่อน สนธิสัญญาจึงจะผูกพันรัฐนั้น หากรัฐภาคีใดยังไม่ได้ให้สัตยาบัน รัฐนั้นก็ยังไม่ต้องผูกพันตามสนธิสัญญา แม้ว่ารัฐนั้นจะได้ ลงนามในสนธิสัญญาแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าสนธิสัญญานั้นไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ เลยเนื่องจากการลงนามในสนธิสัญญาก็มีผลเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐในการผูกพันตามสนธิสัญญาดังนั้นรัฐจะต้องกระทำการโดยสุจริต ด้วยการไม่กระทำในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการในสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969(พ.ศ. 2512) ได้กำหนดว่าการให้สัตยาบันนั้นต้องกระทำต่อเมื่อ ก. สนธิสัญญานั้นกำหนดไว้ว่าการแสดงความยินยอมผูกพันตามสนธิสัญญาดังกล่าวให้กระทำโดยการให้สัตยาบัน ข. รัฐภาคีซึ่งเจรจาสนธิสัญญานั้นตกลงกันให้ต้องมีการให้สัตยาบัน ค. ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจซึ่งได้ลงนามในสนธิสัญญานั้น จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องมีการให้สัตยาบันโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง รัฐจึงจะผูกพันตามสนธิสัญญานั้น ง. ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเต็มซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของรัฐว่าการลงนามในสนธิสัญญาของตัวแทนนั้นจะต้องมีการให้สัตยาบันอีกครั้งหนึ่งจึงจะผูกพันตามสนธิสัญญา หรือในระหว่างที่มีการเจรจากันนั้น รัฐภาคีดังกล่าวได้แสดงเจตนาเช่นว่านั้น |
REFUGEE คำแปล : ผู้ลี้ภัย ความหมาย :
อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951(พ.ศ. 2494) และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1967(พ.ศ. 2510) นิยามความหมายของคำว่า “ผู้ลี้ภัย”หมายถึง “บุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐของตนโดยสาเหตุแห่งความหวาดกลัวที่มีมูลอันจะอ้างได้ว่าจะถูกประหัตประหาร ด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติศาสนาสัญชาติสมาชิกภาพขอกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางสังคมหรือทางความคิดทางการเมือง หรือเพราะไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองของประเทศนั้น หรือกลับคืนไปที่นั่นเพราะกลัวการประหัตประหาร” คำนิยามนี้มีความมุ่งหมายจำเพาะเจาะจงไปที่ผู้ลี้ภัยที่มีเหตุจากสงครามความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในยุโรป ในขณะที่นิยามของ อนุสัญญาองค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ค.ศ.1969 ( พ.ศ. 2512)ขยายความหมายครอบคลุมบุคคลที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศ เนื่องจากการรุกรานจากภายนอกประเทศ การครอบครองการครอบงำของต่างชาติหรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่รบกวนความสงบเรียบร้อย ส่วนปฏิญญาคาร์ตาเญนาว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Cartagena Declaration on Refugee) ค.ศ.1985 (พ.ศ. 2528) ขององค์การรัฐอเมริกาได้มุ่งคุ้มครองถึงการลี้ภัยจากความขัดแย้งภายในและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางทั้งระดับสากลและระดับภูมิภาค เป้าหมายเบื้องต้นสองประการในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ประการแรก คือเพื่อปกป้องชีวิตและอิสรภาพและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกคุกคามในประเทศถิ่นกำเนิด ประการที่สอง เพื่อปกป้องประโยชน์ของ ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเพื่อให้แน่ใจว่าการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมากเป็นไปในลักษณะที่คาดการณ์ได้และสอดคล้องกับหลักการที่ตกลงไว้ในอนุสัญญาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย |
REHABILITATION คำแปล : การฟื้นฟู ความหมาย :
การฟื้นฟูในทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หมายถึง การบำบัดการให้การศึกษา หรือการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมครอบครัว และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดได้กลับตัวกลับใจไม่กระทำผิดซ้ำอีก และสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ทฤษฎีทางทัณฑวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่า มนุษย์มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ไม่ได้เลวร้ายอย่างถาวร ผู้กระทำผิดสามารถที่จะกลับมามีชีวิตเช่นคนปกติ และดำรงชีวิตเพื่อตนเองและส่วนรวมได้ ดังนั้นเป้าหมายหลักของการฟื้นฟูผู้กระทำผิดคือ การป้องกันการกระทำผิดเป็นนิสัย โดยการบำบัด ให้ความรู้ และปรับทัศนคติของผู้กระทำผิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมมากกว่าที่จะเป็นผลร้าย |
RELATIVITY (OF HUMAN RIGHTS) คำแปล : ลักษณะจำเพาะ / สัมพัทธภาพแห่งสิทธิมนุษยชน ความหมาย :
ลักษณะจำเพาะ / สัมพัทธภาพทางสิทธิมนุษยชน เป็นแนวคิดที่เห็นว่าแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันดังนั้นการปรับใช้หลักการสิทธิมนุษยชนต้องคำนึงถึงความจำเพาะของแต่ละสังคม ( ดู Cultural Relativism (of Human Rights)) |
RELIGION AND BELIEF, RIGHT TO คำแปล : สิทธิในศาสนาและความเชื่อ ความหมาย :
สิทธิในศาสนาและความเชื่อ ยอมรับว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพสัมบูรณ์ (Absolute Rights) ในการนับถือรวมทั้งไม่นับถือศาสนานิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตาม ศาสนธรรมศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในการใช้เสรีภาพบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆอันเป็นการลิดรอนสิทธิหรือทำให้เสียประโยชน์อื่นใดเพราะเหตุที่ถือศาสนานิกายของศาสนาลัทธินิยม/ความเชื่อในทางศาสนาหรือปฏิบัติตามศาสนธรรมศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่นการควบคุมกิจกรรมทางศาสนาจึงเป็นการละเมิดสิทธิในลัทธิความเชื่อและศาสนา สิทธินี้รวมถึงสิทธิที่จะไม่นับถือศาสนาใดส่วนวิธีการส่งเสริมสิทธิอาจกระทำได้โดยให้เสรีภาพแก่บุคคลในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนา ประกอบศาสนกิจ หรือรัฐต้องมีมาตรการลงโทษผู้ที่ทำลายกิจกรรมทางศาสนา หรือศาสนสถาน |
RESPECT, DUTY TO / OBLIGATION TO คำแปล : ภาระหน้าที่ / พันธกรณี ในการเคารพ ความหมาย :
ภาระหน้าที่ (Duty) หรือ พันธกรณี (Obligation) ในการเคารพเป็นหน้าที่หนึ่งในภาระหน้าที่สามด้านตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีต่อปัจเจกชน หรือกลุ่มบุคคลที่เป็น ผู้ทรงสิทธิ คือ การเคารพ (Respect)การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้บรรลุ (Fulfil) ภาระหน้าที่ในการเคารพ ถือเป็นหน้าที่เชิงลบ นั่นคือรัฐ หรือผู้มีหน้าที่ (Duty Bearer)ต้องหลีกเลี่ยง และไม่ขัดขวางบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิไม่อาจใช้สิทธิตามที่บุคคลนั้นมี ตัวอย่างหน้าที่ในการเคารพ ในแง่สิทธิทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่น สิทธิในครอบครัว รัฐจะต้องไม่แทรกแซงการใช้ชีวิตครอบครัว เช่นการห้ามข้าราชการหญิงสมรสกับชาวต่างชาติ ในแง่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เช่น รัฐต้องเคารพสิทธิในสุขภาพของบุคคลในการเลือกที่จะรับการรักษา หรือดูแลสุขภาพของตัวเอง |
RESTORATIVE JUSTICE คำแปล : กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ความหมาย :
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ บางครั้งก็ใช้คำว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู” เป็นแนวคิด กระบวนการยุติธรรมที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของการยอมรับของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับการเยียวยาและปกป้องในกระบวนการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ อันได้แก่ การคุ้มครองสิทธิของเหยื่อและญาติผู้เสียหาย การประกันสิทธิในการได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมของจำเลยผู้กระทำความผิด เพื่อให้เกิดกระบวนการยอมรับในการกระทำและสำนึกผิด เพื่อกำหนดวิธีการลงโทษและการให้อภัย เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและสัมพันธภาพของคู่กรณีและสังคมให้สามารถฟื้นคืนสู่สถานะเดิมก่อนเกิดข้อพิพาทได้ ในปัจจุบันใช้ในกรณีการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน และกระบวนการยุติธรรมชุมชน เป็นต้น |
RETROACTIVE LAW คำแปล : กฎหมายย้อนหลัง ความหมาย :
หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้นำหลักกฎหมายอาญามาใช้ คือห้ามใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังต่อผู้กระทำผิด หลักกฎหมายนี้เกิดจากหลักที่ว่า “ไม่มีกฎหมายไม่มีความผิด” ซึ่งหมายถึงการลงโทษทางอาญาต่อบุคคลได้นั้นจักต้องมีกฎหมายรับรอง เนื่องจากทุกคนมีอิสระเสรีที่จะกระทำการใดๆ ได้ตามที่ตนเองเห็นสมควร กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำหนดให้บุคคลละเว้นจากการกระทำใด หรือกำหนดให้ทำอย่างใด ดังนั้นบุคคลจะต้องรู้ว่ากฎหมายห้ามทำ หรือให้ทำสิ่งใดในขณะที่ตนตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นรัฐก็จะใช้อำนาจออกกฎหมายลงโทษทางอาญาแก่บุคคลตามอำเภอใจ การไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง หมายถึงต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ขณะกระทำความผิด อย่างไรก็ตามหลักห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังมีข้อยกเว้นคือ ศาลสามารถที่จะใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ (ไม่ว่าด้านใด) แก่ผู้กระทำผิดได้ |
REVIEW OF A CRIMINAL JUDGEMENT คำแปล : การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ความหมาย :
ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาที่มีขึ้นภายหลังจากได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญาแล้ว และต่อมามีพฤติกรรมหรือข้อเท็จจริงบางประการที่อาจมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา กฎหมายอาญานั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษบุคคลที่กระทำผิดจริงแต่กระบวนการพิจารณาไต่สวนในศาลอาจมีความผิดพลาดขึ้นได้แม้ว่าศาลจะได้ใช้เหตุผลในการฟังพยานหลักฐานอย่างรอบคอบแล้วก็ตาม กฎหมายจึงได้กำหนดให้มีการรื้อฟื้นคดีนั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้โดยกำหนดเงื่อนไขไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม ตามกฎหมายไทย พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญา พ.ศ. 2526(ค.ศ. 1983) ได้กำหนดเงื่อนไขในการขอให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ หากมีเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ 1. พยานบุคคลในคดีเดิมซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดปรากฏในภายหลังว่าเบิกความเท็จ หรือไม่ตรงตามความจริง 2. พยานหลักฐานอื่นในคดีเดิมนอกจากพยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาในคดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ปรากฏในภายหลังว่าเป็นพยานหลักฐานปลอม หรือเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง 3. มีหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลที่ได้รับโทษทางอาญานั้นไม่ได้กระทำผิด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997)ได้รับรองสิทธิในการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไว้ใน มาตรา 247 ว่า “บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุด บุคคลนั้น ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ อาจร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ และหากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด บุคคลนั้นหรือทายาทย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร ตลอดจนบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” แต่สิทธินี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (พ.ศ.2007) |
RIGHT TO RELEASE ON BAIL, THE คำแปล : สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว / สิทธิในการประกันตัว ความหมาย :
สิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการดำเนินคดีอาญาของผู้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน (ผู้ต้องหา) หรือในชั้นพิจารณาคดีในศาล (จำเลย) ที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นจะต้องมาปรากฏตัวต่อพนักงานหรือศาลเมื่อมีหมายเรียก สิทธินี้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กับสิทธิที่จะไม่ถูกคุมขังโดยพลการ และความจำเป็นในการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไปปรากฏตัวในศาลเนื่องจากหลักกฎหมายอาญามีว่าต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยซึ่งจำเป็นต้องนำตัวจำเลยไปศาลในการพิจารณาคดี ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9กำหนดว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีแต่การปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา” กฎหมายไทยกำหนดให้มีการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก และการไม่อนุญาตเป็นข้อยกเว้น การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยจะหลบหนีไป หรือจะไปก่ออันตรายประการอื่นหรือปล่อยไปแล้วบุคคลนั้นจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี การปล่อยชั่วคราวจะกำหนดให้มีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้บัญญัติห้ามการเรียกหลักประกันสูงเกินความจำเป็น หลักประกันจะกำหนดเป็นจำนวนเงินที่บุคคลต้องจ่าย หรือกำหนดเป็นทรัพย์สินก็ได้ และอาจจะกำหนดให้บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นต้องมารายงานตัวเป็นระยะ ๆ ได้ |
RIGHTS HOLDER คำแปล : ผู้ทรงสิทธิ (มนุษยชน) ความหมาย :
ผู้ทรงสิทธิ หมายถึง บุคคลผู้เป็นเจ้าของสิทธิมนุษยชนเนื่องจากเขามีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง นอกจากบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ทรงสิทธิแล้ว “ชนชาติ” ยังเป็นผู้ทรงสิทธิได้ด้วยเนื่องจากสิทธินี้กล่าวอ้างเพื่อเรียกร้องเอกราชจากการเป็นอาณานิคม ซึ่งทางทฤษฎีถือว่าบุคคลใช้สิทธิในการเรียกร้องนี้ร่วมกัน กฎหมายสิทธิมนุษยชนจะเน้นไปที่การคุ้มครองผู้ทรงสิทธิที่เป็นบุคคลธรรมดาเป็นหลัก ผู้ทรงสิทธิสามารถอ้างสิทธิต่อรัฐซึ่งมีสัญญาประชาคมต่อพลเมืองทั้งหลายในรัฐว่า เมื่อได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนแล้วก็จะใช้อำนาจไปในการส่งเสริมและสร้างหลักประกันสิทธิทั้งหลายให้แก่ประชาชน ดังที่ได้มีสัญญาประชาคมร่วมกันอยู่ สิทธิและหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันเสมอ เพื่อเป็นขอบเขตในการใช้สิทธิของบุคคลและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม (ดู Duty Bearer) |
RIGHTS OF THE CHILD, CHILD RIGHTS คำแปล : สิทธิเด็ก / สิทธิของเด็ก ความหมาย :
สิทธิเด็ก เป็นแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่คำนึงถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี กฎหมายสิทธิมนุษยชนสร้างระบบการคุ้มครองสิทธิของเด็กเพิ่มขึ้นกว่าคนในกลุ่มอื่นเนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย และเพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมในการพัฒนาของตัวเด็กเอง เช่นเด็กต้องไม่ถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเน้นบทบาทของครอบครัวและสถาบันของสังคมในการป้องกันไม่ให้เด็กกระทำความผิด อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ให้ความสำคัญกับการปกป้องสวัสดิภาพของเด็ก และส่งเสริมการพัฒนาของเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของครอบครัวและชุมชนทั้งนี้เด็กจะได้รับความสำคัญลำดับแรก หากต้องตัดสินใจเลือกปกป้องสิทธิให้กลุ่มคนต่างๆ การขจัดปัญหาสิทธิเด็ก เกี่ยวเนื่องกับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา และการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้มนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รัฐจึงมีหน้าที่ต้องตรวจตราเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก |
RIGHTS TO PHYSICAL INTEGRITY คำแปล : สิทธิในบูรณภาพแห่งร่างกาย ความหมาย :
สิทธิในบูรณภาพแห่งร่างกาย ประกอบด้วยสิทธิหลายด้านของบุคคลที่เกี่ยวกับกายภาพของบุคคลที่ไม่อาจละเมิดได้เช่น การปลอดจากการทรมาน ถูกคุมขังหรือทำให้สูญเสียอิสรภาพ (ส่วนสิทธิอีกด้านคือสิทธิในเชิงมโนธรรม เช่นความเชื่อ การพูด) สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายมีความหมายแคบกว่าสิทธิในชีวิต การละเมิดบูรณภาพของเนื้อตัวร่างกายไม่ได้ทำให้สูญสิ้นชีวิต แต่เป็นการกระทำต่อหรือบังคับเหนือส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของร่างกายของบุคคล สิทธินี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว ตนเองก็จะเป็นผู้กำหนดวิถีทางความเป็นไปแห่งเนื้อตัวร่างกายแห่งตน (Master of Himself) บุคคลอื่นไม่สามารถล่วงละเมิดต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้นั้นได้ สิทธินี้ถือว่าสำคัญต่อความเป็นมนุษย์รองลงมาจากสิทธิในชีวิต จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษตามอำเภอใจ สิทธิที่จะไม่ถูกเอาลงเป็นทาสหรือถูกบังคับแรงงาน ต่างก็เกื้อหรือสนับสนุนสิทธิในบูรณภาพแห่งร่างกาย ในขณะที่เสรีภาพด้านความคิดและมโนธรรม ช่วยให้เขาได้มีเสรีภาพที่จะยอมหรือไม่ยอมต่อสิ่งใด |
RIGHTS TO PRIVACY คำแปล : สิทธิในความเป็นส่วนตัว ความหมาย :
สิทธิในความเป็นส่วนตัวถือเป็นหัวใจของความคิดเกี่ยวกับอิสรภาพของบุคคล แต่สิทธินี้มีขอบเขตที่กว้างและขาดการบัญญัติที่ชัดเจน สิทธินี้เกี่ยวข้องกับการกระทำหลายๆด้านของมนุษย์ เช่นสิทธิในชีวิตครอบครัว (Right to Family Life) เสรีภาพทางความเชื่อและศาสนา (Freedom of Belief and Religion) เสรีภาพในการสมาคม (Right to Association) สิทธิในความเป็นส่วนตัวหมายถึง สิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่จะทำการใด ๆ ได้ โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการที่ปลอดจากการสอดส่องเฝ้ามองจากสังคมหรือบุคคลภายนอก ดังนั้นสิทธิในความเป็นส่วนตัวจึงรวมถึงการมีความลับ (Secrecy) การดำเนินชีวิต (Life-Style) คำว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัว จึงต่างกับคำว่าสิทธิส่วนบุคคล คำว่าสิทธิส่วนบุคคล(Private) นั้นหมายถึงของสิ่งนั้นเป็นของคนคนนั้นไม่ใช่เป็นของสาธารณะ (Public) กฎหมายทุกระบบยอมรับว่าความเป็นส่วนตัวอาจถูกจำกัดหรือถูกแทรกแซงได้ เนื่องจากสิทธิมนุษยชนมักจะถูกอ้างเพื่อคัดค้านหรือท้าทายอำนาจรัฐ ในขณะที่รัฐจะควบคุมหรือกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหนือบุคคล ดังนั้นจึงมักมีความขัดกันระหว่างรัฐที่อ้างกฎหมายกับบุคคลที่อ้างสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เนื่องจากปรัชญาสิทธิมนุษยชนถือว่ามนุษย์เกิดมามีอิสรภาพและเท่าเทียมกันไม่มีใครอยู่เหนือใคร มนุษย์เกิดมาพร้อมกับมโนธรรมและเหตุผล (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 1) ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิที่จะคิดว่าสิ่งใดดีที่สุดเหมาะสมที่สุด สำหรับตนเอง (สิทธินี้จะควบคู่ไปกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 19 เสรีภาพในความคิด) กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อเป็นมนุษย์แล้วเขาย่อมจะมีอำนาจในการตัดสินใจกระทำการใดด้วยตนเอง การแทรกแซงความเป็นส่วนตัวการครอบงำหรือบงการโดยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะถือว่าขัดต่อการพัฒนาการของมนุษย์ |
RIGHTS-BASED APPROACH คำแปล : วิธีมองปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ความหมาย :
วิธีมองปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนเป็นแนวทางในการดำเนินการต่างๆ ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินการใดๆ ของรัฐก็คือมนุษย์ ดังนั้นมาตรการต่างๆ เช่น โครงการ แผนการ หรือนโยบายที่มีขึ้นโดยรัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าเป็นแก่นของความเป็นมนุษย์ การมองปัญหาโดยใช้สิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน เป็นหลักคิดสำหรับมาตรการต่างๆ นอกจากป้องกัน มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วยังทำให้มาตรการต่างๆ เหล่านี้สอดคล้องกันมากขึ้นอันเป็นการบูรณาการสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงยิ่งขึ้น แนวทางนี้สามารถนำไปปรับใช้กับมาตรการทั้งในระดับพหุภาคี ระดับภูมิภาค และระดับภายในรัฐ เพื่อพัฒนาและปรับใช้โดยเน้นความเป็นสากล การพึ่งพิงกัน การไม่แบ่งแยก และการเชื่อมโยงกันของสิทธิมนุษยชน รวมถึงพันธกรณีของรัฐและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ