Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

NO CRIME, NO PUNISHMENT WITHOUT A LAW

คำแปล : ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย

ความหมาย :

หลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายอาญา มาจากภาษาละตินคือ nullum crimen sine lege (No Crime without a Law หรือ “ไม่มีการกระทำความผิดอาญาถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด”) และ nulla poenasine lege (No Punishment without a Law หรือ “ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด”) ซึ่งพัฒนามาเป็นหลักไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง หรือ Non-retroactive Law หรือ Prohibition of ex post facto Law(ดู RETROACTIVE LAW) หมายความว่าจะลงโทษอาญาต่อบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หลักการนี้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพของบุคคลเพราะเป็นการประกันว่าบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายการรับโทษทางอาญาก็ต่อเมื่อตนรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและมีโทษดังนั้นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อเอาความผิดในสิ่งที่ล่วงเลยมาแล้วเป็นการขัดขวางต่อเจตจำนงเสรีของบุคคลในการตัดสินใจกระทำการใด ๆ หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” เป็นหลักสากลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 39 บัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด” นอกจากนั้นหลักนี้ยังหมายถึงการยกเลิกความผิด หรือยกเลิกโทษให้กับบุคคลที่กระทำผิดแล้ว แต่ต่อมาได้มีกฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดนั้น หลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ของไทย ที่บัญญัติว่า“ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้น ไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”


NOBEL PRIZE / NOBEL PEACE PRIZE

คำแปล : รางวัลโนเบล

ความหมาย :

รางวัลนานาชาติประจำปีที่มอบให้กับบุคคลผู้มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ชื่อรางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ นายอัลเฟรด แบร์นาร์ดโนเบล มหาเศรษฐีและนักเคมีชาวสวีเดนผู้ประดิษฐ์ดินระเบิดไดนาไมท์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ต่อมานายโนเบลเสียใจกับการที่ผลงานประดิษฐ์ของตนถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสงครามทำให้คนตายเป็นจำนวนมากเขาจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กองทุน รางวัลโนเบลได้รับการยอมรับว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุด เดิมมีห้าสาขา คือ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ และฟิสิกส์ ต่อมาใน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ได้เพิ่มรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ ขึ้นอีกหนึ่งรางวัล การมอบรางวัลโนเบลครั้งแรกมีขึ้นใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ปัจจุบันพิธีมอบรางวัลจะทำในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่นายอัลเฟรดโนเบลเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่เนืองๆ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of Red Cross หรือ ICRC) ได้รับรางวัลนี้สามครั้ง ใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2450) ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) และ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ได้รับรางวัลนี้สองครั้งใน ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) และ ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) แม่ชีเทเรซา สตรีผู้ทำงานเพื่อเด็กในสลัมในประเทศอินเดียได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) นางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้ประชาธิปไตยในพม่าได้รับการประกาศเป็นผู้ได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้รับจริงเมื่อ ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) นายเนลสัน เมนเดลลา ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำและนำไปสู่การยุติระบอบเหยียดผิวในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัลนี้ใน ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536)


NON-DEROGABLE (HUMAN) RIGHTS

คำแปล : สิทธิที่ไม่อาจพักใช้ได้

ความหมาย :

สิทธิที่ไม่อาจพักใช้ได้เป็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ที่ถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดต่อความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐไม่สามารถลดทอนพันธกรณีระหว่างประเทศในการเคารพหรือคุ้มครองได้แม้แต่ในช่วงภาวะที่รัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือสถานการณ์พิเศษ (State of Exception) บางครั้งสิทธินี้เรียกว่า สิทธิสัมบูรณ์ (Absolute Rights) เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในความเชื่อและนับถือศาสนา สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน (ICCPR ข้อ 4(2), European Convention on Human Rights ข้อ 15(2), Inter-American Convention on Human Rights ข้อ 27(2)) (ดู Derogable Rights)


NON-DISCRIMINATION

คำแปล : การไม่เลือกปฏิบัติ

ความหมาย :

การไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักพื้นฐานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการนี้ได้รับการรับรองโดยกฎบัตรสหประชาชาติ และตราสารสิทธิมนุษยชนเกือบทุกฉบับ เช่น ปฏิญญาสากล (UDHR Article 2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPRArticle 2)กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ( ICESCR Article 2) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC Article2) ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติมีสองนัยด้วยกัน นัยแรกเป็นหน้าที่ในทางลบคือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (Equal Treatment) หมายถึงรัฐจักต้องไม่ดำเนินการหรือทำการใดๆที่แตกต่างกันเป็นผลให้บุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ เหนือกว่ากลุ่มอื่น หรือ ถูกจำกัดสิทธิหรือ ประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ นัยที่สองเป็นหน้าที่ในทางบวกคือการกระทำในทางยืนยันสิทธิ (Affirmative Action) หมายถึงรัฐจักต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของโอกาสในการใช้สิทธิ (Equal Opportunity) ของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในฐานะที่ด้อยโอกาสกว่ากลุ่มอื่นๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้บรรลุถึงการมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ


NON-REFOULEMENT

คำแปล : หลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัย

ความหมาย :

หลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ที่กำหนดไม่ให้รัฐส่งตัวผู้ลี้ภัยที่เป็นการฝืนความต้องการของผู้ลี้ภัย กลับไปยังดินแดนที่ผู้ลี้ภัยลี้ภัยออกมา ถ้ามีสาเหตุที่เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในประเทศที่จะถูกส่งตัวกลับ หลักเกณฑ์นี้ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494(Convention relating to the Status of Refugees 1951) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment 1984 หรือ CAT) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2509 (International Covenant on Civil and Political Rights 1966 หรือ ICCPR) เป็นต้น ปัจจุบันหลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัยถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและมีผลผูกพันรัฐทุกรัฐ ดังนั้นแม้ว่ารัฐจะมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมือง หรือไม่รับผู้ลี้ภัย แต่รัฐมีพันธะหน้าที่ต้องไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยนั้นกลับไปยังประเทศต้นทางถ้าบุคคลนั้นต้องเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร หลักการไม่ผลักดันกลับ ได้นำมาปรับใช้กับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจปฏิเสธการส่งตัวได้ ถ้าบุคคลนั้นอาจเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น เสี่ยงต่อการรับโทษประหารชีวิตการถูกทรมาน สภาพอันเลวร้ายของห้องขังหรือเรือนจำ หรือกระบวนการยุติธรรมที่ลำเอียง (ดู EXTRADITION)


OMBUDSMAN

คำแปล : ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ความหมาย :

มาจากภาษาสวีเดน คือ “อุมบุดส์มาน” ตามความหมายเดิม คือ คนกลางหรือผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ รัฐสภา หรือฝ่ายบริหารให้มีหน้าที่ดูแลประโยชน์สุขของประชาชน รวมถึงรับฟังคำร้องเรียนและสอบสวนกรณีประชาชนร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐและรายงานต่อองค์กรที่แต่งตั้งปัจจุบันคำนี้มีความหมายกว้างขึ้น หมายถึง บุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐเพื่อให้ทำหน้าที่ดังกล่าว แนวคิดเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินมีมาช้านาน เช่น ในประเทศจีนโบราณหรือในประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่างพระเนตรพระกรรณ แต่รูปแบบที่ใช้ในความหมายปัจจุบันมีกำเนิดจากประเทศสวีเดนในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ที่ได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภา ต่อมารูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เช่น ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้ง “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา”ขึ้นใน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)ได้กำหนดให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีดังนี้ • รับคำร้องเรียนการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร • ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล • ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ • เสนอเรื่องพร้อมให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เช่น หากมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งทางปกครอง อนึ่ง คำนี้ได้นำไปใช้ในความหมายทั่วไป หมายถึง ผู้ตรวจการเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย เช่น Health Ombudsman (ผู้ตรวจการสุขภาพ) และ FinancialOmbudsman (ผู้ตรวจการการเงิน) ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น


ON LIBERTY

คำแปล : ว่าด้วยเสรีภาพ

ความหมาย :

ชื่อหนังสือที่เขียนโดย จอห์น สจ็วต มิลล์ (John Stewart Mill) นักปรัชญาชาวอังกฤษมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1806 – 1873 (พ.ศ. 2349 - 2416) พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. 1834 (พ.ศ. 2377) เพื่อสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมตามแบบของเบนธั่ม (ดู Bentham, Jeremy) โดยเขาเสริมความเห็นทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เกี่ยวกับการตัดสินใจของบุคคลว่า ความพอใจสูงสุด คือ เกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และเห็นว่าเสรีภาพ คือ การที่รัฐส่งเสริมเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีดังนั้นเสรีภาพจึงเป็นทั้งจุดมุ่งหมาย (Purpose) และเป้าหมาย (Goal)ที่สำคัญของสังคม รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ปัจเจกชนได้ทำตามความต้องการของตนเองเพื่อเขาจะได้บรรลุถึงการพัฒนาทางความคิด และเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม หนังสือ “ว่าด้วยเสรีภาพ” เสนอแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับปัจเจกชน จอห์น สจ็วต มิลล์ เห็นว่าศัตรูที่สำคัญของเสรีภาพไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นสังคมที่มีสภาพเป็นทรราชย์ หรือที่เขาเรียกว่า ทรราชย์โดยคนส่วนใหญ่ (Tyrant of the Majority) มิลล์เห็นว่ารัฐบาลสามารถแทรกแซงเสรีภาพปัจเจกชนได้ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นการเพิ่มพูนประโยชน์สุขของสังคม เช่น การแทรกแซงเสรีภาพเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค และเห็นว่าปัจเจกชนมีเสรีภาพทำสิ่งใดได้ตราบเท่าที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เสรีภาพของปัจเจกชนจึงแยกไม่ออกจากเสรีภาพของสังคม ดังนั้นหลักอรรถประโยชน์ (Principle of Utility) จึงต่างจากการกระทำที่เอาแต่ได้ของบุคคล


OPEN TRIAL / PUBLIC TRIAL

คำแปล : การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย รูปแบบ

ความหมาย :

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยรูปแบบ หรือวิธีการพิจารณาคดีในศาลที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนสืบพยานในศาล เพื่อเป็นสักขีพยานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งจำเลยมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับพยานโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด ในการพิสูจน์ความจริงในคดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม เว้นแต่มีความจำเป็นในการคุ้มครองพยาน เด็ก เยาวชนชื่อเสียง เกียรติยศของผู้เสียหายหรือเพื่อรักษาความลับหรือความมั่นคงของรัฐ (ดู TRIAL IN CAMERA) ในคดีอาญาถือเป็นหลักการว่ารัฐจะต้องให้การรับรองสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพื่อทำให้คดีนั้นดำเนินไปด้วยความเป็นธรรมและถูกต้อง และเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดการเบี่ยงเบนความชอบธรรมโดยอคติ ตลอดจนพฤติกรรมที่ไม่ชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี รวมทั้งลดปัญหาเรื่องคำวินิจฉัยที่อาจเกิดจากอคตินั้น ความสำคัญของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผยสามารถพิจารณาได้สองด้าน คือ ด้านแรก เป็นการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญาซึ่งการพิจารณาโดยเปิดเผยในคดีอาญามุ่งคุ้มครองจำเลยในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะไม่ถูกข่มขู่ กลั่นแกล้งหรือถูกพิจารณาคดีตามอำเภอใจ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันพยานเบิกความเท็จ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการคุ้มครองสาธารณชน เพื่อป้องกันไม่ให้ตุลาการใช้อำนาจโดยไม่มีความรับผิดชอบอันจะส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากการดำเนินคดีอาญาในศาลไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะสิทธิหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลของจำเลยคนเดียวแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดที่อยู่ร่วมกัน ในสังคมเป็นเสมือนสิทธิของสาธารณชนที่มีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสาธารณชนด้วยโดยประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม เป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่าบุคคลที่ถูกฟ้องคดีอาญาจะต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย หลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในข้อ 10ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น นานาอารยประเทศมักจะประกันสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ในมาตรา 6 ของ“บทบัญญัติสิทธิประชาชนอเมริกา” (ดู AMERICAN BILL OF RIGHTS) ที่บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงจำเลยพึงมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และจักมีสิทธิเผชิญหน้ากับพยานที่ให้การในทางยืนยันความผิดของตน” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)มาตรา 40 ได้รับรองสิทธิไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้...... (2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง” คำตรงกันข้ามกับคำนี้คือ การพิจารณาเป็นการลับ (ดู TRIAL IN CAMERA)


ORGANISED CRIME

คำแปล : อาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง

ความหมาย :

กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่มีลักษณะเป็นการจัดตั้งและมีการดำเนินการอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อกระทำความผิดอาญาร้ายแรง อาชญากรรมประเภทนี้มีการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีการประสานงานตลอดจนแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างบุคคลผู้ลงมือกระทำความผิดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปฏิบัติการระดับล่าง ดังนั้นการสืบสาวความผิดให้ถึงตัวผู้บงการที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจึงมีความยากลำบาก อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งจะไม่มีเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการดำเนินงาน มักใช้อิทธิพลทางการเงิน ทางการเมืองหรือใช้ความรุนแรงข่มขู่ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล รวมทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญา อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งเป็นภัยต่อสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้นใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) สหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการจัดตั้ง (United Nations Convention against Transnational Organised Crime หรือ CTOC) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ เช่น การกำหนดลักษณะความผิดในกฎหมายอาญา การให้ข้อมูลข่าวสาร การสอบสวนสืบสวน การยึดทรัพย์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงช่วยเหลือทางด้านเทคนิค อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาและรับรองข้อบทของสนธิสัญญา (ดู SIGNATURE SUBJECT TO RATIFICATION)แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ดังนั้นประเทศไทยจึงยังไม่ผูกพันอนุสัญญาฉบับนี้ (ข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม 2555)


OUTSOURCING

คำแปล : การรับบริการจากแหล่งภายนอกองค์กร

ความหมาย :

การรับบริการจากแหล่งภายนอกองค์กรเป็นการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ที่เน้นการลดต้นทุน และ ภาระเกี่ยวกับลูกจ้างในองค์กร ตลอดจนการลดภาระด้านสวัสดิการคนงานภายในองค์กร ลดความเสี่ยงต่อการนัดหยุดงาน การประท้วงเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง และปัญหาอื่นๆ ตลอดจนถึงความต้องการในการได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้ให้บริการโดยผู้ประกอบการวิชาชีพชั้นสูงเฉพาะทาง ด้วยเหตุผลหลายประการเหล่านี้ ทำให้มีการใช้บริการจากแหล่งภายนอกองค์กรมากขึ้น ส่วนองค์กรที่รับบริการก็มีเหตุผลหลากหลายดังกล่าวแล้ว แต่เหตุผลหลักคือการประหยัดและลดความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามองค์กรธุรกิจบางแห่งอาศัยรูปแบบของการรับบริการจากภายนอก แต่มีการให้คนงานผู้ให้บริการมาทำงานในสำนักงานของผู้รับบริการโดยตรง ในลักษณะเดียวกับการจ้างแรงงาน แต่เลี่ยงการทำสัญญาจ้างแรงงาน เพื่อหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ หรือการทำสัญญารับจ้างช่วง (Sub-contract) แต่มีการให้คนงานมาทำงานในสำนักงานของผู้ว่าจ้างเดิม แต่ไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเดิม ส่วนผู้รับจ้างช่วงก็ทำสัญญากับคนงานในลักษณะจ้างทำของ ทุกกระบวนการเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากนายจ้าง


OVERSHOOT

คำแปล : สภาวการณ์ที่ความต้องการของมนุษย์มีมากเกินกว่าที่ธรรมชาติมีอยู่

ความหมาย :

ในทางนิเวศวิทยา “Overshoot” หมายถึง สภาวการณ์ที่ความต้องการของมนุษย์มีมากกว่าสิ่งที่ธรรมชาติมีอยู่เพื่อให้มนุษย์นำไปใช้สอยได้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก และหากสภาวการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ในการบริโภค ใช้สอยอย่างยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยการบริโภคเกินส่วนที่จะมีการทดแทนตามธรรมชาติได้ มนุษย์ย่อมจะต้องประสบกับความทุกข์ยาก และเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความขาดแคลน และการขาดความพอเพียงย่อมนำมาสู่การเอารัดเอาเปรียบและการละเมิดสิทธิมนุษยชน


PARDON, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิที่จะได้รับการอภัยโทษ

ความหมาย :

สิทธิของนักโทษที่จะยื่นเรื่องขอให้ประมุขของรัฐยกโทษให้สำหรับการกระทำความผิดของตนเป็นแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ ที่กำหนดให้การอภัยโทษเป็นอำนาจของประมุขของรัฐ เช่น พระมหากษัตริย์ สุลต่าน หรือประธานาธิบดี ประกาศยกโทษแก่บุคคลที่ได้รับโทษทางอาญา อำนาจดังกล่าวมักจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การอภัยโทษเป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้สำนึกความผิดของตนที่จะกลับตนเป็นคนดี ได้กลับคืนสู่สังคมเพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวและญาติมิตรอย่างเป็นปกติสุขและประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริตในภายหลัง สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษจำคุกให้ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งมีสองวิธี คือการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณขึ้นมา และการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษโดยรัฐบาลจะใช้หลักการพิจารณาตัวผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคลประกอบกับนโยบายทางอาญาของรัฐ


PEACEFUL ASSEMBLY, FREEDOM OF

คำแปล : เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

ความหมาย :

สิทธิของบุคคลในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์โดยร่วมกันกับบุคคลอื่น การชุมนุมนั้นต้องมีความตั้งใจ (Intention) ที่จะเข้าร่วมกันของบุคคลหลายคนเป็นการชั่วคราว (Temporary Gatheringof Several Persons) และมีวัตถุประสงค์อันเฉพาะ (Specific Purpose)เพื่อแสดงออกทางการเมือง เช่น การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การชุมนุมคัดค้านนโยบายรัฐบาล ซึ่งต่างจากการพบปะพูดคุยทั่วไปของบุคคล หรือการเข้าร่วมพิธีกรรมทางสังคม สิทธินี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของสังคมเสรีประชาธิปไตย จัดอยู่ในสิทธิทางการเมืองรัฐจักต้องคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ โดยครอบคลุมถึงบุคคลที่ตระเตรียมการชุมนุม จัดการ หรือดำเนินการชุมนุม และบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุม สิทธินี้ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศ ข้อ 21 และตราสารสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคทุกภูมิภาค แต่เฉพาะ “การชุมนุมโดยสันติ”หรือ “ชุมนุมโดยสงบ” เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยนัยนี้ การชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปโดยสันติ การชุมนุมที่ก่อความรุนแรง (Violence) ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบกำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพโดยชอบธรรมไว้ในทำนองเดียวกันคือ ต้องจำกัดโดยกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย และมาตรการจำกัดนั้นต้องมีความได้สัดส่วนกับเสรีภาพที่ถูกจำกัด เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมและได้กำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพไว้ทำนองเดียวกันกับหลักการนี้ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการคุ้มครองสิทธินี้คือ การพิจารณาว่าการชุมนุมลักษณะใดที่ถือว่าเป็น “ความรุนแรง” เรื่องนี้มีหลักว่า “ความรุนแรง” นั้นต้องพิจารณาจากลักษณะของการชุมนุม มิใช่พิจารณาจาก “เนื้อหา” หรือ “สาร” ที่ผู้ชุมนุมต้องการสะท้อนความคิดเห็น นอกจากนั้นมีหลักว่า การชุมนุมโดยการใช้อาวุธ การชุมนุมที่มีเป้าหมายสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่ไม่ร่วมชุมนุมเพื่อบีบบังคับให้รัฐหรือองค์กรใดตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม การชุมนุมเพื่อปลุกปั่นให้มีความเกลียดชังขึ้นระหว่างกลุ่มชน เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง การชุมนุมโดยสันติในที่สาธารณะเป็นเสรีภาพจึงไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน รัฐต้องให้ความคุ้มครองการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น จงใจขัดขวางการจราจร รัฐสามารถจำกัดการชุมนุมได้เพื่อให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายได้ หรือการชุมนุมที่ก่อความรุนแรง รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคม และสลายการชุมนุมได้ แต่วิธีการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน เช่น หลักความได้สัดส่วน และมาตรฐานสากล เช่น ประมวลแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และกฎการใช้กำลังในการปะทะ (Rules of Engagement)


PENAL CODE / CRIMINAL CODE

คำแปล : ประมวลกฎหมายอาญา

ความหมาย :

กฎหมายอาญาที่มีการจัดทำขึ้นโดยมีการรวบรวมหลักการทางกฎหมายวิธีการปรับใช้ และลักษณะความผิด แล้วแยกเป็นหมวดหมู่ที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยปัจจุบันได้มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) โดยการแก้ไขปรับปรุงจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1809)) ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามภาคคือ ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายอาญาทั่วไป เช่น การกระทำที่เป็นความรับผิดทางอาญา หลักไม่มีกฎหมายไม่มีความผิด หลักไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง ประเภทของโทษทางอาญา เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ และการลดโทษ เป็นต้น ภาค 2 ความผิด เป็นการรวบรวมบทบัญญัติความผิดอาญาที่สำคัญหรือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคม เช่น ความผิดฐานฆ่า ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ปล้น ฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับเพศเป็นต้น ภาค 3 ลหุโทษ เป็นการบัญญัติความผิดทางอาญาซึ่งมีลักษณะเป็นความผิดเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การทะเลาะอื้ออึงในที่สาธารณะ การพกพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร อนึ่ง ความผิดลหุโทษ คือความผิดที่ไม่ต้องมีเจตนาในการทำผิดและระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


PENALTY

คำแปล : โทษ (อาญา)

ความหมาย :

มาตรการที่เป็นสภาพบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้ลงโทษผู้กระทำความผิดโทษทางกฎหมายอาญาจะแตกต่างกันไปตามสภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีว่า โทษทางอาญานั้นจะต้องไม่เป็นการทารุณโหดร้าย หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกลงโทษ การลงโทษทางกาย เช่น การเฆี่ยน หรือการตัดอวัยวะ ถือเป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย กฎหมายอาญาของประเทศไทยกำหนดโทษเพื่อให้ศาลสามารถพิพากษาใช้กับจำเลยไว้ห้าประเภทคือ 1. ประหารชีวิต (Execution) 2. จำคุก (Imprisonment) 3. กักขัง (Detention) 4. ปรับ (Fine) 5. ริบทรัพย์ (Forfeiture of Property) นับตั้งแต่ได้จัดทำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีหลายประเทศได้ยกเลิก (Abolition) หรือระงับการใช้ (Moratorium) โทษประหารชีวิต นอกจากนั้นบางประเทศถือว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต (Life Imprisonment) ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ


PENOLOGY

คำแปล : ทัณฑวิทยา

ความหมาย :

วิชาความรู้ หรือวิทยาการเกี่ยวกับโทษทางอาญา และวิธีการลงโทษผู้กระทำผิด ทัณฑวิทยาในปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาจากขบวนการปฏิรูประบบเรือนจำในยุโรปในตอนปลายศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดจากเดิมที่เห็นว่าระบบทัณฑสถานเป็นการควบคุมบุคคลที่เป็นอันตรายต่อสังคมไว้ให้ออกจากสังคม มาเป็นการเน้นบทบาทของการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมและจิตใจของผู้กระทำผิดให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้ ปัจจุบันทัณฑวิทยาเป็นแขนงหนึ่งของอาชญาวิทยา (Criminology)หรือวิชาว่าด้วยอาชญากรรมซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของอาชญากรรมและการป้องกันอาชญากรรม จัดอยู่ในสาขาสังคมวิทยา (Sociology)


PERIODIC REPORTS

คำแปล : รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ

ความหมาย :

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ หมายถึงรายงานที่รัฐภาคีต้องจัดทำขึ้นและส่งไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีหน้าที่พิจารณาการดำเนินการของรัฐในด้านสิทธิมนุษยชนตามกลไกตามสนธิสัญญา (Treaty- Based Mechanism) เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(Human Rights Committee) ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Child Rights Committee) ประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหรือกลไกที่จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter-BasedMechanism) เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) วาระ (Period) ในการเสนอรายงานขึ้นอยู่กับตราสารที่ก่อพันธะหน้าที่นั้นเอง เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐภาคีเสนอรายงานฉบับแรก (Initial Report)ภายในสองปีหลังจากการเข้าเป็นภาคี และต้องเสนอรายงานฉบับต่อไปทุกรอบสี่ปีในขณะที่รายงาน “การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชน” (Universal Periodic Review) ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council)กำหนดวาระในการายงานเท่ากันทุกสี่ปี ในรายงานฉบับแรก (Initial Report) เป็นการให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศเช่นระบบการปกครอง ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลประชากร และสถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ส่วนรายงานฉบับต่อมาเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศในรอบที่ผ่านมา การรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระช่วยให้รัฐภาคีได้ทบทวนจุดอ่อนจุดแข็งของการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ ขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่อาจมีปัญหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนั้นรัฐภาคียังได้รับการแนะนำทางด้านเทคนิคเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อนำไปพัฒนาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น


PERPETRATOR

คำแปล : อาชญากรที่ทำความผิดร้ายแรง / ฆาตกร

ความหมาย :

ผู้กระทำความผิด หรือผู้ใช้ หรือบงการให้ผู้อื่นกระทำความผิดอาญาที่ร้ายแรง หรือผู้ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำด้วยเจตนาที่ชั่วร้าย บางทีใช้คำว่า “ฆาตกร” เรียกบุคคลที่ฆ่าผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตาย


PERSON WITH DISABILITIES, THE RIGHTS OF

คำแปล : สิทธิผู้พิการ

ความหมาย :

ผู้พิการคือบุคคลที่มีความด้อยทางด้านร่างกาย หรือสมองจนเป็นเหตุให้ไม่อาจมีโอกาสใช้สิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์ดังเช่นคนปกติ สิทธิผู้พิการกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการประกันสิทธิของผู้พิการที่เป็นธรรมตามขอบเขตที่สมควร ทั้งในฐานะบุคคลที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเสมอเหมือนบุคคลอื่น และการส่งเสริมสิทธิของผู้พิการทุพพลภาพในประเด็นการจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่บุคคลเหล่านี้ รวมถึงต้องวางมาตรการในการยกระดับจิตสำนึกของสังคมเกี่ยวกับผู้พิการ สิทธิ ความจำเป็น ศักยภาพ และสิ่งที่ผู้พิการสามารถให้แก่สังคมด้วย รัฐต้องสนองตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นโดยยกเลิกกฎหมายหรือระบบการกีดกันใดๆที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้พิการ รวมทั้งจัดให้มีงบประมาณที่เพียงพอ ทรัพยากรที่รัฐมีอยู่ต้องจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันไม่ละเลยกลุ่มผู้พิการ โดยหลักการสำคัญ ได้แก่ การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การส่งเสริมให้บุคคลดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง การขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และการสร้างภราดรภาพระหว่างผู้พิการกับคนอื่นๆ ในสังคม


PLEA BARGAINING

คำแปล : การต่อรองในเรื่องคำให้การ

ความหมาย :

การเจรจาระหว่างอัยการกับจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดเพื่อแลกกับการที่อัยการตกลงว่าจะฟ้องจำเลยในคดีที่มีโทษเบากว่าที่ได้กระทำผิด การต่อรองในเรื่องคำให้การจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย และจะต้องทำเป็นสัญญา ในบางกรณีถ้าจำเลยยอมรับสารภาพ คดีก็จะระงับโดยไม่ต้องมีการไต่สวน กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ได้บัญญัติรับรองการต่อรองในเรื่องคำให้การ โดยกำหนดเงื่อนไขของการต่อรองเพื่อไม่ให้จำเลยเสียโอกาสในการต่อสู้คดี ส่วนในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายจะไม่มีการต่อรองคำให้การเพราะในระบบนี้จะยึดถือการค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานเป็นสำคัญและแม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ยังต้องมีหน้าที่ไต่สวนและสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อนลงโทษ การจูงใจให้ผู้ต้องหารับสารภาพโดยสัญญาว่าจะได้รับการลดหย่อนโทษอาจถือได้ว่าจำเลยรับสารภาพโดยไม่เต็มใจ และเป็นเหตุให้ศาลไม่ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ (ดูCONFESSION)