MAGNA CARTA (Latin) คำแปล : มักนา คาร์ตา / มหากฎบัตร ความหมาย :
คำนี้เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Great Charter” บางทีก็ใช้“magna carta libertatum” หรือ “มหากฎบัตรแห่งเสรีภาพ (Great Charter of Liberties)” เอกสารทางกฎหมายที่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษทรงทำขึ้นใน ค.ศ. 1215(พ.ศ. 1758) ที่เป็นผลจากการบังคับของบรรดาขุนนางและบาทหลวงเพื่อจำกัดการใช้พระราชอำนาจของพระองค์โดยการประกาศให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการแก่ราษฎร เอกสารนี้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และใช้เป็นกรอบในการปกครองประเทศอังกฤษ เนื้อหาของมักนา คาร์ตา มีหกสิบสามข้อ (Clauses) แบ่งได้เป็นเก้ากลุ่ม เนื้อหาของกลุ่มที่สำคัญ เช่น การรับรองเสรีภาพของศาสนจักร สิทธิของขุนนางในการถือครองที่ดินในระบบฟิวดัล และความสัมพันธ์ของ “ข้าติดที่ดิน”สิทธิเสรีภาพในการเดินทางของพ่อค้าและเสรีภาพในการทำการค้า การรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เช่น การลงโทษบุคคลจะต้องทำตามกฎหมาย และห้ามการเก็บภาษีตามอำเภอใจ เป็นต้น ปัจจุบันความสำคัญของมักนา คาร์ตาทางกฎหมายในประเทศอังกฤษลดความสำคัญลงเนื่องจากได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบรัฐสภา แต่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประกันโดยกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถือว่ากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารแผ่นดิน ในทางประวัติศาสตร์และการเมือง มักนา คาร์ตาถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก |
MASS EXODUS คำแปล : การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมาก ความหมาย :
วลีนี้ในความหมายทั่วไป หมายถึง การออกเดินทางของผู้คนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ในคัมภีร์ทางศาสนาคริสต์ หมายถึง การเดินทางของชาวยิวจากดินแดนอียิปต์สู่ปาเลสไตน์ที่นำโดยโมเสส ในความหมายของสิทธิมนุษยชน หมายถึง การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมากที่เดินทางพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ในการอพยพช่วงสั้น ๆ หรือเป็นการย้ายถิ่นฐานถาวรก็ตาม และไม่ว่าการอพยพหลั่งไหลนั้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การหลบหนีจากการสู้รบ การถูกข่มเหงรังควานทางเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือเนื่องจากความยากจนแร้นแค้น การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมาก มีความหมายที่แตกต่างจากคำว่า “การลี้ภัย” (ดู “ผู้ลี้ภัย REFUGEE”) เนื่องจากการลี้ภัย หมายถึงผู้ที่ต้องการออกจากประเทศของตนหรือถูกบีบบังคับให้ออกจากประเทศของตน เนื่องจากถูกรังควานเพราะเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพสังคม หรือความคิดที่แตกต่างทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปประเทศของตน ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างผู้ลี้ภัยกับผู้เดินทางอพยพหลั่งไหลจำนวนมาก คือ ผู้อพยพหลั่งไหลยังคงได้รับความคุ้มครองในประเทศของตนฃ |
MEDICAL TREATMENT, THE RIGHT TO คำแปล : สิทธิในการรักษาพยาบาล ความหมาย :
สิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆเช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ เป็นต้น สิทธินี้มีทั้งด้านที่เป็นเสรีภาพและด้านที่เป็นอำนาจ ในด้านเสรีภาพ หมายถึง บุคคลสามารถที่จะแสวงหาการบริการทางการแพทย์รวมถึงจิตแพทย์ตามความต้องการ ในด้านอำนาจเป็นสิทธิเรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึง (Accessible) การบริการทางการแพทย์และพยาบาลที่มีคุณภาพที่ยอมรับได้ (Acceptable Quality) มีราคาที่เหมาะสมที่บุคคลทั่วไปสามารถจ่ายได้ (Affordable Price) ภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รัฐมีพันธะหน้าที่สามด้านในการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาล คือ • หน้าที่ในการเคารพ (Duty to Respect) รัฐจะต้องมีกฎหมายรับรองเสรีภาพของบุคคลที่จะแสวงหาการบริการทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้ถูกควบคุมตัวโดยรัฐเช่น ผู้ต้องหา หรือคนป่วยโรคจิต รัฐจะต้องไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการเลือกเข้ารับบริการทางการแพทย์ เช่น กำหนดให้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามที่รัฐกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไข • หน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง (Duty to Protect) รัฐจะต้องออกกฎระเบียบและมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลสามารถได้รับการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เช่น การออกใบอนุญาตสถานพยาบาลโดยคำนึงถึงความครอบคลุมถึงพื้นที่ต่าง ๆ การมีประมวลแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์และพยาบาล มาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์ ควบคุมคุณภาพของแพทย์ พยาบาล เช่น มีระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล รวมถึงป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมและการป้องกันไม่ให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์เอารัดเอาเปรียบผู้เข้ารับบริการ เป็นต้น • หน้าที่ในการทำให้บรรลุการมีสิทธิ (Duty to Fulfil) รัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง เพื่อทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์พยาบาล สิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อทำให้สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นจริงได้ โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงความต้องการแพทย์และพยาบาลของบุคคลในกลุ่มพิเศษที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงแพทย์และพยาบาล เช่น คนยากจน คนไม่มีสัญชาติ นักโทษ ผู้ถูกควบคุมตัว และคนพิการ เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) รับรองสิทธินี้ไว้ในมาตรา 51 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” |
MENTALY ILL คำแปล : ผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวช ความหมาย :
บุคคลที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ หรือสภาวะทางจิตผิดปกติ ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมหรือความคิดที่แปลกประหลาด จนไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ ความเจ็บป่วยทางจิตอาจเกิดจากโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือจากประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายจึงส่งผลต่อจิต ผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวช มักหย่อนความสามารถ หรือขาดโอกาสในการใช้สิทธิ หรือได้รับประโยชน์จากสิทธิ นอกจากนั้นผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยทางจิตเวชถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจกระทำโดยบุคคลที่ใกล้ชิด หรือบุคลากรในสถาบันที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวชเช่น อาจเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ ถูกคุมขังโดยพลการ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือตกเป็นเครื่องมือทดลองทางการแพทย์ในมนุษย์โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอมอีกด้วย กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามีบทบัญญัติพิเศษที่ใช้กับผู้ป่วยทางจิต /ผู้ป่วยจิตเวช เช่น ตามกฎหมายแพ่ง บุคคลวิกลจริตหรือสติฟั่นเฟือนจนถึงขั้นจัดการงานไม่ได้ จะต้องอยู่ในความดูแลของบุคคลอื่นและไม่สามารถใช้สิทธิที่พึงมีดังเช่นคนทั่วไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลนั้นและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น โดยกำหนดให้บุคคลที่ดูแลผู้ป่วยทางจิตสามารถขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับนิติกรรมหรือให้ความยินยอมแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ ในเรื่องความรับผิดทางอาญาถ้าผู้กระทำความผิดในขณะนั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน กฎหมายจะยกเว้นโทษให้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้เป็นโรคจิตไป จะเป็นการไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งตัวไปควบคุมไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงาน ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวให้แพทย์ตรวจและทำการบำบัดรักษาก่อนจนกว่าจะต่อสู้คดีได้ |
MILITARY COURT / COURT MARTIAL คำแปล : ศาลทหาร ความหมาย :
องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอาญาอื่นในคดี ซึ่งผู้กระทำเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำความผิด ตลอดจนมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทหารด้วย ผู้พิพากษาศาลทหารเรียกว่า “ตุลาการพระธรรมนูญ” ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในศาลทหาร ได้แก่ 1. อัยการทหาร 2. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร กระบวนการพิจารณาในศาลทหารเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) โดยกำหนดให้มีนายทหารหนึ่งคนเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีกับตุลาการพระธรรมนูญด้วยเสมอ และในการบังคับคดีเมื่อศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วจะไม่ออกหมายไปยังเรือนจำแต่จะออกหมายแจ้งไปให้ผู้บังคับบัญชาทหารทราบและสั่งลงโทษจำเลย ศาลทหารบางครั้งเรียกว่า COURT OF CHIVALRY |
MILITARY JUNTA คำแปล : รัฐบาลทหาร/ คณะผู้เผด็จการทหาร ความหมาย :
คำว่า junta มาจากภาษาสเปน แปลว่า คณะกรรมการ (Committee) รูปแบบรัฐบาลที่คณะผู้บริหารประเทศได้อำนาจมาจากการใช้อำนาจทางทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิม คณะผู้บริหารในรัฐบาลประกอบด้วย ผู้นำทหารที่มีอำนาจ ซึ่งอาจจะมีพลเรือนเข้าร่วมในคณะบริหารด้วยก็ได้ รัฐบาลทหารมักจะใช้อำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งในด้านนิติบัญญัติและบริหาร ในบางกรณีอาจใช้อำนาจทหารแทรกแซง หรือชี้นำฝ่ายตุลาการ การปกครองแบบรัฐบาลทหาร มักจะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายด้าน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม การรวมกลุ่มสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชน และมักจะควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาอำนาจของคณะผู้บริหารประเทศไว้ ดังนั้นในบางครั้งจึงเรียกระบอบการปกครองรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการว่า “เผด็จการทหาร (Military Dictatorship)” รัฐบาลทหารมาจากการใช้กำลังยึดอำนาจ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง จึงขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกผู้แทนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการบริหารสาธารณะที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 26 |
MINISTERIAL REGULATION คำแปล : กฎกระทรวง ความหมาย :
กฎหมายที่ตราขึ้นและประกาศใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่มีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ เช่น ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด กฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดกับบทกฎหมายใด ๆ ทั้งนี้ศาลมีอำนาจในการพิจารณากฎกระทรวงว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากขัดต่อกฎหมาย ก็ไม่สามารถใช้บังคับได้ ในการตรากฎกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ผู้รักษาอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เป็นผู้เสนอร่างกฎกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย |
MIRANDA RULE คำแปล : หลักการมิแรนด้า ความหมาย :
หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานและการนำพยานเข้าสืบในคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับกุม โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานจะต้องแจ้งข้อหาที่จับกุมและแจ้งสิทธิในคดีอาญาต่อบุคคลในขณะจับกุม เพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้น มีสิทธิใดบ้าง สิทธิเหล่านั้น เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การถ้าผู้ถูกจับกุมให้การ คำให้การนั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีได้ สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ ถ้าผู้ถูกจับกุมไม่มีทนายความ และผู้ถูกจับกุมต้องการมีทนาย รัฐจะจัดหาให้ หลักการมิแรนด้าเกิดขึ้นจากคำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในคดีที่นายมิแรนด้าฟ้องมลรัฐอริโซน่า (Miranda v. Arizona) ซึ่งศาลสูงสุดตัดสินว่าการที่เจ้าพนักงานไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาในเรื่องสิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า (The Fifth Amendment) และสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หก (The Sixth Amendment) ถ้าเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตามหลักการมิแรนด้า ในการพิจารณาดำเนินคดีนั้นจำเลยสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ เพื่อขอศาลแจ้งคณะลูกขุนไม่ให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินความผิด |
MISCARRIAGE OF JUSTICE คำแปล : ความผิดพลาดในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ความหมาย :
แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่เห็นว่าความผิดพลาดในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน ถ้ามีความผิดพลาดขึ้นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีใหม่ และได้รับค่าชดเชยความเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดนั้นไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน เช่น การที่ผู้เสียหาย หรือพนักงานสอบสวนสร้างพยานเท็จเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาหรือในชั้นศาลที่อาจวินิจฉัยผิดพลาด ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษามิได้รู้เห็นการกระทำของจำเลย แต่การวินิจฉัยของศาลเกิดจากการฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาแสดงต่อศาล เจตนารมย์ของกระบวนการยุติธรรม คือ การค้นหาความจริงเพื่อนำตัวบุคคลที่ทำผิดมาลงโทษ กระบวนการทั้งหมดเป็นการกระทำโดยรัฐการที่บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษอาจต้องเสียหายจากการสูญเสียเสรีภาพ หรือชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่บริสุทธิ์ต้องได้รับความเสียหายจากกระบวนการที่ผิดพลาดของรัฐ และจะต้องแก้ไขความผิดพลาดโดยการรื้อฟื้นคดี หรือชดใช้ความเสียหายแล้วแต่กรณี หลักกฎหมายอาญากำหนดว่า บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยกระบวนการที่ไม่ชอบ สามารถที่จะขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาคดีใหม่ได้(ดู REVIEW OF A CRIMINAL JUDGEMENT) กรณีที่ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นในชั้นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ถูกจับกุมควบคุมตัวสามารถได้รับค่าทดแทนความเสียหายได้ กฎหมายไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ดังนี้ • การยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ กฎหมายรองรับไว้เป็นการเฉพาะหากได้ดำเนินการตามวิธีการและพิจารณาคดีใหม่แล้วพบว่าผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมได้คืนสิทธิต่าง ๆ บรรดาที่เสียไปคืนมาเท่าที่ตามความเป็นจริงจะสามารถคืนมาได้ • การแก้ไขเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาภายหลังพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายดังนี้ ก) ค่าทดแทนการถูกคุมขังให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา ข) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจหากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค) ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตายและความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดีจำนวนไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง ง) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างถูกดำเนินคดี จ) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี |
MODERN FORMS OF SLAVERY / CONTEMPORARY FORMS OF SLAVERY คำแปล : รูปแบบใหม่ของสภาวะการเป็นทาส / รูปแบบร่วมสมัยของการเป็นทาส ความหมาย :
สถานภาพทางสังคม หรือพันธะหน้าที่ตามสัญญาที่ทำให้บุคคลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำหนดตัดสินใจชะตากรรมของตนได้เองและต้องยอมรับสภาพที่ถูกบังคับ หรือถูกแสวงประโยชน์จากร่างกายหรือแรงงาน หรือถูกซื้อ หรือขายเยี่ยงทรัพย์สิน หรือสภาพบุคคลที่ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งแตกต่างจากการเป็นทาสรูปแบบเดิมที่มีการรับรองโดยกฎหมาย (ดู SLAVERY) สมาคมต่อต้านการค้าทาสสากล (ดู ANTI-SLAVERYINTERNATIONAL) ซึ่งเป็นองค์การของภาคเอกชนแห่งแรกที่กำเนิดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ยุติการมีทาส ระบุว่ารูปแบบใหม่ของสภาวะการเป็นทาส /รูปแบบร่วมสมัยของการเป็นทาสในลักษณะต่อไปนี้ • แรงงานติดหนี้ (Debt Bonded Labour) เนื่องจากการที่บุคคลตกเป็นเหยื่อของการกู้ยืมเงินที่มักเป็นสัญญาที่ขูดรีด หรือกลโกงเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จะถูกบังคับให้ทำงานนานอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น ทำงานวันละหลายชั่วโมงติดต่อกันแบบไม่มีวันหยุด โดยได้รับค่าตอบแทนเพียงอาหารและที่พักพอยังชีพเช่น แรงงานต่างด้าวที่ต้องจ่ายค่านายหน้าในการเข้าประเทศแรงงานเหล่านี้แทบจะไม่มีโอกาสจะชำระหนี้ที่ยืมมาได้หมดและหนี้สินเหล่านี้ อาจตกทอดต่อไปยังลูกหลานพร้อมกับสภาวะการเป็นทาส • แรงงานที่ถูกบังคับ (Forced Labour) เกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกรัฐบาล พรรคการเมือง หรือคนธรรมดาบังคับให้ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกอยู่ภายใต้การขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง หรือการลงโทษอื่น ๆ • แรงงานเด็ก (Child Labour) สภาวะที่เด็กถูกบังคับใช้แรงงานหรือต้องทำงานในสภาวะที่ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือเป็นอันตราย ซึ่งต้องทำงานเต็มเวลา ทำให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาและนันทนาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต • การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (Sexual Exploitation of Children) เช่น การให้เด็กค้าประเวณี การใช้เด็กในสื่อลามก และการค้าเด็ก ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกลักพาตัว ซื้อขายหรือบังคับให้เข้าสู่ตลาดบริการทางเพศ • การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) อันได้แก่การซื้อขายมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการใช้กำลังและการหลอกลวง แรงงานหญิงย้ายถิ่นจะตกเป็นเหยื่อของการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อนำไปสู่การบังคับค้าประเวณี หรือการบังคับใช้งาน • การแต่งงานในวัยเยาว์ หรือโดยการบังคับ (Forced Marriage) โดยที่หญิงและเด็กถูกบังคับให้แต่งงานโดยไม่มีทางเลือกและนำไปสู่การบังคับให้ใช้ชีวิตเยี่ยงทาส ควบคู่ไปกับการตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ทาสจากวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือทาสจากการถูกซื้อขาย เป็นการขายและซื้อบุคคลที่ส่วนใหญ่ถูกลักพาตัวมาจากบ้าน แล้วเป็นมรดกสืบทอดกันต่อมาหรือยกเป็นทรัพย์สินแก่ผู้อื่น |
MONTESQUIEU, CHARLES LOUIS DE SECONDAT คำแปล : ชาร์ล หลุยส์ เดอ เซอกงดา มงเตสกิเออ ความหมาย :
นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ. 1689 - 1755 (พ.ศ. 2232 - 2298) ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยในการปกครอง งานเขียนที่มีชื่อของมงเตสกิเออ คือ “Spirit of Laws” (เจตนารมณ์ของกฎหมาย) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2391) กล่าวถึงการแบ่งแยกอำนาจในระบอบการปกครองที่เสรีนั้น ถ้าหากปราศจากการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เสรีภาพอย่างแท้จริงของบุคคลก็จะไม่เกิดขึ้น การถ่วงดุลอำนาจจะเป็นการตรวจสอบเพื่อการป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด มงเตสกิเออเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะนำอำนาจไปใช้ในทางที่ผิดและมักจะออกระเบียบ กฎหมาย ที่ไม่มีเหตุผลซึ่งไม่เพียงแต่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย เสรีภาพ และผลประโยชน์ของพลเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบผลประโยชน์และข้อได้เปรียบในการแข่งขันของรัฐด้วย แนวคิดการเมืองเสรีนิยมและหลักการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก และต่อมาแนวคิดนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก |
MULE คำแปล : ผู้ลักลอบขนของผิดกฎหมายข้ามประเทศ ความหมาย :
บุคคลที่ลักลอบขนของผิดกฎหมายที่ทำโดยการนำมากับตัว โดยการซุกซ่อนไว้ในสัมภาระการเดินทาง เสื้อผ้า หรือในร่างกาย ซึ่งมักทำครั้งละจำนวนหรือปริมาณไม่มาก อันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบขนของข้ามประเทศ โดยบุคคลที่ขนของนั้นอาจตั้งใจทำ หรือถูกบังคับ หรือถูกหลอกลวงให้ทำ ในกรณีที่เป็นการขนยาเสพติดเรียกว่า “Drug Mule” หรือ “Easter Egg”วิธีการหนึ่งที่นิยมทำ คือ การบรรจุยาเสพติดในวัสดุที่ทำจากยาง (เช่น ถุงยางอนามัย) แล้วกลืนลงในท้อง หรือสอดไว้ในอวัยวะเพศหญิง |
MULTILATERAL TREATY คำแปล : สนธิสัญญาพหุภาคี ความหมาย :
สนธิสัญญาพหุภาคี หมายถึงสนธิสัญญาที่มีภาคีของสนธิสัญญามากกว่าสองฝ่ายขึ้นไปเช่นกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน โดยทั่วไปสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนมักทำขึ้นในรูปของสนธิสัญญาพหุภาคี เช่น ICCPR, ICESCR, CRC ชื่อของสนธิสัญญาเองก็อาจแสดงได้ว่าสนธิสัญญานั้นๆ เป็นสนธิสัญญาพหุภาคี เช่น คำว่า อนุสัญญา กติการะหว่างประเทศ ธรรมนูญ กฎบัตร เป็นต้น |
NATIONALITY คำแปล : สัญชาติ ความหมาย :
สถานะทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลกับรัฐ ภายใต้หลักกฎหมายการที่บุคคลมีสัญชาติของรัฐใดย่อมทำให้บุคคลนั้น ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิจากรัฐที่ตนเองมีสัญชาติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ที่ใด ในทางกลับกันบุคคลนั้นก็จะมีหน้าที่ต่อรัฐ เช่นการเคารพกฎหมายของรัฐ หรือพันธะหน้าที่อื่นที่ก่อขึ้นโดยรัฐ เป็นต้น ในด้านสิทธิประโยชน์ รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคล รวมถึงการจัดหาสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นพลเมืองของรัฐ ปกติรัฐจะกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เฉพาะแต่บุคคลที่มีสัญชาติของตนเอง เช่น การคุ้มครองทางการทูต (Diplomatic Protection) การให้สวัสดิการสังคม (Welfare) เป็นต้น การที่บุคคลไม่มีสัญชาติใดทำให้มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ หรือคนไร้รัฐ (Stateless Person) ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 กำหนดว่า “บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้น จะกระทำมิได้” แต่ในทางปฏิบัติ การได้สัญชาติขึ้นอยู่กับกฎหมายภายใน หรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของแต่ละประเทศ การได้สัญชาติของบุคคลอาจได้มาโดยการเกิด หรือภายหลังการเกิด แนวปฏิบัติของการให้สัญชาติโดยการเกิด สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ 1. กลุ่มประเทศที่ยึดความสำคัญของสายโลหิต (หรือหลักสายโลหิต ภาษาละตินคือ jus sanguinis) เป็นการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดตามสัญชาติของบิดา หรือมารดา โดยไม่คำนึงว่าเกิดในประเทศใด 2. กลุ่มประเทศที่ยึดถือความสำคัญของดินแดนที่เกิด (หรือหลักดินแดน ภาษาละติน คือ jus soli) เป็นการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดในดินแดนของรัฐโดยไม่คำนึงว่าบิดามารดามีสัญชาติใด หลักนี้มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กที่เกิดจากบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ การได้สัญชาติภายหลังการเกิดอาจทำโดยการขอสัญชาติ หรือโดยการสมรส ประเทศไทยยึดหลักสายโลหิตเป็นสำคัญในการให้สัญชาติ อย่างไรก็ตามกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศไทยให้สิทธิเด็กที่เกิดจากบิดา มารดาที่เป็นคนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอาจมีสัญชาติไทยได้ |
NATURAL RIGHTS คำแปล : สิทธิตามธรรมชาติ ความหมาย :
ความคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับระบบของสิทธิหรือความยุติธรรมที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธินี้อยู่เองโดยธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังคมประเพณี ความเชื่อ เผ่าพันธ์ุ หรือระบอบการปกครอง ซึ่งแตกต่างจากกฎเกณฑ์ที่ก่อตั้งโดยสังคม หรือโดยผู้ปกครอง แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น บทละครเรื่อง อานตีโกเน (ดู ANTEGONE) ของโซโฟคลีสที่เสนอว่าสิทธิธรรมชาติที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์นั้นอยู่เหนือกฎหมายของบ้านเมืองหรือเจ้าผู้ครองนคร สิทธิธรรมชาติของมนุษย์ได้รับการอธิบายให้ชัดเจนขึ้นโดยนักปรัชญาการเมืองในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) เช่น จอห์น ล็อค (John Locke) โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ที่เสนอว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยสภาพธรรมชาติ มีความเป็นอิสระ และเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจำเป็นต้องสละสิทธิบางอย่างของแต่ละคนให้กับองค์อธิปัตย์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นเอง แต่สิทธิพื้นฐานบางประการไม่สามารถสละหรือโอนได้เช่น สิทธิในชีวิต อิสรภาพ เสรีภาพ ความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย สิทธิตามธรรมชาติ ได้นำมาใช้เป็นเหตุผลในการเรียกร้องความชอบธรรมของคนที่อยู่ในภาวะถูกกดขี่ข่มเหงโดยระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม และใช้โต้แย้งทฤษฎีเทวสิทธิ (Devine King หรือ Devine Right) ที่เสนอว่า กษัตริย์ได้รับมอบอำนาจจากพระเจ้าให้ปกครองพลเมืองและมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกาอ้างว่า ประชาชนอเมริกาใช้สิทธิเรียกร้องอิสรภาพที่ได้มาจากกฎธรรมชาติ และสิทธินั้นมิได้เป็นของขวัญที่ได้รับจากฝ่ายบริหาร (ดู AMERICAN REVOLUTION) สิทธิตามธรรมชาติยังมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยใช้เป็นเหตุผลเพื่อการปลดปล่อยให้พลเมืองมีอิสรภาพดังปรากฏในปฏิญญาฝรั่งเศสว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ว่า “มนุษย์เกิดมาอิสระและเท่าเทียมกันในสิทธิ และจะดำรงสิ่งนี้ตลอดไป (Men are Born and Remain Free and Equal in Rights.)” และปฏิญญาได้ย้ำว่าหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่มีต่อพลเมืองก็คือ การดำรงรักษาสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (Human Rights) พัฒนามาจากสิทธิตามธรรมชาติ นักปรัชญาหลายคนเห็นว่าสิทธิตามธรรมชาติกับสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติผ่านทางคำประกาศอิสรภาพอเมริกา และคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส เนื้อหาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายตอนที่สะท้อนปรัชญาเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ เช่น ในประโยคแรกของอารัมภบทที่กล่าวว่า “โดยที่การยอมรับศักดิ์ศรีแต่กำเนิดประจำตัวและสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติอันเป็นหลักการแห่งอิสรภาพความยุติธรรมและสันติภาพในโลก”และในข้อ 1 ที่กล่าวว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างได้รับ มีเหตุผล และมโนธรรมแห่งตนและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” |
NE BIS IN IDEM (Latin) คำแปล : ไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกัน ความหมาย :
ภาษิตกฎหมายภาษาละติน อ่านว่า “เน บิส อิน อีเด็ม” แปลตามศัพท์ว่า “Not Twice for the Same Thing” เป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ดู CRIMINALPROCEDURE LAW) ว่าบุคคลที่กระทำผิดจะไม่ถูกพิจารณาโดยศาลซ้ำในความผิดที่ถูกฟ้องซึ่งได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลไปแล้ว หลักนี้ได้รับการรับรองโดยกฎหมายภายในของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองหลักการนี้ไว้ในความหมายของ คำว่า “Double Jeopardy” หลักการไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกันทำให้เกิดบทบัญญัติห้ามฟ้องซ้ำในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ถ้าโจทก์เคยฟ้องจำเลยในการกระทำนั้นแล้ว ไม่ว่าศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลย หรือยกฟ้องโจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดนั้นอีกไม่ได้ ในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าจำเลยเคยถูกพิจารณาไต่สวนความผิดที่เป็นข้อหาที่ใช้ในการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้วในศาลของประเทศที่ถูกขอให้ส่งบุคคลนั้น ประเทศที่ถูกขอสามารถปฏิเสธการส่งบุคคลนั้นได้ในกรณีที่มีหลายความผิดถ้าได้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ประเทศที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะพิจารณาความผิดที่บุคคลนั้นเคยได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลในอีกประเทศที่ส่งตัวอีกไม่ได้ |
NEGATIVE RIGHTS คำแปล : สิทธิเชิงลบ ความหมาย :
สิทธิเชิงลบ เป็นแนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมาย / รัฐศาสตร์ ที่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนสามารถจำแนกเป็นสองประเภทคือ สิทธิเชิงลบ และสิทธิเชิงบวก (ดูในสิทธิเชิงบวก (Positive Rights)) สิทธิเชิงลบ หมายถึงสิทธิมนุษยชนที่รัฐเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิ (Duty Bearers) โดยต้องไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิ (Right Holders) หรือต้องหลีกเลี่ยงการละเมิด หรือป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นแทรกแซง เช่นสิทธิในชีวิตหมายถึงรัฐต้องไม่สังหารประชาชนตามอำเภอใจ รวมทั้งออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่ฆ่าผู้อื่น สิทธิเชิงลบนี้ไม่ได้สร้างภาระหน้าที่ให้ต้องกระทำการใดๆ ในเชิงบวก เช่น มาตรการที่เป็นการยืนยันสิทธิ ตามแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบเดิมเห็นว่าสิทธิตาม ICCPR เป็นสิทธิเชิงลบ ส่วนสิทธิตาม ICESCR เป็นสิทธิเชิงบวก อันเป็นเหตุให้การจัดทำตราสารสิทธิมนุษยชนแบ่งแยกเป็นสองฉบับ ปัจจุบันแนวคิดการแบ่งแยกสิทธิมนุษยชนระหว่าง “สิทธิเชิงลบ” และ “สิทธิเชิงบวก” ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เนื่องจากรัฐต้องทำให้ผู้ทรงสิทธิได้รับการบรรลุถึงสิทธิที่เขามีอย่างแท้จริง พันธกรณีต่อสิทธิมนุษยชนทุกประเภทก่อพันธะหน้าที่ให้รัฐทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ คือหน้าที่ในการเคารพ (Respect) ซึ่งเป็นพันธกรณีในเชิงลบ หน้าที่ในการคุ้มครอง (Protection) และหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิ (Fulfil) ซึ่งเป็นพันธกรณีในเชิงบวก เช่นการคุ้มครองสิทธิในชีวิต รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ อันเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลถูกฆ่า และจัดให้มีศาลยุติธรรมเพื่อบังคับใช้กฎหมายเพื่อเยียวยาในกรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในชีวิต (ให้ดูเปรียบเทียบ PositiveRights) |
NEGLIGENCE คำแปล : ประมาท (กฎหมายอาญา) ประมาทเลินเล่อ (กฎหมายแพ่ง) ความหมาย :
การกระทำที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ในการป้องกันความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ทฤษฎีทางกฎหมายถือว่าบุคคลทุกคนมีหน้าที่ในการระวังป้องกัน(Duty of Care) ไม่ให้ตนเองก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น ดังนั้นถ้าบุคคลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว และไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่ในการระวังป้องกันดังกล่าว ในทางกฎหมายอาญาเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาว่า บุคคลจะต้องรับผิดชอบทางอาญาเมื่อ “กระทำโดยเจตนา” เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ประมาท คือ การกระทำที่ไม่เจตนา แต่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่ไม่ได้ใช้อย่างเพียงพอ ในทางกฎหมายแพ่ง ความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่ง คือ จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ซึ่งในกฎหมายไทย ได้บัญญัติไว้ในหลักกฎหมายเรื่องละเมิด |
NEGOTIATION คำแปล : การเจรจา ความหมาย :
คำว่า การเจรจาใช้ในสองนัยด้วยกันคือ นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำสนธิสัญญากับนัยที่เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาท หรือความขัดแย้ง 1. นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา การเจรจา เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทำสนธิสัญญา การเจรจาตกลง และต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย คู่เจรจามีความพึงพอใจ และยินดีที่จะปฏิบัติตามบทสรุปที่ได้จากการเจรจาตกลงกันนั้น ก่อนที่จะนำข้อบทที่ได้จากการเจรจานั้นไปยกร่างเป็นสนธิสัญญาเพื่อการรับรอง (Adopt) ลงนาม (Sign) และให้สัตยาบัน (Ratify) ต่อไป สนธิสัญญานั้นจึงจะมีผลบังคับตามกฎหมายได้ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบของการเจรจาไว้เป็นการเฉพาะจึงขึ้นอยู่กับคู่ภาคีในการที่จะจัดการเจรจากันอย่างไร เป็นกรณีๆไป การเจรจาจัดทำสนธิสัญญาที่จะผูกพันรัฐต้องกระทำโดยผู้แทนรัฐผู้มีอำนาจเต็ม (Full Power) กล่าวคือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐบาล หรือบุคคลที่มีอำนาจโดยตำแหน่ง (ex officio) เช่นประมุขของรัฐ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2. นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทความขัดแย้ง หรือข้อพิพาทเรื่องสิทธิมนุษยชน การเจรจาหมายถึง การสนทนา ปรึกษาหารือเพื่อนำมาสู่ข้อยุติร่วมกัน การเจรจาอาจเกิดขึ้นแบบทวิภาคีหรืออาจมีคนกลางเข้าร่วมด้วยก็ได้ ประเด็นสำคัญคือเป็นการสนทนาที่นำไปสู่การยอมรับข้อตกลงร่วมกัน ผู้ที่ทำการเจรจามีคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ประมุขของรัฐหรือรัฐบาล หัวหน้ารัฐบาล หรือบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม |
NEO LIBERALIZATION คำแปล : กระบวนการเสรีนิยมใหม่ ความหมาย :
กระบวนการเสรีนิยมใหม่ หมายถึง แนวคิดใหม่เรื่องระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของกลไกตลาด ที่เน้นการเปิดเสรีและขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยไม่ต้องอาศัยการกำกับ ดูแล หรือการแทรกแซงจากรัฐ มุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคทางการค้า และการลงทุน โดยมีความเชื่อว่า การค้าเสรีจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และโอกาส อีกทั้งส่งเสริมประชาธิปไตย และความเป็นอิสระของสังคม และประชาชน การเปิดเสรีนั้นนำมาสู่การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ทำให้การค้าได้รับประโยชน์สูง การแข่งขันทำให้สินค้าราคาถูก คุณภาพดี มีความหลากหลาย ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค มีการจ้างงานมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในท้ายที่สุด แต่ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มคนที่ต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นของการสร้างสังคมที่มีคุณภาพของมนุษย์ เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสร้างเสริมระบบคุณธรรม จริยธรรมอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรธรรมชาติตลอดไป คุณภาพของแรงงาน สภาพการจ้างที่เป็นธรรม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ