Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

JUDGMENT / JUDGEDMENT

คำแปล : 1. การตัดสิน 2. คำพิพากษา / คำวินิจฉัย

ความหมาย :

1. การตัดสิน ในความหมายทั่วไป หมายถึง ความสามารถในการใช้เหตุผลหาข้อสรุปหลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดในการกระทำการใดของบุคคลหรือของหน่วยงาน 2. คำพิพากษา / คำวินิจฉัย หมายถึง คำตัดสินอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการพิจารณาคดี ที่ทำอย่างเป็นทางการของศาลหรือองค์กรตุลาการ เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีคำพิพากษาจะต้องแสดงเหตุผลทางกฎหมายที่อธิบายการชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท และกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์และจำเลย ในคดีอาญาคำพิพากษาจะต้องชี้ว่าจำเลย “ผิดหรือไม่ผิด” และถ้าผิดจะลงโทษอย่างไร ในประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ซึ่งใช้ลูกขุนคณะลูกขุนจะมี “คำตัดสิน (Verdict)” ว่า “ผิดหรือไม่ผิด (Guilty or not Guilty)”ส่วนผู้พิพากษาจะมีหน้าที่ทำคำพิพากษาเพื่ออธิบายข้อกฎหมายประกอบ“คำตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด” โจทก์หรือจำเลยที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาอาจอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลที่สูงกว่าได้ (ดู APPEAL) อนึ่ง ในประเทศอังกฤษมีความแตกต่างในการเขียนระหว่างความหมายแรกและความหมายที่สอง โดยความหมายแรกจะใช้ว่า “Judgement” (มี e)ส่วนความหมายที่สองจะใช้ว่า “Judgment” (ไม่มี e) ส่วนประเทศอื่น มักใช้ “Judgment” ทั้งสองความหมาย


JUDICIAL REVIEW

คำแปล : การพิจารณาทบทวนโดยศาล

ความหมาย :

กระบวนการที่ศาลใช้อำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจวินิจฉัย สั่งการ หรือกระทำการใดขององค์กรของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยศาลมีอำนาจวินิจฉัย พิพากษาให้การใช้อำนาจหน้าที่ที่ทำโดยองค์กรของรัฐไม่มีผลทางกฎหมายได้ การพิจารณาทบทวนโดยศาลมีขึ้นตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ระบบการพิจารณาทบทวนโดยศาลแบ่งได้เป็นสองระบบคือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาทบทวนความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเรียกว่า “ระบบศาลเดี่ยว” เช่น ระบบที่ใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และระบบที่มีศาลเฉพาะ เช่น ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า“ระบบศาลคู่” ดังที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น อนึ่ง ในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


JUDICIARY

คำแปล : ตุลาการ / อำนาจตุลาการ

ความหมาย :

ตุลาการ หรือ อำนาจตุลาการเป็นองค์กรทางสังคม มีหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทโดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ในเรื่องสิทธิมนุษยชนกระบวนการการบังคับตามสิทธิในศาล ถือเป็นหลักประกันขั้นสุดท้ายในการยืนยันว่าประชาชนมีสิทธินั้นๆจริง กล่าวคือ กฎหมายในระดับต่างๆมักบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิต่างๆ แต่รัฐมักละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ และปฏิเสธสิทธิของประชาชน หากประชาชนต้องการใช้สิทธิก็จำเป็นต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่ออาศัยอำนาจของศาล ในการวินิจฉัยบังคับตามสิทธิให้แก่ประชาชน เช่น ยกเลิกคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิของประชาชน หรือสั่งให้ชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนมักมีความหมายที่ไม่ชัดเจนและมีลักษณะเป็นเกณฑ์ค่านิยมดังนั้นฝ่ายตุลาการจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการรับรองว่าสิทธิใดได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย


JUS COGENS (Latin)

คำแปล : กฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับเด็ดขาด

ความหมาย :

กฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับเด็ดขาด ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ (Public Policy) กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (Public Order) หรือศีลธรรมอันดี (Moral) หรือที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป (General Principle of Law) คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศได้ยกตัวอย่างของกฎหมายที่มีลักษณะเป็น jus cogensได้แก่ 1. หลักเกณฑ์ว่าด้วยการห้ามการใช้กำลังโดยมิชอบฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ 2. หลักเกณฑ์ซึ่งห้ามการกระทำของรัฐอันมีลักษณะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการสังหารเชลยสงคราม 3. หลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้รัฐให้ความร่วมมือในการปราบปรามการกระทำผิดบางประเภท เช่น การค้าทาส (Slave Trade) การกระทำอันเป็นโจรสลัด (Piracy) การล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) สนธิสัญญาที่กระทำขึ้นถ้าฝ่าฝืนกฎเกณฑ์เหล่านี้ย่อมตกเป็นโมฆะตั้งแต่แรก (void ab initio)


JUST CAUSE (LABOUR RIGHTS)

คำแปล : การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม

ความหมาย :

การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม หมายถึง การเลิกจ้างโดยมีเหตุเลิกจ้างอันควร เป็นการพิสูจน์เหตุเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุชอบธรรมตามกฎหมาย โดยมีข้อกำหนด เกี่ยวกับกระบวนการโดยชอบที่เจรจาตกลงร่วมกันเพื่อจัดทำบันทึกความตกลงเจรจาร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยกำหนดให้นายจ้างมีภาระในการนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของลูกจ้างก่อนที่จะดำเนินการระงับการจ้าง หรือการเลิกจ้าง ดังนั้นหากปราศจากกระบวนการปกป้องลูกจ้างดังกล่าว ภายใต้กฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามอำเภอใจ (At- Will) หรือโดยไม่ต้องมีเหตุ หากการจ้างงานนั้นกระทำขึ้นโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร การพิสูจน์ให้เห็นความผิดของลูกจ้างก่อนการระงับการจ้าง หรือการเลิกจ้างจึงเป็นมาตรการที่ปกป้องคุ้มครองลูกจ้าง และเป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านการจ้างแรงงาน


JUSTICE DAY / INTERNATIONAL JUSTICE DAY

คำแปล : วันความยุติธรรมสากล

ความหมาย :

วันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่รัฐภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญเพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเนื่องจากวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) เป็นวันที่ได้มีรัฐให้สัตยาบันธรรมนูญศาลฯ ครบจำนวนหกสิบรัฐ ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีผลเริ่มดำเนินการได้ การประกาศวันความยุติธรรมสากลอย่างเป็นทางการมีขึ้นในการประชุมสมัชชารัฐภาคี (Assembly of the State Parties) ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ณ กรุงคัมพาลาประเทศยูกันดาใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) หลักการสำคัญของธรรมนูญกรุงโรม คือ การสร้างความยุติธรรมระหว่างประเทศและการยับยั้งหรือยุติความเชื่อและวิถีแห่งการอยู่เหนือกฎหมาย(Impunity)


JUVENILE COURT

คำแปล : ศาลเยาวชน

ความหมาย :

ศาลที่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนและพิพากษาคดีที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดอาญา ประเทศต่าง ๆ มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดต่างจากผู้ใหญ่กระทำความผิด เนื่องจากเห็นว่าเด็กเป็นผู้ที่ยังพัฒนาสติปัญญา ความสามารถในการคิด ตัดสินใจได้ไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่และยังขาดประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นอาจกระทำความผิดไปด้วยการขาดสติยั้งคิด ดังนั้นเมื่อเด็กกระทำความผิดควรจะต้องค้นหาสาเหตุของการกระทำความผิดมากกว่าที่จะพิสูจน์ความผิดของการกระทำ กระบวนการพิจารณาในศาลเด็กและเยาวชนจึงมุ่งที่จะคุ้มครองเด็ก สวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขบำบัดและฟื้นฟู ยิ่งกว่าการลงโทษ ประเทศไทยได้มีประกาศจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว (Juvenile and Family Court) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เพื่อให้มีอำนาจรับคดีเกี่ยวกับครอบครัวไว้พิจารณาได้ ในการดำเนินคดีอาญาเด็กที่กระทำผิดมักใช้การพิจารณาเป็นการลับเพื่อป้องกันความรู้สึกว่าเด็กมีบาปติดตัว (ดู Trial, in camera) คำนี้ในบางครั้งใช้Young Offender’s Court ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน


JUVENILE DELINQUENCY

คำแปล : การกระทำผิดของเด็กและเยาวชน

ความหมาย :

การกระทำความผิดทางอาญาโดยบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คำนี้ใช้เพื่อแยกการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอาญาระหว่างเด็กและเยาวชนกับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พยายามให้ใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่มาตรการลงโทษอาญากับเด็ก ประเทศส่วนใหญ่จะให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กที่กระทำผิดแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นตราบาปของชีวิต ประเทศต่าง ๆ กำหนดเกณฑ์ความรับผิดทางอาญา (Criminal Responsibilities) กับเด็กแตกต่างกัน ประเทศไทยกำหนดยกเว้นการลงโทษทางอาญาแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบปี ส่วนบุคคลที่อายุเกินกว่าสิบปีขึ้นไปศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษแต่อาจใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยแทนได้เช่น การบำบัดความประพฤติในสถานพินิจ ให้ทำงานบริการสังคม หรือ ชุมชนบำบัดแทนการลงโทษทางอาญา เป็นต้น


KYOTO PROTOCOL

คำแปล : พิธีสารเกียวโต

ความหมาย :

พิธีสารเกียวโต เป็นความตกลงที่เป็นผลจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 1 ในพ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ที่ประชุมเห็นสมควรเร่งรัดการอนุวัตตามพันธกรณีของประเทศในภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องอนุวัตรการตามพันธกรณีของพิธีสารในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นมูลเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญาฯ หลักการสำคัญของพิธีสารคือ “หลักการป้องกันไว้ก่อน”(Precautionary Measures) และ “หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน” (Common but Differentiated Responsibilities) ที่ได้ระบุอยู่ในข้อ3 ของความตกลงฯ ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อน กิจกรรมใดที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศควรจะมีการจำกัดหรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม เนื่องจากหากรอให้มีความรู้หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้แตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ในความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องมีการพิสูจน์เหตุและผลได้อย่างชัดเจนก่อน จะกำหนดบังคับให้มีการดำเนินการตามพันธกรณี สำหรับหลักการเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน เป็นหลักการที่ตระหนักถึงความสำคัญในภาระความรับผิดชอบในการจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยทุกประเทศควรมีส่วนร่วมดำเนินการแต่อาจทำในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศที่พัฒนาแล้วปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ และปัจจุบันก็ยังคงปล่อยอยู่ในอัตราที่สูง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่ต่ำมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ประเทศไทยปล่อยในสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของโลก ดังนั้น ในแง่ของ ผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาต้องรับผิดชอบแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีความรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลักการที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา


LABOUR INTENSIVE INDUSTRY

คำแปล : อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน

ความหมาย :

อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน คือ อุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก หรือ กระบวนการให้บริการที่ใช้แรงงานคนจำนวนมากในการให้บริการ และมักจะเป็นแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานระดับชำนาญการวิธีวัดระดับของการเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน ดูจากสัดส่วนของทุน หรือเงินทุน ที่ใช้กับการผลิตสินค้าหรือการให้บริการที่มาจากค่าจ้างแรงงานต่อการผลิตสินค้า หรือการให้บริการนั้นๆ หากค่าจ้างแรงงานของคนงานมีสูงมากเท่าใดก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักมากเท่านั้น อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การเกษตร การโรงแรม ภัตตาคาร เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยี (Technology Intensive) หรืออุตสาหกรรมที่เน้นเงินทุน (Capital Intensive) อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเป็นหลัก ทำให้คนยากจนมีงานทำ แต่ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมชนิดนี้มักจะไม่ได้ยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน สภาพการจ้างงานต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากอำนาจต่อรองของลูกจ้างมีน้อยกว่านายจ้างมากเป็นปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชนในอีกลักษณะหนึ่ง


LEAGUE OF NATIONS

คำแปล : สันนิบาตชาติ

ความหมาย :

องค์การระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ตามสนธิสัญญาแวร์ซายหลังจากการประชุมสันติภาพที่ปารีสระหว่างประเทศในหมู่ผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสงครามและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี รวมถึงดำเนินการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ เช่น สิทธิแรงงาน การยกเลิกการค้าทาส ยาเสพติด การค้าอาวุธ เป็นต้น สันนิบาตชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกที่มีภารกิจครอบคลุมรอบด้าน แต่เนื่องจากไม่มีกองกำลังของตัวเอง จึงต้องพึ่งพาชาติมหาอำนาจในการดำเนินการตามคำสั่ง สันนิบาตชาติถูกล้มเลิกไประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939(พ.ศ. 2482) ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงจึงได้มีการจัดตั้งสหประชาชาติ (United Nations) ขึ้นมาดำเนินงานแทน สันนิบาตชาติ ก่อตั้งโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสันนิบาตชาติ(Covenant of the League of Nations) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสันนิบาตชาติ มีองค์กรที่สำคัญสามองค์กรคือ 1. สมัชชา (Assembly) เป็นที่ประชุมใหญ่ขององค์การ ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้งหมด มีหน้าที่พิจารณาปัญหาต่าง ๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก ในสมัชชาประกอบด้วยคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ หลายคณะ เมื่อสันนิบาตชาติยุบไป คณะกรรมาธิการหลายคณะได้ถ่ายโอนไปสังกัดสหประชาชาติ เช่นคณะกรรมาธิการว่าด้วยทาส ทำหน้าที่ขจัดระบบทาสและการบังคับขายประเวณีโดยเฉพาะในประเทศอาณานิคม คณะกรรมาธิการเพื่อผู้ลี้ภัย (ต่อมากลายเป็นสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) คณะกรรมการศึกษาสถานะทางกฎหมายของสตรี (ต่อมากลายเป็นคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพของสตรี)คณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางปัญญา (ต่อมากลายเป็นองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือยูเนสโก) 2. คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วยสมาชิกถาวรสี่ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น และสมาชิกประเภทไม่ถาวรที่มาจากการเลือกตั้งอีกสี่ประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่าง ๆที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสมัชชา 3. สำนักงานเลขาธิการ (Secretary-General) โดยมีเลขาธิการทำหน้าที่จัดทำรายงาน รักษาเอกสาร ดำเนินการศึกษาวิจัย และประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีองค์การเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นสมาชิกสมทบอีกหลายองค์กร เช่น • ศาลยุติธรรมประจำระหว่างประเทศ (International Permanent Court of Justice หรือ IPCJ) ต่อมากลายเป็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International LabourOrganisation หรือ ILO) • องค์การอนามัย (Health Organisation) ต่อมากลายเป็นองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation หรือ WHO) วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของสันนิบาตชาติ คือ การพยายามปลดปล่อยประเทศอาณานิคมให้ได้รับเอกราชโดยการยึดอาณานิคมจากประเทศที่แพ้สงครามให้ประเทศที่ชนะสงครามดูแลภายใต้อาณัติของสันนิบาตชาติแต่วัตถุประสงค์นี้ไม่บรรลุผลเมื่อประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามไม่ยินยอมให้ประเทศอาณานิคมที่ตนดูแลได้รับเอกราช และกลายเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่เสียเอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการมีอาณานิคมและไม่มีอาณานิคมเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง


LEAST DEVELOPED COUNTRIES

คำแปล : ประเทศด้อยพัฒนา / ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

ความหมาย :

สหประชาชาติใช้เรียกประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่น้อยที่สุด โดยสหประชาชาติใช้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Indicators) ลักษณะสำคัญของประเทศด้อยพัฒนา / พัฒนาน้อยที่สุด มีดังนี้ 1. รายได้ต่อหัวของประชากรต่ำมาก (ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี) 2. ขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีสมรรถภาพ เช่นอัตราการรู้หนังสือ การเข้าถึงน้ำสะอาดและสาธารณูปโภคมูลฐาน ภาวะด้านสุขอนามัยและโภชนาการ อัตราการตายของเด็กแรกเกิด 3. ภาวะเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเกิดจากปัจจัยการผลิตที่อาศัยการเกษตรซึ่งไม่แน่นอน ประชาชนมักย้ายถิ่นเนื่องจากภัยพิบัติ ประมาณหนึ่งในสี่ของจำนวนประเทศในโลกนี้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา / ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดสาเหตุของการด้อยพัฒนานอกจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและปัญหาทางการเมือง


LEGISLATIVE BRANCH

คำแปล : ฝ่ายนิติบัญญัติ

ความหมาย :

สถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายและออกกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย คือ รัฐสภาซึ่งอาจจะเป็นสภาเดียว หรือสองสภา กรณีที่เป็นแบบสภาเดียว สมาชิกรัฐสภาจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่เป็นแบบสองสภา จะประกอบด้วยสภาสูง และสภาล่าง ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยประกอบด้วยวุฒิสภา (Senate) หรือที่เรียกว่า “สภาสูง”และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) หรือที่เรียกว่า“สภาล่าง” ในประเทศอังกฤษ สภาสูง เรียกว่า สภาขุนนาง (House of Lords)ส่วนสภาล่าง เรียกว่า สภาสามัญ (House of Commons) หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตยคือ การควบคุมฝ่ายบริหารให้ดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาและไม่ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ เครื่องมือสำคัญสองประการ คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารต่อรัฐสภา และการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเพณีทางการเมืองมีหลักว่า ถ้าสภานิติบัญญัติไม่อนุมัติร่างงบประมาณประจำปีหรือกฎหมายการเงินที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะ ในการปกครองท้องถิ่น ฝ่ายนิติบัญญัติ หมายถึง สภาท้องถิ่น


LESE MAJESTE

คำแปล : การทำลายเกียรติยศประมุขแห่งรัฐ

ความหมาย :

คำนี้อ่านว่า “เลซ มาเจสเต” เป็นภาษาฝรั่งเศสมาจากภาษาละติน คือ laesa maiestas แปลว่า ทำร้ายกษัตริย์ “Injure Majesty” ลักษณะความผิดอาญาประเภทหนึ่งต่อบุคคลซึ่งเป็นกษัตริย์ หรือผู้ใช้อำนาจในฐานะองค์ประมุขของรัฐในลักษณะที่เป็นการกระทำที่เป็นการทำร้าย หรือคุกคามต่อบุคคลนั้น หรือกระทำต่อชื่อเสียงเกียรติยศ โดยการดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลนั้น ความผิดลักษณะนี้มีมานับแต่ยุคโรมัน ความผิดฐานนี้ หมายถึง การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจักรพรรดิ และเป็นกบฏต่อจักรวรรดิโรมัน การต่อต้านอำนาจจักรพรรดิเป็นปฏิปักษ์ต่ออาณาจักรโรมันในขณะเดียวกันการทำให้จักรพรรดิโรมันเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงถือว่าเป็นกบฏ ทั้งนี้เพราะจักรพรรดิ คือองค์อธิปัตย์ของโรมัน แนวคิดนี้ตกทอดมาถึงยุคสมัยที่ประเทศต่าง ๆ ปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องการรักษาอำนาจของกษัตริย์ไว้ในปัจจุบันที่เป็นยุคสมัยที่มีการปกครองระบบประชาธิปไตย ความผิดนี้มีความหมายแคบลงเป็นการกระทำต่อชื่อเสียงเกียรติยศของกษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐโดยตรง หลายประเทศไม่ถือว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดนี้จึงแยกออกจากความผิดฐานกบฏ ประเทศในทวีปยุโรปหลายประเทศที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสเปน มีกฎหมายอาญาความผิดฐานทำลายเกียรติยศประมุขแห่งรัฐ และรัฐต่างประเทศไว้แต่กำหนดลักษณะของการกระทำความผิดและความรุนแรงของโทษไว้แตกต่างกัน หลายประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ก็ยังมีกฎหมายอาญากำหนดให้การทำลายเกียรติยศประมุขแห่งรัฐต่างประเทศเป็นความผิดอาญา เช่น กฎหมายอาญาของประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์เป็นต้น ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยกำหนดความผิดเกี่ยวกับการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศประมุขแห่งรัฐไว้ในมาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” และกำหนดการกระทำที่เป็นการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศเป็นความผิดอาญา


LETHAL INJECTION

คำแปล : การฉีดยาพิษให้ตาย

ความหมาย :

วีธีการลงโทษประหารชีวิตประเภทหนึ่งที่ผู้ต้องโทษถูกฉีดยาพิษ หรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ทำให้บุคคลนั้นตาย หลายประเทศได้ใช้การฉีดยาพิษให้ตายแทนที่การลงโทษประหารชีวิตวิธีอื่น เช่น การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย (Electrocution) การแขวนคอ (Hanging) การยิงให้ตาย (Firing Squad) และการใช้แก๊สพิษ (Gas Chamber) เพื่อให้ผู้ถูกประหารไม่เจ็บปวด ทรมานก่อนตาย การฉีดยาพิษให้ตายได้นำมาใช้ครั้งแรกที่มลรัฐเทกซัสใน ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ปัจจุบันมีหลายประเทศใช้วีธี การประหารชีวิตแบบนี้รวมทั้งประเทศไทย วิธีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษมีขั้นตอนสำคัญสองขั้นตอน คือจะมีการฉีดสารที่ทำให้นักโทษหลับ หรือไม่มีสติก่อน หลังจากนั้นจะฉีดสารพิษซึ่งจะออกฤทธิ์ทำให้หยุดการหายใจ และหัวใจหยุดเต้นในที่สุด การฉีดยาเริ่มแรกจะปล่อยยา Sodium Chloride เข้าไปให้หลับหรือหมดสติ จากนั้นจึงปล่อย Pancuronium bromide ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ปอด กระบังลมหยุดการทำงาน และ Patassium Chloride ทำให้หัวใจหยุดการทำงาน ตามลำดับ อนึ่ง การฉีดยาพิษให้ตาย ได้นำมาใช้ใน “การุณยฆาต (Euthanasia)” เพื่อช่วยบุคคลที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคหรืออาการบาดเจ็บที่รักษาไม่หายให้ตายโดยไม่ทรมานซึ่งต้องทำโดยแพทย์ และต้องมีกฎหมายรับรองให้ทำได้ในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น


LEX FERENDA (Latin)

คำแปล : กฎหมายที่ควรมี

ความหมาย :

กฎหมายที่ควรมี (ภาษาละตินคือ lex ferenda)ใช้เรียกค่านิยม กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น กฎหมายที่ควรมีจึงเป็นแต่เพียงพันธะทางศีลธรรมหรือสิ่งที่รัฐควรที่จะยึดถือหรือควรจะปฏิบัติตาม กฎหมายที่ควรมีถือว่ากฎเกณฑ์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นก่อนที่จะได้รับการยอมรับฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใช้จริง นักกฎหมาย จึงเรียกว่า กฎหมายในอนาคต กฎเกณฑ์และหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาขึ้นหลังการจัดตั้งสหประชาชาติมักอยู่ในรูปของกฎหมายที่ควรมีเช่น ปฏิญญา (Declaration) ข้อมติ (Resolution) คำแนะนำ (Guidelines) และหลักการพื้นฐาน (Basic Principles) กฎเกณฑ์ หรือหลักการเหล่านี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐ (อย่างไรก็ตามถ้า Declaration, Resolution, Guidelines หรือ Basic Principles นั้นรวบรวมหรือย้ำจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายทั่วไปก็จะเป็นกฎหมายที่ใช้จริง) กฎหมายที่ควรมีมีความหมายตรงกันข้ามกับกฎหมายที่ใช้จริง (Hard Law / lex lada)ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อความชัดเจนและยอมรับโดยรัฐต่าง ๆ ว่าก่อพันธกรณีต่อรัฐหรือผูกพันรัฐให้ปฏิบัติตามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายที่ควรมีสามารถที่จะพัฒนาเป็นกฎหมายที่ใช้จริงได้ เมื่อมีความชัดเจนและมีการยอมรับจากรัฐต่าง ๆ จนเชื่อว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นมีผลผูกพันรัฐ การจำแนกระหว่างกฎหมายที่ใช้จริง กับกฎหมายที่ควรมีใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาว่ารัฐละเมิดต่อพันธกรณีสิทธิมนุษยชนหรือไม่


LEX LATA (Latin)

คำแปล : กฎหมายที่ใช้จริง

ความหมาย :

กฎหมายที่ใช้จริง “Hard Law” ได้แก่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) และกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ(The Framework Convention on Climate Change)


LIFE SENTENCE / LIFE IMPRISONMENT

คำแปล : โทษจำคุกตลอดชีวิต

ความหมาย :

อัตราสูงสุดของโทษจำคุกใช้กับความผิดที่รุนแรง เช่น ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ฐานกบฏ วางเพลิงทำให้มีคนตาย และฆ่าคนโดยเจตนา เป็นต้น ในทางปฏิบัติโทษจำคุกตลอดชีวิตอาจมีได้สองทาง คือ มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หรืออาจเกิดจากการลดโทษ เปลี่ยนแปลงโทษหรือมีการอภัยโทษจากโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษามาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต บางประเทศ เช่น สเปน โปรตุเกส และอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้ ได้ยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิต เพราะเชื่อว่าขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ


LIFE, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในชีวิต

ความหมาย :

สิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสิทธิอื่น ๆ ของมนุษย์ จึงเป็นศูนย์รวมของสิทธิมนุษยชนทั้งปวง ปรัชญาการเมืองเห็นว่าหน้าที่ของรัฐบาล คือ การปกปักษ์รักษาชีวิตของพลเมือง อำนวยการให้เกิดความเป็นอิสรภาพของบุคคล และคุ้มครองทรัพย์สินของบุคคล แนวคิดนี้นำมาสู่การเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจรัฐในการพรากชีวิตประชาชนพลเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเข่นฆ่าประชาชนโดยพลการ หรือจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กดขี่ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต สิทธิในชีวิตมีทั้งด้านที่เป็น “อิสรภาพ (Freedom)” ที่รัฐต้องไม่กระทำการอันเป็นการลิดรอนชีวิตของบุคคล เช่น รัฐไม่สังหารเข่นฆ่าบุคคลตามอำเภอใจหรือการใช้กำลังเกินความจำเป็นของผู้บังคับใช้กฎหมายสังหารบุคคลที่สงสัยว่ากระทำความผิด และด้านที่เป็น “อำนาจเรียกร้อง (Entitlement)”ให้รัฐต้องกระทำการโดยใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องรักษาไม่ให้บุคคลเสียชีวิต เช่น การป้องกันอาชญากรรมและอุบัติเหตุ รวมทั้งการจัดหาหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต การมีโครงการสาธารณะเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ทุพภิกขภัยและการป้องกันการขัดแย้งที่จะนำไปสู่การสู้รบที่อาจเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต รูปแบบหนึ่งที่สะท้อนพันธะหน้าที่ในการเคารพสิทธิในชีวิตของบุคคลก็คือ การบัญญัติรับรองสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้การพรากชีวิตบุคคลอื่นเป็นความผิดอาญา และกำหนดการเยียวยาความเสียหายโดยกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายมหาชน สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่ไม่อาจระงับชั่วคราวหรือเพิกถอนได้ แม้ในยามที่รัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตราสารสิทธิมนุษยชนระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคทุกภูมิภาคได้ให้ความสำคัญกับสิทธิในชีวิตไว้ในลำดับต้น ๆเช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ข้อ 6) อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (ข้อ 2) อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (ข้อ 4) และอนุสัญญาแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชน (ข้อ 4) ปัญหาทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับสิทธิในชีวิตทำให้ขอบเขตของสิทธิในชีวิตยังไม่ชัดเจนในบางประเด็น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต(ดู DEATH PENALTY) การทำแท้ง และการการุณยฆาต (ดู EUTHANASIA)เป็นต้น


MAASTRICHT GUIDELINES

คำแปล : ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์

ความหมาย :

เอกสารที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีขึ้นใน ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ที่มหาวิทยาลัยมาสทริคท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เกี่ยวกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสนอแนวทางให้กับรัฐต่าง ๆ ในการนำหลักการแห่งลิมเบิร์ก (ดู LIMBURG PRINCIPLES) มาปรับใช้โดยรัฐ เพื่อให้บรรลุพันธะหน้าที่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์ได้ย้ำถึงความสำคัญของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่มีต่อสังคมโลก โดยชี้ว่า การละเลย ไม่เข้าใจ ไม่ได้ตระหนักอย่างเพียงพอในความสำคัญของสิทธิด้านนี้ ทำให้สังคมโลกไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประชากรของโลก จึงเกิดมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในด้านเศรษฐกิจ เช่น ความยากจนที่มีอย่างทั่วไป ความร่ำรวยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม เป็นต้น ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์กำหนดกรอบพันธะหน้าที่ของรัฐตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสามด้านคือ การเคารพสิทธิ (Respect) การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้เกิดขึ้นจริง (Fulfil) โดยรัฐจะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้บรรลุหน้าที่ทั้งสามด้าน หลักการสำคัญในข้อแนะนำนี้ คือ พันธกรณีในการดำเนินการ (Obligation of Conduct) และพันธกรณีในผลสำเร็จหรือผลลัพธ์ (Obligation of Result) รัฐจะต้องดำเนินการโดยมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อทำให้บรรลุถึงการมีสิทธิและสามารถวัดผลได้โดยมีการกำหนดเป้าหมาย และประเมินผลจากความสำเร็จเทียบกับเป้าหมาย ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์ยังได้อธิบายข้อขัดข้องที่รัฐมักอ้างว่าขาดแคลนทรัพยากร มีทรัพยากรอย่างจำกัด อย่างไรก็ตามการขาดแคลนทรัพยากรไม่ใช่ปัญหาหลักของการดำเนินพันธกรณีที่ไม่สามารถบรรลุผลขั้นต่ำได้เพราะมีรัฐที่ขาดแคลนทรัพยากรมากกว่าโดยเปรียบเทียบยังสามารถดำเนินการให้บรรลุผลได้