INSANITY คำแปล : วิกลจริต ความหมาย :
สภาพความบกพร่องทางจิตของบุคคล จนทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีในสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป กฎหมายอาญายกเว้นโทษให้บุคคลที่กระทำความผิดนั้น เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ลงโทษคนที่มีความประพฤติชั่วร้าย การกระทำของคนวิกลจริตถือว่ากระทำด้วยจิตใจชั่วร้ายไม่ได้ ทั้งนี้หลักกฎหมายอาญามีว่าบุคคลที่ “กระทำความผิดขณะวิกลจริต” ได้รับการยกเว้นโทษ ความวิกลจริตตามกฎหมายอาจมีความหมายต่างจากที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือทางจิตวิทยา โดยกฎหมายพิจารณาภาวะความรู้สำนึกในการกระทำต่อความรับผิดชอบทางอาญาของบุคคล ระมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 กำหนดว่า ผู้กระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าขณะกระทำผิดบุคคลนั้นยังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง จะต้องรับโทษ โดยศาลจะลดโทษลงเพียงใดก็ได้ ในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือในชั้นการสืบพยานหลักฐานในศาล ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้จะต้องงดกระบวนการดำเนินคดีอาญาและต้องส่งบุคคลนั้นไปรักษายังโรงพยาบาลจนกว่าบุคคลนั้นจะหายจึงดำเนินการต่อไป ในกรณีที่เป็นคนวิกลจริตระหว่างจำคุก ศาลอาจสั่งให้ทุเลาการจำคุกไปก่อนโดยให้อยู่ในสถานพยาบาล นอกจากนั้นจะต้องไม่ทำการลงโทษประหารชีวิตระหว่างที่เป็นคนวิกลจริต |
INSTRUMENT คำแปล : ตราสาร ความหมาย :
ตราสารเป็นคำที่ใช้เรียกเอกสารที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีผลใช้ในทางกฎหมายซึ่งอาจเป็น กฎหมายที่ใช้จริง (Hard Law/ lex lata) หรือ กฎหมายที่ควรมี (Soft Law/ lex ferenda) อันเป็นการแสดงเจตนาว่ารัฐจะให้การคุ้มครองหรือเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือจะปรับใช้ค่านิยม และแนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้น ตราสารบางประเภทเป็นเอกสารที่ก่อพันธกรณีทางกฎหมายกับรัฐเช่น ตราสารที่เป็นสนธิสัญญา ตัวอย่างเช่น อนุสัญญา (Convention) พิธีสาร (Protocol) ธรรมนูญ (Statute) ตราสารบางประเภทเป็นเอกสารที่รวบรวมหลักการ ค่านิยม หรือแนวปฏิบัติของรัฐ หรือเป็นเอกสารที่อธิบาย หรือเสริมหลักการตามตราสารประเภทแรก เช่น ปฏิญญา (Declaration) หลักการ (Principles) กฎ (Rules) ตราสารมีได้ทั้งในระดับโลกซึ่งเรียกว่า “ตราสารระหว่างประเทศ” (International Instrument) ระดับทวีปหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ตราสารระดับภูมิภาค” (Regional Instrument)เช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน และระดับประเทศ ซึ่งเรียกว่าตราสารภายใน (Domestic Instrument) หรือตราสารระดับประเทศ (National Instrument) เช่น รัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนพ.ศ.2541 (Human Rights Act 1998) ของสหราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ของประเทศไทย เป็นต้น ตราสารที่ถือว่าเป็น “ธรรมนูญแห่งสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” (International Bill of Human Rights) ประกอบด้วยตราสาระสำคัญสามฉบับ คือ UDHR, ICCPR, ICESCR (บางครั้งนับ Optional Protocol ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ของ ICCPR รวมอยู่ในคำนี้ด้วย) |
INTERNAL DISPLACEMENT คำแปล : การพลัดถิ่นในประเทศ ความหมาย :
การพลัดถิ่นในประเทศคือการที่ประชาชนในพื้นที่หนึ่งจำต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของตนเองโดยทันทีทันใดและโดยไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ อันเนื่องมาจากภาวะฉุกเฉินทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือของมนุษย์ ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่จากที่เดิมไปสู่ถิ่นใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ผู้พลัดถิ่นมักจะสูญเสียโอกาสและต้องแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ใหม่กับประชากรกลุ่มอื่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน ทำให้ต้องมีมาตรการรองรับความมั่นคงในชีวิตของคนเหล่านี้ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร สุขอนามัย และการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิต รวมถึงการได้ย้ายกลับถิ่นฐานเดิม |
INTERNALLY DISPLACED PERSON คำแปล : ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ความหมาย :
“ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” หมายถึงบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่จำต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของตนอย่างทันทีทันใดโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน และเป็นการย้ายประชาชนจำนวนมาก ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่บังคับให้คนเหล่านั้นต้องทิ้งถิ่นฐาน เช่นการพิพาทกันด้วยอาวุธ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หรือภัยพิบัติไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือ ภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น |
INTERNATIONAL COMMITTEE OF RED CROSS AND RED CRESCENT คำแปล : คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ความหมาย :
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือที่เรียกย่อว่า “Red Cross”หรือ “กาชาดสากล” เป็นองค์กรอิสระ ตั้งขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเหยื่อของสงครามและความรุนแรงทางอาวุธ และไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีคณะกรรมการฯ รับอาณัติถาวร(Permanent Mandate) ในการช่วยเหลือเชลย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจากความขัดแย้งของสงคราม โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าคนดังกล่าวจะอยู่ฝ่ายใด รวมถึงงานบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากธรรมชาติและอุบัติภัย ICRC เป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ตลอดจนการติดตามการปฏิบัติตามพันธะหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศICRC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานผู้แทนในประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศ หน้าที่หลักของ ICRC ได้แก่ • การคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยปกป้องสิทธิของบุคคลเหล่านี้ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ • การให้ความคุ้มครองเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง โดย ICRCได้รับมอบหมายจากบรรดาอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ให้สามารถเข้าเยี่ยมเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง เพื่อประกันว่าเชลยสงครามและผู้ถูกจับขังได้รับความเคารพในชีวิตและศักดิ์ศรี ไม่ถูกทรมาน ไม่มีการปฏิบัติอย่างเลวร้าย และไม่มีการละเมิดสิทธิของเชลยสงครามและผู้ถูกจับขัง ตามมาตรฐานสากล • การปกป้องพลเรือนในยามสงคราม ซึ่งตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กำหนดไว้ว่าพลเรือนที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการสู้รบต้องไม่ตกเป็นเป้าโจมตี และตามอนุสัญญาเจนีวาใน ค.ศ. 1949(พ.ศ. 2492) และพิธีสารใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) ซึ่งมีบทบัญญัติเฉพาะในการคุ้มครองพลเรือนมิให้ถูกละเมิด • หน้าที่อื่น ๆ เช่น การรวบรวมครอบครัวที่พลัดพรากกันเนื่องมาจากสงครามให้ได้กลับมาพบกัน การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม การรณรงค์ด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งสงคราม และการใช้การทูตเพื่อมนุษยธรรม เป็นต้น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรวมสามครั้งคือ ใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2450) ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487)และ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) นอกจากนั้น นายอองรี ดูนองต์ (Henry Dunant) ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล (ได้รับใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444)) |
INTERNATIONAL CONVENTION ON THE ELIMINATION OF ALL FORMS OF RACIAL DISCRIMINATION คำแปล : อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ความหมาย :
อนุสัญญาฯ เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จัดทำขึ้นเพื่อความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ อนุสัญญาฯ ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) อนุสัญญาฯ แบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ ในส่วนที่หนึ่งเป็นการนิยามศัพท์และขอบเขตการใช้อนุสัญญาซึ่งไม่ใช้กับการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลที่เป็นพลเมืองกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมือง คำว่า “การเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ (Racial Discrimination)หมายถึง “การจำแนกการกีดกัน การจำกัด หรือการเอื้ออำนวยพิเศษอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกันการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน” นอกจากนั้นกำหนดว่ารัฐภาคีจะต้องไม่ทำการใด ๆ อันจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและจะต้องกำจัดการเลือกปฏิบัติไม่ว่าทางด้านนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ อนุสัญญาฯ ได้รับรองว่าการที่รัฐใช้มาตรการเพื่อยืนยันสิทธิ์ หรือ Affirmative Action เพื่อประกันว่ากลุ่มคนบางกลุ่มคนบางกลุ่มจะได้บรรลุถึง การมีสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ในส่วนที่สองอนุสัญญาได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination)ขึ้น ในส่วนที่สามกล่าวถึงกระบวนการในการเข้าเป็นภาคีและการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญา ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2546 (ค.ศ. 2003) ทั้งนี้ โดยมีการไม่รับข้อผูกพันตามการตั้งข้อสงวนข้อ 4 และข้อ 22 อีกทั้งยังตั้งข้อสงวนโดยทำถ้อยแถลงในการตีความว่ารัฐบาลไทยจะไม่ตีความหรือใช้บทบัญญัติใด ๆ ที่ปรากฏใน CERD เพื่อให้เกิดพันธกรณีเกินกว่าที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ |
INTERNATIONAL CONVENTION ON THE SUPPRESSION AND PUNISHMENT OF THE CRIME OF APARTHEID คำแปล : อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามและการลงโทษอาชญากรรมที่เป็นการแบ่งแยกผิว ความหมาย :
อนุสัญญาฯ ฉบับนี้รับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติใน ค.ศ.1973 (พ.ศ. 2516)และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1976(พ.ศ. 2519) อนุสัญญาฯ เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การปกครองโดยใช้นโยบายการแบ่งแยกผิวในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งปกครองโดยการแบ่งแยกคนผิวขาวที่เป็นชนกลุ่มน้อยกับคนผิวดำซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ และใช้นโยบายเหยียดสีผิวทำให้คนผิวดำได้รับสิทธิต่างๆ ด้อยกว่าคนผิวขาว อนุสัญญาฯ ให้ถือว่าการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมที่เกิดจากการปกครองในการแบ่งแยกทางด้านสีผิว เผ่าพันธุ์ หรือ ชาติกำเนิด ไม่ว่าจะโดยนโยบาย หรือการปฏิบัติเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) และขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาฯ ได้กำหนดลักษณะการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมการแบ่งสีผิว ทั้งนี้ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหรือคงไว้ซึ่งการกดขี่ โดยกลุ่มเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์หนึ่งต่อกลุ่มเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ เช่นการปฏิเสธเสรีภาพด้านด่างๆ หรือการจำกัดอิสรภาพอันเนื่องมาจากบุคคล อนุสัญญาฯ ถือว่าทุกรัฐมีหน้าที่ต้องช่วยกันขจัดและร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมแบ่งแยกผิว |
INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE คำแปล : ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ความหมาย :
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นสถาบันตุลาการระดับโลก จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1945 ( พ.ศ.2488) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ถือว่าเป็นหนึ่งในห้าสถาบันหลักของสหประชาชาติ (ดู United Nations Charter) และเริ่มดำเนินงาน ใน ค.ศ. 1946 (พ.ศ.2489) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สืบทอดการดำเนินงานมาจาก “ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศหรือบางคนเรียกว่า ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ(Permanent Court of International Justice หรือ PCIJ) ที่ตั้งขึ้นในยุคสันนิบาตชาติ (League of Nations) และล้มเลิกไปพร้อมการสิ้นสุดสันนิบาตชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังคงใช้ธรรมนูญของศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีข้อพิพาทระหว่างรัฐ หรือ เฉพาะรัฐเท่านั้นที่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาล หรือเป็นจำเลยในศาลได้ ดังนั้นจึงมักเรียกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็น “ศาลโลก” ซึ่งต่างจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ดู International Criminal Court หรือ ICC) ที่มุ่งลงโทษปัจเจกชน หรือบุคคลธรรมดา ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะคดีที่รัฐที่เป็นคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ประกาศยอมรับอำนาจศาลเท่านั้น นอกจากอำนาจวินิจฉัยคดีข้อพิพาทศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจในการให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) แก่องค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจร้องขอได้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบด้วยผู้พิพากษาสิบห้าคนมาจากการเสนอชื่อโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) และรับรองโดยคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ผู้พิพากษาจะต้องไม่มีสัญชาติเดียวกันและต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ โดยจะอยู่ในตำแหน่งคราวละเก้าปี ศาลมีสำนักจ่าศาล (Registry) เป็นองค์กรภายในที่มีหน้าที่บริหารศาลศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีที่ทำการอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการทำงานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะดำเนินการตาม “ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice)” ที่ถือว่าเป็นระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาล คำพิพากษาของศาลจะผูกพันรัฐ |
INTERNATIONAL COVENANT ON ECONOMIC, SOCIAL AND CULTURAL RIGHTS คำแปล : กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความหมาย :
กติกาฯ เป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐรับรองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ICESCR เป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน “คู่แฝด” ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติกา ฯได้รับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติใน ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) และมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เนื้อหาของกติกาแบ่งเป็นห้าส่วน ส่วนที่หนึ่งรับรองสิทธิในการกำหนดตนเอง ส่วนที่ สองกล่าวถึงพันธกรณีของรัฐโดยกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการเคารพคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านนี้ให้เป็นจริง ส่วนที่สามกล่าวถึงสาระของสิทธิในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิเกี่ยวกับการทำงาน สภาพการจ้างงาน สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการ การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว สิทธิทางสังคม การศึกษา การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม ส่วนที่สี่กำหนดพันธกรณีของรัฐในการจัดทำรายงานการปฏิบัติตาม ICESCR ต่อคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (กลไกการสอดส่องดูแลของ ICESCRนั้นต่างจาก ICCPR ที่ได้กำหนดให้ตั้ง HRC ขึ้นมาโดยเฉพาะ) ส่วนที่ห้ากล่าวถึงกระบวนการการเข้าเป็นภาคี การแก้ไขเพิ่มเติมของกติกาฯ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกาฯ โดยการภาคยานุวัติ ใน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และได้ตั้งข้อสงวนโดยการทำถ้อยแถลงการณ์ตีความ (Interpretative Declaration) เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดตนเองว่าในข้อ 1 ว่า จะตีความสอดคล้องกับปฏิญญากรุงเวียนนาและแผนปฏิบัติการที่ได้รับรองในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1993(พ.ศ. 2536) |
INTERNATIONAL CRIMINAL COURT คำแปล : ศาลอาญาระหว่างประเทศ ความหมาย :
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เป็นองค์การตุลาการระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเป็นเอกเทศไม่ได้เป็นองค์กรย่อยของสหประชาชาติ อย่างเช่นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ICC มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาร้ายแรงที่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของมนุษยชาติสี่ลักษณะความผิดคือ อาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of Genocide) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) อาชญากรรมสงคราม (War Crime) และอาชญากรรมการรุกราน (Crime of Aggression) แม้ว่าลักษณะของการกระทำจะเป็นความผิดร้ายแรงต่อความรู้สึกของบุคคลทั่วไป แต่ในอดีตอาชญากรรมเหล่านี้มักอาศัยความคุ้มกันจากรัฐที่ตนเองมีความสัมพันธ์หรืออ้างว่าตนกระทำการในนามของรัฐเพื่อยกเว้นความรับผิดทางอาญา (Impunity) ของตน เหตุการณ์เช่นนี้นำมาซึ่งการบั่นทอนความยุติธรรมระหว่างประเทศ และการแก้แค้นตอบแทนและกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court หรือที่รู้จักกันในนาม Rome Statute) ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาในที่ประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศและที่ประชุมได้มีมติรับรอง Rome Statute เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 (พ.ศ.2541) เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจพิจารณาความผิดอาญาของ “บุคคล” ทั้งนี้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือกระทำในนามของรัฐหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต่างจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)ที่มีอำนาจศาลเฉพาะกรณีที่ฟ้องร้องระหว่างรัฐกับรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐ ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลถาวร มีสำนักงานศาลตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลนี้ต่างกับศาลอาชญากรรมสงคราม หรือศาลเฉพาะกิจ เช่น ศาลนูเรมเบอร์ก (หรือเนิร์นแบก ในภาษาเยอรมัน) ศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia) และศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวสำหรับรวันดา(International Criminal Tribunal for Rwanda) ศาลฯ มีองค์กรภายในสี่องค์กรหลักคือ หนึ่ง สำนักประธานศาลมีหน้าที่ในการบริหารศาลทั้งปวง(ยกเว้นสำนักอัยการ) สอง สำนักคดี มีหน้าที่ในการไต่สวนพิจารณาคดีซึ่งแบ่งเป็นสามระดับคือ แผนกก่อนพิจารณาคดี (Pre-Trial Division) แผนกพิจารณาคดี (Trial Division) และแผนกอุทธรณ์ (Appeal Division) สาม สำนักอัยการ มี “อัยการ (Prosecutor)”เป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและขอตัวผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิดมาฟ้องร้องต่อศาลรวมถึงการเป็นโจทก์ในคดี สี่ สำนักจ่าศาล (Registry) ทำหน้าที่บริการงานธุรการศาลที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจพิจารณาคดีโดยมี จ่าศาล (Registrar) เป็นหัวหน้า ศาลได้เริ่มมีอำนาจดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ณ ปัจจุบัน (มกราคม พ.ศ.2554) มีภาคี 112 ประเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำและได้ลงนามรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงยังไม่มีผลบังคับต่อประเทศไทย |
INTERNATIONAL LAW คำแปล : กฎหมายระหว่างประเทศ ความหมาย :
กฎเกณฑ์ ระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติที่มีสภาพบังคับใช้กับรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นบุคคลระหว่างประเทศ ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางทีเรียกกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่า “Law among Nations หรือ กฎหมายนานาชาติ” กฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็นสามสาขาใหญ่ ๆ ได้แก่ • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law) เป็นเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐตลอดจนองค์การระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นบุคคลในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐ ความสัมพันธ์ทางการทูต สนธิสัญญา การทำสงคราม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นต้น • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นพลเมืองของรัฐที่ต่างกัน ทำให้กฎหมายที่ใช้กับบุคคลอาจมีความแตกต่างกันในทางแพ่ง เช่น การสมรส การหย่า การได้สัญชาติ การสูญเสียสัญชาติ เป็นต้น • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (International Criminal Law) เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเกี่ยวกับคดีอาญาและความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อพลเมืองของรัฐกระทำความผิดกฎหมายอาญา เช่น การกำหนดอำนาจที่จะบังคับและปฏิบัติต่อชาวต่างประเทศ เป็นต้น โดยที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เป็นสากลที่นานาประเทศรับรองขึ้นเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาขึ้นจึงมีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีพันธะหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้จริง (lex lata) ที่เกิดจากสนธิสัญญาที่รัฐเป็นภาคี จารีตประเพณีระหว่างประเทศ หรือตามหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น รัฐควรจะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นกฎหมายที่ควรมี (lex ferenda) ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ |
INTERNATIONAL WOMEN'S DAY คำแปล : วันสตรีสากล ความหมาย :
วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่นานาประเทศใช้เป็นวาระเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของสตรี และเพื่อรำลึกถึงกระบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก พร้อมทั้งใช้เป็นโอกาสเรียกร้องสิทธิสตรีหรือผลักดันข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิสตรีสู่รัฐบาลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การร่วมชุมนุมเดินขบวนการยื่นข้อเรียกร้อง และหลายประเทศได้มีการประกาศเกียรติคุณสตรีที่อุทิศตนให้กับสังคม ประวัติวันสิทธิสตรีสากลได้มาจากขบวนการเรียกร้องสิทธิคนงานสตรีโรงงานทอผ้าในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่จัดการชุมนุมประท้วงใน ค.ศ. 1857(พ.ศ. 2400) เพื่อให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงานที่กดขี่แรงงานสตรีเช่น การทำงานวันละสิบห้าชั่วโมงให้เหลือวันละแปดชั่วโมง และเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมจากนายจ้าง ต่อมาในประเทศเยอรมนี นางคลารา แซทคินผู้นำกรรมกรหญิงชาวเยอรมันได้นัดหยุดงานและชุมนุมประท้วงขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและสิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ที่ประชุมได้มีมติให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากลตามข้อเสนอของนางแซทคิน ในประเทศไทย หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลนี้ตลอดมา และได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่8 มีนาคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) |
INTERPRETATION OF TREATIES คำแปล : การตีความสนธิสัญญา ความหมาย :
การตีความสนธิสัญญา มีจุดมุ่งหมายในการให้ความหมายของข้อบทในสนธิสัญญา ให้มีความแน่นอนชัดเจน และให้เข้าใจตรงกันระหว่างภาคีทั้งปวง ซึ่งภาคีของสนธิสัญญาจะต้องยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างคู่ภาคีทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบทอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1969(พ.ศ. 2512) ได้บัญญัติหลักทั่วไปในการตีความไว้ว่า การตีความสนธิสัญญาให้ตีความโดยสุจริต (Good Faith) โดยคำนึงถึงความหมายปกติธรรมดาของถ้อยคำ (Terms) ที่ปรากฏในสนธิสัญญานั้นในบริบท (Context) ของถ้อยคำเหล่านั้น โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ (Object) และความมุ่งหมาย (Purpose) ของสนธิสัญญานั้นๆด้วย |
INTERROGATION / INQUISITION / INQUIRY คำแปล : การสอบสวน ความหมาย :
กระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีอาญา และเพื่อให้ได้ตัวบุคคลที่กระทำผิดมาดำเนินคดีหรือเพื่อพิสูจน์ความผิดของบุคคล คำว่า “พยาน” หมายถึง พยานบุคคลพยานเอกสาร และพยานวัตถุ การสอบสวนจะกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจตามกฎหมายซึ่งอาจจะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานอื่น เช่น เจ้าพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานสรรพสามิต สารวัตรทหาร หรือเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การสอบสวนเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานในการสืบสวน จับกุม ค้นยึดสิ่งของ ปล่อยชั่วคราว หรือขออนุญาตศาลให้ควบคุมตัวบุคคลไว้ชั่วคราวระหว่างสอบสวนได้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นเจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนและความเห็นไปยังเจ้าพนักงานอัยการต่อไป พนักงานอัยการอาจสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง หรือให้เจ้าพนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมได้ มาตรฐานสิทธิมนุษยชนได้กำหนดแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องหาไว้ว่าการสอบสวนจะต้องกระทำโดยไม่ชักช้า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาการประกันตัวต้องถือว่าผู้ที่ถูกสอบสวนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเช่นนักโทษมิได้ และจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลนั้นอย่างเคารพต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงนับตั้งแต่เวลามาถึงสถานที่สอบสวน กรณีที่จำเป็นต้องควบคุมตัวเกินกว่านั้นต้องขออนุญาตศาลเป็นครั้ง ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้วจะควบคุมตัวได้ไม่เกินแปดสิบสี่วัน |
INTER–AMERICAN COMMISSION ON HUMAN RIGHTS คำแปล : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาเป็นองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการปกป้องและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกาจัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรองค์การรัฐอเมริกา (Organisation of American States: OAS) ในค.ศ.1951 (พ.ศ. 2494)ก่อนที่อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมายของกฏบัตรองค์การ (Article 3L) และปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ (American Declaration on the Rights and Duties of Man) ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491)เมื่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ ทำให้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ ในการดำเนินงานสิทธิมนุษยชนมีความชัดเจนขึ้น คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยสมาชิก เจ็ดคนที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะมนตรีถาวร (Permanent Council) ขององค์การรัฐอเมริกา (OAS) ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนคณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ในการศึกษา และจัดทำรายงานประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจในการรับเรื่องราวร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไต่สวน รวบรวมข้อเท็จจริง รับฟังพยานหลักฐาน และเป็นผู้ฟ้องร้องรัฐต่อศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน |
INTER–AMERICAN CONVENTION ON HUMAN RIGHTS คำแปล : อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา หรือ เรียกอีกชื่อว่า อนุสัญญาซานโฮเซ (San José) เป็นอนุสัญญาหลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในภูมิภาคอเมริกา(คู่ไปกับพิธีสารซาน ซัลวาดอร์ ที่คุ้มครองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) อนุสัญญาฉบับนี้ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่องค์การรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1978 (พ.ศ.2521) แนวคิดและปรัชญาการร่างอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลมาจากปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่มนุษย์ค.ศ.1949 ( พ.ศ. 2492) และ ICCPR รวมทั้ง ECHR นอกจากนั้น อนุสัญญาฉบับนี้ได้เชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนเข้ากับปรัชญาการเมืองแบบประชาธิปไตย ความสำคัญของอนุสัญญาฯ นอกจากจะได้รับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ แล้วยังทำให้กรอบกฎหมายในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกามีความชัดเจนขึ้น ต่างจากเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของปฏิญญาซึ่งไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย อนุสัญญาฯ ได้จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาขึ้นเพื่อให้มีอำนาจรับคำฟ้องว่ารัฐภาคีละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีที่ได้รับรองในอนุสัญญาฯ |
INTER–AMERICAN COURT OF HUMAN RIGHTS คำแปล : ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ความหมาย :
ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาเป็นองค์กรตุลาการภายในองค์การรัฐอเมริกา (Organisation of American States: OAS) มีหน้าที่พิจารณาคดีที่มีการฟ้องว่ารัฐละเมิดพันธกรณีที่ได้รับรองไว้ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (IACHR) และมีอำนาจให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) ต่อข้อกฎหมาย ตามสนธิสัญญาใดๆ ที่รัฐสมาชิกองค์การรัฐอเมริกาเป็นภาคีได้ขอความเห็น ศาลฯ จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา มีอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐภาคี กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาบุคคลหรือนิติบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเจ็ดคน ที่ได้รับการเลือกจากสมัชชาใหญ่องค์การระหว่างรัฐอเมริกาโดยวิธีการลงคะแนนลับจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่เสนอโดยรัฐภาคี รัฐละหนึ่งคน ผู้พิพากษาทั้งเจ็ดคนจะต้องไม่มีสัญชาติเดียวกัน ในกรณีที่ผู้พิพากษาถือสัญชาติเดียวกับรัฐที่เป็นคู่ความผู้พิพากษาคนนั้นจะต้องถอนตัวจากองค์คณะองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลคือคณะมนตรีถาวร (Permanent Council) |
INVALIDITY OF TREATIES คำแปล : ความไม่มีผลของสนธิสัญญา ความหมาย :
ความไม่มีผลของสนธิสัญญามีความหมายสองนัย นัยแรก ความไม่สมบูรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องจากการทำสนธิสัญญาอันเกิดขึ้นจากการคุกคาม หรือการใช้กำลังฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งทำให้สนธิสัญญาตกเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มแรก (void ab initio) อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ข้อ 52 บัญญัติไว้ว่า “สนธิสัญญาย่อมเป็นโมฆะหากการทำสนธิสัญญานั้นได้กระทำขึ้นเพราะการถูกข่มขู่หรือการใช้กำลังอันฝ่าฝืนต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งได้ประมวลไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ” นัยที่สองเป็นการทำสนธิสัญญาที่ขัดต่อ jus cogens หรือ Peremptory norm แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ข้อ 52 ได้บัญญัติไว้ว่า “สนธิสัญญาเป็นโมฆะ หากในขณะที่ทำสนธิสัญญานั้น สนธิสัญญาดังกล่าวขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นกฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป” ผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างการที่สนธิสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่แรกนั้น กับการที่สนธิสัญญาไม่สมบูรณ์เพราะความบกพร่องในการให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา คือ ในกรณีที่สนธิสัญญาโมฆะแต่แรกนั้น ย่อมไม่ถือว่ามีสนธิสัญญาเกิดขึ้นระหว่างรัฐภาคีนั้นๆเลย รัฐภาคีจึงไม่มีพันธะความผูกพันใดๆตามสนธิสัญญาต่อกัน ส่วนการที่สนธิสัญญาไม่สมบูรณ์นั้น ไม่ทำให้สนธิสัญญาโมฆะเสียเปล่าแต่ประการใดเพียงแต่ทำให้รัฐซึ่งมีเหตุอ้างความไม่สมบูรณ์นั้นไม่ผูกพันตามสนธิสัญญา ในกรณีที่เป็นสนธิสัญญาพหุภาคีสนธิสัญญานั้นย่อมสมบูรณ์ผูกพันภาคีอื่นๆที่ไม่มีเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์นั้น แต่หากเป็นสนธิสัญญาทวิภาคี สนธิสัญญาย่อมไม่ผูกพันรัฐที่ได้กล่าวอ้างถึงความไม่สมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนายินยอมผูกพันสนธิสัญญานั้นๆ |
JOHANNESBURG PRINCIPLES คำแปล : หลักการโยฮันเนสเบิร์ก ความหมาย :
คำเรียกอย่างย่อของ “หลักการโยฮันเนสเบิร์กว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก และการเข้าถึงข้อมูล (The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information)”ซึ่งหลักการนี้เกิดจากการรับรองโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการแสดงออก ที่ประชุมกันที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) หลักการดังกล่าวมุ่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางในการใช้อำนาจของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างดุลยภาพขึ้นระหว่างความมั่นคงปลอดภัยของรัฐกับอิสรภาพของบุคคลในการแสดงออกและเข้าถึงข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้เหตุผลด้านความมั่นคงโดยไม่มีขอบเขตหรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ หลักการดังกล่าวประกอบไปด้วยข้อบท 25 ข้อ แบ่งเป็นสี่ส่วน คือหลักการทั่วไป หลักการเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก หลักการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และหลักการเรื่องอื่น ๆ |
JOSE AYALA LASSO คำแปล : โฮเซ่ อายาลา ลาสโซ ความหมาย :
นักการทูตชาวเอกวาดอร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนแรก เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอกวาดอร์สามสมัย และเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสองสมัย หลังจากประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนใน ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มีมติให้มีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติขึ้น โดยให้มีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามข้อมติในคราวการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม 1993 (พ.ศ. 2536) นายอายาลาลาสโซ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ฯ คนแรก ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997(พ.ศ. 2540) (ดูรายชื่อข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในภาคผนวกที่ 2) ภารกิจสำคัญของนายอายาลา ลาสโซ คือ การปฏิรูปศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Centre for Human Rights) เดิม ที่ได้เปลี่ยนเป็น “สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights) เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำงานเชิงรุก และเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทุกด้านภายหลังจากมีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ฯ ขึ้น นายอายาลา ลาสโซ ยังมีบทบาทในการจัดทำโครงสร้างของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งโครงการและแผนการต่าง ๆ ในระยะเริ่มแรกของสำนักงานฯ เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ สอดคล้องกับปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงเวียนนาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Vienna Declaration and Programme of Action) ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ