Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

HUMAN RIGHTS EDUCATION

คำแปล : สิทธิมนุษยชนศึกษา

ความหมาย :

การฝึกอบรม ถ่ายทอด เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากลผ่านทางการให้ความรู้ และทักษะ และเพื่อเพาะบ่มทัศนคติที่นำไปสู่การสร้างเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชนศึกษา มีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริม ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ สหประชาชาติได้ประกาศให้ พ.ศ. 2538 - 2547 (ค.ศ. 1995 - 2004) เป็นทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับสหประชาชาติ (United Nations Decade for Human Rights Education) ใน ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำ United Nations Guidelines for National Plan of Action for Human Rights Education หรือ ข้อชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนศึกษาระดับชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปรับใช้ ข้อชี้แนะนี้ได้แนะนำว่าเป้าหมายที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนศึกษาห้าประการคือ หนึ่ง การทำให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สอง การส่งเสริมให้บุคคลได้พัฒนาบุคลิกภาพและสำนึกแห่งการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มความสามารถ สาม การส่งเสริมความเข้าใจอันดี ความอดกลั้น ยอมรับความแตกต่างความเสมอภาคทางเพศ ความเสมอภาคระหว่างชนชาติที่มีความแตกต่างกัน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สี่ การทำให้บุคคลสามารถเข้ามีส่วนร่วมในสังคมที่มีเสรีภาพได้อย่างแท้จริง ห้า การสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาชาติในการส่งเสริมและรักษาสันติภาพ ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่กรุงเวียนนา ใน ค.ศ. 1998(พ.ศ. 2541) ที่ประชุมได้ย้ำว่าสิทธิมนุษยชนศึกษา การฝึกอบรม และการให้ข้อมูลข่าวสาร ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินการสิทธิมนุษยชนทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นการส่งเสริมค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติที่จะทำให้บุคคลได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับการมีสิทธิของตนเองและสิทธิผู้อื่นนอกจากนั้น จะช่วยในการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบร่วมกันในการทำให้สิทธิมนุษยชนเกิดเป็นจริงขึ้นได้ในแต่ละสังคม และในระดับโลกอันจะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระยะยาว และเป็นการแสดงถึงการลงทุนทางสังคมเพื่อที่นำไปสู่เป้าหมายของสังคมที่เป็นธรรม จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน


HUMAN RIGHTS INDICATORS

คำแปล : ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งในระดับรัฐและระดับโลก เช่นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชน ระยะเวลาที่รัฐจัดการศึกษาแบบให้เปล่า ระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องหาก่อนนำตัวพิจารณาคดีในศาล ระยะเวลาในการไต่สวนคดีอาญา อัตราการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐ ฯลฯ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ


HUMAN RIGHTS WATCH

คำแปล : ฮิวแมนไรต์วอชต์

ความหมาย :

ฮิวเมนไรท์วอชท์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (International Non-governmental Organisation)ที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนเด่นองค์กรหนึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรนี้เดิมชื่อ Helsinki Watch จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1978(พ.ศ. 2521) เพื่อสอดส่องประเทศรัสเซียในการปฏิบัติตาม “Helsinki Accords (กระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยซึ่งเกิดจากความตกลงระหว่างประเทศยุโรป อเมริกา และแคนาดา)” ต่อมาได้จัดตั้ง Americas Watch และพัฒนามาเป็น Human Rights Watch เพื่อดำเนินงานครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก HRW มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้กลยุทธ์แบบวิพากษ์วิจารณ์แบบ “ประจาน (Naming and Shaming)” สถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากนั้น HRW ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ แม้ว่า HRW จะตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วอันทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นที่สนใจของนานาประเทศ


HUMAN SECURITY

คำแปล : ความมั่นคงของมนุษย์

ความหมาย :

ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งหลายให้มีการดำรงชีพตามมาตรฐานของสิทธิมนุษย์ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตามวิถีทางประชาธิปไตย อยู่บนพื้นฐานของการมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะทั้งหลาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว เช่น การพัฒนาความมั่นคงด้านอาหาร การศึกษา และสุขอนามัย การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร และป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ เช่น การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส ความมั่นคงของมนุษย์ถือว่าเป็นองค์รวมของการพัฒนาการเมือง สังคม ประชาธิปไตยและการป้องกันความขัดแย้ง ที่มีผลสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เดิมองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe หรือ OSCE) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในมิติของความมั่นคงของมนุษย์(ดู OSCE) ต่อมาเลขาธิการสหประชาชาติได้จัดตั้ง คณะกรรมาธิการว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Commission) –ใน ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2544 )เพื่อให้คำปรึกษาแก่ข้าหลวงใหญ่ในการดำเนินงานของสหประชาชาติในด้านนี้ คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนสิบสองคน และได้จัดตั้งแผนกความมั่นคงมนุษย์ (Human Security Unit)ขึ้นในสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ


HUMAN TRAFFICKING

คำแปล : การค้ามนุษย์

ความหมาย :

รูปแบบหนึ่งของการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลอันเป็นการขัดต่อกฎหมายและทำให้บุคคลนั้นถูกลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บุคคลที่ถูกค้ามักจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง บางกรณีบุคคลนั้นจะมีสภาพคล้ายทาส หรือทาสรูปแบบใหม่ (ดู Modern Forms of Slavery) ลักษณะของการค้ามนุษย์มักจะประกอบด้วยการกระทำของบุคคลหรือองค์กรอาชญากรรม เพื่อจัดหา หรือเป็นธุระจัดหา ตลอดจนมีการนำพาไปการส่ง และรับตัวเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเด็กหรือผู้หญิงโดยใช้วิธีการขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบหรือวิธีการอื่นที่บุคคลที่ถูกค้าไม่สมัครใจ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั้นให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล การค้ามนุษย์มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากมนุษย์โดยมิชอบ (Exploitation in Human) เช่น การค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุ หรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ เอาคนลงเป็นทาส ตัดอวัยวะออกจากร่างกาย การใช้บุคคลที่ถูกค้ากระทำการที่ผิดกฎหมายอาญา หรือการกระทำอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ในข้อ 3 ของ “พิธีสารเพื่อการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก พ.ศ. 2543 (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons Especially Women and Children 2000)” หรือเรียกอย่างย่อว่า “พิธีสารป้องกันการค้ามนุษย์”ซึ่งเพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention againstTransnational Organised Crime) ได้นิยามคำว่า “การค้ามนุษย์ไว้อย่างกว้าง” โดยหมายถึง “การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลังหรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใดด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบหรือมีการให้ หรือรับเงินหรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มา ซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมบุคคลอื่นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่นหรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การเอาคนลงเป็นทาส หรือการกระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับหรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย ให้ถือว่าการจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัย หรือการรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์เป็นการค้ามนุษย์ แม้ว่าจะไม่มีการใช้วิธีการใด ๆ ที่ระบุไว้”


ILLITERACY

คำแปล : การไม่รู้หนังสือ

ความหมาย :

สภาพการอ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ของบุคคล หรือของประชากรของประเทศ การไม่รู้หนังสือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้เต็มศักยภาพของแต่ละคน อีกทั้งยังเป็นปัญหาสังคม การไม่รู้หนังสือแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ การไม่รู้หนังสือในเด็ก (Child Illiteracy)และการไม่รู้หนังสือในผู้ใหญ่ (Adult Illiteracy) สาเหตุสำคัญของการไม่รู้หนังสือ คือ การขาดโอกาสเข้าศึกษา แม้ว่าเกือบทุกประเทศจะจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับแบบให้เปล่า (ดู THE RIGHT TO EDUCATION) แต่ยังมีเด็กวัยเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในโอกาส นอกจากนั้น เด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กที่ไม่มีสัญชาติ เด็กที่เป็นคนไร้รัฐ เด็กที่อยู่ในภาคแรงงาน เด็กพลัดถิ่นเด็กยากจน เด็กเร่รอน และเด็กที่เป็นคนชายขอบ มักขาดโอกาสในการได้รับการศึกษา สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยถือเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งในแปดด้านของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่สหประชาชาติ และประเทศต่าง ๆ ต้องมุ่งมั่นและเร่งรีบให้บรรลุผลสำเร็จ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ให้ความสำคัญกับการขจัดการไม่รู้หนังสือมานับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การฯ และได้จัดให้มีการประชุมระดับโลกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ ขึ้นใน พ.ศ. 2508(World Conference of Ministers of Education on the Eradicationof Illiteracy 1965) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในการประชุมดังกล่าวได้มีมติรับรองให้วันที่ 8 กันยายน อันเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมเป็น “วันแห่งการรู้หนังสือโลก (World Literacy Day)” นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) UNESCO ได้จัดประชุมเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All : EFA) ขึ้นณ จอมเทียน พัทยา ประเทศไทยได้เน้นถึงการให้โอกาสแก่คนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาเพื่อเป็นการขจัดการไม่รู้หนังสือ


ILO CORE CONVENTIONS

คำแปล : อนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

ความหมาย :

คำนี้ใช้เรียกอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานที่รับรองโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) สนธิสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แบ่งเป็นสี่กลุ่มคือ 1. สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน – อนุสัญญาลำดับที่ 29(Forced Labour Convention, 1930) และอนุสัญญาลำดับที่ 105(Abolition of Forced Labour Convention, 1957) 2. สิทธิในการรวมกลุ่มและการต่อรองร่วมเจรจา - อนุสัญญาลำดับที่ 87(Freedom of Association and Protection of the Right to Organise Convention, 1949) และตามอนุสัญญาลำดับที่ 98(Right to Organise and Collective Bargaining Convention, 1949) 3. สิทธิที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ - อนุสัญญาลำดับที่ 100 (Equal Remuneration Convention, 1951) และอนุสัญญาลำดับที่ 111(Discrimination (Employment and Occupation) Convention, 1958) 4. แรงงานเด็ก- อนุสัญญาลำดับที่ 138 (Minimum Age Convention, 1973) และ อนุสัญญาลำดับที่182(Worst Forms of Child Labour Convention, 1999) แม้ว่าสนธิสัญญาของ ILO ที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ใช้แรงงานมีหลายๆ ด้านโดย ILO พยายามยกระดับมาตรฐานแรงงงานระหว่างประเทศให้สูงขึ้นตามลำดับและสนธิสัญญาเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานหลายๆ ด้านยังไม่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่บังคับได้ทั่วไป แต่สิทธิที่รับรองโดยอนุสัญญาหลักฯ ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นแก่นของสิทธิเกี่ยวกับแรงงานและมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับได้ทั่วไป (erga omnes)


IMPEACHMENT

คำแปล : การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง

ความหมาย :

มาตรการทางกฎหมายของฝ่ายนิติบัติญัติที่ดำเนินการไต่สวนเพื่อการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งอันเป็นกระบวนการที่ใช้เพื่อการควบคุมการบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งการบริหารระดับสูงหรือการฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือโดยสภาสูง (วุฒิสภา) การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองเป็นกลไกที่ใช้ในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยเปิดโอกาสให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะเหตุว่าหากปล่อยให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือภยันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ กำหนดรูปแบบและกระบวนการการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งไว้ต่างกันแต่มีลักษณะที่สำคัญคือ • เป็นระบบการควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายบริหารเป็นหลัก • เป็นการควบคุมในด้านตัวบุคคลเนื่องมาจากการกระทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่ง • เป็นกระบวนการการควบคุมทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำโดยฝ่ายตุลาการ • องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน • การถอดถอนบุคคลจะมีกฎหมายกำหนดวิธีการและกลไกไว้โดยชัดแจ้ง


IMPRISONMENT

คำแปล : การจำคุก

ความหมาย :

โทษอาญาประเภทหนึ่งที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของบุคคล โดยผู้ที่ถูกลงโทษจะถูกควบคุมตัวไว้ในทัณฑสถาน การจำคุกเป็นมาตรการบังคับทางอาญาที่มีมานับแต่สมัยโบราณ ในทางทัณฑวิทยาถือว่าเป็นมาตรการควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมบุคคล ในขณะเดียวกันเป็นการป้องกันสังคมจากอาชญากรรม (ดู PENOLOGY) อัตราโทษจำคุกตามกฎหมายไทยจะกำหนดไว้ในฐานความผิดแต่ละฐาน ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาในการจำคุกจำเลยได้ ในการคำนวณระยะเวลาจำคุกนั้นจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วย และนับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนก็นับสามสิบวันเต็มเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทิน อัตราโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายไทย คือ จำคุกตลอดชีวิต (LifeImprisonment) แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าหลายประเทศยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้โทษจำคุกให้มีประสิทธิภาพแทนการจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกระยะยาว


INALIENABLE RIGHTS

คำแปล : สิทธิที่ไม่อาจพรากโอนได้

ความหมาย :

คำว่าสิทธิที่ไม่อาจพรากโอนได้ใช้กับสิทธิที่ในทางทฤษฎีถือว่าไม่อาจแยกจากบุคคลหรือถูกบังคับให้สละหรือโอนให้บุคคลอื่นได้ สิทธินี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นบุคคล ที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ประกาศหลักการสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์และไม่อาจแยกจากความเป็นมนุษย์ได้ คำว่า “ไม่อาจพรากหรือโอนได้” ไม่ได้หมายความว่าสิทธินั้นจะไม่ถูกจำกัด (Limit หรือ Restrict) เลย สิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานอาจถูกจำกัด ถูกลดทอนการใช้ หรืออาจถูกระงับได้ในบางสถานการณ์เนื่องจากมนุษย์จักต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกของสังคม (UDHR ข้อ 29)


INCOMMUNICADO DETENTION

คำแปล : การกักขังโดยการตัดขาดการติดต่อ

ความหมาย :

การกักขังโดยการตัดขาดการติดต่อหมายถึงการคุมขังหรือควบคุมตัวโดยรัฐบาลหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือบุคคลใด ๆ ที่รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจและในการควบคุมหรือคุมขังนั้นเป็นการตัดขาดการติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับครอบครัว ทนายความ หรือระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง ในหลาย ๆ สถานการณ์การ ขังเดี่ยวจะถูกปกปิดสถานที่ควบคุมตัวของผู้ต้องขัง การขังเดี่ยวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่จะติดต่อทนายความ นอกจากนั้นบุคคลที่ถูกขังเดี่ยวมักจะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ เช่น การทรมาน สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีอาญาอย่างเป็นธรรม และการถูกคุมขังตามอำเภอใจ Incommunicado มาจากภาษาสเปนหมายถึง การติดต่อไม่ได้


INDEPENDENCE OF JUDICIARY

คำแปล : ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ

ความหมาย :

ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ ถือเป็นหลักการพื้นฐานในการแบ่งแยกองค์กรการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อมิให้องค์กรทางการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตุลาการ อันเป็นหลักประกันว่าศาลจะมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างเที่ยงธรรมไม่เอนเอียงไปตามอำนาจหรืออิทธิพลครอบงำของฝ่ายต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรอื่น


INDIGENOUS PEOPLES

คำแปล : คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ความหมาย :

คำว่าคนพื้นเมืองหรือ ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่เป็นที่ยอมกันว่าบุคคลที่เป็นคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม นั้นมีลักษณะดังนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ร่วมกัน และดำรงชีวิตในสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม (native) และแยกตัวออกจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคม เดิมคำนี้หมายถึงกลุ่มคนพื้นเมืองในประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามา “ค้นพบโลกใหม่” ซึ่งเป็นการพยายามนิยามความหมายของ “คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม” เพื่อใช้อธิบายคนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใต้และพวกอะบอริจิน (คนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย) เพื่อแยกระบอบการคุ้มครองคนกลุ่มนี้ออกจากคำว่า ชนกลุ่มน้อย (Minorities) โดยยอมรับว่าคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของชนกลุ่มน้อย ประเด็นที่ คนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เรียกร้องคือ สิทธิในการกำหนดตนเองในการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความเชื่อของตน ซึ่งต้องพึ่งพิงสภาพแวดล้อมดั้งเดิม ดังนั้นระบอบสิทธิที่พัฒนาขึ้นจึงมุ่งคุ้มครองอัตลักษณ์ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งในการดำรงชีพและการปกครองตนเอง (ภายใต้ระบอบของรัฐชาติ ไม่ใช่การแยกตัวออกจากรัฐ) สำหรับประเทศไทยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องคนพื้นเมือง / ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่นกลุ่มชนชาวเล เผ่าต่างๆ ชนเผ่าซาไก ชนเผ่าบลาบี หรือ ชนเผ่าชาวเขาดั้งเดิม เช่น ปกากะญอ เป็นต้น


INDISCRIMINATE ATTACK

คำแปล : การโจมตีโดยไม่จำแนก

ความหมาย :

การโจมตีโดยไม่จำแนกใช้ในกฎหมายว่าด้วยการพิพาทด้วยอาวุธหมายถึงการใช้กำลังทหารโจมตีหรือทำลายโดยไม่แยกแยะว่าเป็นเป้าหมายทางการทหาร หรือเป้าหมายทางพลเรือน การโจมตีโดยไม่จำแนกถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศในการพิพาทกันด้วยอาวุธ เนื่องจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติให้โจมตีได้เฉพาะเป้าหมายทางการทหาร ดังนั้นจึงต้องมีการแยกแยะเป้าหมายพลเรือนออกจากเป้าหมายทางทหารและต้องละเว้นการโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน การโจมตีที่ส่งผลกระทบอย่างกว้าง หรือโดยอาวุธที่ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างหรืออาวุธที่ไม่สามารถจำกัดผลกระทบได้เช่นระเบิดแบบแตกกระจาย จนกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนถือว่าขัดต่ออนุสัญญาเจนีวา และเป็นอาชญากรรมสงครามอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)


INDIVIDUALISM

คำแปล : ปัจเจกชนนิยม

ความหมาย :

ปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ก่อผลในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองให้ความสำคัญกับประโยชน์ของปัจเจกชนหรือบุคคลแต่ละคน โดยเห็นว่าปัจเจกชนมีจุดมุ่งหมายในตัวเอง ในขณะที่สังคมไม่มีความเป็นจริงในตัวเองและไม่มีผลประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายใดที่เป็นอิสระจากปัจเจกชนหรืออีกนัยหนึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของส่วนรวมและของชาติก็คือผลประโยชน์ส่วนตัวของประชาชนทุกคนที่มารวมกัน ทัศนคตินี้เห็นว่าโครงสร้างและสถาบันทางสังคมการเมืองจะต้องเปิดโอกาสให้คนแต่ละคนหาผลประโยชน์ หรือสิ่งสนองความต้องการของตนเองได้อย่างมากที่สุดโดยไม่ไปกระทบกับการหาผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้อื่นเท่านั้น คติแบบปัจเจกชนนิยมส่งผลอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัจเจกชนนิยมมีความสัมพันธ์กับเสรีภาพ อิสรภาพ ความเสมอภาค และสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะไม่ถูกแทรกแซงโดยไม่ชอบธรรมจากรัฐ


INFORMED, THE RIGHT TO BE

คำแปล : 1. สิทธิที่จะได้รับการแจ้ง (กฎหมายอาญา) 2. สิทธิฟที่จะได้รับข้อมูล

ความหมาย :

1. สิทธิที่จะได้รับการแจ้ง สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจจับกุม เพื่อนำตัวบุคคลนั้นดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้บุคคลที่ถูกจับกุมตัวได้ทราบข้อหาความผิดและการกระทำที่เป็นความผิด รวมถึงได้ทราบสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นตามกฎหมายภายหลังที่บุคคลนั้นถูกจับกุมตัว เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ สิทธิที่จะได้รับการแจ้งนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งในระบบกระบวนการยุติธรรมระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ กฎหมายของบางประเทศกำหนดรับรองสิทธิในการรับแจ้งข้อหาอย่างเดียว บางประเทศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ถ้าไม่แจ้งสิทธิถือว่าเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การได้รับแจ้งข้อกล่าวหาทำให้บุคคลที่ถูกจับกุมรู้ว่าสิ่งที่กระทำลงไปมีความผิดอย่างไร เพื่อสามารถอธิบายหรือโต้แย้งได้ นอกจากนั้นเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐจับกุม / ควบคุมตัวบุคคลตามอำเภอใจ กฎหมายไทยได้รับรองสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย” 2. สิทธิที่จะได้รับข้อมูล สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะได้ทราบข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของบุคคลนั้นในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของตัวเขาเอง สิทธินี้เกิดจากแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการตัดสินใจของบุคคล และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสาธารณะ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการบริหาร หรือการจัดการของรัฐได้รับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21 เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้น หรือข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวบุคคลนั้นเอง เช่น ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการ สิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเข้าทำสัญญากับภาครัฐหรือเอกชน โดยนัยนี้สิทธิที่จะได้รับข้อมูลนี้ทำให้ผู้ผลิตต้องมีหน้าที่ที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดปัญญาและได้รับข้อมูลสินค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภค ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้นจะต้องเป็นจริงทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการเงิน การโฆษณา ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ปัจจุบันสิทธิในข้อนี้ได้ถูกกำหนดเป็นสิทธิตามกฎหมายในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทั้งหลาย


INITIAL

คำแปล : การลงนามย่อ

ความหมาย :

การลงนามย่อเป็นการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อแสดงว่าการเจรจาร่างสนธิสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วและผู้แทนรัฐที่เจรจาได้ตกลงกันตามถ้อยคำที่ปรากฏในร่างสุดท้ายของสนธิสัญญา การลงนามย่อจึงเท่ากับเป็นการรับรองความถูกต้องของเนื้อหา และถ้อยคำของสนธิสัญญา ที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปขอความยินยอมจากกระบวนการภายในรัฐของตนเพื่อลงนามเต็ม (Full Signature) ต่อไป การลงนามย่อจะยังไม่มีผลผูกพันรัฐ เว้นแต่กรณีที่รัฐที่เจรจาทำสนธิสัญญาได้กำหนดเอาไว้ว่าให้การ ลงนามย่อมีผลเท่ากับการลงนามเต็ม ในทางปฏิบัติของประเทศไทยเมื่อมีการลงนามย่อแล้วจะต้องนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อการลงนามเต็ม


INJURED PERSON

คำแปล : ผู้เสียหาย

ความหมาย :

บุคคลที่ได้รับผลร้ายหรือสิทธิถูกละเมิดจากการกระทำความผิดทางอาญา ทางปกครอง หรือทางแพ่ง ผู้เสียหายอาจเป็นผู้ที่ถูกกระทำความผิดโดยตรงจากการละเมิดกฎหมาย เช่น เป็นผู้ถูกกระทำผิดในคดีอาญา เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกลักทรัพย์ หรือถูกละเมิด หรือเสียหายจากการผิดสัญญา ผู้เสียหายอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ เป็นหลักกฎหมายว่า ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิจะต้องได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย การใช้สิทธิเยียวยาความเสียหายขึ้นอยู่กับวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น การฟ้องเป็นคดีเอง หรือนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือยื่นคำร้องเพื่อขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง คำว่า “ผู้เสียหาย” ยังมีความหมายเฉพาะตามกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น ๆ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหาย ได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิดอาญาฐานใด ๆ หรือถูกละเมิดสิทธิตามที่กฎหมายที่ได้รับรองไว้จากการกระทำความผิดอาญา คำนี้ใช้สำหรับความหมายในกฎหมายอาญา รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายด้วย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ที่ต้องการชดเชยความเสียหายของบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งต่อมาปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด ให้ได้รับค่าชดเชยความเสียหาย โดยได้บัญญัติคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้หมายความถึง “บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น”


INMATE

คำแปล : INMATE

ความหมาย :

บุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนที่โดยให้อยู่รวมกับบุคคลอื่นการจำกัดดังกล่าวอาจกระทำโดยรัฐ โดยให้อยู่ในสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ห้องขังของสถานีตำรวจ เรือนจำสถานพินิจ หรือในสถาบันที่ไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่นโรงพยาบาลจิตเวช ค่ายทหาร หรือศูนย์บำบัดยาเสพติด เป็นต้น คำนี้ยังมีความหมายถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวมกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การควบคุมตัวที่ทำโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายกลุ่มอาชญากร เช่น กลุ่มอาชญากรค้ามนุษย์ เป็นต้น


INQUISITORIAL SYSTEM

คำแปล : ระบบไต่สวน

ความหมาย :

ระบบกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในศาลโดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศที่เป็นระบบประมวลกฎหมาย หรือซีวิลลอว์ (Civil Law) ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายศาสนาแคนอนลอว์ (Canon Law) ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ให้พระเป็นผู้ไต่สวนและซักถามผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้โดยตรง การพิจารณาคดีระบบนี้มีแนวความคิดว่าการตัดสินคดีถูกต้องเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการไต่สวนพยานหลักฐานที่ทำขึ้นอย่างรอบคอบ ดังนั้นศาลจึงมีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ การไต่สวนในชั้นศาลนี้เป็นการดำเนินของฝ่ายตุลาการซึ่งอาศัยสำนวนพยานหลักฐานที่จัดทำขึ้นเบื้องต้นโดยเจ้าพนักงานสอบสวน หรืออัยการซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ศาลจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเด็นการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานหรือสอบสวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมได้ ในระบบนี้อัยการจะมีบทบาทอย่างจำกัดในการซักถามพยาน และระเบียบวิธีพิจารณาคดีจะไม่เคร่งครัดอย่างเช่นระบบกล่าวหา (ดู “ระบบกล่าวหา” ACCUSATORIAL / ADVERSARY SYSTEM) ประเทศไทยได้นำระบบไต่สวนมาใช้ในการพิจารณาความผิดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาความในศาลปกครอง