Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

GROSS VIOLATION OF HUMAN RIGHTS

คำแปล : การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ความหมาย :

สภาพการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอย่างกว้างขวางเป็นระบบในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเอกชน หรือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งรัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นของบุคคลได้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงทำให้สหประชาชาติสามารถมีข้อมติของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่ 1235 (ดู THE 1235 PROCEDURE) และกระบวนการตามข้อมติที่ 1503 (ดู THE 1503 PROCEDURE) กฎหมายสิทธิมนุษยนไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ไว้ แต่มีผู้เสนอว่าประกอบด้วย ระดับของความรุนแรงของการละเมิดที่เกิดขึ้น และประเภทของสิทธิที่ถูกละเมิด ลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การล้างเผ่าพันธ์ุ การใช้ระบอบแบ่งแยกผิว การกดขี่ทางศาสนา การทรมาน การฆ่า การใช้กำลังบังคับให้หายตัว การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ / โดยพลการ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบ


GUIDELINES

คำแปล : ข้อชี้แนะ

ความหมาย :

เอกสารที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทาง หรือกำหนดวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานที่ดำเนินงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติงานด้านนั้นให้สอดคล้องกัน คำว่า “ข้อชี้แนะ” มีผู้แปลไว้หลายความหมาย เช่น “ข้อแนะนำ”“คำแนะนำ” “แนวทาง” ในเอกสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมักจะใช้คำว่า “ข้อชี้แนะ” “ข้อชี้แนะ” ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานทั่วไปและหน่วยงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์สากลที่ต้องการนำเกณฑ์นั้นมาปรับใช้ภายในประเทศในขั้นตอนปฏิบัติงานอาจมีการตีความเกณฑ์คุณค่าเหล่านั้นต่างกันในแต่ละประเทศ หรืออาจมีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้อาจมีการดำเนินงานที่เป็นรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานภายในประเทศด้วยกันที่ทำงานอย่างเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของการดำเนินงานดังกล่าว เช่น กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่หลากหลายอาจมีความไม่ชัดเจน ข้อชี้แนะจึงรวมวิธีการเป็นแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติงานเข้าไว้ด้วยกัน “ข้อชี้แนะ” ที่เป็นเอกสารการดำเนินงานของหน่วยงานราชการของประเทศไทยปรากฏในงานต่าง ๆ เช่น “แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัด (Guidelines for Management of Patients with Snake Bite)” ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง วิธีการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีผู้ป่วยถูกงูพิษกัดที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ของหน่วยงานในสังกัด ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้มีการจัดทำ ข้อชี้แนะ อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศต่าง ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เช่น • “ข้อชี้แนะว่าด้วยบทบาทของอัยการ” (Guidelines on the Role of Prosecutors) กล่าวถึง คุณสมบัติ การคัดเลือก และการฝึกอบรมสถานภาพ และเงื่อนไขของการปฏิบัติงานเสรีภาพในการแสดงออก และการสมาคมบทบาทในการดำเนินคดีอาญา อาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง การใช้ดุลยพินิจความสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐการดำเนินการทางวินัย • “ข้อชี้แนะสหประชาชาติสำหรับการป้องกันเด็กจากการกระทำความผิด” (The United Nations Guidelines for the Prevention of Juvenile Delinquency) หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า “ข้อชี้แนะแห่งกรุงริยาดห์” (The Riyadh Guidelines) ข้อชี้แนะสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Guidelines for Action on Children in the Criminal Justice System) ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญที่ถูกกล่าวอ้างโดยสังคมโลกเสมอ ๆ ในการปฏิบัติที่ดีต่อเด็กที่กระทำผิดตามกฎหมาย


HABEAS CORPUS (Latin)

คำแปล : หมายเรียกให้นำผู้ถูกคุมขังมาศาล

ความหมาย :

Habeas Corpus เป็นคำภาษาละติน เป็นหลักกฎหมายเก่าโดยทั่วไปหมายถึง หมายเรียกให้นำผู้ที่ถูกคุมขังหรือถูกจองจำอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าการคุมขังนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มาศาล เพื่อศาลจะได้ทำการพิจารณาไต่สวนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นั้นถูกคุมขังโดยมิชอบ อันเป็นการใช้อำนาจตุลาการปกป้องบุคคลจากการกระทำที่มิชอบของฝ่ายบริหาร หมายนี้อาจนำมาใช้กับบุคคลที่อยู่ในการควบคุมโดยสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในการควบคุมโดยองค์กรใดของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ สถาบันจิตเวช สถานพินิจ บ้านเมตตา สถานกักกันคนเข้าเมือง ในการออกหมายศาลเรียกชนิดนี้ ผู้ออกหมายจะไม่พิจารณาว่าบุคคลที่ถูกคุมขังมีความผิดหรือไม่ แต่จะพิจารณาว่าการคุมขังนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ


HABITAT

คำแปล : โครงการการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ

ความหมาย :

“อาบิถัท” คำเรียกย่อ ของโครงการของสหประชาชาติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยผังเมือง และสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย มีชื่อเต็มว่า “โครงการการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlement Programme)” อันเป็นงานด้านหนึ่งของสหประชาชาติที่ริเริ่มใน ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) และต่อมาใน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544)สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติให้ยกสถานะขึ้นเป็นโครงการที่มีลักษณะถาวรและเป็นทางการมากขึ้น ให้มีหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและเมือง การสร้างที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอให้แก่ทุกคน “อาบิถัท” มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในการดำเนินงาน “อาบิถัท” จะเน้นความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรเอกชน กิจกรรมความร่วมมือทางด้านวิชาการจะครอบคลุมโครงการทางด้านสิ่งแวดล้อมในเขตเมือง การลดปัญหาความยากจน การปรับโครงสร้างและการฟื้นฟูหลังเผชิญเหตุโรคระบาด และการบริหารจัดการน้ำ นับแต่ ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) อาบิถัทได้เน้นการดำเนินงานที่ให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชาชนและการมีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals :MDGs)


HARASSMENT

คำแปล : การคุกคาม / การรังควาน / การทำให้ได้รับความอับอาย

ความหมาย :

การกระทำที่แสดงออกด้วยวาจา หรือการกระทำ ที่เป็นความก้าวร้าว รุนแรง เย้ยหยันที่เป็นการรบกวนต่อบุคคลอื่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกต่ำต้อยหวาดกลัว เดือดร้อนรำคาญ หรืออับอายขายหน้า การคุกคาม / การรังควาน / การทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการแสดงออกซึ่งการไม่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อันเป็นการไม่ยอมรับในความเสมอภาคและความหลากหลาย (Equality and Diversity)ของบุคคล ทำให้แสดงพฤติกรรมที่ล่วงเกิน หรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลซึ่งมีความแตกต่างจากตนเอง เช่น การมีอคติต่อเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษา ผู้มีความพิการ เป็นต้น


HARD LAW

คำแปล : กฎหมายที่ใช้จริง

ความหมาย :

กฎหมายที่ใช้จริง (ภาษาละติน คือ lex lata) เป็นกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือผู้กระทำในกฎหมายระหว่างประเทศ (Actor in International Law) กฎหมายที่ใช้จริงเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความชัดเจนและยอมรับโดยรัฐต่าง ๆ ว่าก่อพันธกรณีต่อรัฐหรือผูกพันรัฐให้ปฏิบัติตามภายใต้ระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ แหล่งที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศที่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้จริงมีสามประเภท คือ 1. สนธิสัญญา (Treaty) 2. กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (International Customary Law) 3. หลักกฎหมายทั่วไป (General Principles of Law) กฎหมายที่ใช้จริงมีความหมายตรงกันข้ามกับ “กฎหมายที่ควรมี” (Soft Law/ lex ferenda)ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติหรือค่านิยมที่เริ่มก่อตัวเป็นบรรทัดฐาน แต่ยังไม่ชัดเจนที่จะก่อพันธกรณีต่อรัฐให้ต้องปฏิบัติตามการจำแนกระหว่างกฎหมายที่ใช้จริง กับกฎหมายที่ควรมีใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาว่ารัฐละเมิดพันธกรณี สิทธิมนุษยชนหรือไม่


HATE SPEECH

คำแปล : การสื่อสารให้เกิดความเกลียดชัง

ความหมาย :

การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นโดยการพูด การพิมพ์ รูปภาพ ภาพยนตร์ หรือการใช้สัญลักษณ์ ฯลฯ เพื่อจงใจให้เกิดความเกลียดชังขึ้นระหว่างหมู่คณะ หรือกลุ่มทางสังคม เช่นการพูดดูถูกเหยียดหยามศาสนาหรือเชื้อชาติ แม้ว่าเสรีภาพในการแสดงออก โดยการพูด การพิมพ์ และโฆษณาจะได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่การใช้สิทธิต้องมีความรับผิดชอบด้วยเสมอ ดังนั้นหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงยอมรับความจำเป็นในการจำกัดเสรีภาพในการพูด การแสดงออก กฎหมายของทุกประเทศจะกำหนดให้การสื่อสารที่เป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชังระหว่างผู้คนเป็นความผิดอาญา สาระสำคัญคืออย่างไรที่จะถือว่าเป็นลักษณะการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และขนาดของการลงโทษทางอาญาที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการสื่อสาร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออก กับความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผู้อื่น


HEALTH, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในสุขภาพ

ความหมาย :

สิทธิในสุขภาพ หมายถึง การได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมแก่สุขภาวะ โดยครอบคลุมถึงการมีน้ำสะอาด อาหารที่ปลอดภัยมีประโยชน์ รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวอนามัยในการทำงาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการศึกษาเกี่ยวกับสุขอนามัย รวมถึงสุขภาวะทางเพศและการเจริญพันธุ์ โดยส่งเสริมเสรีภาพในการใช้ชีวิตและควบคุมวิถีชีวิตของตนในการเลือกการรักษาพยาบาลที่ตนสมัครใจ และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทดลองโดยพลการ และการเป็นผู้ทรงสิทธิทางสาธารณสุขโดยการเข้าถึงวัตถุแห่งสิทธิต่างๆ นั้นครอบคลุมผู้ทรงสิทธิและวัตถุแห่งสิทธิด้านสาธารณสุข ที่หลากหลาย เช่น สิทธิแม่และเด็ก อาชีวอนามัยที่ดีในสถานประกอบการ สิทธิในสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่บริสุทธิ์ หรืออาจมองในแง่วิธีการป้องกันปัญหา การเยียวยารักษาผู้ป่วยและการควบคุมโรค


HIJACKING

คำแปล : การจี้เครื่องบิน / การจี้อากาศยาน / การจี้ยานพาหนะ

ความหมาย :

ในทางกฎหมาย หมายถึง การเข้ายึด หรือควบคุมบังคับอากาศยานการใช้กำลัง หรือขู่เข็ญว่าจะก่อให้เกิดอันตรายขณะที่บิน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศการจี้เครื่องบิน / จี้อากาศยานเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ หรือความผิดสากล ที่ทุกประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีผู้กระทำผิดได้ แม้ความผิดนั้นจะไม่กระทบกระเทือน หรือก่อความเสียหายต่อประเทศนั้น และได้กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมนี้โดยให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ในกรณีที่มีการร้องขอจากประเทศที่มีอำนาจดำเนินคดี ผู้กระทำความผิดนี้เรียกว่า HIJACKER (โจรจี้เครื่องบิน / คนร้ายจี้เครื่องบิน) ในภาษาพูดทั่วไปคำนี้หมายถึงการจี้ยานพาหนะนั้นในขณะที่เคลื่อนที่


HIV/ AIDS INFECTED PERSON, THE RIGHTS OF

คำแปล : สิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์

ความหมาย :

HIV ย่อมาจาก Human ImmunodeficiencyVirus และ AIDS ย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome สิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีความสัมพันธ์กับปัญหาการแพร่กระจายของโรคติดต่อโดยตรง เนื่องจากสิทธิทางสาธารณสุขของกลุ่มเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพอย่างสมบูรณ์ในแง่สุขอนามัย ดังนั้นการเข้าถึงวัตถุแห่งสิทธิทั้งหลายอย่างเพียงพอทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้มาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การกำหนดมาตรการส่งเสริมสิทธิของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทวีความรุนแรงของปัญหาการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในประเด็นการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งต้องรวมเอากลุ่มคนที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าไปในมาตรการด้วย นอกจากนี้รัฐต้องขจัดระบบการกีดกันผู้ติดเชื้อทั้งที่อยู่ในรูปแบบของกฎหมาย และการปฏิบัติในชีวิตจริง


HOLOCAUST, (THE)

คำแปล : การทำลายล้าง / โฮโลคอสต์

ความหมาย :

คำนี้ถ้าไม่มี Article “the” มีความหมายทั่วไป หมายถึง เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน ถูกทำลายเสียหายอย่างยับเยิน และก่อให้คนตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นผลจากสงคราม การระเบิด หรือไฟไหม้ คำนี้ถ้ามี Article “the” นำหน้า (“The Holocaust”) จะมีความหมายเฉพาะ หมายถึง การทำลายล้างชาวยิวในยุโรปช่วงระหว่าง ค.ศ. 1940 - 1945 (พ.ศ. 2483 - 2488) ซึ่งทำตามแผนการอันเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคนาซีของประเทศเยอรมนี ที่มีความเชื่อว่าเชื้อชาติเยอรมันศักดิ์สูงกว่าเชื้อชาติยิวและเชื้อชาติยิวควรจะต้องถูกกำจัดออกจากสังคมเยอรมัน อันเป็นผลให้ชาวยิวประมาณหกล้านคน หรือสามในสี่ของจำนวนชาวยิวในยุโรปถูกฆ่าตาย อนึ่ง แม้ว่าเหตุการณ์ “โฮโลคอสต์” จะหมายถึง การทำลายล้างชาวยิวแต่พรรคนาซียังได้ทำลายล้างกลุ่มเชื้อชาติ หรือกลุ่มบุคคลอื่นด้วย เช่นชาวยิปซี หรือโรมา (Roma) คนพิการทางกายหรือทางจิต และคนรักเพศเดียวกัน (Homosexual) คำว่า “โฮโลคอสต์” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลว่า “การเผาเพื่อบูชายัญ” เนื่องจากวิธีการในการทำลายล้าง คือ การเผาโดยเตาเผาในค่ายกักกัน ที่พรรคนาซีนำมาใช้ตามแผนการ “ทางออกสุดท้ายสำหรับชาวยิว (Final Solution)” เพราะพรรคนาซีเห็นว่าเป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด


HOME DETENTION/ HOME CONFINEMENT

คำแปล : การกักขัง / การคุมขังไว้ในเคหสถาน

ความหมาย :

มาตรการทางกฎหมายที่เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดโดยการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของบุคคล เป็นมาตรการลงโทษทางเลือกที่ทดแทนการจำคุกเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียนรู้พฤติกรรมอาชญากรรมจากนักโทษที่ถูกคุมขังในระบบเรือนจำปกติ และเป็นการลดภาระการลงโทษ โดยทั่วไปการกักขังหรือการคุมขังไว้ในเคหสถานจะจำกัดให้ผู้ที่ถูกลงโทษอยู่ในบริเวณบ้านตนเอง แต่จะไม่มีการควบคุมตัวไว้ในบ้านตลอดเวลา ผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปประกอบอาชีพได้ภายใต้การสอดส่องติดตามหรือต้องรายงานต่อเจ้าพนักงาน


HOMOSEXUALITY

คำแปล : คนรักเพศเดียวกัน

ความหมาย :

บุคคลที่มีความชอบ หรือความพึงพอใจทางเพศต่อคนเพศเดียวกับตนเอง แต่ยังมีการใช้ชีวิต และการแสดงออกในการดำเนินชีวิตในเพศของตนและไม่ได้ต้องการแปลงเพศ เช่น เกย์ (ชายรักชาย) หรือเลสเบี้ยน(หญิงรักหญิง) ซึ่งต่างจากพวกคนข้ามเพศ ที่มีสภาพกายภาพทางเพศไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนต้องการ (ดู TRANSGENDER) ทัศนคติของสังคมที่มีต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกันมีความแตกต่างกัน บางสังคมใจกว้างยอมรับเพราะถือว่าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ได้ก่อภยันตราย หรือทำลายคุณค่าทางศีลธรรมของสังคมบางประเทศมีกฎหมายยอมรับการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันได้ บางสังคมไม่ยอมรับคนรักเพศเดียวกันจึงทำให้มีการเลือกปฏิบัติหรือรังเกียจเดียดฉันท์ ตลอดจนการคุกคามพวกรักเพศเดียวกัน การรังเกียจเดียดฉันท์คนรักเพศเดียวกันมีหลายรูปแบบและหลายระดับนับตั้งแต่ชุมชน เช่น การประกาศใช้นโยบายของรัฐ หรือของท้องถิ่นที่ทำให้บุคคลรักเพศเดียวกันอับอายขายหน้า หรือประจาน บางประเทศมีกฎหมายอาญากำหนดให้บุคคลมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา และบางประเทศถือเป็นความผิดรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต


HORIZONTAL DIRECT EFFECT

คำแปล : ผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอน

ความหมาย :

ผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอน หมายถึง การที่ปัจเจกชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอนเป็นการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างปัจเจกชนกับปัจเจกชน กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนเพื่อคุ้มครองปัจเจกชนจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชโดยปัจเจกชนผลโดยตรงของสิทธิตามแนวนอน ทำให้ปัจเจกชนสามารถฟ้องร้องบังคับ บุคคลด้วยกันเองได้ภายใต้ระบบกฎหมายภายในของรัฐ เช่นปัจเจกชนผู้ถูกทำทรมานสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลผู้กระทำทรมานได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐประกันสิทธิของบุคคลเพื่อให้สามารถอ้างสิทธินั้นต่อปัจเจกชนด้วยกันได้


HOSTILE ENVIRONMENT

คำแปล : สภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพการจ้าง

ความหมาย :

สภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพการจ้าง หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพการจ้างงาน และการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งสภาวะดังกล่าวมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม พฤติการณ์ หรือการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะสั่งสมจนเกิดมลพิษ ต่อลูกจ้างที่ต้องทนทุกข์อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานดังกล่าว และสภาพดังกล่าวอยู่ในระดับที่มากเพียงพอที่ควรจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข สภาพการจ้าง และสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งศาลมักจะพิจารณา ตัดสินว่าการตกอยู่ภายใต้สภาวะดังกล่าวนั้นเทียบเท่ากับการถูกเลือกปฏิบัติโดยชัดแจ้งต่อลูกจ้าง


HOUSE ARREST

คำแปล : การควบคุมตัวไว้ในเคหสถาน

ความหมาย :

มาตรการทางกฎหมายที่ใช้โดยฝ่ายบริหาร อันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล เป็นการควบคุมตัวโดยที่ยังไม่มีการพิพากษาความผิด หรือเป็นการควบคุมเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหาร หรือการปกครอง มักใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารดำเนินการใช้มาตรการดังกล่าวได้ ซึ่งมักจะประกอบด้วยการจำกัดเสรีภาพในการติดต่อกับบุคคลภายนอก ห้ามการติดต่อสื่อสาร หรืออาจอนุญาตให้ทำได้แต่อยู่ภายใต้การสอดส่องติดตามของเจ้าหน้าที่ การควบคุมตัวไว้ในเคหสถาน แม้กระทำในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้ากระทำโดยพลการ ไม่มีมูลเหตุที่อ้างความชอบธรรมในการควบคุมตัว เช่น ไม่มีภัยจากบุคคลนั้นอย่างแท้จริง หรือควบคุมตัวเป็นเวลานานเกินสมควร ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น รัฐบาลทหารเมียนมาร์ควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ไว้ในบ้าน เป็นต้น


HUMAN DIGNITY

คำแปล : ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความหมาย :

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำที่ใช้อธิบายความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ เพศ ภาษา ศาสนาใด อยู่ในดินแดนใด มีฐานะทางสังคม หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจเช่นใด ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงต้องเท่าเทียมกัน และจักต้องปฏิบัติต่อกันให้สมกับการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์การเมืองที่สืบทอดมาจากแนวคิดของสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจแยกออกจากความเป็นมนุษย์ได้ ใช้กล่าวอ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิบางประการที่ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นมนุษย์ สิทธินี้เป็นสาระสำคัญแห่งความเป็นมนุษย์ ถ้าขาดสิทธินี้ มนุษย์ก็จักสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์ กฎหมายของรัฐ หรือผู้มีอำนาจใดๆ ไม่อาจพรากสิทธินี้ไปได้ ดังนั้นสิทธิเหล่านี้จึงรองรับ “ศักดิ์ศรี” ความเป็นมนุษย์อันต่างจากสิทธิอื่นๆ เช่นสิทธิตามกฎหมาย หรือสิทธิตามสัญญา ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการพื้นฐานที่ยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้มีการยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลเพื่อจรรโลงศักดิ์ศรีของมนุษย์ ในการจัดทำตราสารปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ ดังนั้นในการดำเนินการต่างๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเนื่องจากเป็นวิธีการที่นำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์


HUMAN RIGHTS COMMITTEE

คำแปล : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ความหมาย :

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นกลไกระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)เพื่อเป็นองค์กรที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลให้รัฐต่างๆปฏิบัติตามพันธกรณีตามกติกาฯ และพิธีสารของกติกาฯ ฉบับนี้ คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบแปดคน ซึ่งได้รับการเลือกโดยการลงคะแนนลับจากประเทศที่เป็นภาคี (Party) ของกติกาฯ แต่ละประเทศมีสิทธิส่งผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวแทนของตนได้ไม่เกินสองคน แต่ในคณะกรรมการจะต้องไม่มีคนสัญชาติเดียวกันสองคนคณะกรรมการฯ จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูงและเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี แม้ว่าคณะกรรมการฯ จะเสนอโดยประเทศสมาชิก แต่การทำงานตามอำนาจหน้าที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐใด คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งจะอยู่ในวาระครั้งละไม่เกินสี่ปี อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคือการดูแลการปฏิบัติตาม ICCPR และพิธีสาร (Protocol) ต่างๆ ของ ICCPR ที่รัฐภาคีเสนอ ในการพิจารณารายงาน คณะกรรมการจะวิเคราะห์และให้ความเห็นว่ารัฐภาคีมีจุดอ่อนจุดแข็งและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศได้มีผลอย่างจริงจัง คณะกรรมการได้จัดทำแนวทางในการจัดทำรายงาน (Guidelines) ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รายละเอียดว่ารัฐควรต้องรายงานประเด็นใด หรือเนื้อหาของสิทธิต่างๆ ใน ICCPR นั้นครอบคลุมเรื่องใดบ้างแนวทางในการจัดทำรายงานของคณะกรรมการอาจถือได้ว่าเป็นการตีความข้อบทสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งทำให้เนื้อหาของสิทธิต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียน (Complaint) ว่ารัฐภาคีรัฐไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีตาม ICCPR


HUMAN RIGHTS DAY

คำแปล : วันสิทธิมนุษยชนสากล

ความหมาย :

สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญ เพื่อรำลึกถึงการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนใน ค.ศ. 1948(พ.ศ. 2491) ซึ่งเป็นเอกสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอันเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การประกาศวันสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการมีขึ้นในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) สหประชาชาติถือวันนี้เป็นโอกาสพิเศษเพื่อเรียกร้องให้นานาประเทศใส่ใจปัญหาสิทธิมนุษยชนประเด็นต่าง ๆ นอกจากนั้นยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าพิธีมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและรางวัลสิทธิมนุษยชนศึกษาขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมจะทำในวันนี้ นานาประเทศได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เช่น การจัดนิทรรศการ การประชุมอภิปรายทางวิชาการและการเดินขบวนเพื่อรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น


HUMAN RIGHTS DEFENDER

คำแปล : ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

ความหมาย :

ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล ไม่ว่าจะดำเนินการโดยการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อให้เกิดการแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินงาน ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน มักถูกคุกคามข่มขู่หรือถูกละเมิดสิทธิเสียเอง ดังนั้นสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงได้ประกาศใน “ปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Declaration on Human Rights Defenders)” ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จักต้องปกป้องคุ้มครองบุคคลเหล่านี้