FREEDOM OF MEDIA คำแปล : เสรีภาพของสื่อ ความหมาย :
เสรีภาพในการสื่อสารกันระหว่างบุคคลหรือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของบุคคล โดยการใช้เครื่องมือที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารคำว่า Media หมายถึง กิจการที่เป็นสื่อกลาง หรือตัวกลาง เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิตอล หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงออกผ่านเครื่องมือที่เป็นสื่อกลางนั้นจะต้องปราศจากการแทรกแซงโดยมิชอบจากรัฐ เสรีภาพดังกล่าวได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น เสรีภาพของสื่อเป็นสิทธิประกอบด้านหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 แต่อย่างไรก็ตาม การมีเสรีภาพดังกล่าวอาจมีขอบเขต หรือถูกจำกัดได้ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือผลประโยชน์ของรัฐ หรือการใช้สื่อเพื่อละเมิดสิทธิของผู้อื่นตามกฎหมายก็ไม่อาจที่จะกระทำได้ เป็นต้น |
FREEDOM OF RELIGION คำแปล : เสรีภาพทางศาสนา ความหมาย :
การปลอดจากการถูกจำกัดของบุคคลที่เกี่ยวกับการมีความเชื่อ ยึดถือหรือปฏิบัติตามแนวทางของคำสอนทางศาสนา เสรีภาพทางศาสนา ประกอบด้วยสิทธิในการประกอบศาสนพิธีตามลำพัง หรือร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งในที่ส่วนตัว หรือที่สาธารณะ รวมทั้งสามารถเข้าร่วมพิธี ปฏิบัติ และเผยแพร่คำสั่งสอนทางศาสนา โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการถูกลงโทษจากรัฐบาล หรือถูกโจมตีโดยชนกลุ่มอื่น เสรีภาพทางศาสนามีความสัมพันธ์กับเสรีภาพด้านอื่น เช่น เสรีภาพในการแสดงออก และการพิมพ์ เสรีภาพในการได้รับข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการรวมกลุ่มสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุม เป็นต้น ดังนั้นในการคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนา รัฐต้องประกันเสรีภาพเหล่านี้ด้วย เสรีภาพทางศาสนาได้รับการรับรองโดยข้อ 18 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 18 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)ได้รับรองสิทธินี้ไว้มาตรา 37 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น” |
FREEDOM TO TRAVEL ABROAD คำแปล : เสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศ ความหมาย :
อิสรภาพของบุคคลในการเคลื่อนไหว เดินทางข้ามพรมแดนของรัฐออกไปจากรัฐ หรือการกลับเข้ามาในรัฐของตน รวมทั้งอิสรภาพในการกำหนด หรือเลือกจุดหมายปลายทางในการเดินทางได้ด้วยตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรม (ดู JUSTIFIED INTERFERENCE) เสรีภาพในการออกจากดินแดนของรัฐนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมาย หรือระยะเวลาของบุคคลซึ่งเลือกที่จะอยู่นอกประเทศเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐานอย่างถาวร และการตัดสินใจเกี่ยวกับประเทศจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป สิทธินี้มีความสัมพันธ์กับ “การลี้ภัย” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในช่วงการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เนื่องจากประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ห้ามบุคคลในประเทศซึ่งมักเกรงกลัวการรังควานจากระบอบการปกครองนั้นเดินทางออกนอกประเทศ การรับรองสิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศ จึงเป็นการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสิทธิระหว่างประเทศให้กับบุคคลที่อยู่ในภาวะถูกกดขี่ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเดินทางลี้ภัยได้ ซึ่งต่อมาจึงได้มีการจัดทำอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494(Convention relating to the Status of Refugees 1951) ขึ้น เสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศ เป็นอิสรภาพประเภทหนึ่งจัดอยู่ในอิสรภาพในการเคลื่อนไหว (Freedom of Movement) ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นยังได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า “บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีที่จะออกจากประเทศใด ๆ รวมทั้งประเทศของตนได้” การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางอาจทำได้ตามหลัก “การจำกัดเสรีภาพที่ชอบธรรม” ซึ่งต้องทำได้โดยบัญญัติของกฎหมาย กฎหมายนั้นต้องมีวัตถุประสงค์ที่สังคมประชาธิปไตยยอมรับ เช่น การป้องกันอาชญากรรมข้ามแดน การป้องกันการลักลอบการค้ามนุษย์ การกักกันโรคติดต่อ หรือการป้องกันอาชญากรหลบหนีคดีอาญาไปต่างประเทศ เป็นต้น |
FRENCH REVOLUTION คำแปล : การปฏิวัติฝรั่งเศส ความหมาย :
เหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332)ที่เกิดจากประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน และโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic Regime)การปฏิวัติดังกล่าวนำมาสู่การปกครองแบบเผด็จการทหาร ที่นำโดยนโปเลียนโปนาพาร์ตอยู่หลายปีก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบัน สาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติมีหลายสาเหตุ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของระบอบฐานันดร หรือระบอบชนชั้นทางสังคมของฝรั่งเศส ซึ่งมีสามฐานันดรอันประกอบด้วย นักบวช (ฐานันดรที่หนึ่ง) ขุนนาง (ฐานันดรที่สอง) และประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางและชาวไร่ชาวนา (ฐานันดรที่สาม)นอกจากนั้นการที่กษัตริย์ทรงใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำสงครามกับอังกฤษประกอบกับการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยของราชวงศ์โดยเฉพาะพระนางมารีอังตัวแน็ต พระราชินี จึงได้เรียกเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ในฐานันดรที่สามรู้สึกคับแค้นต่อการถูกกดขี่ประชาชนโดยการนำของนายพล เดอ ลาฟาแย้ต จึงจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาล และได้มีการทำลายคุกบาสติญ ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง และนำไปสู่การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวแน็ต ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้มีการจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษย์และสิทธิพลเมืองฝรั่งเศสขึ้นเพื่อยืนยันความเท่าเทียมของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และในฐานะที่เป็นพลเมือง คำประกาศฉบับนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(ดู Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) |
FRIENDLY SETTLEMENT คำแปล : การยุติอย่างฉันมิตร ความหมาย :
คำว่า “การยุติอย่างฉันมิตร” คือ ผลของกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างไม่เป็นทางการระหว่าง ผู้ร้องเรียนหรือผู้ยื่นฟ้อง (Complaint หรือ Petitioner) ซึ่งอาจจะเป็นปัจเจกชน กลุ่มบุคคล หรือรัฐฝ่ายหนึ่งกับ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกฝ่ายหนึ่งโดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะแก้ปัญหาในข้อร้องเรียนเพื่อยุติกระบวนการร้องเรียน ปกติองค์กรที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนหรือคำร้องทุก ๆ องค์กร ไม่ว่าจะในระดับระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee)และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน(Human Rights Council)หรือในระดับภูมิภาค เช่น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Human Rights Commission)ของสภายุโรปเดิมที่มักจะจัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อยุติอย่างฉันมิตร หรือในชั้นการพิจารณาเพื่อรับเรื่อง (Admissibility) ภายใต้ศาลสิทธิมนุษยชนในระบบปัจจุบัน ข้อร้องเรียนหรือคำฟ้องที่ยุติอย่างฉันมิตรมักจะตกลงกันให้รัฐหรือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเยียวยาความเสียหาย หรือชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ตกลงกันจะอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลขององค์กรที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียนข้อพิพาท |
FROM WOMB TO TOMB คำแปล : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ความหมาย :
คำเรียกอย่างย่อของข้อเขียน “The Quality of Life of a South East Asian : A Chronicle of Hope from Womb to Tomb”ของ ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เสนอในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ต่อมาได้นำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ภายหลังได้มีการแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ปฏิทินแห่งชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ข้อเขียนนี้ได้สะท้อนให้เห็นความจำเป็นทั้งในเชิงวัตถุ สังคม กฎหมายและมโนธรรมในการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์ นับตั้งแต่บุคคลเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดมาเป็นบุคคลจนกระทั่งตาย ทั้งในมิติของปัจเจกชน สมาชิกของครอบครัวและสังคม เช่น ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต การศึกษา ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” สะท้อนถึง “สิทธิ”ที่นานาประเทศได้ประกาศรับรองเป็นมาตรฐานแห่งความเป็นมนุษย์ร่วมกันของสังคมโลกตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ดูข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในภาคผนวกที่ 1) |
FRONT PAY คำแปล : การจ่ายค่าทดแทนตั้งแต่ต้นสำหรับค่าจ้างงานในอนาคต ความหมาย :
การจ่ายค่าทดแทนตั้งแต่ต้นสำหรับค่าจ้างงานในอนาคต หมายถึงการจ่ายค่าทดแทนซึ่งอาจจะเป็นค่าชดเชย หรือ ค่าทดแทนที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างแทนการจ้างงานในอนาคต ซึ่งศาลมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลือกปฏิบัติให้ต้องออกจากงาน ซึ่งไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยในลักษณะที่จะเยียวยาให้มีสภาพดีดังเดิม กล่าวคือ การรับกลับเข้าทำงานเนื่องจากลูกจ้างอาจจะหวาดกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือไม่สบายใจในการทำงาน หรือเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งจากนายจ้าง ศาลจะสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนแก่ลูกจ้างในจำนวนเงินที่จะคาดหมายได้โดยมีเหตุผลอันสมควรว่าลูกจ้างพึงจะได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวในอนาคตจากการจ้างงานเป็นจำนวนเท่าใด |
FULFIL, DUTY TO / OBLIGATION คำแปล : ภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุ / พันธกรณีในการทำให้บรรลุผล ความหมาย :
ภาระหน้าที่ (DUTY) หรือพันธกรณี (OBLIGATION) ในการทำให้บรรลุผลเป็นหน้าที่หนึ่งในภาระหน้าที่สามด้านตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีต่อปัจเจกชน หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิ คือ การเคารพ (Respect)การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้บรรลุ (Fulfil) ภาระหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่ในเชิงบวกที่ผู้มีหน้าที่ หรือรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ (Duty Bearer) ที่จักต้องจัดหาหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้ทรงสิทธิ (Right Holder) ได้บรรลุถึงสิทธิที่เขามี ดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการต่างๆ ไม่ว่าทางด้านนโยบาย กฎหมาย หรือการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลได้รับสิทธิอย่างเต็มเปี่ยม ตัวอย่างภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุในแง่สิทธิทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่น การจัดหาทนายความให้แก่จำเลยในกรณีที่เขาไม่สามารถจ้างทนายความได้ ถือได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมที่รัฐได้รับรอง ในแง่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม การที่รัฐมีนโยบายให้การศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กทุกคน หรือการจัดโครงการให้ทุนยืมเรียนในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิในการศึกษา |
GENDER คำแปล : เพศสภาพ ความหมาย :
เพศสภาพหมายถึง ความแตกต่างระหว่างชาย หญิง ที่ได้รับการปฏิบัติตามแต่วัฒนธรรม ค่านิยม คุณค่าทางสังคม ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยทัศนะของคนในสังคมที่แตกต่างกัน ในขณะที่คำว่า เพศ (Sex) หมายถึง ลักษณะทางธรรมชาติของการเป็นชาย หรือ หญิง ที่ต่างกัน แต่คำว่า เพศสภาพ (Gender)เป็นคำที่มีความหมายผันแปรไปตามสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดกรอบในการนิยามที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม และความแตกต่างในบริบททางสังคมเหล่านี้นี่เองที่ทำให้มีการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง ในบทบาท หน้าที่ สิทธิ ที่แตกต่างกัน เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันในแต่ละสังคมว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหญิงหรือไม่ เช่นสังคมมุสลิมไม่ได้รู้สึกว่าการปฏิบัติแบบนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลทางศาสนา คุณค่าทางสังคม และปัจจัยแวดล้อม เป็นต้น |
GENERAL ACT คำแปล : กรรมสารทั่วไป ความหมาย :
กรรมสารทั่วไปเป็นสนธิสัญญารูปแบบหนึ่งซึ่งอาจมีลักษณะเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการก็ได้ เช่นกรรมสารทั่วไปในการยุติกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ (General Act for the Pacific Settlement of International Disputes, 1928) ซึ่งสมัชชาสันนิบาตชาติรับรองใน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) และต่อมาสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองกรรมสารทั่วไปฉบับแก้ไขใน ค.ศ. 1949(พ.ศ. 2492) |
GENERAL ASSEMBLY (UNITED NATIONS) คำแปล : สมัชชาใหญ่ (สหประชาชาติ) ความหมาย :
สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (หรือเรียกสั้นๆว่า “สมัชชาฯ” ) เป็นองค์กรหนึ่งในห้าองค์กรหลักของสหประชาชาติอันประกอบด้วย General Assembly, Security Council, Economic and Social Council, Secretary General และ International Court of Justice สมัชชาฯ มีหน้าที่ในการปรึกษาหารือกิจการทั้งปวงของสหประชาชาติโดยการประชุมใหญ่ ประกอบด้วยผู้แทนรัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกรัฐเพื่อมีมติร่วมกันดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎบัตรฯ แต่ไม่ได้มีบทบาทในการ “ลงมือปฏิบัติ” โดยตรง ในการลงมติแต่ละประเทศมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ในด้านสิทธิมนุษยชน สมัชชาฯ มีหน้าที่ในการริเริ่มศึกษา และทำข้อแนะนำใดๆ เพื่อให้บรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ สมัชชามีอำนาจในการทำคำเสนอแนะ หรือเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใดๆ หรือ ต่อคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) หรือเลขาธิการสหประชาชาติ (Secretary General)ให้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นสมัชชาฯ ยังสามารถทำการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือศึกษาปัญหาสิทธิมนุษยชนใดๆ ได้ ในกรณีที่มีสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนนอย่างรุนแรง สมัชชาฯ มีบทบาทในการเรียกร้องให้นานาประเทศห่วงใยหรือใส่ใจต่อสถานการณ์นั้นๆ เช่น ในกรณีการใช้ระบอบแบ่งแยกผิว (Apartheid)ในสหภาพแอฟริกาใต้ หรือปัจจุบันคือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ |
GENERAL COMMENT คำแปล : ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ ความหมาย :
ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ เป็นถ้อยแถลงที่จัดทำขึ้นเป็นเอกสารโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญา เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการสิทธิเด็ก ข้อคิดเห็นร่วมขององค์กรที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณี เพื่อให้รัฐภาคีได้ปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเต็มเปี่ยม ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายประเด็นที่สำคัญในการจัดทำรายงานหรือเนื้อหา ความหมายและพันธกรณีของรัฐของสิทธิต่าง ๆ ที่รับรองโดยอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานตามวาระของรัฐภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ประกอบกับแนวคำวินิจฉัยคดีที่เป็นข้อพิพาทขององค์กรสิทธิมนุษยชน แม้ว่าข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญไม่มีพันธกรณีทางกฎหมายแต่ช่วยอธิบายเนื้อหาและการปกป้องสิทธิตลอดจนพันธกรณีของรัฐในการเคารพสิทธิมนุษยชน จัดว่าเป็นกฎหมายที่ควรมี (Soft Law) ย่อมเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและใช้เป็นแรงกดดันทางด้านศีลธรรมและทางการเมือง |
GENERAL PRINCIPLES OF LAW RECOGNISED BY CIVILIZED NATIONS คำแปล : หลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ ความหมาย :
กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ เป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง และใช้บังคับได้ทั่วไป หลักกฎหมายทั่วไปฯ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น หลักความเท่าเทียม (Equality) หลักการไม่พิจารณาโทษสองครั้งในความผิดเดียวกัน (Double Jeopardy หรือ ne bis in idem) หลักการพิจารณาความผิดอาญาต้องทำโดยองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระ เป็นต้น ที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปฯ อาจเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือเป็นหลักกฎหมายภายในประเทศก็ได้ เช่น หลักการห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างคนชาติกับคนต่างชาติ (Non-discrimination) หลักการหมดสิ้นหนทางเยียวยาตามกระบวนการยุติธรรมภายใน (Exhaustion of Local Remedy) ซึ่งเกี่ยวกับการใช้มาตรการคุ้มครองทางการทูต (ดู Denial of Justice) หลักความรับผิดชอบของรัฐ (State Responsibilities) ในกรณีที่คนของรัฐก่อความเสียหายต่อรัฐอื่น หลักสนธิสัญญาต้องตีความอย่างสุจริต(Good Faith) หลักการใช้สิทธิต้องไม่ทำให้รัฐอื่นเสียหาย หรือการไม่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (Abuse of Rights) เป็นต้น หลักกฎหมายทั่วไปฯ มีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาเรื่องพันธะหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์ค่านิยมที่เป็นสากล (ดู Universality of Human Rights) หลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายอย่างเป็นมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ ดังนั้นกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติของรัฐต่อบุคคลจึงต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่รับรองโดยนานาอารยประเทศ |
GENEVA CONVENTIONS คำแปล : “บรรดาอนุสัญญาเจนีวา” ว่าด้วยมนุษยธรรม ความหมาย :
“บรรดาอนุสัญญาเจนีวา” ว่าด้วยมนุษยธรรม(Geneva Conventions) หมายถึงกฎหมายมนุษยธรรม(Humanitarian Lawsหรือสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่เกิดการพิพาทด้วยอาวุธ) ที่ได้จัดทำขึ้นภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of Red Cross หรือ ICRC) ใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ณ นครเจนีวา ประเทศสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มุ่งคุ้มครองผู้ประสบภัยจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นพลรบ (หรือเชลยศึก) หรือพลเรือน บางกรณีคำว่า “อนุสัญญาเจนีวา” จะรวมถึงพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญา (Additional Protocol) จำนวนสองฉบับที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1977(พ.ศ. 2520) ด้วย แม้ว่าก่อน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ได้มีการจัดทำอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการทำสงคราม หรือกฎเกี่ยวกับการพิพาทด้วยอาวุธหลายฉบับเช่น อนุสัญญาเจนีวาในค.ศ.1864 (พ.ศ. 2407) และ ค.ศ. 1929(พ.ศ.2472) ในปัจจุบันคำว่า “อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions)”หมายถึง อนุสัญญาสี่ฉบับ (และพิธีสารเพิ่มเติม) ที่ทำขึ้นในค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ซึ่งเป็นตราสารหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ “อนุสัญญาเจนีวา” โดยลำพังจะหมายถึงสนธิสัญญาที่กล่าวข้างต้นสำหรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาเจนีวามักเรียกว่า “กฎหมายแห่งเจนีวา” หรือ Geneva Law อนึ่ง “เจนีวา” เป็นสถานที่ที่จัดทำสนธิสัญญาทั่วๆ ไปหลายฉบับดังนั้นจึงมักใช้คำว่า Geneva Convention ประกอบกับชื่ออนุสัญญาเหล่านั้น เช่น Geneva Conventionon the Execution of Foreign Arbitral Award 1927 (อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ พ.ศ. 2460) |
GENOCIDE คำแปล : การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความหมาย :
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึงการกระทำใดๆที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฆ่า หรือทำลายเชื้อชาติ เผ่าชน เผ่าพันธุ์ กลุ่มประชากร กลุ่มศาสนา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยวิธีการฆ่าสมาชิกของกลุ่มหรือการกระทำให้เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงของสมาชิกของกลุ่ม หรือมีการกระทำโดยตั้งใจที่จะก่อให้เกิดสภาวะ หรือสภาพการดำรงชีวิตที่จะเป็นการทำลายเผ่าชนนั้นในทางกายภาพ หรือกำหนดมาตรการใดๆที่ห้ามการขยายเผ่าพันธุ์ หรือห้ามการกำเนิดบุตรในกลุ่มชนนั้นๆ หรือการใช้กำลังบังคับการถ่ายโอนเด็ก หรือผู้เยาว์จากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน และเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายมนุษยธรรม เป็นการกระทำที่ต้องห้าม และถือเป็นความผิดที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ |
GLOBAL REACH คำแปล : การเข้าถึงทุกมุมโลก ความหมาย :
การเข้าถึงทุกมุมโลก เป็นคำที่ภาคธุรกิจนำมาใช้อธิบายการเข้าถึงทุกภาคส่วนของโลกโดยอาศัยเทคโนโลยี และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึง และทำธุรกรรมระหว่างองค์กรธุรกิจทั่วทุกมุมโลก และสามารถติดต่อกับลูกค้าในระดับและประเทศต่างๆ องค์กรธุรกิจสามารถเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล การโฆษณา สินค้าและบริการแก่ลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง การสื่อสาร การทำธุรกรรมโดยช่องทางของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นี้ ช่วยให้มีการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้โทรคมนาคมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีราคาแพง เช่น การไปรษณีย์ ที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่า และใช้ระยะเวลายาวนานกว่า เกิดเป็นทางเลือกอื่น เช่น การส่งข้อมูลทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แทนไปรษณีย์กระดาษ แนวทางปฏิบัติของระบบธุรกิจสมัยใหม่ได้นำไปสู่ความจำเป็นในการก่อตั้งระบบกฎหมาย การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา เพื่อกำกับดูแล ต่อมา การเข้าถึงทุกมุมโลกได้ถูกนำมาใช้และวิวัฒนาการในด้านอื่นๆ ด้วย การเข้าถึงทุกมุมโลกได้มีอิทธิพลต่อการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่สังคมโลกและมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรม ค่านิยม วิสัยทัศน์ รูปแบบการดำเนินชีวิต ความเชื่อ แบบแผนการบริโภคและจารีตประเพณีของกลุ่มชน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อพลวัตทางสังคม และในบางกรณีพลวัตดังกล่าวนำมาสู่การเสื่อมสลายของประเพณีดั้งเดิมของเผ่าชนและสิทธิในการดำรงอยู่ของเผ่าชนดั้งเดิม |
GLORIOUS REVOLUTION คำแปล : การปฏิวัติอันเรืองโรจน์ ความหมาย :
กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในประเทศอังกฤษในตอนปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด (ค.ศ. 1688 - 1689 หรือ พ.ศ. 2231 - 2232) หลังจากพระราชินีอลิซาเบท (ที่หนึ่ง) สิ้นพระชนม์ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาและศาสนจักร ที่มีมูลเหตุมาจากพระเจ้าเจมส์ที่สอง ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพทางศาสนาของพวกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของอังกฤษ รัฐสภาจึงร่วมมือกับประชาชนโค่นล้มพระเจ้าเจมส์ที่สองและสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมขึ้นเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้าวิลเลียมที่สามใน ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) และพระเจ้าวิลเลียมที่สามทรงสัญญาว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights)ที่รัฐสภาร่างขึ้นเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐสภาและให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวอังกฤษมากขึ้น (ดู ENGLISH BILL OF RIGHTS) การปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลให้การปกครองแบบพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดของอังกฤษสิ้นสุดลงเปลี่ยนมาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมายโดยรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองการปกครอง บางครั้งเรียกการปฏิวัตินี้ว่าการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ (Bloodless Revolution)เนื่องจากไม่มีการสู้รบ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง หลังจากปฏิวัติ รัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นตามลำดับ เช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยขันติธรรมทางศาสนา (Toleration Act) ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่พวกโปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ ที่ไม่ยอมขึ้นต่อนิกายแองกลิคันซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ การปฏิวัติอันเรืองโรจน์มีผลต่อแนวคิดการเมืองการปกครองในยุโรปและการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก |
GOOD GOVERNANCE คำแปล : ธรรมาภิบาล ความหมาย :
คำว่า "ธรรมาภิบาล" ได้ถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการพัฒนา ที่แสดงให้เห็นว่านโยบายมหาชนที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ และการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจและบังคับการให้เป็นไปตามการตัดสินใจนั้นดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม ธรรมาภิบาล สามารถนำมาใช้ได้ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค ตลอดไปจนถึงระดับโลก แนวคิดธรรมาภิบาล ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นต้นแบบ เพื่อเปรียบเทียบกับความไร้ประสิทธิภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ทางการเมือง ที่ไม่มีความโปร่งใสไร้ความเป็นธรรม ดังนั้นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลย่อมเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และดำเนินกิจการใดๆด้วยความถูกต้อง ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ อย่างตรงไปตรงมา |
GRASS-ROOTS ORGANISATIONS คำแปล : องค์กรรากหญ้า ความหมาย :
ในความหมายทางสังคมและการเมือง หมายถึง การที่ชุมชนระดับท้องถิ่นรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเมือง องค์กรรากหญ้ามักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นสละเวลาเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือพรรคในระดับชาติได้ คำว่า “รากหญ้า” ราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำนิยามว่าหมายถึง “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งมีฐานะยากจน และด้อยโอกาสทางสังคม” การใช้คำว่า “รากหญ้า” ในทางการเมืองคาดว่าเริ่มจากวุฒิสมาชิกอัลเบิร์ต เจเรไมอาห์ เบเวอร์ริดจ์ แห่งรัฐอินเดียนา สังกัดพรรคก้าวหน้าที่กล่าวปราศัย ในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ว่า “พรรคนี้มาจากรากหญ้า มันเติบโตมาจากดินแห่งความต้องการอย่างแรงกล้าของประชาชน” สำหรับในประเทศไทย คำว่า “รากหญ้า” เป็นคำที่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการรณรงค์ทางการเมืองโดยใช้เปรียบเทียบ หมายถึง ประชาชนชั้นล่างของสังคมไทย โดยมากเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีภาวะการครองชีพต่ำ องค์กรรากหญ้ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายทางการเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่นของชุมชน ซึ่งมักเป็นคนชายขอบ(ดู MARGINALISED PEOPLE) องค์กรรากหญ้ายังเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกของสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกิจการสาธารณะ หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง |
GROSS VIOLATION คำแปล : การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ความหมาย :
คำว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” มีการใช้อย่างกว้างขวางในกฎหมายสิทธิมนุษยชน แม้ว่าองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงยังขาดความชัดเจน แต่เป็นที่ยอมรับว่าโดยทั่วไปการละเมิดกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐาน สิทธิมนุษยชนบางอย่างอันมีลักษณะร้ายแรงและเป็นระบบ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือการกระทำที่เป็นการละเมิดนั้นเป็นแนวปฏิบัติหรือเป็นนโยบายของรัฐ เช่น การสังหารตามอำเภอใจ การใช้ระบอบปกครองแบ่งแยกสีผิว การเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ การค้าทาส การล้างเผ่าพันธุ์ หรือการประหัตประหารด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ ในการพิจารณาลักษณะการกระทำหรือแนวปฏิบัติที่จะถือว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุดสองประการ คือ สิทธิที่ถูกละเมิดนั้นเป็นสิทธิที่เป็นสาระสำคัญ Essence of Right ของความเป็นมนุษย์ และความร้ายแรง หรือผลของการกระทำหรือ Gravity of Violation |
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons • ดูรายละเอียดสัญญา
© 2018 ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ