Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

EXPORT PROCESSING ZONE

คำแปล : เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ความหมาย :

เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นเขตหรือพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกโดยดึงดูดนักลงทุนและการลงทุนต่างชาติในการผลิต และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิ่งจูงใจพิเศษทางด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี รวมทั้งมีการสนับสนุนคนงานและอุตสาหกรรมจำนวนมากเพื่อให้พร้อมแก่การผลิตสินค้า โดยมีค่าแรงต่ำ เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวในบางประเทศจะห้ามการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีการยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยกเลิกอุปสรรคการนำเข้า ส่งออก ตัวอย่างเช่น ชายแดนสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกได้มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว มีโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและยกเลิกภาษีอากร ตลอดจนมีการจัดหาคนงานรองรับในเขตดังกล่าวจำนวนมาก ปัญหาในเขตอุตสาหกรรมพิเศษเพื่อการส่งออกดังกล่าว มักจะมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันสืบเนื่องมาจากการยกเลิก หรือผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และไม่คุ้มครองแรงงานในด้านการกำหนดค่าแรงในราคาต่ำ อีกทั้งอาจจะไม่มีมาตรฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอีกด้วย


EXPRESSION, FREEDOM OF

คำแปล : เสรีภาพในการแสดงออก

ความหมาย :

เสรีภาพในการแสดงออกเป็นการประกันว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูดการเขียน การพิมพ์การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นใด เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต การจำกัดเสรีภาพในยามปกติจะกระทำมิได้การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนการให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงออก เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน รัฐต้องมีมาตรการในการป้องกันการให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น อันจะเป็นการนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนจะได้รับ


EXPROPRIATION / NATIONALISATION

คำแปล : การเวนคืน/การยึดกิจการเป็นของรัฐ

ความหมาย :

การเวนคืน หรือการยึดกิจการเป็นของรัฐ เป็นการที่รัฐออกกฎหมาย หรือใช้อำนาจรัฐยึดสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน หรือบรรษัทมาเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพย์สิน หรือทรัพยากรที่อยู่ ในอำนาจรัฐ (Jurisdiction) อย่างไรก็ตาม การเวนคืนกับการยึดกิจการมาเป็นของรัฐจะกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ดังนั้นการเวนคืนกับการยึดกิจการเป็นของรัฐต้องทำโดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะต้องชดเชยค่าเสียหายที่เหมาะสมแก่บุคคล หรือบรรษัทที่ถูกเวนคืน คำว่า “Nationalisation” มีความหมายที่มีนัยทางการเมืองเกี่ยวกับการใช้อธิปไตยของรัฐทางเศรษฐกิจ ที่มักนำมาอ้างเพื่อยึดคืนกิจการจากชาวต่างด้าวมาเป็นกิจการของชาติ


EXTRA-JUDICIAL EXECUTION

คำแปล : การประหารนอกกฎหมาย

ความหมาย :

การประหารนอกกฎหมายเป็นการฆ่าบุคคลอื่นโดยจงใจซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำสั่งของรัฐบาลหรือโดยองค์กรที่อยู่ในความรับผิดชอบและการรู้เห็นเป็นใจของรัฐบาล โดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาดำเนินคดีเพื่อลงโทษบุคคลนั้น การสังหารบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายถ้าทำไปเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากอันตรายที่กำลังจะเกิดและไม่เกินควรแก่เหตุ ถือว่ากระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ถือว่าเป็นการประหารนอกกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีกระบวนการตรวจสอบ หรือมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ หรือเพิกเฉยการใช้อำนาจที่ป้องกันเกินส่วนแห่งความจำเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่อาจถือว่ารัฐบกพร่องต่อพันธะหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดการประหารนอกกฎหมายได้ อนึ่งคำว่าการประหารนอกกฎหมาย นี้มีความหมายต่างจากคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 และ พ.ร.บ.ชันสูตรพลิกศพ พ.ศ.2457ที่หมายถึงคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายได้ถูกเจ้าพนักงานฆ่า โดยอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายของผู้ตายที่อยู่ในความควบคุมของพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พระราชบัญญัตินี้ยกเลิกแล้ว และคำนี้ไม่ได้มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน


EXTRADITION

คำแปล : การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ความหมาย :

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในกระบวนการทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้พิจารณาส่งตัวบุคคลที่ “ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด” ให้กลับไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีโดยศาลของประเทศที่ร้องขอ หรือ ส่งตัวบุคลที่ถูกตัดสินโดยศาลของประเทศที่ร้องขอว่าได้กระทำผิดให้ไปรับโทษทัณฑ์ทางอาญาในประเทศที่ร้องขอ การขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจศาล (Jurisdiction) ของรัฐที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น กับอำนาจศาลของรัฐที่บุคคลที่ได้กระทำผิดปรากฏตัว ดังนั้นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องเป็นการร้องขอโดยผ่านพิธีการทางการทูต เท่านั้น คำว่า “ส่งตัวผู้ร้าย” ทำให้เกิดความสับสนในความหมายได้เพราะเป็นหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบุคคลจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิพากษาโดยศาล ความผิดที่จะขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น ต้องเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทางกฎหมายที่มีอัตราโทษขั้นต่ำตามกฎหมายทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและประเทศผู้รับคำร้องขอ ที่เป็นโทษจำกัดอิสรภาพ (เช่นโทษการจำคุก หรือกักขัง)ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และความผิดนั้นจะต้องไม่ขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ ประการสำคัญคือความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง(Political Offense)หรือความผิดที่เกี่ยวกับศาสนา การส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีหลักว่า ถ้าบุคคลที่ขอให้ถูกส่งตัวถือสัญชาติของประเทศผู้ร้องขอจะยอมให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้เสมอ กรณีบุคคลที่ขอให้ถูกส่งตัวถือสัญชาติของประเทศผู้รับคำขอ มักจะไม่ยอมให้มีการส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นกลับไปให้ประเทศอื่นพิจารณาพิพากษาคดี เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาต่อกัน ในกรณีบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวถือสัญชาติของประเทศที่สาม ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ประเทศผู้รับคำร้องขอจะต้องแจ้งให้ประเทศที่สามที่เป็นเจ้าของสัญชาติผู้กระทำผิดทราบเสียก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป การส่งผู้ร้ายข้ามแดนถือว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมในการป้องปรามอาชญากรรมโดยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการที่จะไม่ให้อาชญากรใช้ดินแดนของรัฐนั้นเป็นที่หลบซ่อนตัวหรือ หลบหนีเงื้อมมือของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคมประชาชาติโดยรวม


FACT-FINDING

คำแปล : การค้นหาข้อเท็จจริง / การไต่สวนข้อเท็จจริง

ความหมาย :

Fact–Finding มีความหมายสองนัยคือ ความหมายทั่วไป หมายถึง “กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง(Fact-Finding Process)” และความหมายเฉพาะ หมายถึง “ภารกิจไต่สวนข้อเท็จจริง (Fact-Finding Mission / Trip)” “กระบวนการการค้นหาไต่สวนข้อเท็จจริง”หมายถึงการดำเนินการใดๆ ที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อพิพาท หรือ แนวทางเพื่อยุติข้อพิพาทนั้น “ภารกิจไต่สวนข้อเท็จจริง” หมายถึง กลไกในการไต่สวนข้อเท็จจริง อันเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่ากลไกนั้นจะตั้งให้บุคคลคนเดียว หรือ คณะบุคคลเพื่อดำเนินการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องทำรายงานกลับไปยังองค์กรที่แต่งตั้ง เช่น องค์การระหว่างประเทศ คณะกรรมการระหว่างประเทศ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชนการไต่สวนข้อเท็จจริงมีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การสังหารหมู่ หรือ การก่อมลพิษอย่างร้ายแรงที่กระทบต่อบุคคลจำนวนมาก


FAIR TRIAL, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม

ความหมาย :

สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง สิทธินี้ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14และอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคของทุกภูมิภาค นอกจากนั้นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่รับรองโดยนานาอารยประเทศ หลักการนี้ได้รับการรับรองโดยกฎหมายมหาชนของประเทศต่าง ๆ เกือบทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเป็นคำที่มีความหมายกว้างและมีองค์ประกอบ หรือปัจจัยหลายด้านที่จะทำให้สิทธินี้เกิดเป็นจริงขึ้นเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย เช่น โจทก์จำเลย อัยการ ทนายความหรือที่ปรึกษาคดี เจ้าพนักงานสอบสวนในคดีอาญาและศาล ดังนั้นกฎหมายภายในประเทศจึงได้สร้างระเบียบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดี เพื่อทำให้การดำเนินคดีเกิดความเป็นธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้บัญญัติอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ (Procedural Law) นอกจากนั้นประเทศต่าง ๆได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐาน และหลักการเพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความเป็นธรรมในการดำเนินคดี เช่น องค์หลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา/ตุลาการ (ดู BODY OF PRINCIPLES ON THEINDEPENDENCE OF THE JUDICIARY) การกำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะมีทนายความ สิทธิในการนำพยานเข้าสืบและการพิจารณาคดีกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นต้น


FALSE TESTIMONY

คำแปล : เบิกความเท็จต่อศาล

ความหมาย :

การให้ถ้อยคำ หรือแสดงข้อความ ในฐานะเป็นพยานต่อศาลในการพิจารณาคดีกฎหมายกำหนดให้การเบิกความเท็จต่อศาลเป็นความผิดอาญา ไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา การเบิกความเท็จนั้น บุคคลผู้เบิกความเท็จจะต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นความเท็จ ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นความเท็จไม่ถือว่าเป็นการเบิกความเท็จ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเบิกความเท็จต่อศาลว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท” อนึ่ง จำเลยที่เบิกความในคดีอาญาที่ฟ้องตนว่า กระทำความผิดจะไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ เนื่องจากแนวคิดตามกฎหมายมีว่า บุคคลทุกคนมีสัญชาตญาณรักตัวเองและจำเป็นต้องปกป้องให้ตนเองพ้นภัยนอกจากนั้นหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญามีว่า บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ เลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำผิด


FASCISM

คำแปล : ลัทธิฟาสซิสต์

ความหมาย :

ระบบการปกครองที่ผู้นำของประเทศรวบอำนาจการบริหารทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมไว้ทั้งหมด และมีนโยบายชาตินิยมอย่างรุนแรง ลัทธิทางการเมือง ลัทธินี้เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี โดยการนำของนายเบนีโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) นายกรัฐมนตรีประเทศอิตาลีระหว่าง ค.ศ. 1919 – 1922 (พ.ศ. 2462 - 2465) ลักษณะสำคัญของลัทธินี้มีดังนี้ • เน้นการมีพรรคการเมืองพรรคเดียว • การกำหนดนโยบายปกครองที่ดีควรกระทำโดยชนชั้นนำ (ไม่ใช่ปกครองโดยประชาชน) • มีการยอมรับกรรมสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกชน แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะถูกจำกัดและถูกชี้นำโดยรัฐบาล • เน้นใช้กำลังและความรุนแรง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายผู้นำและให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของผู้นำ ลัทธินี้ได้แผ่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ แอฟริกาและเอเชีย อย่างรวดเร็ว ภายหลังจากประเทศเหล่านั้นได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคม เนื่องจากต้องการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติและต้องการผู้นำที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด


FEMALE GENITAL MUTILATION

คำแปล : การทำลายอวัยวะเพศหญิง

ความหมาย :

การทำลายอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิต อนามัย และสุขภาวะของหญิง การทำลายอวัยวะเพศหญิง มีสามวิธี คือ วิธีแรก เป็นการขลิบคลิตอริสของหญิง (Clitoridectomy) ไม่ว่าจะเป็นการขลิบทั้งหมดหรือบางส่วนของคลิตอริสของหญิงวิธีที่สอง เป็นการตัด คลิตอริสและแคมอวัยวะเพศหญิงทั้งสองข้าง (Excision) และวิธีที่สาม เป็นการตัดอวัยวะเพศทั้งหมดของหญิง รวมไปถึงเนื้อเยื่อโดยรอบ เป็นการทำให้เกิดเนื้อเยื่อเพื่อปิดช่องคลอดโดยวิธีการตัดอวัยวะทางเพศของหญิงและเย็บติดกัน (Infibulations) คงเหลือเพียงช่องทางเล็กๆสำหรับให้รอบเดือน และปัสสาวะไหลผ่านออกมาได้เท่านั้น การกระทำทางศาสนาและวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นวิธีการอันโหดร้ายทารุณ และเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากปกติการขลิบ หรือตัดอวัยวะเพศหญิงดังกล่าวนี้มักจะกระทำต่อหญิงตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ ซึ่งเด็กจะมีความเจ็บปวดทรมาน และในสมัยก่อนมักจะกระทำโดยใช้ไม้ไผ่ที่เหลาให้บางเฉียบ ตัดอวัยวะเพศหญิง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเจ็บปวดทรมานมาก เป็นวิธีการที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนด้านชีวิต ร่างกาย อนามัย และเสรีภาพตลอดจนโอกาสในการดำรงชีพตามแต่ที่บุคคลจะเลือก ปัจจุบันจึงได้มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิกพิธีกรรมดังกล่าว แต่กลุ่มชนที่เชื่อมั่นในพิธีกรรมดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ยอมเลิกปฏิบัติ


FEMINIST

คำแปล : นักสตรีนิยม / บุคคลที่เรียกร้องสิทธิสตรี

ความหมาย :

บุคคลที่มีความเชื่อ และเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง เดิมนักสตรีนิยมจะเรียกร้องความเท่าเทียมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการทำงาน ต่อมาได้ขยายความสนใจไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศ และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อสตรีด้วย ในอดีตผู้หญิงมีบทบาททางสังคมค่อนข้างน้อย และความรับผิดชอบต่าง ๆ ภายในครัวเรือนก็ตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว โดยมีรูปแบบและความเข้มงวดที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและวัฒนธรรม เช่น การที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง การที่ผู้หญิงไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ด้วยตนเองการที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ในครัวเรือน โดยไม่มีโอกาสหารายได้จากการทำงานเลี้ยงตนเอง จะต้องได้รับการเลี้ยงดูจากชายผู้เป็นสามีเท่านั้น หรือการได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในงานประเภทเดียวกัน เป็นต้น จนกระทั่งมีการเรียกร้องสิทธิสตรีในด้านต่าง ๆ ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของตน สิทธิที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิในการเลือกตั้งสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเท่ากับเพศชายในงานประเภทเดียวกัน รวมถึงสิทธิบางประเภทที่เป็นสิทธิเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น เช่น สิทธิในการลาคลอด เป็นต้น


FINAL ACT

คำแปล : กรรมสารขั้นสุดท้าย

ความหมาย :

กรรมสารสุดท้าย เป็นเอกสารซึ่งรวบรวมผลการประชุมขั้นสุดท้ายเพื่อสรุปอนุสัญญา เช่นกรรมสารสุดท้ายของการประชุมกรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเอกสารสรุปสาระสำคัญของการประชุม ระบุรัฐหรือประมุขของรัฐที่เข้าร่วมประชุม ผู้แทนซึ่งร่วมเจรจา และเอกสารซึ่งที่ประชุมรับรอง นอกจากนี้ยังระบุมติ แถลงการณ์ และข้อเสนอแนะซึ่งที่ประชุมยอมรับแต่ไม่ได้บรรจุไว้เป็นบทบัญญัติของอนุสัญญา บางกรณีกรรมสารสุดท้ายยังระบุการตีความบทบัญญัติในเอกสารทางการซึ่งที่ประชุมรับรองด้วย


FINE

คำแปล : 1. โทษปรับ 2. ค่าปรับ

ความหมาย :

1. โทษปรับ โทษอาญาชนิดหนึ่ง ที่จำเลยต้องชำระเงินตามจำนวนที่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งจำนวนเงินที่ศาลลงโทษปรับนั้นจะกำหนดไว้ในฐานความผิด ซึ่งศาลอาจพิจารณาลดจำนวนเงินค่าปรับได้ตามเหตุแวดล้อมของคดี ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยกำหนดว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินใช้เป็นค่าปรับ หรือถูกกักขังแทนค่าปรับ อย่างไรก็ตาม หากศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ชำระค่าปรับ ศาลอาจสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไปก่อนก็ได้โดยกฎหมายจะกำหนดอัตราค่าปรับ ซึ่งคิดจากฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเกณฑ์การกักขังแทนค่าปรับจะคิดเป็นค่าปรับอัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวันและหากจำเลยเคยถูกควบคุมตัวมาก่อนไม่ว่า จะเป็นชั้นสอบสวนหรือชั้นศาล ศาลจะนำวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาหักออกจากวันขังด้วย อนึ่ง ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 11 กำหนดห้ามจำคุกบุคคลเนื่องจากไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง ในความผิดบางอย่างที่ไม่ร้ายแรง เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอาจกำหนดค่าปรับได้ เช่น การปรับตามกฎจราจร ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผังเมืองหรือความผิดเกี่ยวกับการอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น 2. ค่าปรับ เงินที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาของศาล หรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่มีอำนาจปรับตามกฎหมาย เงินค่าปรับจะตกเป็นของแผ่นดินซึ่งต่างจากค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับในคดีแพ่งที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ยกเว้นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เสียหายได้ค่าปรับไปครึ่งหนึ่ง เป็นเพราะว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องทางแพ่ง


FIT AND PROPER

คำแปล : คุณสมบัติและความประพฤติที่เหมาะสม

ความหมาย :

คำที่ใช้เรียกเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อใได้บุคคลที่เหมาะสมทั้งในด้านคุณวุฒิ ความสามารถ และความประพฤติ ในการปฏิบัติงานตามตำแหน่งนั้นให้เกิดประสิทธิภาพ เกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติและความประพฤติ มักใช้ในการสรรหาตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ในการบริหารภาครัฐ หรือการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ รวมถึงการพิจารณาใบอนุญาตวิชาชีพที่ควบคุมโดยรัฐ ตลอดจนผู้ที่ได้รับการโอนอำนาจจากรัฐในการให้บริการสาธารณะ เช่น คุณสมบัติของผู้รับสัมปทาน เป็นต้น คำนี้ยังใช้ในภาคธุรกิจเอกชนในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ เช่น กรรมการบริหารบริษัท เป็นต้น แต่ละองค์กรจะกำหนดเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาคุณสมบัติและความประพฤติให้เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ เช่น คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) มาตรา 6 ดังนี้ “ประธานกรรมการและกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ (3) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง (5) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (6) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ (7) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย (8) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล (9) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท (10) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือ เพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (11) ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ (12) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (13) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง” เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติและและความประพฤติที่เหมาะสม จะใช้คำว่า “Fit and Proper Test” ส่วนการประเมินบุคคลตามเกณฑ์ดังกล่าวใช้ว่า “Fit and Proper Assessment” บุคคลที่ผ่านเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและความประพฤติที่เหมาะสมก็จะเรียกว่า “Fit and Proper Person”


FORCED / ENFORCED DISAPPEARANCE

คำแปล : การทำให้หายตัวไปโดยใช้กำลัง/อุ้มหาย

ความหมาย :

การทำให้หายตัวไปโดยใช้กำลัง หมายถึง การหายตัวของบุคคลโดยไม่เต็มใจเกิดจากการลักพาตัวและทำให้หายไปจากชีวิตปกติและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นกระทำโดยรัฐ หรือบุคคล กลุ่มองค์กรอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งรัฐอาจรู้เห็นเป็นใจการกระทำ หรือโดยปฏิเสธ หรือการไม่รับรู้การหายตัวไปของบุคคล การลักพาตัวโดยมีการฆ่าด้วยหรือไม่ก็ตามมีความเกี่ยวข้องกับระบบกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เนื่องจากบุคคลที่สูญหายในหลายกรณีอยู่ในสถานะผู้ต้องสงสัยจากการกล่าวหาของรัฐ ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ จึงได้ใช้วิธีการนอกกฎหมายในการข่มขู่ และทำลายชีวิตของบุคคล ในหลายกรณีมักปรากฏว่ามีการทรมานในกระบวนการบังคับให้หายตัวไปด้วย


FORFEITURE OF PROPERTY

คำแปล : ริบทรัพย์สิน

ความหมาย :

โทษทางอาญาประเภทหนึ่งที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินสั่งให้ทำลาย หรือสั่งให้ทำให้ใช้ไม่ได้ กฎหมายกำหนดประเภทของทรัพย์สินที่ศาลสั่งยึดได้สามประเภทด้วยกัน คือ 1. ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้ หรือทำขึ้นเป็นความผิด เช่น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่กฎหมายห้าม หรือสินค้าปลอม 2. ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด เป็นทรัพย์สินที่ผู้ใดครอบครองหรือมีไว้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่จำเลยได้ใช้ทรัพย์นั้นกระทำผิดหรือเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด เช่น มีดที่ใช้ทำร้ายร่างกาย 3. ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด เช่น สินบนที่เจ้าพนักงานรับไว้เพื่อจูงใจให้กระทำทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือไม้ที่จำเลยลักลอบตัดจากป่าสงวน


FORMAL EDUCATION

คำแปล : การศึกษาในระบบ

ความหมาย :

กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติผ่านทางการฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ ที่กำหนดจุดมุ่งหมายวิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษาในระบบของไทย ประกอบไปด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆคือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังแบ่งออกเป็นประเภทสามัญศึกษาและประเภทอาชีวศึกษา ส่วนการศึกษาขั้นอุดมศึกษาได้แบ่งออกเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโทและปริญญาเอก การศึกษาในระบบมีความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับสังคม สหประชาชาติได้แนะนำประเทศสมาชิกบูรณาการเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเข้ากับหลักสูตรของการศึกษาในระบบทุกระดับชั้น


FOUR FREEDOMS

คำแปล : อิสรภาพสี่ประการ

ความหมาย :

อิสรภาพสี่ประการ เป็นสุนทรพจน์ทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 ( พ.ศ. 2484) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสันติภาพของโลกจะดำรงอยู่ได้นั้นขึ้นอยู่กับอิสรภาพสี่ประการของประชาคมโลก อันประกอบด้วย • อิสรภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) • อิสรภาพในการนับถือศาสนา (Freedom of Worship) • อิสรภาพในการพ้นจากความขาดแคลน (Freedom from Want) • อิสรภาพในการปราศจากความกลัว (Freedom from Fear) สุนทรพจน์เรื่อง “อิสรภาพสี่ประการ” เป็นแนวคิดสำคัญในการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติและเป็นหลักการสำคัญในการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้ว่าสิทธิเสรีภาพที่รับรองโดย UDHR ได้สะท้อนอิสรภาพสี่ประการนี้


FRAUD

คำแปล : การฉ้อฉล

ความหมาย :

การฉ้อฉล ในความหมายของกฎหมายสนธิสัญญา หมายถึงการฉ้อฉลในการเจรจาหรือทำสนธิสัญญา ซึ่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ได้กำหนดไว้ว่า “หากรัฐภาคีใดถูกโน้มน้าวชักจูงให้เข้าทำสนธิสัญญาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยพฤติกรรมของรัฐภาคีที่เข้าร่วมเจรจาอื่น รัฐที่ถูกฉ้อฉลนั้นอาจจะกล่าวอ้างเหตุแห่งการถูกฉ้อฉลนั้นขึ้นเพื่อเป็นเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของการแสดงเจตนายินยอมของรัฐเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญานั้นได้” เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ในกรณีนี้ได้แก่ การแสดงข้อความที่ไม่เป็นความจริง (False Statements) การแสดงข้อความทำให้เข้าใจผิด (Misrepresentations) หรือการประพฤติหลอกลวง (Deceitful Conducts) ของรัฐภาคีใดที่ทำให้รัฐอื่นให้ความยินยอมในการผูกพันตามสนธิสัญญา ซึ่งถ้าหากว่ารัฐเช่นว่านั้นได้รู้ข้อความจริงแล้วย่อมจะไม่ให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา ดังนั้นรัฐที่ถูกฉ้อฉลจึงสามารถกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนาเช่นว่านั้นได้


FREE AND FAIR ELECTION

คำแปล : การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

ความหมาย :

กระบวนการทางการเมืองที่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสามารถกำหนดรูปแบบของรัฐบาลและทิศทางนโยบายในอนาคตของรัฐบาลของประเทศของตน โดยอาศัยการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจการปกครองอย่างสันติและเพื่อให้ผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งยอมรับผลของการเลือกตั้ง และยอมถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลใหม่อย่างราบรื่น การเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น • ประชาชนทุกคนทั้งชายและหญิงต้องมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการจำกัดสิทธิดังกล่าวของชนกลุ่มน้อยหรือผู้พิการ หรือให้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะบุคคลบางกลุ่ม หรือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น • เสรีภาพในการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง • เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารที่น่าเชื่อถือจากสื่อมวลชน • เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองและการรณรงค์หาเสียงเป็นต้น