Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

ELFI

คำแปล : เอลฟี /โครงการเอลฟี

ความหมาย :

“เอลฟี” (ELFI) เป็นชื่อย่อของโครงการ “Enhancing Lives of FemaleInmates” ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศไทยผลักดันให้นานาประเทศรับรองข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ รวมทั้งมาตรการลงโทษ และวิธีการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ “Bangkok Rules” โครงการนี้เกิดจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงสนพระทัยในการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง และเด็กติดผู้ต้องขัง โดยพระองค์ทรงประทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ต้องขังสตรีที่ตั้งครรภ์ เด็กติดผู้ต้องขัง และเด็กผู้กระทำความผิดตามโครงการกำลังใจในพระดำริ จนกลายเป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย “เอลฟี” ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) เนื่องจากข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิง ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะของเพศหญิง เช่น การมีบุตรติดครรภ์ก่อนได้รับโทษ รวมถึงการดูแลบุตรของผู้ต้องขังหญิงที่เกิดมาในขณะต้องโทษ “เอลฟี” ได้เสนอให้มีการจัดทำข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (UnitedNations Rules for the Treatment of Women Prisoners andNon-Custodial Measures for Women Offenders) ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)เพื่อเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันของนานาประเทศ


EMERGENCY DECREE

คำแปล : พระราชกำหนด / รัฐกำหนด

ความหมาย :

กฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารในสถานการณ์อันมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้วแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศพระราชกำหนดมีผลบังคับทางกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติแต่เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร เพื่อประโยชน์ของการบริหารราชการ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) พระราชกำหนดของไทยแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ 1. พระราชกำหนดทั่วไป ประกาศใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือเพื่อป้องปัดพิบัติภัยสาธารณะ 2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ประกาศใช้ได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ ภายในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภาเท่านั้น ในการตราพระราชกำหนดนั้น คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาร่าง และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ไม่ต้องนำเสนอร่างพระราชกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป เพื่อการพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว


EMERGENCY POWER

คำแปล : อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ความหมาย :

อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นอำนาจบริหารที่รัฐบาลมีขึ้น ตามหลักการระงับใช้ชั่วคราว (Derogation)เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency / Exception) ซึ่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิในสถานการณ์ที่เป็น “ภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของรัฐ” และได้มีการ “ประกาศอย่างเป็นทางการ” โดยอยู่ในขอบเขตแห่ง “ความจำเป็นของสถานการณ์” ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับ “พันธกรณีอื่น” และ “ไม่เลือกปฏิบัติ” โดยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดอาจถูกจำกัดหรือระงับได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและถือว่าการจำกัดหรือการระงับให้การคุ้มครองชั่วคราวนั้นไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในกรณีเป็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิสัมบูรณ์ไม่อาจลดทอน หรือถูกพักใช้ได้ (ดู Derogation) แต่การใช้อำนาจฉุกเฉินต้องไม่เกินความจำเป็น


ENGLISH BILL OF RIGHTS

คำแปล : บทบัญญัติสิทธิ (ของประเทศอังกฤษ)

ความหมาย :

กฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษ มีชื่อเต็มว่า“พระราชบัญญัติประกาศสิทธิและเสรีภาพของพสกนิกรและการกำหนดเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์” (An Act Declaring the Rights andLiberties of the Subject and Settling the Succession of the Crown) ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1689 (พ.ศ. 2232) ในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่สามซึ่งพระราชบัญญัตินี้จัดทำขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อต่อรองกับการที่รัฐสภาได้สถาปนาพระเจ้าวิลเลียมที่สามขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ หลังจากได้ทำการ “ปฏิวัติอันเรืองโรจน์” สำเร็จ (ดู GLORIOUS REVOLUTION) “บทบัญญัติสิทธิ” ถือกันว่า เป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่เป็นรากฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศอังกฤษและกฎหมายปกครองสำคัญหลายฉบับของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอีกด้วย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศสิทธิ พ.ศ. 2232 (Claim of Rights Act 1689) ของประเทศนิวซีแลนด์และประเทศแคนาดา เป็นต้น (ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยึดถือจารีตประเพณี และหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เป็นหลักในการปกครองประเทศ) สาระสำคัญของบทบัญญัติสิทธิ ได้แก่ • การจำกัดสิทธิต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับการบริหารแผ่นดิน เช่น การห้ามตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะห้ามแทรกแซงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และห้ามแทรกแซง หรือยับยั้งการออกกฎหมายของรัฐสภา เป็นต้น • จำกัดสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่จะกระทำการใด ๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภาก่อน เช่น ห้ามออกกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีโดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา และห้ามระดมพล หรือตั้งกองทัพ ในยามสงบโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา • ห้ามพระมหากษัตริย์แทรกแซงเสรีภาพของประชาชนในการมีอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าเจมส์ที่สอง ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้ออกประกาศห้ามชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์มีอาวุธ • การรับรองสิทธิ และเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในราชอาณาจักร สิทธิดังกล่าวยังถือปฏิบัติต่อมา และได้ขยายไปถึงประชาชนในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษด้วย • การรับรองสิทธิของราษฎรในการที่จะถวายฎีกาต่อพระมหา-กษัตริย์ • การบัญญัติลำดับสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชอาณาจักรอังกฤษ


ENVIRONMENT, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในสิ่งแวดล้อม

ความหมาย :

สิทธิในสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการรักษาวิถีชีวิตที่ดีของประชาชนในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดระบบระเบียบของสังคมและเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือกลุ่มองค์กรอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม หลักการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับกันในระดับสากล ได้แก่ ปฏิญญารีโอพ.ศ.2535 (Rio Declaration 1992)ในหลักการข้อ 10 ของปฏิญญารีโอ (Principle 10 of Rio Declaration)มีหลักการสามประการ(Three Access Principles) ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้น ดังนี้ 1. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐ 2. สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รัฐจะต้องเอื้ออำนวยและสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณชน ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง 3. สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริหาร รวมทั้งการได้รับการชดเชยและการเยียวยาความเสียหาย


EQUAL WORK EQUAL PAY

คำแปล : งานเท่าเทียมกันค่าจ้างเท่ากัน

ความหมาย :

หลักกฎหมายแรงงานถือว่า บุคคลที่ทำงาน หรือให้บริการที่เหมือนกันสมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการจ้างที่เท่ากัน หลักการนี้ได้รับการรับรองโดยตราสารสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ข้อ 7) และอนุสัญญา ILO (ILO Convention on Equal Remuneration)ฉบับที่ 100 ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) เป็นต้น คำนี้ใช้ในบริบทของการห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศในการจ่ายค่าจ้างระหว่างหญิงชาย กล่าวคือ หญิงชายจะต้องได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกันในการทำงานที่เหมือนกัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า คำว่า ค่าจ้างนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงเงินเดือน หรือค่าจ้างประจำสัปดาห์ที่ตกลงจ่ายกันตามวาระเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) เป็นต้น หลักการนี้ได้พัฒนาขึ้นในกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศเนื่องจากในอดีตนายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างให้กับผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายอย่างมากโดยไม่ได้พิจารณาถึงผลของงานที่ตนได้รับจากแรงงานของหญิง หลังจากได้มีการจัดทำอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้ประเทศต่าง ๆได้ปรับแก้กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างที่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายขึ้นในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ตามรายงานของ ILO ในทางปฏิบัติหญิงยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชายอยู่ทั่วไป แม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงจะมีการศึกษาและประสบการณ์สูงกว่าผู้ชายในการทำงานนั้น ๆ หลักงานเท่าเทียมกันค่าแรงเท่ากันถือเป็นพันธกรณีขั้นพื้นฐานของกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศประการหนึ่ง


EQUALITY OF OPPORTUNITY

คำแปล : ความเสมอภาคทางโอกาส

ความหมาย :

แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเห็นว่าการพิจารณาความเสมอภาคของบุคคลนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องของความเสมอภาคในสองด้านด้วยกัน คือ ความเสมอภาคทางโอกาส และความเสมอภาคในผลลัพธ์ (ดู EQUALITY OF OUTCOME) ความเสมอภาคทางโอกาสถือแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการแข่งขัน หรือไขว่คว้าหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับตนเองได้เสมอ ดังนั้น รัฐจะต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุดในการแข่งขัน นั่นคือ โอกาสที่เท่าเทียมกัน แนวคิดนี้จึงต้องการให้มีการยกเลิกการปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยปราศจากเหตุผลอันชอบธรรมเช่น เชื้อชาติ สีผิว ความพิการทางร่างกาย ความมีอัตลักษณ์ของกลุ่มชนเช่น ภาษา ความเชื่อทางศาสนา หรือเชื้อชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเสมอภาคในทางโอกาส คือ การรับรองความเท่าเทียมของบุคคลทุกคนในทางกฎหมาย (Equality before the Law) นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การพิจารณาพันธกรณีของรัฐในการสร้างความเสมอภาคนั้น จะต้องพิจารณาทั้งในด้านของความเสมอภาคทางโอกาสและความเสมอภาคในผลลัพธ์ด้วยเสมอ ซึ่งหลักการนี้ได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั่วไป


EQUALITY OF OUTCOME

คำแปล : ความเสมอภาคในผลลัพธ์

ความหมาย :

แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งเห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลมีความเสมอภาคนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องของความเสมอภาคในสองด้านด้วยกัน คือ ความเสมอภาคทางโอกาส (ดู EQUALITY OF OPPORTUNITY) และความเสมอภาคในผลลัพธ์ ความเสมอภาคในผลลัพธ์ถือแนวคิดว่า โดยสภาพความเป็นจริงมนุษย์มิได้เท่าเทียมกันทุกคน แต่ละคนมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบทั้งทางด้านร่างกายสังคม ทรัพย์สิน ประสบการณ์ชีวิต และสติปัญญาในการเลือก คิดตัดสินใจ ดังนั้น ในการแข่งขันเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ถ้ารัฐปล่อยให้ดำเนินไปอย่างเสรี โดยให้ทุกคนแข่งขันกันเองภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เหมือนกัน กลุ่มที่เสียเปรียบดังกล่าวก็จะไม่มีโอกาสได้แข่งขันกับกลุ่มที่ได้เปรียบตามสภาพความเป็นจริงได้ ความเสมอภาคในผลลัพธ์จะต้องเสริมสร้างมาตรการ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันขึ้นในผลท้ายสุด เพื่อให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมที่แท้จริงโดยเฉพาะข้อเสียเปรียบที่บุคคลได้รับติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ความพิการ อัตลักษณ์ของความเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ภาษา สีผิว ความเชื่อทางศาสนา หรือเชื้อชาติ เป็นต้นดังนั้น ความเสมอภาคในผลลัพธ์ไม่เพียงแต่ต้องการกฎเกณฑ์กติกาที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐจะต้องมีมาตรการพิเศษหรือมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ (ดู AFFIRMATIVE ACTION) ให้กับบุคคลที่เสียเปรียบตามความเป็นจริงด้วย ในการพิจารณาพันธะหน้าที่ของรัฐในการสร้างความเสมอภาคของบุคคลนั้น คณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนแต่ละฉบับจะให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคในด้านผลลัพธ์มากกว่าความเสมอภาคในด้านกฎหมาย


ERROR

คำแปล : การสำคัญผิด / ความผิดพลาด

ความหมาย :

การสำคัญผิด / ความผิดพลาด ในกฎหมายสนธิสัญญา หมายถึง การสำคัญผิด หรือ ความผิดพลาดในการทำสนธิสัญญารัฐภาคีอาจจะยกเหตุเรื่องการสำคัญผิด หรือการผิดพลาดในการทำสนธิสัญญาขึ้นกล่าวอ้างว่าการแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐนั้นไม่สมบูรณ์ได้หากการผิดพลาดนั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ซึ่งรัฐภาคีดังกล่าวนั้นสำคัญว่ามีอยู่จริงในขณะที่มีการทำสนธิสัญญา และข้อเท็จจริงนั้นเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญพื้นฐานที่ทำให้รัฐภาคีนั้นแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาอย่างไรก็ตามการยกความสำคัญผิด หรือ ความผิดพลาดข้างต้นจะนำมาอ้างไม่ได้หากรัฐดังกล่าวมีส่วนในการทำให้เกิดความผิดพลาดนั้นทั้งนี้เกิดจากการปฏิบัติของรัฐนั้นๆเอง หรือภายใต้สถานการณ์แวดล้อมเช่นนั้นรัฐดังกล่าวน่าจะรู้ถึงความผิดพลาดนั้น และสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้แต่ไม่ได้กระทำ แต่ความผิดพลาดเฉพาะที่เกี่ยวกับถ้อยคำในข้อบทของสนธิสัญญานั้นไม่ถือว่ามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสนธิสัญญาและจะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญาไม่ได้


ETHNIC CLEANSING

คำแปล : ชำระล้างชาติพันธุ์ / การกวาดล้างชาติพันธุ์

ความหมาย :

“การชำระล้างชาติพันธุ์” เป็นสถานการณ์ที่กลุ่มสังคมทางชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติต้องการดำรงรักษาความบริสุทธ์ทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติของตน โดยการใช้กำลังบังคับผลักไส หรือการสร้างความหวาดกลัวให้กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติอื่นแยกตัวออกไป ในบางกรณีอาจใช้กำลังทำลายล้างกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเชื้อชาติอื่น “การชำระล้างชาติพันธุ์” จึงต่างกับ “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)”ในข้อที่ว่า การล้างเผ่าพันธุ์มุ่งทำลายล้างอีกกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มเชื้อชาติหนึ่งให้หมดเผ่าพันธุ์ไป แต่การชำระล้างชาติพันธุ์(Ethnic Cleansing) มุ่งที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติของตนเอง คำว่า“การชำระล้างชาติพันธุ์” ได้นำมาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในประเทศบอสเนียเมื่อต้นทศวรรษ1990


ETHNIC MINORITY

คำแปล : ชนกลุ่มน้อยทางด้านชาติพันธ์

ความหมาย :

กลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธ์และมีสถานะเป็นพลเมืองของประเทศที่ตนอาศัยอยู่และมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่ากลุ่มชาติพันธ์ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ กรณีแอฟริกาใต้ในยุคที่มีการปกครองระบอบแบ่งแยกสีผิวที่คนผิวขาวมีจำนวนประชากรน้อยกว่าคนผิวดำ (ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง) แต่คนผิวขาวมีอำนาจปกครองประเทศ ดังนั้น คนผิวขาวได้เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในแอฟริกาใต้ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์มักจะมีอัตลักษณ์ทางกายภาพและทางสังคมเช่น ธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติในการดำรงชีพ หรือความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น แตกต่างจากประชากรกลุ่มใหญ่ ดังนั้นชนกลุ่มน้อยจะเรียกร้องสิทธิที่จะดำรงรักษาอัตลักษณ์เหล่านั้น (ดู THE RIGHTS OF MINORITY) การเลือกปฏิบัติ การกีดกันการใช้สิทธิ อันมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ทำให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์มีสิทธิด้อยกว่าประชากรกลุ่มใหญ่ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดีรัฐอาจมีมาตรการพิเศษที่มุ่งส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์ได้มีสิทธิ และใช้สิทธิเท่าเทียมกับประชากรส่วนใหญ่ เช่น การที่กฎหมายกำหนดให้วิทยาลัยแพทย์กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการรับคนอเมริกาเชื้อสายแอฟริกาเข้าศึกษา ถือว่าเป็นมาตรการเชิงยืนยันสิทธิ เป็นต้น สิทธิของชนกลุ่มน้อยได้พัฒนาขึ้นจากกฎหมายภายในของประเทศในยุโรป ต่อมาได้รับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ และใน ค.ศ. 1992(พ.ศ. 2535) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงมติรับรอง “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางด้านเชื้อชาติ หรือชาติพันธ์ ศาสนา และภาษา (Declaration on the Rights of Persons Belonging toNational or Ethnic, Religious and Linguistic Minorities)” ประเด็นปัญหาทางกฎหมายของการให้คำนิยาม คำว่า “ชนกลุ่มน้อย” มีความยุ่งยากมากที่สุดปัญหาหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศ อนึ่ง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Indigenous People) รวมอยู่ในความหมายของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์


EUROPEAN COURT OF HUMAN RIGHTS

คำแปล : ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

ความหมาย :

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรตุลาการขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน(ECHR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502)ศาลนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส(อนึ่งมักมีผู้เข้าใจสับสนคำว่า “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับคำว่า “European Council ที่เป็นองค์กรของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร) ศาลฯ มีหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมายและพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา ECHR โดยอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐภาคีสมาชิก ECHR เดิม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Human Rights Commission) มีหน้าที่ในการ ไต่สวนมูลฟ้องและยื่นคำฟ้องต่อศาลแทนบุคคลต่อมาพิธีสารฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1998(พ.ศ. 2541)ได้ยุบคณะกรรมาธิการฯ ลง และให้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฯ ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเท่ากับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญา ECHR ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (Parliamentary Assembly) ประเทศละหนึ่งคน ผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ หรือสัญชาติ ในการดำเนินคดีจำนวนผู้พิพากษาขององค์คณะจะขึ้นอยู่กับประเภทของคดี เช่น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีผู้พิพากษาหนึ่งคน ในชั้นพิจารณาคดีจะมีจำนวน ผู้พิพากษาในองค์คณะต่างกัน เช่น จำนวนสามคน เจ็ดคน หรือ สิบเจ็ดคน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความสำคัญของคดีคำพิพากษาของศาลฯ ผูกพันรัฐภาคีให้ต้องปฏิบัติตามโดยรัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพิพากษาจะไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายในรัฐภาคี และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐภาคี คณะกรรมการรัฐมนตรี(Committee of Ministers) มีหน้าที่สอดส่องและบังคับให้รัฐปฏิบัติตาม คำพิพากษา คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ชัดเจนขึ้น


EUROPEAN SOCIAL CHARTER

คำแปล : กฎบัตรสังคมยุโรป

ความหมาย :

กฎบัตรสังคมยุโรปเป็นสนธิสัญญาระดับภูมิภาคขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) เกี่ยวกับสิทธิด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1961(พ.ศ.2504) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) ถือว่าเป็นอนุสัญญาที่คู่ขนานไปกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (ECHR) ซึ่งมุ่งคุ้มครองสิทธิทางด้านพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กฎบัตรสังคมยุโรปได้จำแนกประเภทการคุ้มครองสิทธิเป็นสามประเภทด้วยกัน คือ การคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน การคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคม และการคุ้มครองแก่กลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาส แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการในการประกันสิทธิทางสังคมของกฎบัตรฯ สอดคล้องกับ ICESCR ซึ่งเห็นว่าสิทธิประเภทนี้ไม่สามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อเยียวยาการละเมิดสิทธิได้ ดังนั้น กลไกการคุ้มครองจึงใช้วิธีการตรวจสอบมาตรการในการปฏิบัติ และการรายงานความก้าวหน้ามาตรฐานทางสังคมเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามลำดับ กฎบัตรได้จัดตั้งองค์กรในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญสององค์กรคือ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางสังคมแห่งยุโรป (European Committee of Social Rights) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระจากสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยคำแนะนำจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีคณะกรรมการรัฐมนตรี (Committee of Ministers) ที่มีหน้าที่พิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีที่รัฐภาคีเสนอทุกๆ สองปี


EUTHANESIA

คำแปล : การุณยฆาต

ความหมาย :

การทำให้บุคคลอื่นที่อยู่ในวาระสุดท้ายแห่งการมีชีวิตตายอย่างไม่ทุกข์ทรมาน คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ “eu” (ดี) และ “thanatos” (ตาย) รวมกัน หมายถึง ตายดี หรือตายอย่างสงบ การุณยฆาตมีข้อโต้แย้งในด้านความชอบธรรม โดยบางคนเห็นว่าเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่รักษาไม่หายเพื่อจบชีวิตลงอย่างสงบ ปราศจากความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดอันเป็นการจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะที่มีข้อโต้แย้งว่า การุณยฆาตอาจถูกนำมาเป็นช่องทางในการทำลายชีวิตมนุษย์ หรือลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ ในด้านสิทธิมนุษยชน การุณยฆาต เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากประเด็นหนึ่งเพราะเกี่ยวพันกันหลายด้าน เช่น ประเด็นปัญหาว่าเจ้าของชีวิตมีสิทธิที่จะระงับการมีชีวิตของตนเองหรือไม่ ประเด็นเรื่องศีลธรรมของบุคคลที่ตัดสินใจทำการการุณยฆาต (เช่น ญาติผู้ป่วยที่หมดหนทางรักษา เป็นต้น) และหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องคุ้มครองชีวิตของบุคคล นอกจากนั้นยังมีปัญหาในด้านเทคนิคว่า จะใช้สิ่งใดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า กรณีใดที่จะยอมให้มีการทำการุณยฆาตได้ เนื่องจากไม่สามารถบอกเจตจำนงของผู้ป่วยได้ กฎหมายอาญาบางประเทศไม่รับรองการการุณยฆาต เช่น กฎหมายอาญาของประเทศเยอรมนีกำหนดให้ผู้กระทำต้องถูกลงโทษตามกฎหมายแม้ว่าผู้ป่วยจะเป็นฝ่ายร้องขอให้หยุดชีวิตของตนก็ตาม แต่กฎหมายอาญาของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับรองการการุณยฆาตว่าถ้าเป็นคำสั่งของผู้ป่วยที่มีสติบริบูรณ์ หรือผู้ป่วยได้เขียนคำสั่งหรือพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า และญาติได้นำคำสั่ง หรือพินัยกรรมดังกล่าวไปแสดงต่อแพทย์เพื่อดำเนินการในลักษณะของการระงับการรักษาหรือเร่งให้เสียชีวิตการกระทำของแพทย์ไม่ผิดกฎหมาย สำหรับประเทศไทย การุณยฆาต ได้รับการรับรองโดย มาตรา 12แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) กำหนดว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบอาชีพสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดแล้วพ้นจากความผิดทั้งปวง”


EX OFFICIO (Latin)

คำแปล : โดยตำแหน่ง

ความหมาย :

ในความหมายทั่วไป โดยตำแหน่ง จะหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้า หรือผู้บริหารในองค์กร หน่วยงาน คณะกรรมการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร หัวหน้ารัฐบาล หรือ ประมุข บุคคลที่กระทำหน้าที่ใดๆในฐานะที่เป็นตัวแทน ด้วยเหตุผลของการดำรงตำแหน่งนั้นๆ เป็นคำที่ใช้ประกอบตำแหน่งบุคคลที่เป็นตัวแทนไปทำหน้าที่ใดๆโดยตำแหน่ง หน้าที่ของบุคคลนั้นๆไม่ใช่ด้วยการถูกแต่งตั้ง เลือกตั้ง หรือ การคัดเลือก ex officio ในกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา หมายถึง บุคคลซึ่งโดยตำแหน่งถือว่าเป็นตัวแทนรัฐโดยอำนาจหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจในการเข้าเจรจา ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ 1. ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการใดๆ หรือการกระทำทุกกรณีที่เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา 2. หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต มีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการยอมรับ หรือการรับเอาข้อบทของสนธิสัญญาที่กระทำระหว่างรัฐผู้รับกับรัฐผู้ส่งทูต ผู้เป็นตัวแทนรัฐ เข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศหรืองค์กรใดขององค์การระหว่างประเทศโดยมีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการยอมรับข้อบทของสนธิสัญญาในการประชุมระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรขององค์การระหว่างประเทศโดยผู้แทนเหล่านั้นได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ


EXCHANGE OF LETTERS

คำแปล : การแลกเปลี่ยนหนังสือ

ความหมาย :

มีความหมายเหมือนกับ EXCHANGE OF NOTE (การแลกเปลี่ยนบันทึก)


EXCHANGE OF NOTE

คำแปล : การแลกเปลี่ยนบันทึก

ความหมาย :

การแลกเปลี่ยนบันทึกหรือบางครั้งใช้คำว่า “การแลกเปลี่ยนหนังสือหรือ Exchange of Letters” ซึ่งมีความหมายเดียวกันเป็นวิธีทำความตกลงที่ไม่เป็นทางการ โดยรัฐแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการผูกพันกับความ ตกลงบันทึกความเข้าใจบางอย่าง หรือยอมรับพันธกรณีบางประการ อาจกระทำโดยผ่านผู้แทนทางการทูตหรือผู้แทนทหาร โดยปกติความตกลงดังกล่าวไม่มีการให้สัตยาบัน บางครั้งอาจมีบันทึกแลกเปลี่ยนในลักษณะพหุภาคีก็ได้


EXECUTIVE AGREEMENT

คำแปล : ข้อตกลงฝ่ายบริหาร

ความหมาย :

ข้อตกลงฝ่ายบริหารเดิมเป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้มีการพัฒนาและนำไปใช้ในประเทศอื่นๆด้วย ในกรอบวิธีการของแต่ละประเทศ ตามที่แต่ละประเทศจะกำหนด ในสหรัฐอเมริกา หมายถึงข้อตกลงฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องให้วุฒิสภา (Senate)รับรอง ซึ่งแตกต่างไปจากสนธิสัญญาอื่นซึ่งต้องให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสาม ก่อนที่จะให้สัตยาบัน ข้อตกลงฝ่ายบริหารก่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งกระทำโดยฝ่ายบริหารโดยได้รับอนุมัติล่วงหน้าและกระทำภายในกรอบที่รัฐสภา (Congress)กำหนดให้ หรือบางกรณีไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบล่วงหน้า หากเป็นเรื่องซึ่งโดยทั่วไปถือว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีหลังจาก ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ต้องนำข้อตกลงฝ่ายบริหารเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรับทราบภายในหกสิบวันหลังจากได้ทำข้อตกลง


EXGRATIA COMPENSATION

คำแปล : ค่าชดเชยโดยไม่มีข้อผูกพัน

ความหมาย :

ค่าชดเชยโดยไม่มีข้อผูกพัน หมายถึง เงินที่รัฐสมัครใจจ่ายให้แก่ผู้ร้องเรียน หรือผู้ร้องทุกข์ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากมีการเจรจากัน โดยที่รัฐยังไม่ยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือโดยที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยโดยองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนว่ารัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น เงินสงเคราะห์ ค่าทำขวัญ เงินช่วยเหลือเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหาย


EXILE

คำแปล : เนรเทศผู้พลัดถิ่น / ผู้ลี้ภัย

ความหมาย :

คำว่า Exile มีความหมายสองด้านคือ 1) “เนรเทศ” หมายถึงการขับ หรือบังคับบุคคลให้ออกไปนอกประเทศที่ตนเองมีสัญชาติมีความหมายใกล้เคียงกับExpel, Expulsion 2) “ผู้พลัดถิ่น” หรือ “ผู้ลี้ภัย” หมายถึงบุคคลที่หลบหนีออกจากประเทศตนเองไปอยู่ในประเทศอื่น เพื่อหลบหนีภัยด้วยเหตุต่างๆ เช่น ภัยการเมือง ความขัดแย้งจากการสู้รบ หรือ ความขัดแย้งทางศาสนา ตามกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น / ผู้ลี้ภัย อาจขอสถานะผู้ลี้ภัย (Refugee) ได้ถ้ามีมูลเหตุแห่งความกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร